ศูนย์ข่าวภูเก็ต -"ศูนย์ประชุมนานาชาติฯภูเก็ต"กลับไปเริ่มนับหนึ่ง หลัง"สุวัจน์" สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างใหม่ ทั้งสะพานหิน และหาดไม้ขาว ชี้พื้นที่สะพานหิน มีความเหมาะสมในเรื่องของโลเกชั่น แต่ติดปัญหาการใช้พื้นที่ พร้อมหนุนโครงการมารีนาและท่าเรือน้ำลึก แต่เบรกโครงการสร้างทางลอดระดับและยกระดับ แก้ปัญหาจร
วันนี้(19 พ.ย.)นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชน ในหัวข้อ "การมอบนโยบายและกำกับติดตามการปฏิบัติราชการในจังหวัดภูเก็ตและพังงา"ที่ โรงแรมเพิร์ล วิลเลจ หาดในยาง จ.ภูเก็ต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน ในการประชุมครั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตและพังงา ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล และโครงการต่างๆเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรองนายรัฐมนตรี
ภูเก็ตชง 12โครงการต่อรองนายกฯ
สำหรับจังหวัดภูเก็ต นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอโครงการพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัด 12 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสร้างศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งจังหวัดและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สรุปว่า พื้นที่สะพานหินมีความเหมาะสม
โครงการพัฒนาท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง เป็นมารีนาเพื่อรองรับเรือยอชต์ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกอ่าวมะขาม เป็นท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ โครงการแก้ไขปัญหาจราจร บริเวณสี่แยกไทนานและสี่แยกโลตัส โดยจังหวัดเสนอให้สร้างทางลอดระดับ(อันเดอร์พาส)หรือทางยกระดับ(โอเวอร์พาส)เพื่อแก้ปัญหา
โครงการก่อสร้างถนนสายหลักด้านใต้ ระยะทาง 600 เมตร โครงการก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปารองโครงการก่อสร้างอ่าวเก็บน้ำบางเหนียวดำ โครงการภูเก็ตเมืองไอซีที การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติให้ได้รับความรวดเร็ว และประทับใจในการบริการ โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต โครงการ Call Center และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตเพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจาก 12 ล้านคน เป็น20 ล้านคน
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ภารกิจ 2 เรื่อง คือการติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล และเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่
สำหรับเรื่องของการติดตามการปฏิบัติงาน ตามนโยบายของรัฐบาล ย้ำให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ที่ใดยังมีปัญหาให้รีบเข้าไปแก้ไข เรื่องสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(โอทอปธนาคารประชาชน
ส่วนเรื่องที่จะต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ เรื่องของปัญหายาเสพติด ผู้มีอิทธิพล การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
นายสุวัจน์ ยังได้กล่าวต่อไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยว ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การพัฒนาของทั้ง 3 จังหวัด จะต้องเป็นไปทิศทางเดียวกัน และจะต้องพัฒนาในรูปกลุ่มจังหวัด ซึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวของทั้ง 3 จังหวัด คือภูเก็ต พังงา และกระบี่ อยากให้เป็นการพัฒนาในหลักของ "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจท่องเที่ยว" แผนพัฒนาจะต้องสอดคล้องและคิดว่าเป็นจังหวัดเดียวกัน ซึ่งต่อไปการวางแผนพัฒนาทั้ง 3 จังหวัดในระดับกล่าว จะต้องมีการประสานการทำงาน นอกเหนือจากระดับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการประสานกันอยู่แล้ว
ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีเป้าหมาย เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยอีก 4 ปีจะต้องมีนักท่องเที่ยว20 ล้านคน แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของการแข่งขัน ที่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง เพราะฉะนั้นการพัฒนาการท่องเที่ยวต้องรุกหน้าไปด้วย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่จะต้องทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการวางแผนงานโครงการให้เป็นระบบ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของภูเก็ต พังงา กระบี่ และหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก
สั่งทบทวนที่สร้างศูนย์ประชุมฯ
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า โครงการต่างๆที่จังหวัดภูเก็ตเสนอขอรับการสนับสนุน ในเรื่องการสร้างศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ จากที่ททท.ที่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาถึงความเหมาะสม พบว่า สะพานหินเหมาะที่จะสร้างศูนย์ประชุมฯ โดยไม่ต้องถมทะเล แต่จะติดปัญหาในเรื่องของศูนย์กีฬาที่เทศบาลนครภูเก็ตดูแลอยู่ รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชน
ขณะที่ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด เสนอว่า การสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ ควรที่จะมีการถมทะเลออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ทราบว่าในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ศึกษาในเรื่องของการทำโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ทำให้การถมทะเลออกไปไม่สอดรับกับโครงการดังกล่าว
ดังนั้น เรื่องของการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเทศบาลเจ้าของพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ททท. บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมอีกครั้ง ในการพิจารณาคัดเลือกสถานที่ในการก่อสร้างที่เหมาะสม โดยให้ 2 หัวข้อ คือ
การเลือกสถานที่สะพานหิน จะต้องพิจารณาใน2 แนวทาง คือ การไม่ถมทะเล ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่เดิมที่ ททท.เคยศึกษาไว้ คือใช้พื้นที่ดินที่มีศูนย์กีฬาปัจจุบันเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หรืออีกแนวทาง คือ การถมทะเลออกไปบางส่วน ซึ่งทั้ง 2 แนวทางจะต้องดูในเรื่องของผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเรื่องของการจราจรที่มารองรับด้วย
ส่วนหัวข้อที่ 2 คือ บริเวณหาดไม้ขาว ที่เคยมีการเสนอเข้ามาแล้วครั้งหนึ่ง ให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ทั้งในเรื่องของระยะเวลาในการเดินทางและเรื่องอื่น ซึ่งการพิจารณาจะต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯจะได้เกิดขึ้นที่ภูเก็ต ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน จะเสนอพื้นที่เข้ามาให้พิจารณาให้รอไว้ก่อน
หนุนมารีนาเรือยอชต์-ท่าเรือน้ำลึก
สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือฉลองให้เป็นมารีนาเรือยอชต์ นายสุวัจน์ กล่าวว่า สนุบสนุนเต็มที่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาษีการนำเรือยอชต์เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเหลือ0% ทำให้เรือเหล่านี้เดินทางเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งกำลังเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่การพัฒนาท่าเรือทำได้หลายวิธี ทั้งในส่วนที่จะให้รัฐเป็นผู้ลงทุน และให้ภาคเอกชนบริหาร หรือให้เอกชนเข้ามาดำเนินการทั้งหมด
จุดนี้ ต้องกลับไปพิจารณาว่า จะดำเนินการออกมาในรูปแบบไหน โดยมอบให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีเป็นเจ้าภาพ และร่วมกับทางการฝรั่งเศส ที่จะให้คำแนะนำ ในการออกแบบเพื่อนำเสนอต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการทำรายละเอียด
ส่วนเรื่องของการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกเห็นด้วย และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ กลับไปออกแบบให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันของบประมาณปี 49
เบรกโครงการทางลอดระดับ-ยกระดับ
ขณะที่ปัญหาการจราจร ที่จังหวัดเสนอให้มีการทำทางลอดระดับหรือยกระดับ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ให้รอไปก่อน เพราะขณะนี้กรมทางหลวง กำลังดำเนินโครงการขยายถนนออกไปเป็น 6เลน และ 8 เลน ส่วนอีก 3 ปีที่คาดว่าจะมีปัญหา กรมทางหลวงได้เตรียมแผนไว้แล้ว คือ การสร้างสะพาน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก