ศูนย์ข่าวภูเก็ต-กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีมอบป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจความปลอดภัยด้านอาหารในพื้นที่ภูเก็ต 192 ราย ปี 48 รัฐบาลเตรียมประกาศให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศอาหารปลอดภัย”เพื่อนำไปสู่การเป็นครัวอาหารของโลกและส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี หลังนำร่องอาหารปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยว 3 จังหวัดพบสารปนเปื้อนแทบไม่มีแล้ว 90%
เมื่อเวลา 10.00น.วันนี้ (9 พ.ย.) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ผ่านการตรวจความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 192 ราย ณ โรงแรมถาวรแกรนด์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นายยงยุทธ กล่าวภายหลังมอบป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจความปลอดภัยของอาหารว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2547 เป็นปีแห่งสุขภาพอนามัยและรณรงค์เผยแพร่คุณภาพมาตรฐานอาหารไทยที่ทัดเทียมสากล เพื่อนำไปสู่การเป็นครัวอาหารของโลกและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยทางรัฐบาลจะประกาศให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศอาหารปลอดภัย”ภายในปี 2548 ที่จะถึงนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดให้มีการรณรงค์ให้มีการตรวจสารปนเปื้อน 6 ชนิดในอาหาร
ได้แก่ บอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกันรา ฟอร์มาลิน ยาฆ่าแมลง และสารเร่งเนื้อแดง ปรากฏว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้สารปนเปื้อนในอาหารลดลงไปจำนวนมากจากเดิมที่เคยตรวจพบสารปนเปื้อน 96% ลดลงเหลือ 6.78%
นอกจากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งอาหารปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวปี 2547 ขึ้น ซึ่งเป็นการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายและเป็นการดำเนินโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการพัฒนารูปแบบความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวปี 2546 โดยดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่
โดยมีเป้าหมายที่จะให้ร้านอาหารในพื้นที่นำร่องเข้าร่วมโครงการจังหวัดละประมาณ 100 แห่ง แต่ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นปรากฏว่ามีร้านอาหารและโรงแรมเข้าร่วมโครงการเกินกว่าเป้าที่วางไว้โดยในวันนี้มีร้านอาหาร โรงแรม รวมทั้งตลาดสดที่ผ่านการตรวจความปลอดภัยเกือบ 200 ราย
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP เพื่อกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความปลอดภัยอย่างครบวงจร และคาดว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศได้มากยิงขึ้น
ขณะที่นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อปี 2546 ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบอาหารปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว 3 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ คือ เกาะสมุย ภูเก็ต และเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีผู้ได้รับป้ายอาหารปลอดภัยรวมทั้ง 3 จังหวัดประมาณ 400 คน และยังมีผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก
ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมมากขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งอาหารปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมผู้จำหน่ายอาหารให้มากขึ้น เช่น ร้านค้า แผงลอยจำหน่ายอาหารในตลาดสดและศูนย์อาหาร และที่สำคัญ คือ เป็นการสนับสนุนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในการบริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้รับการอบรมความรู้ด้านสุขลักษณะความปลอดภัยอาหาร และตรวจสอบอาหารสดมีคุณภาพปลอดภัยติดต่อกัน 3 ครั้งในระยะเวลา 3 เดือน จนร้านค้าได้ป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยและประกาศนียบัตรรับรองความปลอดภัย 192 ราย
นอกจากการตรวจสอบอาหารสดจากสถานที่จำหน่ายแล้วในส่วนของสถานที่ผลิตอาหาร 54 ประเภท ต้องผ่าน GMP ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยทางสำนักงานสาธารณสุขภูเก็ตได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP และผ่านการตรวจประมาณจำนวน 30 ราย เชื่อมั่นว่าเป็นความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการที่ทำให้ประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยเแพาะอย่างยิงผุ้ประกอบการต่างมีการตื่นตัวและมีเจตจำนงที่จะจำหน่ายอาหารที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค