xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ลงนราฯอัดฉีดเงินค่าตอบแทนแพทย์-พยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส-ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำทีมลงพื้นที่นราธิวาส สั่งอัดฉีดเงินค่าตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล พร้อมประกาศให้ 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ เผยพื้นที่ขาดแคลนระดับ 1 ปรับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มจากเดิมอีก 1 เท่าตัว

วันนี้ (7 พ.ย.) นพ.วิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เดินทางมาประชุมแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ห้องประชุมใหญ่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส เพื่อพบปะและปลอบขวัญให้กำลังใจแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งติดตามปัญหาการขาดแคลนแพทย์ พร้อมอัดฉีดเงินค่าตอบแทนแพทย์-พยาบาล ใน 3 พื้นที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ นพ.วิชัย กล่าวหลังการประชุมว่า เหตุรายรายวันที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นทำให้แพทย์ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องทำงานกันมากขึ้น ทางกระทรวงฯ มีมาตรการแก้ไขเร่งด่วนโดยการจัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางหมุนเวียนมาช่วยแบ่งเบาภาระ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทีมงานจากหน่วยกองทัพ ตำรวจ และมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์
 
ส่วนการให้ขวัญและกำลังใจนั้นได้ประกาศพื้นที่ 7 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจืก จ.ปัตตานี อ.เมือง อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.เมือง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ โดยจะจัดเงินเป็นค่าตอบแทนเพิ่มเติม โดยแพทย์จะได้รับเพิ่มคนละ 10,000 บาท เภสัชกรคนละ 5,000 บาท พยาบาลวิชาชีพคนละ 1,000 บาท

ส่วนพื้นที่ขาดแคลนระดับ 1 ที่ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอยู่เดิมแล้วจะปรับอัตราเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว โดยแพทย์และทันตแพทย์จะได้เพิ่มเป็น 20,000 บาท เภสัชกรเพิ่มเป็น 10,000 บาท และพยาบาลวิชาชีพจะเพิ่มเป็น 2,000 บาท ส่วนพื้นที่ขาดแคลนระดับ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายมากจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 50 เปอร์เซ็นต์ โดยแพทย์และทันตแพทย์จะได้รับ 30,000 บาท เภสัชกรได้รับ 15,000 บาท และพยาบาลวิชาชีพจะได้รับคนละ 3,000 บาท

นพ.วิชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และราธิวาส เบื้องต้นจะบรรจุพยาบาล และสหเวชศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมาตั้งแต่ ปี 2545 ให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ 138 อัตรา โดยใช้ตำแหน่งที่ว่างลงในจังหวัดใกล้เคียงโดยขอให้อยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างน้อย 3 ปี จึงจะขอโอนย้ายได้
 
ส่วนแพทย์ที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลพื้นที่นี้ ได้กำหนดเงื่อนไขการย้าย หรือลาศึกษาต่อเป็นกรณีพิเศษ โดยเมื่อทำงานครบ 1 ปี สามารถขอย้ายได้ หากครบ 2 ปี สามารถขอลาศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านได้โดยไม่ต้องรอให้ครบ 2-3 ปี เหมือนกับแพทย์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ

สำหรับมาตรการระยะยาวนั้นจะเน้นผลิตบุคลากรให้เพียงพอทุกพื้นที่ในปีงบประมาณ 2548 โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ผลิตแพทย์เพิ่มให้จังหวัดละ 10 คน และเมื่อจบแล้วจะต้องปฏิบัติงานใช้ทุนในพื้นที่เท่านั้น และจะผลิตพยาบาลวิชาชีพ 1 ตำบล 1 ทุน โดยคัดเลือดเด็กจาก 100 ตำบล ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่อย่างน้อง 1 ปี และบิดา มารดา อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี เข้าเรียนพยาบาลที่สถาบันในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจบแล้วจะไปทำงานประจำสถานีอนามัยในพื้นที่ตำบลของตนเอง
 
"โดยโครงการนี้จะผลิตบุคลากรปีละ 2,500 ทุนทั่วประเทศ ซึ่งจะเน้นจัดสรรทุนให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเป็นหลัก” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น