“จริง ๆ ไข่มีความหมายที่ดีนะคะมันเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ คือมันเป็น symbolic ที่ดี การให้ไข่ก็คือเหมือนเราส่งมอบความปรารถนาดีและก็ต้องการให้เขาได้มีชีวิตใหม่ที่ดี จริง ๆ อาจจะพูดได้ว่ามันเป็นการให้แบบทั้งต้นทางจนถึงปลายทางได้เลย
ความหมายของการให้ “พวงหรีด” ก็คือเป็นการแสดงความเคารพ แสดงความอาลัยให้กับผู้วายชนม์ พอให้เสร็จแล้วของเหล่านั้นก็ยังให้ต่อได้อีก” คุณจูน-ปภัชญา เบญจาทิกุล เจ้าของไอเดียธุรกิจ “พวงหรีดไข่” บอกเล่าถึงความหมายที่ให้ความรู้สึกดี ๆ ซ่อนอยู่ไปพร้อมกับการให้ไข่ จากโจทย์การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในความตั้งใจแรกเริ่มคือ ต้องการจะลด “ขยะ” ที่เป็นภาระในการจัดเก็บหลังจากการไปร่วมแสดงความอาลัยแล้ว แต่ทว่าการรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วสำหรับไข่ซึ่งเมื่อนำมาใช้ตกแต่งเป็นพวงหรีดการใช้งานจึงไม่ได้หยุดแต่เพียงนี้ สามารถที่จะส่งต่อไปสำหรับการใช้ประโยชน์เป็นอาหารได้เกิดขึ้นทันทีด้วย“เพนพ้อยท์ของการขนส่งไข่ในจำนวนเยอะ ๆ เนี่ย ก็คือแพคเก็จจิ้ง วัตถุประสงค์ของการทำพวงหรีดไข่เนี่ยหนึ่งต้องอยู่ในจำนวนไข่ที่พอเหมาะและก็ขนส่งได้ด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่ว ๆ ไป ก็คือต้องเป็นไซซ์ซิ่งที่ไม่เกินที่มอเตอร์ไซค์จะส่งได้ จุดเด่นของธุรกิจพวงหรีดเนี่ยก็คือ ต้องไว เพราะเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น คนจะสั่งเมื่อไหร่ คนจะใช้เมื่อไหร่(พอเขาสั่งมาปุ๊บ) ต้องพร้อมแพ็กเลย แรก ๆ ก็คือหลังจากที่แพ็กเสร็จเตรียมไปส่งให้กับวัดใดวัดหนึ่ง มอไซค์ก็มารอรับพอเห็นว่าเป็นไข่อยู่ในนี้ก็บายกันไปหมด ก็หนีกันไปหมดเลย คือเราต้องพยายามบอก สาธิตให้เขาเรียนรู้ แล้วก็กล้าที่จะไปส่ง รับประกันด้วยซ้ำว่าถ้าแตกเนี่ยส่งใหม่เลย! อะไรอย่างเงี้ย(คือเราเคลมให้ใหม่เลย) จนตอนนี้คือมอเตอร์ไซค์วินหรือแม้กระทั่งแกร๊บที่เคยมารับกับเราบ่อย ๆ นี่ก็คือเขารู้หมดแล้ว อ๋อพวงหรีดไข่เหรอโอเคเข้าใจ แล้วเขาก็เตรียมสายรัดมา 1 เส้นแค่นั้นเอง ก็ไปได้แล้ว”
ที่มาของแนวคิด “รักษ์โลก” ไม่เป็นภาระจัดเก็บเพราะส่งต่อได้จริง
ไอเดียนี้จริง ๆ เกิดมาตั้งแต่ช่วงโควิดฯ ช่วงนั้นเราก็ทำงานประจำอยู่แต่ว่า “ไม่มีงาน” เพราะว่าทุกอย่างโดนฟรีซหมด แล้วไอเดียแรกที่เกิดขึ้นมาคือในสถานการณ์ที่ย่ำแย่แบบนี้ธุรกิจอะไรที่มันยังอยู่ได้ ก็เลยรู้สึกว่างานศพมันเป็นธุรกิจที่มันหยุดไม่ได้ แม้กระทั่งร้านอาหารหรือธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ยังไงมันก็ประกอบต่อไม่ได้เพราะคนไม่ได้ไปรับประทานอาหารในร้าน พวงหรีดก็น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด“แล้วทำยังไง? อะไรที่มันอยู่ในพวงหรีดที่มันยังตอบโจทย์คนในสถานการณ์ที่แบบ คนไม่สามารถที่จะทำอะไรต่อได้ ก็คือของกิน เราก็เอา “ไข่” สามารถไปประกอบอาหารหรือทำอะไรได้เลย” จุดเริ่มต้นไอเดียจริง ๆ ด้วยการที่เราเนี่ยไปงานศพบ่อย ๆ และก็เป็นคนจัดงานศพเองก็เถอะและก็มีญาติที่เสียชีวิตอย่างเงี้ย เราก็ไปนั่งอยู่ในงานนั้นหลาย ๆ วัน เราก็มองเห็นว่าพวงหรีดที่อยู่ในงานไม่ว่าจะเป็นพวงหรีดดอกไม้ พวงหรีดพัดลมหรือว่าพวงหรีดทางเลือกต่าง ๆ แล้วเราก็เห็นว่า มันก็มีคุณประโยชน์ของมัน ดอกไม้ก็ดูสวยงามดี แต่พอเสร็จงาน7 วันก็ไปทิ้งอยู่ในถังขยะและก็รอรถขยะมาเก็บ 3-4 วันกว่าจะเก็บ อันนี้ที่เราเห็น“แล้วก็ที่โดนกับตัวเลยก็คือ พวงหรีดพัดลม พอจบงานญาติก็เกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนเอาไป สุดท้ายจบที่ให้วัดพอหันไปมองที่วัดก็คือมีพัดลมเป็นร้อยตัวเลย! ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง” ก็เลยคิดว่าถ้ามันมีพวงหรีดที่มันให้ได้ปุ๊บ ส่งมอบให้กับผู้วายชนม์แล้ว จบงานแล้ว ทั้งหมดในพวงหรีดเนี่ยสามารถใช้งานได้จริงแล้วก็ไม่สิ้นเปลืองสำหรับสิ่งแวดล้อมด้วย และก็มีประโยชน์จริง ๆ ในหลายแง่มุม มันเป็นอะไรได้บ้าง? ก็เลยคิดว่า “ไข่” น่าจะเป็นวัตถุดิบสำคัญ ก็คือง่าย ๆ เลยของกิน สิ่งที่ทุกคนจะต้องกินไม่ว่าคนรวยคนจนมันก็คือไข่ คน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เนี่ยยังไงก็ต้องกินไข่ ก็เลยรู้สึกว่าไข่น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะเหมาะลองเอามาทำเป็นพวงหรีดดู ก็เลย Develop แล้วก็พยายามคิดหาวิธีทำให้ไข่มาอยู่ในพวงหรีดได้ แล้วก็ส่งได้จริง
แต่ความยากของการเริ่มธุรกิจนี้ คือคนไม่เชื่อว่า “ไข่” จะไม่แตก!
เพนพ้อยท์ของการขนส่งไข่ในจำนวนเยอะ ๆ เนี่ยก็คือ Packaging แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนทางด้านนี้มา เราเรียนจบนิเทศศาสตร์มา เราก็เลยอาศัย reference ในอินเทอร์เน็ตแล้วก็ทำการบ้าน แล้วก็ลองผลิตโมเดล ทำ Mockup ขึ้นมาหลาย ๆ เวอร์ชัน จนกระทั่งสามารถที่จะแบบขนส่งไข่ได้ในจำนวนเยอะ ๆ แบบนี้“แบบแรกเนี่ยเป็นแบบสี่เหลี่ยมปกติค่ะ แต่ไข่ก็ไม่สามารถที่จะตั้งขึ้นได้และก็จำนวนมันน้อยเกินไป ส่วนเวอร์ชันที่สองเนี่ยทำออกมาในรูปแบบที่คล้ายพวงหรีดเลยทำเป็นวงรี แต่พอยกขึ้นมาจริง ๆ แล้วจำนวนไข่มันเยอะเกินไป ไม่สามารถรับน้ำหนักได้แล้วขนส่งจริงไม่ได้ อันนี้ก็เลย develop มาเป็นเวอร์ชันสุดท้ายซึ่งสามารถใช้ได้จริง” วัตถุประสงค์ของการทำพวงหรีดไข่1. ต้องอยู่ในจำนวนไข่ที่พอเหมาะและก็ขนส่งได้ด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่ว ๆ ไป ก็คือต้องเป็นไซซ์ซิ่งที่ไม่เกินที่มอไซค์จะส่งได้ และก็ประหยัดเนื้อที่ แล้วก็ต้องสามารถตั้งอยู่บนฐานของพวงหรีดที่อยู่ในวัดทั่ว ๆ ไปได้ด้วยรวมทั้งแขวนได้ น้ำหนักต้องไม่เกินเท่าไหร่อย่างงี้ก็มีการคำนวณออกมาทั้งหมดและก็ที่สำคัญต้องเห็น “ฟองไข่” เพราะว่าโดยปกติแล้วไข่ถ้าซอฟต์จริง ๆ ไม่ให้แบบว่ามันแตกระหว่างทาง ก็คือต้องปิดทั้งหมด แต่อันนี้โจทย์ที่สำคัญคือเราอยากให้เห็นไข่ เพราะว่าคนที่ให้พวงหรีดไข่เขาก็อยากให้คนในงานได้เห็นว่ามันคือไข่ ถูกไหม? และก็ที่สำคัญในแพคเก็จจิ้งทั้งหมดเนี่ยมันต้องประกอบกันด้วยวัสดุที่เป็น “กระดาษ” ก็คือไม่มีพลาสติกเลย ประกอบด้วยตัวของมันเอง เพื่อไม่ให้มีวัตถุสิ้นเปลืองที่มันเป็นขยะต่อโลก แล้วก็พอแกะออกมาแล้ว สามารถนำมอบให้กับคนที่รับต่อได้เลยโดยไม่ต้องเอาถุงพลาสติกมาใส่ทีละฟองสองฟอง ฉะนั้นก็เลยออกแบบมาเป็น 62 ฟองที่อยู่ใน 1 แพ็ก(ใหญ่) พอเปิดออกมาปุ๊บจะแบ่งเป็น 8 กล่องย่อย ที่สามารถหยิบนำกลับไปได้เลย
“คือด้วยความที่เราไม่ได้มีทุนเยอะอะไรมากมาย ในช่วงแรก ๆ ก็อาจจะผลิตในจำนวนน้อย ๆ ก่อนอะไรเงี้ยค่ะ เราก็พยายามติดต่อร้านกล่องพวกกล่องอะไรพวกนี้ หลาย ๆ เจ้าเลยค่ะ 3-4 เจ้าก็ไม่มีใครที่จะยอมผลิตกับเรา เพราะหนึ่งในเรื่องของความเชื่อว่า ไข่จำนวนเยอะ ๆ ขนาดนี้ มันไม่สามารถที่จะออกแบบอยู่ในแพคเก็จจิ้งแบบนี้ได้ อย่างเงี้ยค่ะ คือผลิตกล่องง่าย ๆ มันน่าจะง่ายสำหรับเขามากกว่าพวงหรีดไข่คือเป็นอะไรที่ใหม่ แล้วเหมือนมันต้อง develop ไปด้วยกันน่ะค่ะ โรงงานที่ผลิตเขาก็ปฏิเสธไปหลายเจ้า มีแบบรับแล้วคืนเงินมาด้วยนะคะ ไม่ทำต่อ ยอมแพ้” นั่นคือปราการด่านแรกที่ต้องr[เจอมาสำหรับการเริ่มต้นทำพวงหรีดไข่
“ทุนน้อย-ผลิตน้อย” ราคาต่อหน่วยจึงสูง ไม่ตรงใจ B2B แต่โดนใจ B2C ก่อน
จากความตั้งใจตอนแรกของธุรกิจนี้คือ เราต้องการผลิตแค่กล่อง ที่สำหรับใส่ไข่เป็นพวงหรีด แต่เราไม่ได้อยากตั้งเป็นร้า ดอกไม้หรืออะไรเองที่พร้อมนำไปส่งให้สำหรับการใช้งานเลย คือเราไม่มีเวลาที่จะไปรับออร์เดอเพื่อจะมาเองทำขนาดนั้น(เพราะก็ยังมีงานประจำทำอยู่ด้วย) ก็กะว่าจะให้พวกร้านพวงหรีด ร้านหีบศพ หรือร้านที่เกี่ยวกับร้านดอกไม้อย่างเงี้ยก็คือซื้อกล่องจากเราไป แล้วเขาก็ไป decorate หรือออกแบบขายในรูปแบบของเขาเองแล้วก็ตั้งราคาของเขาเอง“ก็ในระยะแรกด้วยความที่เรามีต้นทุนน้อย เราก็ผลิตกล่องอยู่ใน volume ที่น้อยต้นทุนกล่องมันก็เลย ค่อนข้างสูง ร้านพวงหรีดเนี่ยเอาจริง ๆ กำไรเขาค่อนข้างมากต่ออัน(กำไรสูงถึงกว่า300%) และก็กล่องมันก็ดูเหมือนกล่องกระดาษทั่ว ๆ ไปคนเขาจะชอบคิดว่า มันไม่น่าจะมีราคา ใช่ มันก็คือกล่องกระดาษน่ะ แต่ทีนี้พอต้นทุนมันสูงร้านทั่ว ๆ ไปเขาก็ซื้อไม่ไหว เพราะเขาก็ทำกำไรหรือทำ Margin ให้กับร้านเขาเองไม่ได้อะไรเงี้ยค่ะ กลายเป็นว่าคนที่ซื้อ กลายเป็นคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เขาต้องการใช้งานเลย ก็คืออยู่ในราคามาตรฐานที่เขาสามารถจ่ายได้โดยปกติ คนในกรุงเทพฯ ก็ส่งวัดหลวงวัดดัง ๆ อะไรอย่างเงี้ยก็ค่อนข้างเยอะอยู่ เน้นเร็ว เน้นไว แล้วก็มันได้ประโยชน์ให้กับคนในงานจริง ๆ เขาก็บอกต่อกัน” กลายเป็นว่าเราก็ต้องมาอยู่ในสายการผลิตที่เป็นแบบร้านส่งพวงหรีดโดยปริยาย ขายในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ จำนวนซื้อเราเริ่มได้มากขึ้น ต้นทุนเราก็ลดลง ตอนนี้เริ่มมีต่างจังหวัดมาซื้อค่อนข้างเยอะแล้ว
เมื่อมีความ “ต้องการใช้” เกิดขึ้นการตอบโจทย์ลูกค้าไกล ๆ ได้ ก็คือ “B2B”
ส่งต่างจังหวัดก็คือจะเป็นกล่องไป ร้านดอกไม้ ร้านหีบศพ หรือแม้กระทั่งฟาร์มไข่(ฟาร์มไข่ไก่) ที่เขาต้องการเพิ่มช่องทางการขายไข่ การระบายไข่ของเขา ก็มาซื้อกล่องแล้วก็เขาก็เพิ่มสายการผลิตของเขาเป็นแบบยูนิคในการผลิตพวงหรีดไข่ในฟาร์มเขาเลย หรือแม้กระทั่งตอนนี้ก็มีร้านที่ทำธุรกิจขายไข่ไก่ “แก้บน” ติดต่อเพราะก็แบบเบื่อที่จะเป็นตะกร้าหรือแบบเวลาไปขายลูกค้าเป็นลัง ๆ ไข่ เขาอยากมีแพคเก็จจิ้งที่มันดูแบบเรียบร้อยนิดหนึ่ง“เพราะต่างจังหวัดเราก็ส่งไม่ไหวถ้าเราต้องแพ็กไข่แล้วก็ส่งเอง มันก็ไม่ได้ในหนึ่งวันอยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็พยายามกระจายกล่องให้กับลูกค้าที่เป็น B2B (Business-to-Business) ในต่างจังหวัดเพื่อลูกค้าสั่งมาทางเพจเรา เราจะได้ส่งต่อให้กับร้านที่สั่งกล่องจากเราไปเลย พฤติกรรมของคนละค่ะทำให้เราได้รู้จริง ๆ อย่างเงี้ย ว่าเขาต้องการแบบไหน ตลาดมันก็เลยเปลี่ยน แต่ถามว่าหลัก ๆ จุดประสงค์หลักก็คือนั่นแหละยังเป็น B2B อยู่ค่ะ แต่ในภายภาคหน้าถ้าพอต้นทุนกล่องมันลดลง น่าจะมีร้านในกรุงเทพฯ ที่เขาสามารถเอากล่องจากเราไปทำต่อได้” คือในยุคแรก ๆ เลยที่เริ่มทำกล่องล็อตแรกที่พร้อมขาย เราแจกฟรีเลย เราทำก็คือเอากล่องเปล่าและก็ใส่ไข่ปลอมแจกฟรีไปกับร้านดอกไม้ทั่วประเทศเลย ก็หมดไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขาได้เห็นจริงเพราะว่า เราโทรขายยังไงไลน์คุยกับเขายังไงเขาก็ไม่เชื่อหรอก ว่าพวงหรีดไข่ใส่ไข่แล้วมันจะไม่แตกจริง เราก็เลยส่งของจริงไปให้เขาเลยฟรี1 อัน ให้เขาขายหน้าร้าน ก็ถ้าคนไหนสนใจก็มาสั่งกล่องจากเรา “ก็คือขนส่งใส่มอเตอร์ไซค์วิ่งให้เขาเห็นเลยว่าลงจากมอเตอร์ไซค์เนี่ยท่าเป็นยังไง อะไรอย่างเงี้ย” เพื่อให้เขาได้เห็นว่ามันสามารถทำได้จริงและไข่ก็ไม่แตกจริง ๆ
ช่องทางการตลาดเริ่มต้นผ่าน “ออนไลน์” ก็ใช้แพลตฟอร์มพื้นฐานเลย facebook ก็ทำเพจขึ้นมา แล้วก็ด้วยความโชคดีที่พอเราเปิดตัวเพจไปสักประมาณหนึ่งเดือน ก็มีสื่อที่สนใจก็เริ่มแชร์ มันก็เริ่มมีการแชร์ในโลกโซเชียลฯ ก็เป็นกระแสอยู่ในช่วงแรก ๆ ก็โชคดีไป จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ คือ เพจพวงหรีดไข่ ที่มีคนติดตามแล้วเกือบ 2,000 คน ได้หายไปแบบไม่มีร่องรอยและไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ ทำให้ต้องมีการเปิด เพจพวงหรีดไข่ ขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนเพจเดิมที่หายไปอย่างน่าเสียดาย“ตอนนี้ก็เราไม่ได้เน้นในสื่อของออนไลน์มากนักค่ะเพราะว่าจริง ๆ มันแค่ต้องการสื่อสารให้คนรู้ แล้วก็นึกถึงในเวลาที่เขาจะใช้แค่นั้นเอง เพราะว่ามันเป็นของที่ไม่สามารถที่จะใช้ได้เลย มันต้องถึงเวลาแล้วเขาจะใช้ เน้นไปทาง B2B มากกว่า” จริง ๆ ต้นทุนของกล่องตอนนี้ก็คือเราขายอยู่ที่กล่องละ 350 บาท ส่งฟรีด้วยทั่วประเทศ ใส่ไข่ได้ 62 ฟอง เป็นไข่เบอร์ 1-เบอร์ 4 ที่ใส่ได้ ก็ลองไปคำนวณต้นทุนดู แล้วก็นอกนั้นแล้วแต่ร้านเลยว่าจะไปตกแต่งแบบไหน ติดป้าย ติดดอกไม้ แล้วก็ทำราคาเป็นเพจของตัวเองได้เลย“เพราะว่าตอนนี้กล่องเรายังมีรูปแบบเดียว แต่ภายภาคหน้าเนี่ยจะ develop ในเรื่องของ“สี” เรื่องรูปแบบเพิ่มเติมอีก”
ทลายกำแพงในเรื่องของ “ความเชื่อ” เป็น “การให้” ที่สร้างความรู้สึกดีมากกว่า
จริง ๆ ในเรื่องของการออกแบบก็เรื่องหนึ่งแต่สิ่งที่ยากกว่านั้น ก็คือ “ความเชื่อ” ของคนไทย มันมีหลายอย่างเลยที่เราเรียนรู้แล้วก็กว่าจะทลายกำแพงตรงนั้นมาได้ นอกจากพวงหรีดที่ใส่ “ไข่” แล้วไข่ไม่แตก อีกหนึ่งความเชื่อก็คือ ของกิน ที่เราให้สำหรับงานศพ แล้วคนจะไปกินต่อไหม? หรือแม้กระทั่งตอนแรกมันก็มีผู้ใหญ่หลายคนที่เตือนมาว่า คนไทยเขาถือ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าก็มีลูกค้าที่สั่งไปมีฟีดแบ็กกลับมาว่า วันนี้ส่งพวงหรีดไข่ไปให้ผู้วายชนม์ ในวันนั้นเขาก็เอาไข่ที่ให้ไปมาทำอาหารให้กับแขกในงานในวันต่อไป ก็เป็นการลดต้นทุนของเขา หรือบางทีก็ หน้างานก็บอกว่า “ไข่หายไปค่ะมีคนแงะไปแล้ว!” คือเอ้อเราก็ดีใจว่า ไข่ที่เราให้ไปมันก็มีประโยชน์กับคนที่เขาต้องการจริง ๆ หรือบางทีก็พอจบงาน ก็ให้ญาติให้พี่ให้น้องไปทุกคนก็แฮปปี้อะไรเงี้ย“แล้วก็จะมีคำถามเกิดขึ้นในเรื่องของ เอ้ยงานศพ 7 วันแล้วไข่ มันจะอยู่ถึงไหม? เราก็ study เรื่องนี้ เพราะถ้าเราใช้ “ไข่สด” ในแต่ละวันเนี่ยไข่ไก่มันจะอยู่ได้ประมาณ 14-15 วัน ซึ่งยังไงก็ cover กับงานศพอยู่แล้ว ในอุณหภูมิปกติ ก็เพียงแต่ว่าเราอาจจะบอกเจ้าภาพที่รับไปว่า ขออย่าตากแดด อยู่ในที่ร่มแค่นั้นเอง”
การพัฒนา “เฟสต่อไป” เชื่อว่าทุกไอเดียบนโลกนี้ย่อมมีการพัฒนาต่อ
คุณจูน-ปภัชญา เบญจาทิกุล เจ้าของไอเดียธุรกิจ “พวงหรีดไข่” พวงหรีดรักษ์โลก ยังบอกด้วยมีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้สำหรับไอเดียการออกแบบและชื่อ “พวงหรีดไข่” เพื่อรับรองว่าเป็นนวัตกรรมของคนไทยที่เป็นเจ้าแรกในการคิดค้นพัฒนาขึ้นมาได้สำเร็จ“คือเข้าใจค่ะว่าทุกไอเดียบนโลกนี้มันต้องมีการพัฒนาต่ออยู่แล้ว ของเราแค่ต้องการเป็นไอเดียเริ่มต้นก็จดไว้เพื่อเป็นไอเดียที่เป็นแบบตั้งต้น สำหรับพวงหรีดไข่ในประเทศไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วพวงหรีดมันก็คือเขาเรียกว่าอะไร ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของที่มันใช้กับประเทศไทยไปตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอยากให้พวงหรีดไข่อยู่ต่อไปนาน ๆ ใครจะ develop รูปแบบไหนเพิ่มเติมอะไรก็แล้วแต่เลย ไม่เป็นไร เพราะมันก็เป็นของคนไทย”
คือจริง ๆ เป็นอะไรที่วางแผนไว้อยู่แล้ว ว่าถ้าเราทำอันนี้ แล้วถ้ามัน “เกิด” ขึ้นมา มันต้องไม่รบกวนชีวิตส่วนตัวเราก็คือต้องให้
“ระบบ” มันทำงานของมันไป ตัวเราไม่เข้าไปยุ่งในระบบ ก็คือเราสามารถทำงานหลักของเราต่อไปได้ (ปัจจุบันคุณจูนยังคงทำงานประจำอยู่ในบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจอีเวนต์รายใหญ่ของประเทศไทย) และก็บริหารจัดการในส่วนของ cost และก็ในส่วนของงานโลจิสติกส์อะไรบริหารจัดการไปเรื่อย ๆ โดยเราไม่ต้องไปอยู่ในระบบ ไม่ต้องมานั่งแพ็กไข่หรืออะไรเอง ก็อันนี้ก็เป็นโมเดลที่ถูกต้องและก็ทำอยู่“แต่เราก็จะทำในส่วนของแอดมินเองตอบเองเพราะว่า มันต้องได้รับการสื่อสารเยอะพอสมควรค่ะ(การให้รายละเอียดต่าง ๆ) เราอยากตอบเองเราอยากรู้ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นมีอะไร เราจะได้ช่วยแบบ แก้ปัญหาให้เขาได้แล้วก็คำถามทั่ว ๆไป ที่แบบถามกันมาบ่อย ๆ ว่าไข่จะเสียไหม? แล้วไข่มันจะแตกระหว่างงานไหม? อะไรอย่างเงี้ยก็เริ่มหายไปนะคะเพราะคนก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่ามันสามารถใช้ได้จริง ก็นอกนั้นก็มากดไลก์กดแชร์อะไรอย่างเงี้ย แล้วก็ทักมาในวันเขาต้องใช้ก็มี แล้วก็บางคนก็เป็นบริษัทเป็นคอร์เปอเรตอะไรอย่างเงี้ย เขาก็ใช้อยู่หลาย ๆ ครั้ง”
ก็ค่อนข้างเรียนรู้เหมือนกันจากลูกค้าที่สอบถามมา เขาก็จะชอบถามว่ามันมีแบบอื่นไหมคะ มีทรงรีไหมคะ มีแบบนี้ไหม? ใส่ไข่เค็มได้ไหม ใส่ไข่อย่างอื่นได้หรือเปล่า อะไรอย่างเงี้ย ซึ่งเราก็บอกว่าถ้าไข่เค็มหรือไข่อย่างอื่นก็รีเควสมาได้ สั่งมาได้ เพราะบางคนเขาก็ยังกลัวในเรื่องไข่แตกอยู่ และก็แบบอื่น ๆ เขาก็ยังอยากได้แบบที่สวยงาม เพราะว่าพอเวลาไปตั้งในงานศพหนึ่งก็อยากให้มันโดดเด่น แล้วก็คนมองเห็นชัด ก็คือต้องปรับในเรื่องของ Packaging อีกระดับหนึ่ง ปัจจุบันการสต็อก “กล่อง” สำหรับพร้อมส่งให้กับร้านค้าจะมีล็อตละประมาณ 300 กล่อง ซึ่งเป็นแบบประกอบสำเร็จให้แล้ว(การใช้งานเพียงแค่ถอดสลัก) ก่อนนำไข่ใส่ลงในกล่องย่อย 8 กล่องให้ครบ และตกแต่งอีกนิดหน่อยพวงหรีดไข่ก็พร้อมสำหรับการใช้งานได้แล้ว
“ธุรกิจนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาฯ ปีนี้เองค่ะ แต่ว่า develop มา 3 ปีแล้วก็คือทดลองทำมาเลยกว่าจะกล้าขายจริง ๆ เนี่ยก็กุมภาฯ ด้วยเงินลงทุนที่เป็นทุนส่วนตัวเอง ถามว่ามีความคาดหวังไว้แค่ไหน? จริง ๆ ไม่ได้จะอยากร่ำรวยจากธุรกิจนี้นะคะเพียงแต่ว่า เราอยากสร้าง Challenge ให้กับตัวเองและก็ลองทำดู แล้วก็ให้มันอยู่ได้ไปแบบในทุก ๆ เดือนอะไรอย่างเงี้ย ก็โอเคแล้ว ก็ไม่ได้แบบต้องการที่จะแบบเป็นกอบเป็นกำหรือเป็นธุรกิจหลักอะไรเท่าไหร่ค่ะ เพียงแต่ว่าเรามีไอเดียแล้วเราก็ลองทำไอเดียนี้ให้สำเร็จ แล้วก็ทำให้ความเชื่อต่าง ๆ เนี่ยมันทลายหายไปก็ถือว่า ตอนนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วค่ะในส่วนตัว”
เปลี่ยนความเชื่อที่เป็นไปไม่ได้ เป็นการให้ไม่สิ้นสุด นวัตกรรมพวงหรีดไข่ตอบโจทย์การใช้งานด้วยธุรกิจ B2B ขอบคุณเจ้าของไอเดียดี ๆ คุณจูน-ปภัชญา เบญจาทิกุล กับธุรกิจใหม่แนวรักษ์โลกอย่าง “พวงหรีดไข่” และยังสามารถแบ่งปันได้อีกในหลายมิติอย่างน่าทึ่ง การให้ไข่ที่นำไปเป็นอาหารก็ได้ หรือการแบ่งปันอาชีพในรูปแบบของ “ธุรกิจ B2B” ตอบโจทย์สำหรับการใช้งานที่ต้องการความเร็วทันเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ เป็นต้น สามารถติดตามผลงานหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจ: พวงหรีดไข่
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *