พอผ่านพ้นเดือนเมษายน ราชินีผลไม้อย่างมังคุด ก็เริ่มออกผลผลิตให้ได้กินกัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ แหล่งปลูกมังคุดที่สำคัญของประเทศไทย จะมีผลผลิตออกมามากเป็นพิเศษ วันนี้ พามารู้จัก สวนมังคุด ที่ถูกขนานนามว่า มังคุดทิพย์ จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างการรอขึ้นทะเบียน เพื่อรับการส่งเสริมเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (สินค้า GI)
ที่มาของชื่อ “มังคุดทิพย์”
สำหรับที่มาของมังคุดทิพย์ อยู่ที่อำเภอกะปง จังพังงา เป็นของ “นายบุญรัตน์ ศรีนวล” เจ้าของสวนมังคุดผิงผิง บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ทำมังคุดมานานกว่า 31 ปี มีมังคุดทั้งหมด 280 ต้น การที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็น “มังคุดทิพย์” เกิดขึ้นมาจากมังคุดของสวนผิงผิง แห่งนี้ ได้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เยือน จังหวัดพังงา และได้นำมังคุด ของสวนผิงผิง ไปถวายกรมสมเด็จพระเทพฯ และท่านทรงโปรด และชื่นชมว่า เป็นมังคุดที่อร่อยมาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มังคุดของสวนผิงผิง ได้รับการขนานนามว่า มังคุดทิพย์ ปีนี้ก็เข้าปีที่ 7
ความพิเศษ ของมังคุดทิพย์ ทำไมหลายคนที่ได้ชิมและชื่นชอบ “นายบุญรัตน์” เจ้าของสวน บอกว่า ความพิเศษของมังคุดทิพย์ คือ ตามสโลแกนของเราเลย คือ “มังคุดผิวลาย รสหวานนำเปรี้ยวตาม” และเมล็ดเล็ก ซึ่งเป็นมังคุด ที่เกิดมาจากต้นที่ปลูกมานานกว่า 31 ปี ด้วยอายุที่เยอะ ผลผลิตที่ได้จึงให้รสชาติที่หวานนำ แตกต่างจากมังคุดที่อื่นๆ โดยไม่ได้มีการใช้สารเคมีในการจัดการแมลงหรือวัชพืช แต่ยังคงใส่ปุ๋ยเคมี ปนกับปุ๋ยมูลสัตว์บ้าง ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เราได้รสชาติมังคุดที่มีรสชาติหวานนำไม่เปรี้ยวมาก และที่สำคัญ คือ คนที่กินปลอดภัยด้วย
เตรียมนำมังคุดทิพย์ขึ้นทะเบียน GI
และด้วยเอกลักษณ์ความพิเศษของมังคุดสวนผิงผิง ในปีนี้ 2568 ทาง “คุณบุญรัตน์” ก็เลยได้นำมังคุดทิพย์ ขึ้นขอทะเบียนเพื่อรับการส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ของจังหวัดพังงา ส่วนใครที่ต้องการจะชิมมังคุดทิพย์ ในปีนี้ 2568 ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว โดยทางจังหวัดพังงาได้นำมังคุดทิพย์ และสินค้าเกษตรที่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนสินค้า GI จัดโรดโชว์ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่อ งาน Phangnga Fair 2025 ระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคมนี้
ปัจจุบันมีสินค้าท้องถิ่นไทยที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้วจำนวนทั้งสิ้น 230 สินค้า สร้างมูลค่าทางการตลาดให้ประเทศกว่า 77,000 ล้านบาท สำหรับจังหวัดพังงา มีสินค้าอัตลักษณ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ทุเรียนสาลิกาพังงา ข้าวไร่ดอกข่าพังงา มังคุดทิพย์พังงาและปลิงทะเลเกาะยาว
ความพิเศษมังคุดทิพย์ มาจากต้นอายุกว่า 30 ปี
นายบุญรัตน์ เล่าว่า ตนเองได้ปลูกมังคุดมา 31 ปี ที่เลือกทำสวนมังคุดเป็นหลักในช่วงนั้น เพราะมองว่า เป็นผลไม้ที่ดูแลง่าย ไม่ต้องดูแลมาก เหมือนผลไม้อื่นๆ ก็เลยเลือกปลูกมังคุดเพียงอย่างเดียว ต่างจากสวนอื่นๆ ที่ปลูกผสมผสานกันไป ทั้งมังคุด ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ แต่ราคามังคุด ในแต่ละปีไม่ได้สูง เท่ากับทุเรียน อย่างที่สวนของเรา ราคามังคุดที่ไปส่งจุดรวบรวมผลไม้แปลงใหญ่ อยู่ที่กิโลกรัมละ 24-25 บาท และมีพ่อค้า มาประมูลกัน ใครให้ราคาสูงก็ได้ผลไม้ล็อตนั้นไป
แม้เป็นมังคุดทิพย์ แต่ราคาขายเท่ากับราคาปกติ
สำหรับผลผลิตมังคุดทิพย์ ที่สวนผิงผิง “บุญรัตน์” บอกว่า มังคุดหนึ่งต้นของที่สวนจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 50 กิโลกรัม หนึ่งไร่ประมาณ 20 ต้น เก็บผลผลิตได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ทั้ง 13 ไร่มีมังคุดทั้งหมด 280 ต้น ราคาขายมังคุด ขายส่งจากหน้าสวน กิโลกรัมละ 24-25 บาท ปีหนึ่งสามารถขายมังคุดได้ประมาณ 350,000 บาท ไม่เกิน 500,000 บาท ต้นทุนการดูแลไม่ได้สูง เพราะเป็นต้นใหญ่ อายุเยอะแล้ว ไม่ต้องบำรุงมาก ดูแลแบบตามมีตามเกิด การให้ผลผลิต แต่ละปีไม่เท่ากันบางปีผลผลิตเยอะ ปีถัดไป ผลผลิตก็จะออกน้อย
ส่วนราคาขณะนี้ ถือว่า ชาวสวนยังมีกำไร แต่บางปี ที่ผลผลิตออกมากเหมือนกันทุกสวน ราคาตกมาก เคยขายได้กิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็เคยมาแล้ว บุญรัตน์ บอกว่า แม้ว่าเราจะได้ฉายา ว่าเป็นมังคุดทิพย์ แต่เราก็ไม่ได้ไปเพิ่มราคาแต่อย่างใด เราก็ยังคงขายในราคาปกติที่ชาวสวนเขาขายกัน เพราะรสชาติ มังคุดในพื้นที่ จังหวัดพังงา ระนอง ปัตตานี นราธิวาส ฯลฯ ทางย่านนี้ รสชาติใกล้เคียงกัน ซึ่งจะให้รสชาติที่หวานนำ ส่วนตัวผมได้ชิมมังคุดทางแทบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ฯ ที่ปลูกกันเยอะๆ ผมว่ารสชาติสู้ทางแทบบ้านผมไม่ได้ รสชาติที่นั้น จะออกเปรี้ยวมากกว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้มังคุดทางแทบพังงา ลูกค้าจะชอบมากกว่า
ทุเรียนสาลิกา 1 ต้นทำรายได้มังคุด 1 ไร่
นายบุญรัตน์ บอกว่า นอกจากมังคุดแล้ว ได้มีการเพิ่มพื้นที่การปลูกทุเรียนสาลิกา ขึ้นมา เพราะทุเรียนขายได้ราคากว่ามังคุด และขายง่ายกว่า คนนิยมกินมากกว่า และทุเรียนสาลิกา เป็นทุเรียนที่รสชาติดี และกำลังได้รับความนิยมมาก เพราะรสชาติที่ดี เปลือกบาง ต้องกินในช่วงสุกกำลังพอดี เพราะถ้าสุกมาก เนื้อจะเละ ราคาขายตอนนี้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 บาท ซึ่งผลผลิตทุเรียน 1 ต้น สามารถขายได้ เท่ากับ ขายมังคุดได้ 1 ไร่ เลยที่เดียว
ปัญหาของมังคุด แม้จะเป็นราชินีผลไม้ ที่หลายคนชื่นชอบ แต่พอมาดูการตลาด ราคามังคุดไม่สามารถจะขึ้นเทียบได้กับราคาทุเรียน เพราะด้วยรสชาติที่ไม่ได้ดีเท่ากันทุกสวน พอลูกค้าชิมและเปรี้ยว ไม่อยากกิน แต่ทุเรียนควบคุมคุณภาพได้ง่ายกว่า
ติดต่อ Facebook : มังคุดสวนผิงผิง
โทร. 08-9871-9128
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *