xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นไอเอ เร่งขยายธุรกิจขนาดกลาง โครงการ INNOProductivity for SMEs โมเดลนวัตกรรม ดึงผู้เชี่ยวชาญประเมินเชิงลึกรายบุคคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (FTPI) และ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TRIS) เดินหน้าพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม ในการยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อเติบโตสู่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง อย่างมั่นคงและสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยมีโครงสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีที่ไม่สมดุล โดยมีสัดส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง หรือ Medium Enterprises เพียงร้อยละ 1.35
ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีสัดส่วนวิสาหกิจขนาดกลางอยู่ในระดับร้อยละ 5-10 สะท้อนถึงปรากฏการณ์ "Missing Middle" ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ เนื่องจากมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางไม่เพียงพอ ส่งผลให้การขยายตัวของธุรกิจ การสร้างนวัตกรรม และการจ้างงานคุณภาพสูงเกิดขึ้นได้ในวงจำกัด

ดังนั้น การเร่งพัฒนาและยกระดับเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ธุรกิจขนาดกลางที่แข็งแกร่ง จึงเป็นหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนที่ NIA และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะร่วมกันพัฒนาให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กมีฐานการดำเนินธุรกิจที่เข้มแข็ง ด้วยการผสานแนวคิดการจัดการนวัตกรรม (Innovation Management) และ การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้กับผู้ประกอบการ
ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นแรงส่งสำคัญในการค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างแข็งแรงและต่อเนื่องในยุคเศรษฐกิจใหม่

“โครงการ INNOProductivity for SMEs เป็นภารกิจหนึ่งของ NIA ในการยกระดับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังขาดความสมดุลในเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งพัฒนาฐานธุรกิจที่แข็งแรงให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตจากธุรกิจขนาดเล็กสู่ระดับกลางที่เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงผ่าน 3 กระบวนการหลัก ได้แก่ Coaching การให้ความรู้และเสริมความเข้าใจเชิงปฏิบัติถึงแนวคิดและเครื่องมือการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการบริหารการผลิตให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ Assessing การประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรมและผลิตภาพจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงประเด็นปัญหา และแนวทางการส่งเสริมเพื่อสร้างการเติบโตที่เหมาะสมกับธุรกิจ และ Consulting การให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมทั้งพัฒนาแผนการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางนวัตกรรมผสานการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อเป็น "แผนที่นำทาง" ในการก้าวต่อไปอย่างมีทิศทาง มั่นคง และยั่งยืน”


ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับโมเดลพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร 8 มิติ (Innovative Organization Model: IOM) ของ NIA ซึ่งประกอบด้วย ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม (Innovation Strategy) ด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ (Business Focus) ด้านบุคลากร (People) ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านวัฒนธรรม (Culture) ด้านทรัพยากร (Resource) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลลัพธ์นวัตกรรม (Result) มาผสานกับแนวทางการประเมินตามมาตรฐานรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น หมวดการเพิ่มผลิตภาพของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการวางรากฐานและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอีสามารถพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภาพ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะหัวใจสำคัญของโครงการ InnoProductivity for SMEs คือ การประเมินศักยภาพและการให้คำปรึกษาเชิงลึกเฉพาะราย เพื่อผลักดันการเติบโตในแต่ละธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระบวนการนี้จะดำเนินการผ่านเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ผลิตภาพ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจะเข้าร่วมวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจอย่างรอบด้าน พร้อมให้ข้อชี้แนะเชิงกลยุทธ์ และร่วมกันร่างแผนพัฒนาธุรกิจเฉพาะตัว เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่ง มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมทุกคนได้มี "แผนที่นำทางธุรกิจ" ที่ชัดเจน และมีพลังเพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ แข่งขันได้ในตลาดใหม่ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง


สำหรับ “โครงการเร่งสปีด SMEs ไทยให้เติบโตด้วยนวัตกรรม - InnoProductivity for SMEs” ได้ออกแบบกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเรียนรู้พื้นฐานแนวคิดการพัฒนาก่อนรับการประเมินเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแบบลงพื้นที่ ร่วมกับโครงการ PIN (Pioneer Innovation Network) และเครือข่ายพันธมิตร เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละภูมิภาค สภาอุตสาหกรรม และเครือข่ายผู้ประกอบการจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพอย่างใกล้ชิด ผ่านการเรียนรู้แนวคิด เครื่องมือ และการรับคำแนะนำเฉพาะทางจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรมและผลิตภาพโดยตรง และการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเอง โดยสามารถต่อยอดองค์ความรู้แต่ละกระบวนการได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักสูตรออนไลน์เฉพาะทาง “INNOProductivity for SMEs” บนแพลตฟอร์ม NIA MOOC ที่พัฒนาเพื่อรองรับผู้เข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะ ตลอดกระบวนการนี้เอสเอ็มอีจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ปี 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น