การเริ่มต้นของข้าวเข่งมาจากอาหารไทยสไตล์เบนโตะก็คือ เราทำเป็นข้าวกล่อง set box สำหรับเดลิเวอรี่ก่อนจนผ่านมาสักปีกว่า ๆ เราก็ได้มีโอกาสเข้าไปเปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบที่สุพรรณบุรีขยายคอนเซ็ปต์เพิ่มมิติในสโลแกนเรา จนตอนนี้มี 3 สาขาแล้ว
จิรศักดิ์ บุญยเมศสลวย หรือคุณเงาะ เจ้าของแบรนด์(ในห้วงช่วงเวลากว่า3 ปีที่ผ่าน) สู่เจ้าของร้าน “ข้าวเข่ง”ในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีได้มาอัพเดทธุรกิจที่เติบโต ขยายสาขาจนมาถึงร้านที่ 3 แล้ว คุณเงาะเล่าให้ฟังอีกว่า ที่เราไปตั้งร้านอยู่ตรงนั้นมันก็จะเป็น(มี)แลนด์มาร์กท่องเที่ยวของสุพรรณบุรี (เป็นอันดับ2) ก็คือที่ อ.อู่ทอง เป็นร้านแรกอยู่ใกล้ท่องเที่ยว เราก็เลยจับ target ที่ว่า เราจะเป็นร้านอาหารที่มีสไตล์ หรือเป็นร้านอาหารที่ต้องแวะเมื่อมาเที่ยวที่นี่ “ด้วยเวลาคนมาครับผมมันก็เป็นปกติทั่วไปเหมือนเราไปเที่ยวตามสถานที่ เราก็จะเสิร์ชแล้วว่าไปกินร้านไหนดี ร้านไหนอร่อย?” เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพาตัวเองทำด้านการตลาดนิดหนึ่งมีลงโซเชียลฯ การโปรโมต(ยิงแอด) มีลงโฆษณาบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ร้านเป็นที่จดจำหรือว่าเสิร์ชมาแล้วเจอ ไปอยู่ตรงนั้น แล้วทีนี้พอมันเริ่มมาเสร็จปั๊บมันก็ จะเริ่มมีเหมือนออร์แกนิคไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ปัจจุบัน “ร้านข้าวเข่ง”จะมีอยู่ด้วยกัน 3 สาขา คือ สาขาแรก: ข้าวเข่ง อู่ทอง, สาขาที่ 2: ข้าวเข่ง สาขาราชพฤกษ์(อยู่ในโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์) และสาขาที่ 3 : ข้าวเข่ง เมืองสุพรรณ(ที่เพิ่งเปิดใหม่ล่าสุด)
จากเดลิเวอรี่สู่การมีร้านนั่งทานสไตล์ “ข้าวเข่ง”
เมื่อก่อนตอนเริ่มต้นเราเริ่มต้นจากเมนหลักของเราก็คือ เป็นอาหารจานเดียว เป็นข้าวคลุกน้ำพริก ข้าวปลาทูแมว จะเน้นเป็นแนวนั้นซะส่วนมากแต่ว่าตอนนี้เราเลยมีโอกาส พอเป็นร้านนั่งทานเราก็ขยายเมนู ขยายคอนเซ็ปต์ในการจัดจานในการออกแบบต่าง ๆ มามันเหมือนกับว่าเพิ่มมิติออกมา“จริง ๆ ตอนเราทำอาหารไทยสไตล์เบนโตะครับเรามีสโลแกนอยู่แล้ว “อร่อยรส อร่อยตา อร่อยใจ” แต่ทีนี้มันก็เลยเหมือนกับว่า3 ตัวนี้มันทำให้มิติเพิ่มขึ้น เช่น อร่อยรส โอเคเราต้องมีอาหารหลากหลายทั้งอาหารไทย อาหารไทย-อีสาน มีต้ม ผัด แกง ทอด เพิ่มขึ้นมา อร่อยตา นี่คือเราก็สามารถพัฒนารูปแบบจากเมื่อก่อนเราทำบ๊อกเซ็ตอย่างเดียว ตอนนี้มันต้องมี “ต้ม” แล้วต้องใส่อะไร ต้องออกแบบแบบไหน ต้องมีจานเล็ก-จานใหญ่ เข่งเล็ก-เข่งใหญ่ แล้วก็แน่นอน อร่อยใจ เมื่อก่อนเราไปได้แค่ความประทับใจในบ๊อกเซ็ต ตอนนี้เรามีการ Service เพราะลูกค้า Walk in มาทานที่เรามันมีขั้นตอนในการเซอร์วิสต่าง ๆ มันเหมือนเพิ่มมิติในการบริการในความคิดเรามากขึ้น”ข้าวเข่งเรายังยืนคอนเซ็ปต์เดิม เพราะเราคือข้าวเข่ง มันคืออาหารทุกอย่างที่ใส่เข่ง เพราะฉะนั้นพอเราเพิ่มมิติในเมนูเยอะแยะขึ้นเราก็ยังเมนหลักเรายังใช้ “เข่ง” อยู่ หรือแม้กระทั่งว่าเครื่องดื่ม/น้ำ ก็ยังมีการใส่เข่ง (ในลักษณะของการรองแก้ว) ด้วย!
จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่มาพร้อม ๆ กัน มันมาพร้อมทั้งเราศึกษาตลาดด้วยและก็เป็น “โอกาส” ของเราด้วยที่เราได้ไปมีครอบครัวอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี ทีนี้ก็เลยได้ไปมีทำเล“มีแบบว่ามีร้านเก่าอยู่ร้านหนึ่ง เขาก็ชวนเราไปทำ มันก็เลยเป็นโอกาสที่เราได้ลองไปทำร้านแรกนะครับที่ อ.อู่ทอง แต่ประกอบกับพอเราศึกษาจริง ๆ แล้วว่าโอเคอย่างเดลิเวอรี่ตอนนี้มันก็เป็น Red Ocean โอ้โหร้านในนั้นเต็มหมดเลย! เราก็ยังมีอยู่ ก็ต้องเกิดการแข่งขันหลาย ๆ อย่างอะไรอย่างเงี้ยครับ ทีนี้พอเราได้โอกาสตรงนี้มาผมก็มองตลาดทั่วไป จริง ๆ คนหรือผู้บริโภคก็เริ่มที่จะแบบว่า ผ่อนคลายกับเรื่องตรงนั้นมาแล้วและเขาก็อยากจะหาประสบการณ์เหมือนกัน มันอยากจะทานอะไร มันก็เหมือนกลับไปวิถี วิถีเดิมอยู่ประมาณหนึ่ง”ทีนี้เราก็เลยแบบว่าได้โอกาส (ได้ร้าน) ได้พื้นที่ที่จะทำร้าน เราก็เลยเอาคอนเซ็ปต์ตรงนั้นมาขยายต่อ
อยู่ในย่านของแหล่งท่องเที่ยว ทำเลตั้งไม่เด่นแต่เป็น “ร้านที่ต้องแวะ” ได้!!?
จริง ๆ ข้าวเข่งของเราคอนเซ็ปต์ที่วางมามันเป็น “อาหารไทย” อยู่แล้ว แพ็คเก็จเราใช้เครื่องจักสานใช้วัสดุจากธรรมชาติ(เข่งไม้ไผ่หรือเข่งปลาทู) เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วโดยพื้นฐานผมว่าข้าวเข่งไปได้เกือบทุกจังหวัดเป็นสแตนดาร์ด แต่เพียงแต่ไปถึงปั๊บเราก็เพิ่มกลิ่นนิดหนึ่งให้มันเข้ากับพื้นที่อาจจะมีแบบว่า เมนูพื้นบ้านมาผสมอยู่ เพราะว่ายังไงพื้นฐานมันก็เป็นอาหารไทยเหมือนกันเลย“ร้านนั่งทานของเรา เราจะแยกอาหารออกเป็น2 หมวดครับ หมวดแรกก็คือ อาหารไทยที่เราทำอยู่แล้วก็คือ ต้ม ผัด แกงทอด แกงส้ม ข้าวอาหาร(น้ำพริก) ต่าง ๆ เป็นเมนูยืนพื้นของเรา อีกครึ่งหนึ่งเราเป็นอาหารไทย-อีสานครับ เป็นส้มตำ ยำ ลาบเพิ่มเข้ามา เพราะว่าในทางตลาดจริง ๆ แล้วความแมสของเขา(ส้มตำทานง่าย) ส้มตำ ยำ ลาบ เป็นสิ่งที่ทานง่ายมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจในร้านใหม่ที่ไม่เคยลองเลย เข้าไปกินร้านนี้ง่าย ๆ”
ที่จริงเราวางทำเลเอาไว้เกาะ/หรือใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวหมดเลย เหมือนสาขาแรกเราอยู่ใกล้ ๆ พระแกะสลักที่ อ.อู่ทอง ก็เป็นแลนด์มาร์กอันดับ 2 ของที่นั่น ตอนนี้สาขาในเมืองฯ(สาขาที่3) เราอยู่บนถนนเส้นไหว้พระ9 วัด ที่มีวัดพระธาตุ วัดแค วัดพระลอย และวัดอื่น ๆ เส้นนั้นเป็นเส้นที่นักท่องเที่ยวกำลังเดินทางไปเพราะว่า ไหว้พระ9 วัดในเส้น ๆ เดียวจบในวันเดียว ก็เลยได้ไปเปิดตรงนั้น “จุดดี-จุดเสีย ระหว่างที่ทำตรงนั้นกับทำตรงนี้ แน่นอนครับ stand alone เราอยู่เป็นร้านคนเดียว ไม่เหมือนอยู่ในห้างฯ ดังนั้นเราจะต้องทำการเรียกคนเรียกลูกค้าให้เข้ามาหาเราเอง ช่องทางโซเชียลฯ ก็เลยจะเป็นช่องทางหลัก เวลาเขาเสิร์ชหาก็จะเจอเรา เพราะร้านอู่ทองผมอยู่ในถนนในซอยด้วย ที่ไม่ใช่ทางผ่าน(มีความเป็นร้านลับ) เพราะฉะนั้นโซเชียลฯ เป็นหลักเลยแน่นอนบางคนมาเที่ยวแลนด์มาร์กที่นี่ มาเที่ยวจังหวัดนี้ ผมว่าประมาณ 90% ก็ต้องเสิร์ชแหละว่ากินอะไรดี อาหารแนะนำ” อันนั้นเป็นประตูด่านแรกแต่ทีนี้พอมาเสร็จปั๊บถ้าคนท้องถิ่นมากินแล้ว เราค่อนข้างพัฒนากลายเป็นร้านรับแขก เช่นมาเที่ยวบ้านฉัน ฉันพาไปกินร้านนี้เด็ดแน่นอน มันเป็นสเต็ปที่ 2 ที่ 3 ถัดไป
ตลาดเปลี่ยน! ลูกค้า Walk in (มากกว่า) เรื่องเมนู & ราคา
ตอนนี้ต้องแยกก่อนว่า เมื่อก่อนเราทำเดลิเวอรี่อยู่ในกรุงเทพฯ ความหนาแน่นมันเยอะกว่าอยู่แล้ว ทีนี้พอไปสุพรรณบุรีหรือไปต่างจังหวัดและก็ด้วยสเกลรูปแบบร้านจริง ๆ ประมาณ 90 กว่า% เป็นนั่งทานที่ร้านหรือ Walk in อยู่แล้ว“เดลิเวอรี่ตอนนี้มันจะผสมด้วย1. เดลิเวอรี่กับพวกbox set จัดเลี้ยง ที่เราได้เข้ามาเหมือนกันครับ เช่น หน่วยงานราชการ-หน่วยงานรัฐ หรือว่าบ้าน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่อะไรต่าง ๆ จัดเลี้ยงเราจะได้ทำอาหารเข้าไปเสิร์ฟบ้าง หรือไปทำบุฟเฟต์ให้กับโรงแรม รีสอร์ทที่พัก อยู่แถว ๆ นั้นครับแต่ก็ยังอยู่ในปริมาณที่ 90 กับ10% ประมาณนี้” แต่ถ้าอยู่ในห้างฯ ก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เหมือนร้านนี้ก็ประมาณสัก70 : 30
ส่วนเรื่อง “เมนู” ก็มีการเซ็ตอัพใหม่เยอะเลย ก็คือต้องเฉลี่ย(ความเป็นร้านอาหาร) ต้องมีอาหารจานหลักเท่าไร อาหารจานกลางเท่าไร มีต้ม ผัด แกง ทอด ฯลฯ จะต้องคิดเมนูใหม่ ๆ เข้ามาเฉลี่ย จนเราปรับมา3 ปีในร้านแรกก็เลยค่อนข้างลงตัวแล้ว ว่าจะได้เมนูอาหารประมาณ“ตอนนี้มีประมาณ100 บวก/ลบเมนู ครับผม แล้วก็เรื่อง “ราคา” ก็คือมันก็ต้องปรับ ปรับให้เหมาะสมเพราะว่าพอมาถึงการเป็นร้าน stand alone มันก็จะมีเรื่อง Service เรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมา ก็เลยต้องปรับให้อยู่ตรงกลางๆ ให้เหมาะสม”แต่ทีนี้ผมก็จะเฉลี่ยมองว่า พอเราเริ่มปรับราคาไปแล้วสำหรับร้านอาหารนั่งทาน ก็จะดูค่า Average หรือค่าเฉลี่ยต่อหัวเวลาเขามานั่งทาน 3 คน 4 คน 6 คน ของเราพอเฉลี่ยแล้ว หนึ่งคือพอเฉลี่ยเสร็จปุ๊บเราก็ลองดูฟีดแบ็กของลูกค้านี่แหละ ลูกค้ายังรู้สึกว่าเอ้ย! ถูกกว่าที่คิด หรือแพงกว่า“แต่ส่วนมากตอนผมเริ่มแรก ๆ หรือจนปัจจุบันนี้ครับ เหมือนนักท่องเที่ยวหรืออะไรที่ไปทานเนี่ยก็จะ ควักตังค์มาเกินตลอดเลย รู้สึกอ้าว! ไม่ถึงเหรอ ไม่ถึง 1000 เหรอ ไม่ถึงเท่านี้เหรอ อะไรอย่างเงี้ยครับ ก็แสดงว่าค่าเฉลี่ยของเรายังอยู่ใน range ที่รับได้ สำหรับร้านที่นักท่องเที่ยวเข้าไปทาน”
เรื่องของ “รสชาติ” ที่ต้องออกมาเหมือนกันในทั้ง 3 สาขาที่มีอยู่ แน่นอนว่ามันอยู่ในสโลแกนของร้านเรื่องอันแรกเลย คือ อร่อยรส อร่อยที่สุดไม่มี เพราะว่าต่างคนต่างชอบแบบเปรี้ยว-หวาน-เค็ม แตกต่างกันไป แต่ทีนี้เราก็พยายามที่จะสร้าง “สูตร”ทุกอย่างให้มันเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็จะเป็นสูตรหมดเลยเหมือนตั้งแต่ base น้ำพริกที่เราทำมา เราทำมาแบบเป็นจำนวนเยอะอยู่แล้วเพราะฉะนั้นรสชาติจะเหมือนกัน จนถึงกระทั่งน้ำยำสูตรทำ มีซอสผัด ที่ใช้แบบว่าทุก ๆ อย่างได้ทุก ๆ เมนู เราพยายามที่จะรักษามาตรฐานก็เลยจะทำเหมือนแมนนวลคู่มือของแต่ละสาขา ให้ทำเหมือนกัน จัดจานเหมือนกัน ทำรสชาติปรุงเหมือนกัน“แต่ถึงอย่างไรถ้ามีแมนนวลแล้ว ยังไงตัวเราเจ้าของร้านหรือผู้บริหารเนี่ยก็ต้องเข้าไปทำงาน ไปตรวจเช็กคุณภาพอยู่ตลอดเวลาเลยครับ”
“ยอดขาย” ก็แตกต่างกันไประหว่าง Stand alone กับ ร้านในห้างฯ
ถามว่าเจอปัญหาไหม? เราก็เจอ วันขายไม่ดีมีไหม? มีครับ วันที่มีปัญหามีไหม? มีครับ วันขายดีก็มี“แต่ผมว่าในสิ่งที่แบบเหมือนคนยุคนี้ มันเกิดร้านอาหารได้ง่ายทำได้ง่าย บางทีมันต้องมีครบทุกมิติ เหมือนที่เราแยกออกมาโอเคบางคนอาจจะโฟกัสไปที่สูตร(อร่อย) คุณภาพอย่างเดียวแต่จริง ๆ มันอาจจะไม่พอ ในสิ่งที่เราต้องทำก็คือเหมือนอย่างเช่นเรื่อง อร่อยตา อร่อยใจ มันคือเรื่องทัศนะ หรือว่าเรื่องจัดจานหรือว่าเรื่องบริการ อันนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเอามาควบคู่กันด้วย สุดท้ายแล้วเลยไม่ว่าจะมีสูตรหรือมีอะไรทำได้ดีเท่าไร เรื่องบริหารครับยังไงเราต้องบริหารอยู่ตลอดเวลามันก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จที่ เหมือนซื้อแฟรนไชส์หรือว่าได้แมนนวลเสร็จแล้วเอาไปเลย ทำแล้วจะประสบผลเลยมันต้อง เหมือนหนังสือเรียนครับเอามาถึงแล้วก็ต้องดูต้องปรับไปเรื่อย ๆ” ทุกวันนี้ก็ยังต้องปรับอยู่นะครับ 3 ปีเนี่ยว่า วันนี้ลูกค้าเปลี่ยนไปจากวันแรก ที่อู่ท่องเราก็ต้องปรับต้องสู้เหมือนกันเพราะว่าเหมือนวันแรกร้านอาหารน้อย เราไปเสิร์ชร้านอาหารหรือว่าร้านแนะนำร้านข้าวเข่งอู่ทองอยู่ในอันดับ 5 (1 ใน5) แต่พอตอนหลัง 3 ปีผ่านไปเราอยู่ในประมาณสัก 20 กว่า ๆ แล้ว“บางทีอาจจะไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง เป็นร้านเล็กร้านน้อยร้านก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา เป็นช้อยส์ให้กับผู้บริโภคได้เลือกเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นน่ะผมก็เลยว่าเมนสำคัญพอทำร้านอาหารแล้วครับ หนึ่งเราต้องสำรวจธุรกิจตัวเองตลอดเวลาไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่ ต้องเข้าใจว่าเขามาซื้อเพราะอะไร อะไรอย่างเงี้ย พฤติกรรมมันเปลี่ยนแปลงยังไง หรือว่าตัวเราเองเนี่ยเราทำรสชาติเป็นอย่างไร พนักงานเป็นยังไง มันต้องเรียนรู้แล้วก็ต้องบริหารไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน”
ยอดขาย สำหรับร้าน stand alone ถ้าเฉลี่ยแล้วสมมุติ 10-15 โต๊ะ ค่ารายได้เฉลี่ยก็ควรจะอยู่ที่ 1 หมื่น(บวก/ลบ)ต่อวัน เดือนหนึ่งก็ประมาณ 3 แสน ถ้าขายดีหน่อยก็จะอยู่ประมาณสัก 3-5 แสน/เดือน ยอดที่จะสามารถอยู่ได้ ส่วนร้านที่อยู่ในห้างฯ(สาขาที่2 ราชพฤกษ์) จริง ๆ แล้วถ้าเกิดว่าทั่ว ๆ ไป อยู่ใน1 ล็อค น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันบาท(บวก/ลบ) ต่อวัน เดือนหนึ่งก็ประมาณ 1.5 แสน ถ้า 1.5 แสนตัดโอเค GP ของห้างฯ ไปสัก 30 กว่า (30-35%) แล้วก็บวกค่าคน+ค่าของ ทั้งนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับโปรโมชัน หรือการต่อรองหรือว่าเงื่อนไขอะไร ณ เวลานั้นของห้างฯ
การเติบโตแบบขยายสาขาเอง ไม่เน้นเรื่อง “แฟรนไชส์”
พอทำบริหารปุ๊บเราก็เริ่มเข้าใจว่า มันเหมือนเรามีแผนธุรกิจของเราเองของครอบครัวเราเองประมาณนี้ครับ ก็เลยมีเป้าหมายว่าโอเคงั้นดูแล้วรูปแบบประมาณนี้เราอยู่ได้ ถ้าเรามีกี่สาขาในอนาคตเราจะจัดการบริหารแบบไหนยังไง? มันก็จะได้รายได้หรือได้ในจุดที่เราโอเค “เพราะฉะนั้นในแผนเราเลย เราก็เลยไม่ได้ขายแฟรนไชส์ครับแต่จะใช้การ ขยายสาขาของเราไปเองโดยที่ว่าอาจจะเป็นเหมือนในลักษณะ “พาร์ทเนอร์” มากกว่า เช่นสมมุติถ้ามีสาขาใหม่อะไรอย่างเงี้ยครับ ถ้าจะเปิดกันปุ๊บยังไงร้านเดิมเราก็ต้องไปถือหุ้น อาจจะคนละครึ่งหรือ 70:30 หรือ 60:40 ก็แล้วแต่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเหมือนพอเราอยู่ในธุรกิจอาหารมานาน ๆ เยอะ ๆ ครับผมมัน น้อยรายที่จะมีแฟรนไชส์ที่ success หรือว่าค่อนข้างแบบว่ามาตรฐานในด้านสาขา ยกเว้นแฟรนไชส์ใหญ่ ๆ ที่เขามีระบบหนาแน่น” เพราะว่าผู้ที่มาซื้อแฟรนไชส์ก็คาดหวัง คาดหวังอะไรที่แตกต่างกันไป เราขายแฟรนไชส์ไปก็มีความคาดหวัง มันก็ต้องจอยกัน แน่นอนคนที่มาซื้อแฟรนไชส์ทำธุรกิจก็อยากได้ “กำไร” อยู่แล้ว แต่ในขณะที่เดียวกันเราก็ต้องรักษาคุณภาพ รักษามาตรฐาน“โดยเฉพาะพอเป็นร้าน stand alone ของเราแล้วอ่ะมันมีมิติตั้งแต่แบบ หนึ่งเรื่องสูตรเรื่องอร่อยรสเนี่ย คุณภาพทุกอย่าง อร่อยตา เรื่องการจัดจาน ตอนนี้มันพัฒนาว่ามันไม่ใช่แค่อยู่ในจาน ตามันคือสิ่งที่เห็นได้ทั้งร้านและบนโต๊ะ เดินเข้ามาประตูกับสิ่งที่ปะทะ ลูกค้าในทุก ๆ จุดมันก็เลยต้องคำนึงหมดเลย และเรื่องถึงสุดท้าย อร่อยใจ มันพัฒนาจากที่ผมบอกครับ box set มันเป็นเรื่องบริการ บริการซะเยอะเลยครับ จริง ๆ แล้วเนี่ยอาหารข้าวเข่งมันอร่อยตั้งแต่เดินทางมาครับ เหมือนเราไปเที่ยว สตอรี่มันเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น เราขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวสุพรรณอย่างเงี้ย มันนึกแล้วว่าจะกินอะไร เหมือนของผมพอไปถึงปั๊บมันจะต้องมีแบบว่า เวลคัมดริ้งเป็นน้ำใบเตยใส่ขันเล็ก ๆ มาเสิร์ฟก่อน อะไรแบบนี้ มันจะมีขั้นตอนอยู่สองสามสี่ห้า ที่เราจะดูแลให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ เพราะว่าถ้าเป็นนักท่องเที่ยวมาที่ร้านเนี่ยแน่นอนส่วนมากเลยครับ ก็จะเป็นครั้งแรก”
3 ปี 3 ก้าวของ “ข้าวเข่ง” ก้าวสู่ปีที่ 4 และต่อไป...
คุณเงาะ-จิรศักดิ์ บุญยเมศสลวย เจ้าของร้าน “ข้าวเข่ง” บอกด้วยว่า ก้าวแรกของเราคือการสร้าง “แบรนด์” เราสร้างแบรนด์คือเป็นอาหารไทยสไตล์เบนโตะ แล้วก็เริ่มขายเดลิเวอรี่ ก้าวที่สองเราลงตลาด ลงตลาดคือไปเปิดบูธเปิดอะไรเจอลูกค้าจริงเปิดร้านอยู่ที่จอร์จแฟร์ ไปอยู่ตามเดอะมอลล์ ไปอยู่ตามเซ็นทรัลฯ ตามห้างฯ ไปออกงานต่าง ๆ และจนก้าวที่สามได้มาเป็น “ร้านอาหาร” เต็มรูปแบบ ก็คือมีนั่งทานและมีบริการครบถ้วนเลยที่ว่าพัฒนาเต็มมิติของเรา “ทีนี้ปีต่อไปเราจะเป็นก้าวที่สี่ครับ ก้าวที่สี่จริง ๆ เราก็ตั้งใจว่าเราจะเป็นร้านอาหารที่อยู่ตามแลนด์มาร์กต่าง ๆ ของจังหวัดต่าง ๆ ให้คุณได้อร่อยของเราตั้งแต่การเดินทาง เดินทางเพื่อจะมาทานข้าวเข่งนี่คือก้าวที่สี่ของเรา”มันอาจจะสวนกับเขานิดหนึ่ง ตอนนี้เราจะเป็น “ป่าล้อมเมือง” อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ รอบ ๆ กรุงเทพฯ ก่อน ค่อย ๆ เข้ามาเพราะจริง ๆ พอไปอยู่แล้วมันรู้สึกว่า มันรู้สึกจริง ๆ เหมือนเราเดินทางไปท่องเที่ยว มันมีสตอรี่ตั้งแต่เราออกจากบ้านแล้ว กว่าจะมากินที่นี่ เราก็เลยรู้สึกว่าอาหารมันอร่อยตั้งแต่ตรงนั้น มันเดินทางไปค้นหา ไม่งั้นปัจจุบันนี้มันถึงมี “ร้านลับ”คาเฟ่ลับอยู่ตามนั้นตามนี้ เพราะมันสนุกและมันอร่อย
จากเดลิเวอรี่สู่การมีร้านนั่งทานสไตล์ “ข้าวเข่ง” ชูคอนเซ็ปต์ร้านลับในย่านท่องเที่ยว “ร้านที่ต้องแวะ”ขอบคุณแรงบันดาลใจดี ๆ พร้อมไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับร้านข้าวเข่งที่กรุณามาร่วมแชร์ประสบการณ์กับเราอีกครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนี้ สามารถติดตามหรือใครที่เดินทางไปท่องเที่ยว จ.สุพรรณบุรี ไปพบกับร้านข้าวเข่งได้ตามพิกัดที่แจ้งไว้เพื่อลองชิมเมนูอร่อย ๆ ของข้าวเข่งดูสักครั้งพร้อมบริการที่สร้างความประทับใจ สอบถามเพิ่มเติมโทร.098-654-5909 หรือเสิร์ชว่า “ข้าวเข่ง”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *