สสว. เผยความคืบหน้ามาตรการ BDS มีเอ็มเอสเอ็มอีสมัครบนระบบ BDS 2 หมื่นกว่าราย และมีผู้ให้บริการทางธุรกิจ (SME Service Provider) ที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 247 ราย สร้างมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2565-2567 จำนวนกว่า 6 พันล้านบาท และปี 2568 ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอียื่นขอรับการช่วยเหลือ อุดหนุนบนระบบ BDS ไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยความคืบหน้าของมาตรการ BDS “SME ปัง ตังได้คืน” หรือโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ว่า มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการที่ สสว. มุ่งดำเนินการให้ MSME ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ผู้ประกอบการจะสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนาทางธุรกิจกับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service Provider : BDSP) ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน ซึ่งจากการที่ สสว. ได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2565 มีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 20,388 ราย (ปี 2565-2567) และมีผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 247 ราย สร้างมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2565-2567 จำนวนกว่า 6,000 ล้านบาท และมีบริการที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นบนระบบ BDS จำนวน 828 บริการและในปีนี้ ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอรับการช่วยเหลืออุดหนุนบนระบบ BDS ไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย
รักษาการ ผอ.สสว. เผยอีกว่า สำหรับบริการมุ่งเป้าในปี 2568 ประกอบด้วยการบริการใน 3 รูปแบบคือ 1.บริการที่ตอบสนอง Green Transformation 2.บริการตอบสนอง Digital Transformation และ 3.บริการที่ตอบสนอง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว “จากการที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมถึงมีการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transformation) ดังนั้น สสว. จะเน้นเพิ่มเติมการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงบริการในด้านการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานชั้นนำของประเทศ การเข้าถึงบริการด้านการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสู่กระบวนการทำงาน เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในอนาคต” รักษาการ ผอ.สสว.ระบุ
สำหรับปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในการใช้บริการ เช่น เรื่องการจัดทำเอกสารการเบิกจ่าย หรือการจัดทำรายงานผลการพัฒนา ภายใต้มาตรการ BDS ผู้ประกอบการต้องดำเนินการกระบวนการดังกล่าวเองทั้งหมดผ่านระบบ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตาม สสว. จะปรับปรุงระบบให้ง่ายมากขึ้น เพื่อสะดวกต่อการใช้บริการ รวมทั้งจะปรับปรุงกระบวนการขั้นตอน ทั้งการอนุมัติ การทำสัญญา และการเบิกจ่ายเงิน เพื่อให้มาตรการ BDS สามารถเข้าถึง MSME ในกลุ่มต่าง ๆ ให้มากขึ้นอีกด้วย