กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ที่สำคัญของประเทศ พร้อมส่งเสริมนักลงทุนหน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญต้องประกอบกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เตือนประชาชน!! ก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ธุรกิจต้องมีตัวตนตรวจสอบได้ น่าเชื่อถือ และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาหรือผลประโยชน์/ผลตอบแทนที่คู่ค้าเสนอสูงเกินจริง หรือหากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายต้องรีบถอยออกมาให้ห่าง เพื่อความมั่นใจก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ค้นหาแฟรนไชส์ในเครือข่ายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีมาตรฐาน 545 แบรนด์ ได้ทาง https://franchise.dbd.go.th/th
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “แฟรนไชส์เป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น และได้มอบแนวทางปฏิบัติให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมให้นักลงทุนและประชาชนใช้เป็นทางเลือกนำไปลงทุนประกอบธุรกิจเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
‘แฟรนไชส์’ เป็นธุรกิจสำเร็จรูปที่ช่วยให้นักลงทุนหน้าใหม่ก้าวสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ สามารถเลือกลงทุนได้ตามความถนัด/ความชอบ ธุรกิจมีให้เลือกลงทุนหลากหลายขนาดตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้านบาท ด้วยความที่แฟรนไชส์เป็นระบบที่มีจุดแข็งและผู้สนใจมักจะคิดถึงแฟรนไชส์เป็นลำดับต้นๆ ในการเลือกลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้มีผู้ไม่หวังดีนำระบบแฟรนไชส์ไปหลอกลวงนักลงทุน/ประชาชนให้หลงเชื่อและนำเงินมาร่วมลงทุนในธุรกิจ
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า กรมฯ จึงขอเตือนนักลงทุนและประชาชนที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ผ่านระบบแฟรนไชส์ ต้องศึกษารายละเอียดของธุรกิจให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน ควรตรวจสอบความมีตัวตนของธุรกิจว่ามีอยู่จริง มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งไม่หลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำชวนเชื่อของคู่ค้าเรื่องผลประโยชน์/ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง โดยต้องพิจารณาโอกาสความเป็นไปได้ของผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างรอบคอบที่สุด ทั้งนี้ กรมฯ สนับสนุนให้ทุกธุรกิจประกอบกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล’ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ยืนอยู่บนเวทีธุรกิจด้วยความสง่างาม เป็นที่เชื่อถือเชื่อมั่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่กำลังตัดสินใจร่วมลงทุนด้วยในอนาคต ส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว
นักลงทุนและประชาชนที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์ สามารถค้นหาธุรกิจแฟรนไชส์ในเครือข่ายของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 545 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและประชาชนที่สนใจสร้างอาชีพเลือกลงทุนได้ตามความชอบ ได้ทาง https://franchise.dbd.go.th/th หรือขอคำปรึกษาได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจเฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-Mail: franchisedbd@gmail.com
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความรู้เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบกิจการได้อย่างมั่นคงราบรื่น แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม 2 ระดับ คือ
1) กิจกรรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise)’ หลักสูตรนี้สร้างให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้สามารถเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำระบบแฟรนไชส์ไปขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพองค์กร ขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวางและเกิดความเข้มแข็ง ผ่านหลักสูตร 4 Module คือ 1.1) การบริหารจัดการธุรกิจ 1.2) การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 1.3) กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจ และ 1.4) การสร้างคู่มือ แผนธุรกิจ และสัญญาแฟรนไชส์ เมื่อจบหลักสูตรแล้วธุรกิจจะมีคู่มือปฏิบัติงานแฟรนไชส์ (Operation Manual) พัฒนาร้านค้าต้นแบบและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเพื่อใช้ในการขยายสาขาต่อไป ซึ่งรุ่นที่ 28 ประจำปี 2568 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จะเปิดรับสมัครรุ่นต่อไปอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2568
2) กิจกรรม ‘ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard)’ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการในลักษณะ On the job Training ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพที่กรมฯ จัดทำขึ้นตามระบบ Thailand Quality Award (TQA) และตามแนวทางมาตรฐานคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award - MBNQA)
โดยเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ก่อนเข้ารับการตรวจประเมิน 7 ด้าน คือ 1) การนำองค์กร ผู้บริหารสามารถสร้างความสำเร็จในธุรกิจ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อกฎหมาย และต้องตอบแทนสังคม 2) กลยุทธ์ มีการจัดทำกลยุทธ์ให้ธุรกิจนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน 3) ลูกค้าและแฟรนไชส์ซี การสร้างความผูกพันกับลูกค้าและแฟรนไชส์ซี พร้อมตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าอย่างเหมาะสม 4) การวัด วิเคราะห์ และจัดการความรู้ มีการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อติดตามการปฏิบัติงานประจำวันและผลการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร พร้อมให้เกิดวัฒนธรรมของการเรียนรู้และการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการใช้ผลที่ได้เพื่อการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานของกิจการ
5) บุคลากร มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความผูกพันในองค์กร 6) การปฏิบัติการ ประเมินจากการออกแบบการดำเนินงาน การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการทำงาน การจัดทำคู่มือและวิธีการบริหารจัดการต่างๆ และ 7) ผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ เป็นสิ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพในด้านที่สำคัญของกิจการ โดยประเมินผลด้วยการเปรียบเทียบ พิจารณาแนวโน้มและการวัดเชิงบูรณาการ โดยผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จะได้รับประกาศนียบัตรพร้อมเครื่องหมาย Franchise Standard การันตีคุณภาพธุรกิจ
โดยกรมฯ ได้มีการพัฒนาและทบทวนเกณฑ์มาตรฐานฯ ทุก 2 ปี เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจประเมินมีมาตรฐานเทียบเคียงระดับสากล จะมีการเปิดตัวกิจกรรมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ซึ่งปีนี้กรมฯ เน้นให้ความสำคัญกับการสร้างแฟรนไชส์ไทยให้มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล โดยมีเป้าหมายรับสมัครแบรนด์แฟรนไชส์เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
ซึ่งนอกจากการให้ความรู้กับผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์แล้ว กรมฯ ยังให้ความรู้แก่ผู้ต้องการลงทุนหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) อีกด้วย ซึ่งจะดำเนินการอบรมในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ ประกอบกับแฟรนไชส์แบรนด์ดังมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างให้แฟรนไชส์ซีรุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dbd.go.th หัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์ และหัวข้ออบรมสัมมนา
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2568) มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 545 ราย แบ่งเป็น 5 ประเภทธุรกิจ คือ อาหาร 248 ราย เครื่องดื่ม 106 ราย การศึกษา 68 ราย บริการ 66 ราย ค้าปลีก 33 ราย ความงามและสปา 24 ราย
ผู้สนใจสามารถเลือกลงทุนได้ตามความชอบและเงินลงทุนที่มี สุดท้ายกรมฯ ขอเตือนว่า การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ขอให้ผู้ลงทุนศึกษารูปแบบและรายละเอียดธุรกิจที่จะลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ เตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่แวดวงธุรกิจ แล้วความสำเร็จที่หวังไว้ก็จะอยู่ใกล้แค่เอื้อม” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย