xs
xsm
sm
md
lg

“นอร์ทเทิร์นกรีนโปรดักส์” รง.ผลิตเครื่องปรุง รับมาตรการตอบโต้ภาษี “ทรัมป์” แบกภาระคนละครึ่งลูกค้า ชี้ สินค้าจำเป็นแพงแค่ไหนต้องซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากมาตรการตอบโต้ภาษี ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกา กำหนดอัตราภาษีนำเข้าใหม่หลายรายการ กับหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย ที่โดนมาตรการตอบโต้ภาษีในครั้งนี้ 36% ซึ่งเป็นตัวเลขที่กระทบการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ อย่างมาก โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 9 เมษายน 2568


ปรับตัวผู้ผลิตสินค้าเกษตรอบแห้ง
ส่ง รง.ผลิตเครื่องปรุงส่งออก


ครั้งนี้ มาดูกันว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โรงงานผู้ผลิต ผัก สมุนไพรอบแห้ง เครื่องเทศ เครื่องปรุง ฯลฯ ป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก ว่าจะปรับตัวรับมืออย่างไร เมื่อเจอมาตรการดังกล่าว

นายสมรรถ พรมมา เจ้าของโรงงานผลิตเครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสสมุนไพร และเครื่องต้มยำอบแห้ง บริษัทนอร์ทเทิร์นกรีนโปรดักส์ จำกัด เล่าว่า โรงงานนอร์เทิร์นกรีนโปรดักส์ เป็นโรงงานผลิต รับจ้างอบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผัก สมุนไพรอบแห้ง ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2555 โรงงานตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ โดยสินค้าประกอบด้วย กะเพรา โหระพา ใบมะกรูด อบแห้ง และ ชุดเครื่อง ต้มยำ ชุดเครื่องปรุงอาหารไทย ฯลฯ

โดยลูกค้าจะเป็นกลุ่มโรงงานผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร และโรงงานผลิตอาหารพร้อมปรุง โรงงานผลิตชาสมุนไพร ซึ่งโรงงานเหล่านี้ เป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าจะเป็นประเทศในกลุ่มยุโรป และสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ มีส่งออกเองบ้าง โดยลูกค้าเป็นร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และมีลูกค้าที่ซื้อไปเป็นของฝากให้ญาติและคนรู้จักในต่างประเทศ


ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วงแรกคิดได้
อาจจะต้องรับผิดชอบร่วมกันคู่ค้า

นายสมรรถ เล่าว่า หลังจากที่เห็นมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ แต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่โดนตั้งกำแพงภาษีไว้สูงถึง 36% และมากเป็นอันลำดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน โดยส่วนตัวก็ตกใจกับเหตุการณ์ตรงนี้ ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ บอกตรงๆ ว่าเพิ่งเกิดขึ้นยังไม่ทันที่จะได้ตั้งตัวเลยว่า จะปรับตัวกันอย่างไร และยังไม่ได้มีการพูดคุยกับคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าที่เป็นโรงงาน ในประเทศ หรือ ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งลูกค้าในต่างประเทศ ของเราส่วนใหญ่จะเป็นประเทศอังกฤษ ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ส่งโรงงานในประเทศไทย ลูกค้าของเค้าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เพราะมีคนไทยอยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก ต้องการสมุนไพร เครื่องแกงไทย ไปใช้ในร้านอาหารไทย

ทั้งนี้ การรับมือ มองในระยะสั้น ที่คิดได้ตอนนี้ คือ อาจจะต้องมาคุยกันกับคู่ค้าว่าปรับตัวและรับมืออย่างไร แต่ที่คิดได้ตอนนี้ เราอาจจะยอมแบกรับภาระกันคนละครึ่ง กับทางโรงงานผู้ส่งออกที่เป็นคู่ค้า แต่ก็ต้องมาดูด้วยว่า โรงงานเหล่านั้นปรับตัวอย่างไรด้วย สาเหตุที่คิดว่าต้องเลือกวิธีนี้ เพราะสินค้าที่เราขายเป็นสินค้าจำเป็นที่ไม่สามารถทดแทนได้ ลูกค้าของเราจำเป็นต้องใช้ เพราะอาหารไทยมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถทดแทนด้วยวัตถุดิบจากแหล่งผลิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาจากประเทศไทย


เกษตรกรหรือรง.ผู้ผลิต ยอมรับขายราคาที่ถูกลง แต่ก็ดีกว่าขายไม่ได้เลย

นายสมรรถ พูดอีกว่า ที่ผ่านมามีแผนที่จะปรับราคาขึ้น เนื่องจากสินค้าของเราเป็นสินค้าการเกษตร และสินค้าเกษตรมีการปรับราคาขึ้นมาตลอด พอต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้ก็คงจะต้องยกเลิกแนวคิดนี้ไปก่อน เพราะถ้าสุดท้ายสินค้าขายไม่ได้ หรือขายได้น้อยลง ยิ่งแย่กันไปมากกว่าเดิม กระทบกันเป็นวงกว้าง เกษตรกรขายผลผลิตไม่ได้ สุดท้าย เลือกว่าจะประคับประคองกันไปก่อน ได้กำไรน้อยลง หรือ เกษตรกรเองขายสินค้าเกษตรได้ราคาที่ถูกลง ต้องช่วยกันตรงนี้ไปก่อน ดีกว่าขายไม่ได้เลย คิดว่าวิธีนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในช่วงเวลาที่รอให้หน่วยงานภาครัฐ รีบไปเจรจากับทางสหรัฐอเมริกา หวังว่าผลการเจรจาจะออกมาในทิศทางทีดีขึ้น

ทั้งนี้ ถ้าวันหนึ่ง เกิดลูกค้าไม่ได้สั่งสินค้าจากเราหรือ เลิก ปิดกิจการไป และถ้าโรงงานของเราขายสินค้าไม่ได้ กระทบไปถึงเกษตรกร ที่ส่งวัตถุดิบให้กับเราไม่สามารถขายพืชผลการเกษตรได้ กระทบกันเป็นวงกว้าง ดังนั้น คงต้องให้ภาครัฐบาล ช่วยเจรจาการค้ากับทางสหรัฐฯอีกครั้ง เพื่อให้สามารถส่งสินค้าไปได้ โดยไม่ต้องให้ลูกค้าต้องแบกภาระที่หนักเกินไป เพราะเป็นสินค้าจำเป็น


เจ้าของร้านอาหารไทยในอเมริกา
กักตุนสินค้าบางส่วนจำเป็น

ด้านเจ้าของ ร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา และห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายสินค้าไทย ต่างก็กังวลและตกใจกับมาตรการตอบโต้ภาษีของ “ทรัมป์” โดยยูทูบเบอร์ชื่อดัง ช่องร้านเด็ดอเมริกา และ ช่อง MOSSALA101 ได้มีการพูดคุยกับเจ้าของร้านอาหารไทย ในอเมริกา หลายแห่ง เช่น เจ้าของร้าน Farvovs of Thai ,Khun Dom ,Saladang ,ข้าวแกงปักษ์ใต้ ฯลฯ ทุกร้านต่างก็มารีบกักตุน วัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารไทย ก่อนที่ราคาจะขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เมษายน นี้

สำหรับสินค้าที่ ร้านอาหารมาซื้อกันในช่วงนี้ จะเป็น กะทิ ข้าวสาร และเครื่องแกง เครื่องปรุงรส อย่างซอส และน้ำปลา ฯลฯ เนื่องจากกะทิ และข้าวสารหอมมะลิ ทั้งสองอย่างจำเป็นสำหรับ ร้านอาหารไทย และไม่สามารถทดแทน จากประเทศอื่นๆได้


วัตถุดิบบางอย่างไม่สามารถทดแทนได้จากปท.อื่นๆ แพงก็ต้องซื้อ

เจ้าของร้านอาหารไทย ในอเมริกา รายหนึ่ง ได้พูดถึง ว่าทำไม่ต้องมากักตุนกะทิ เพราะกะทิจำเป็นสำหรับอาหรไทย และกะทิจากที่อื่นๆ ไม่เหมือนกะทิจากประเทศไทย และกะทิจากไทยเหมาะกับอาหารไทย กะทิเลือกใช้หลัก จะเป็นกะทิชาวเกาะ เช่นเดียว กับข้าวหอมมะลิ ซึ่งปรับราคามาตลอด ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ราคาข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย ตอนนี้อยู่ที่ถุงน้ำหนัก 20 กิโลกรัม อยู่ที่ 36.5 us

ทำไมต้องใช้ข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย เพราะข้าวจากที่อื่นไม่ได้ ไม่เหมือนข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย เคยใช้ของข้าวหอมมะลิเวียดนาม ถูกกว่ามาก แต่ไม่ได้ หุงไม่ขึ้นหม้อ ไม่มีความหอมเหมือนข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย ซึ่ง ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย ขึ้นไปแล้วกว่า 7 เหรียญ และถ้าเจอปรับราคาจากมาตรการภาษีอีกอยู่ลำบาก แต่ถ้าจะให้ปรับราคาอาหารในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ก็คงจะทำไม่ได้ อยากให้หน่วยงานภาครัฐของไทย รีบเจรจา และขอให้ผลการเจรจาออกมาในทิศทางที่ดี 

ทั้งนี้ ความลำบากไม่ได้แค่ร้านอาหาร คนไทยในอเมริกา มีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ลำบากกันไปหมด เพราะถ้าจะให้หันไปกินขนมปัง หรือกินอาหารฝรั่ง เชื่อว่า คนไทยกินได้บ้าง แต่กินตลอดกินไม่ได้ คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนกินอาหารไทย เพราะภูมิปัญญาดั้งเดิม คนไทย ได้คิดอาหารที่มีรสชาติที่ดี มาไว้ให้ลูกหลานได้กินกันมาจนถึงทุกวันนี้ และจะให้เราเปลี่ยนไปกินอาหารแบบอื่นๆ กินไม่ได้


คนไทยในอเมริกา เริ่มตุนอาหารจำเป็น ก่อนปรับราคาจริง

ด้านยูทูบเบอร์ ทั้ง 2 ช่อง พาไปดู วัตถุดิบ อาหารไทยใน ศูนย์การค้าขายอาหารไทยใหญ่อันดับต้นของอเมริกา ชื่อ Lax-c เริ่มเห็นสินค้า บางตัวเริ่มมีน้อยบนชั้น และทางเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการในศูนย์การค้าดังกล่าว บอกว่า ช่วง 1-2 วันนี้ มีลูกค้ามาซื้อ และกักตุนวัตถุดิบ ในการทำอาหารเยอะมาก รวมถึงสินค้าอื่นๆหลายๆ ตัว ขายได้เยอะขึ้น ด้วย ท้ายสุด คนไทยในอเมริกา คาดหวังที่จะให้รัฐบาล สามารถเจรจาสำเร็จ เพื่อจะช่วยคนไทยในต่างแดน ที่จำเป็นต้องกิน ต้องใช้สินค้าไทยและมีเงินเหลือส่งกลับมาให้พี่น้อง ที่ประเทศไทย

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น