xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. เจาะ 9 ต้องปรับตัวรับสมรภูมิโลกใหม่ยุคทรัมป์ 2.0 โอกาสไทยนำระบบ ววน.รับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” หวนกลับคืนสู่ทำเนียบขาว ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลก ประเทศไทยจะรับมือกับคลื่นลูกนี้อย่างไร …. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเวทีจัดเสวนาพิเศษ “Trump 2.0 วิกฤตหรือโอกาสของระบบ ววน.ไทย” ระดมผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมหาแนวทางรับมือและมองหาโอกาสใหม่จากการเปลี่ยนแปลงสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ประกาศว่า สถานการณ์ Trump 2.0 คือความท้าทายสำคัญที่ระบบ ววน. ไทยต้องเผชิญ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กสว. ในฐานะผู้กำหนดและจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนและจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน จะใช้เครื่องมือการจัดสรรและบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมเสริมพลัง สร้างการรับรู้ และสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดแนวทางร่วมกันในการรับมือกับผลกระทบและสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. ฉายภาพความสำคัญของการเสวนาครั้งนี้ สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ตระหนักดีว่านโยบายระดับโลกย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ การประกาศใช้ "นโยบายการค้าอเมริกามาก่อน" (America First Trade Policy) ย่อมส่งผลต่อการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเทคโนโลยี ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างรอบด้าน
"Trump 2.0 ไม่ใช่แค่การค้า แต่คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลก" ผศ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสว. ฉายภาพให้เห็นว่า Trump 2.0 อาจเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก จากนโยบายกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษี และการเจรจาต่อรองที่เข้มข้น อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย จีน และประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จีนมีแนวโน้มเพิ่มงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิด "Tech War" ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประเทศที่ปรับตัวได้รวดเร็วเติบโตแบบ K-Shaped Development เท่านั้นที่จะอยู่รอด เพื่อไม่ให้เผชิญภาวะชะลอไทยต้องเปลี่ยนจาก "ตั้งรับ" เป็น "เชิงรุก" สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) สร้าง Tech Supply Chain และมองหา New Growth Engine
“AI ความหวังหรือภัยคุกคาม?” ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting เตือนว่า หากสหรัฐฯ เกิดการกีดกันด้าน AI ประเทศไทยจะลำบากในการเข้าถึงข้อมูลและและไม่สามารถตามเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยได้ทัน ซ้ำร้ายการใช้ AI แทนแรงงานมนุษย์ก็อาจมีความเสี่ยงที่คนจะตกงานเพิ่มขึ้น

“โครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจคือหัวใจ” ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มองว่า มาตรการควบคุมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและข้อจำกัดในการเข้าถึงฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อาจเป็นความท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของไทย ในขณะเดียวกัน การเกิด Tech War ก็เปิดโอกาสให้ไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุน จึงต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพิ่มแรงจูงใจด้านภาษี และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของภาค

“WHO ในโลกที่ไร้สหรัฐฯ” ดร.นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ แสดงความกังวลต่อการถอนตัวของสหรัฐฯ จากองค์การอนามัยโลก (WHO) และการลดงบสนับสนุนด้านยาและวัคซีน จะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา อาจทำให้ไทยเผชิญความท้าทายในการแบ่งปันข้อมูลทางยา เชื้อโรค และการผลิตวัคซีน

“เศรษฐกิจไทยเปราะบางต้องปรับโครงสร้าง” รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิเคราะห์ว่าองค์การการค้าโลก (WTO) อาจจะไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาโดยตลอด มีปัญหาเชิงโครงสร้างและจะเติบโตช้า มีความเปราะบาง ไม่แน่นอน ซึ่งเศรษฐกิจไทยเติบโตจากอุตสาหกรรมเดิมมาตลอด และถูกบีบจากปัญหาทั้งภายในและนอกประเทศ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนสูง คนมีรายได้น้อยก็จะไม่ฟื้นตัวอีก 5 ปี ดังนั้นต้องเน้นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของไทย

“ทฤษฎีอเมริกาใช้ไม่ได้แล้ว” ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัญหาการย้ายถิ่นที่ระหว่างประเทศกระทบกับผู้อพยพ อาชญากรรมข้ามชาติ และความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะได้รบผลกระทบโดยเฉพาะ International Rescue Committee (IRC) ซึ่งไทยมีอยู่ 9 ศูนย์ จะต้องดูแลด้วยตัวเองจากนี้ไป จึงถึงเวลาที่นักวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ที่จบการศึกษาจากอเมริกาปลดปล่อยความคิดจากที่เคยใช้ทฤษฎีของอเมริกามาตลอดนั้น ควรจะพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมต่อประเทศเอง

“สังคมอเมริกากับอุดมการณ์ White Supremacy” ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า นโยบายของไทยที่ควรดำเนินการต่อไปเพื่อรองรับผลกระทบจากอุดมการณ์ White Supremacy ควรมุ่งเน้นการวิจัยเชิงระบบ เพื่อพัฒนาระบบราชการ และผลักดันนโยบายให้บรรลุผล

โดยสรุป การเสวนาพิเศษในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสที่ระบบ ววน. ไทย ต้องเผชิญท่ามกลางสถานการณ์ Trump 2.0 การปรับตัวเชิงรุก การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามอุปสรรคและคว้าโอกาสในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น