xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “การเมืองอนุรักษนิยมทางเพศ” กับการลงดาบของสหรัฐฯ ที่ยอมรับ 2 เพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา “การเมืองอนุรักษนิยมทางเพศ” กับการลงดาบของสหรัฐฯ ที่ยอมรับ 2 เพศ ผู้เชี่ยวชาญธรรมศาสตร์ชี้ อาจส่งผลกระทบแบบโดมิโนทั่วโลก แนะไทยต้องคงจุดยืน ตอบสนองคุณภาพชีวิตที่ดี บนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน หลายประเทศทั่วโลกต่างส่งเสียงยินดีให้สังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่นานมานี้การปรากฏของ นโยบายอนุรักษนิยมทางเพศ (Sexual Conservatism) กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนให้โลกอีกครั้ง เมื่อผู้นำโลกอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาลงนามในคำสั่งพิเศษ (Executive Order) กำหนดให้รัฐบาลกลางยอมรับเพียง 2 เพศทางชีววิทยาคือ ชาย และหญิง พร้อมกับยกเลิกการใช้ตัวเลือกเพศอื่นๆ ในเอกสารราชการของรัฐบาลกลางโดยอาศัยเกณฑ์การจำแนกตามเพศกำเนิด นโยบายนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มสร้างปรากฏการณ์โดมิโน ที่อาจขยายอิทธิพลไปยังหลายประเทศทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+

จากประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการวิเคราะห์เชิงลึกถึงอิทธิพลของแนวคิดอนุรักษนิยมทางเพศ พร้อมกับสำรวจถึงแนวโน้มของโอกาสที่อาจถูกปิดกั้นในอนาคต โดย ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และสื่อสารองค์กร คณะสาธารณสุขศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและสิทธิความหลากหลายทางเพศ จะพาไปถอดรหัสปรากฏการณ์นี้ พร้อมฉายภาพถึงอิทธิพลต่างๆ ที่มีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้าง


· อนุรักษนิยมทางเพศ อุปสรรคต่อการหยุดพัฒนาในหลากหลายมิติ

ผศ.รณภูมิ กล่าวว่า นโยบายอนุรักษนิยมทางเพศของทรัมป์แสดงให้เห็นว่า “เพศ” ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของอัตลักษณ์ส่วนบุคคล แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมือง โดยทรัมป์เน้นย้ำการรักษาโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม และมองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นปัจจัยที่ “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งหลังจากคำสั่งพิเศษของทรัมป์ ความอคติทางเพศก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาสังคม และหลายประเทศที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทางศาสนาและวัฒนธรรม อย่างประเทศไทยเองได้รับอิทธิพลเช่นกัน

“นโยบายที่เน้นการยอมรับเพียงสองเพศทางชีววิทยาและการยกเลิกการสนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ส่งผลให้หลายประเทศอาจต้องหยุดชะงักในการขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ เช่น ในประเทศไทยที่กำลังผลักดันกฎหมายสำคัญอย่าง กฎหมายคำนำหน้าเพศสภาพ กฎหมายการปราบปรามการค้าประเวณี กฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ นอกจากนี้ ด้านเศรษฐกิจและการคลังได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่ USAID ถูกสั่งให้หยุดการใช้เงินสนับสนุนในทันที ส่งผลให้โครงการต่างๆ ที่เคยได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน เช่น องค์กรที่ดูแลและสนับสนุน “บุคคลข้ามเพศ” หรือผู้ที่ทำงานส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป

ผลกระทบนี้ไม่เพียงแต่สร้างอุปสรรคในการขับเคลื่อนสิทธิทางสังคม แต่ยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพในวงกว้าง เช่น การระบาดของโรคบางชนิด ซึ่งก่อนหน้าเคยได้รับการควบคุมผ่านโครงการสุขภาพของภาคประชาสังคม อาจกลับมารุนแรงขึ้นเนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรในการป้องกันและให้การรักษา นโยบายเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาสิทธิและเสรีภาพ แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงระบบที่ลึกซึ้งต่อโครงสร้างสังคมและสุขภาพของประชากรในระดับโลก มาพร้อมกับกระแสต่อต้านความหลากหลายทางเพศ อาจมีการสร้างบรรยากาศที่เปิดช่องให้เกิดการแสดงออกถึงความเกลียดชัง (Hate Speech) และความรุนแรงทางเพศได้ง่ายขึ้น ซึ่งเกิดความเสี่ยงทางจิตวิทยาสังคมสูง”


· มองแนวโน้ม “ประเทศไทย” ท่ามกลางแรงกดดันและกระแสโลก

ผศ.รณภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสังคมไทย แนวคิดอนุรักษนิยมทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ เรามีแนวคิดอนุรักษนิยมฝังรากลึกในทุกเจเนอเรชัน การที่สหรัฐอเมริกาลงนามในคำสั่งพิเศษฉบับนี้ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อขบวนการอนุรักษนิยมในประเทศไทย แต่มีอิทธิพลทางอ้อมในแง่ของการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้กลุ่มอนุรักษนิยมทางเพศในไทยรู้สึก “กล้า” ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ด้วยกระแสอนุรักษนิยมที่ได้รับแรงหนุนจากนโยบายของทรัมป์

“ความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ใช่ความคิดเห็นที่ลดทอน ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ สร้างความเกลียดชังบนอคติทางเพศ ที่อาจนำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนได้ ทุกคนจึงควรช่วยกันเป็นพารามิเตอร์ทางสังคมจับตามอง ไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศขึ้นในสังคม”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมและป้องกันความรุนแรงทางเพศ ซึ่งช่วยคานอำนาจกับกระแสอนุรักษนิยมไม่ให้ขยายไปจนสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม นี่จึงเป็นเส้นสมดุลที่ไทยต้องรักษาไว้เพื่อไม่ให้ความแตกต่างทางความคิดเห็นกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่ยากจะควบคุม

นอกจากผลกระทบทางจิตวิทยาสังคมแล้ว การเมืองแบบอนุรักษนิยมทางเพศของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ในประเทศไทยในมิติต่างๆ

“แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ทั่วโลก เนื่องจากความเปิดกว้างทางวัฒนธรรมและการต้อนรับที่เป็นมิตร แต่นโยบายนี้อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมได้ หนึ่งในนั้นคือการที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้การท่องเที่ยวบูม แต่อาจนำพาอคติทางเพศเข้ามาด้วย และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงออกเชิงลบต่อคู่รักเพศเดียวกัน หรือแม้แต่เหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ

ภาครัฐจึงต้องมีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายเพื่อสร้างความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ การอบรมเจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิของทุกกลุ่ม รวมถึงการสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังควรเน้นการสร้าง “วัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่าง” ในหมู่ประชาชนและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแค่กระทบต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว แต่ยังอาจส่งผลระยะยาวต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ อีกด้วย” ผศ.รณภูมิ ย้ำเตือน


· อินไซด์โอกาสที่อาจถูกปิดกั้นและเลือนหายไปจากแนวคิดอนุรักษนิยมทางเพศในอนาคต

ผศ.รณภูมิ ฉายภาพให้เห็นต่อว่า ผลกระทบเชิงลึกของแนวคิดอนุรักษนิยมทางเพศที่กำลังแผ่ขยายในหลายมิติ อาจก่อให้เกิด "ปรากฏการณ์โดมิโน" โดยเฉพาะในแง่ของการจำกัดสิทธิและโอกาสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการถดถอยของระบบการสนับสนุนด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชน หนึ่งในโอกาสที่อาจถูกปิดกั้นอย่างรุนแรงคือ ระบบการให้บริการของภาคประชาสังคมในด้านสุขภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการสนับสนุนจากทางสหรัฐอเมริกา เช่น การป้องกัน HIV การให้คำปรึกษาในการข้ามเพศ และการเข้าถึงฮอร์โมนสำหรับการข้ามเพศ การให้บริการด้านสุขภาพขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาระของภาครัฐเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน หากเกิดการระงับหรือลดการสนับสนุนจะส่งผลให้โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขต้องเผชิญกับภาระที่ล้นเกิน ในขณะที่บุคคลที่ต้องการบริการเฉพาะทางอาจหันไปหาทางเลือกอื่นที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงหรือถูกล่อลวงด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ผศ.รณภูมิ เน้นย้ำว่า ประเทศไทยควรยึดจุดยืนและเป้าหมายในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน และการสร้างความสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ จุดยืนควรตั้งอยู่บนหลักการแห่งความยุติธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เพียงการตามกระแสโลกอย่างไร้ทิศทาง ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการให้บริการและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ จิตสังคม หรือการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงการออกมาตรการที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างจริงจัง

“แม้ว่านโยบายอนุรักษนิยมทางเพศของทรัมป์ จะสร้างแรงกระเพื่อมในระดับโลก แต่สังคมไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางเดียวกัน การยึดถือในคุณค่าแห่งความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะเป็นหลักชัยสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคน เพราะในโลกที่ความหลากหลายคือพลัง สังคมที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง คือสังคมที่แข็งแกร่งที่สุด" ผศ.รณภูมิ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น