“คุณจะขายถูกแล้วคุณเอากระดูกไก่เอาอะไรมาขายคุณไม่ใช่ของถูกหรอก คุณก็เป็นของราคาต่ำราคาปกติก็คุณใช้วัตถุดิบราคาถูก ผลิตภัณฑ์มันก็เลยคุณภาพต่ำคุณก็ต้องขายในราคาต่ำซึ่งมันเป็นราคาปกติของสินค้าคุณภาพต่ำ แต่ถ้าคุณเอาของมาตรฐานมาแล้วคุณขายต่ำกว่าอันนี้คือ “ของถูก”
ความคิดเราเป็นยังไง เราก็กินอย่างนั้น อะไรที่เรารู้สึกว่ามันไม่เวิร์ก เราก็อายเขา เราไม่กล้า ไม่อยากให้ใครมาบอก อ๊าย! โธ่ขายถูกแล้วยังปลาหมึกตัวน้อยนึง หมูกรอบก็ชิ้นบาง หมูแผ่นเหรอ? อะไรอย่างเงี้ยผมไม่อยากให้ใครมาว่าอีก เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” อั๋น-นายอนุพงษ์ แพนสิงห์ เจ้าของร้าน ๒๔ โภชนา พ่อค้าสุดอินดี้ที่ใครๆ ต่างพากันขนานนามนี้ให้เขาด้วยบุคลิก การพูดการจา กอปรกับสไตล์การแต่งตัว และเสียงลือเสียงเล่าที่บอกต่อๆ กันมาว่า “อาหาร” ของร้านนี้อร่อยออกแสงมาก! (ศัพท์ของวัยรุ่นเขา) แถมยังราคาถูกแสนถูกคุ้มเกินคุ้มค่าอีกด้วยนะ กำลังเป็นกระแสเป็นไวรัลอยู่ในโลกโซเชียล
“การแบ่งปัน” เพื่อการไปต่อได้ในชีวิตจริงด้วย
คุณอั๋น เล่าให้ฟังว่า ประเด็นเรื่องของ “ราคา” ถือว่าเป็น mass เลยเป็นภาพลักษณ์ก่อนเลย ที่มันทำให้คนเห็น เป็นสปอตไลต์ก่อนเลย แล้วที่เหลือมันตามมาด้วยเรื่องวัตถุดิบ “เพราะว่าอันดับแรกทุกคนขายถูก ก็ไปลดปริมาณบ้าง ไปลดต้นทุนบ้างวัตถุดิบที่เคยใช้ “มาตรฐาน” นะพี่ไม่ใช่เลิศนะ เคยใช้มาตรฐานก็ต้องไปหาของถูก บางร้านไก่ก็ใช้กระดูกไก่ใช้อะไรมามั่วไปหมด เอาโครงไก่มาทำ อันนั้นผมไม่ได้เรียกว่าของถูกนะผมเรียกว่าของราคาปกติ เพราะต้นทุนคุณต่ำนี่คุณขายถูกมันก็ปกติแล้ว แต่เมื่อไรที่ร้านไหนเอาของที่คุณภาพมาตรฐานแล้วกดราคาต่ำลงผมถึงยอมรับว่า มันเป็นของถูก อันนี้ผมกล้าพูดว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ต้องลองมาลองเองอีกทีหนึ่งว่ามาตรฐานที่ผมพูดเนี่ยมันไม่ได้สูงส่งนะ ไม่ใช่เอ้ยเอาของดี ผมเอาของที่ร้านคนอื่นเขาใช้นั่นแหละ” ที่มาของชื่อร้าน “๒๔ โภชนา” คือตอนแรกขาย 24 บาทก่อน กะเพรา 24 บาท มีเมนูเดียวเลยแค่หมูสับอย่างเดียว แล้วพอมาช่วงที่หมูราคาแพงๆ ในช่วงนั้นเลยต้องปรับราคาขึ้นมาด้วย เป็นราคาใหม่ 28 บาท แต่ว่าพอหมูลงมาแล้วไม่ได้ลงแล้วก็ขายไปเลย 28 บาท
“เมื่อก่อนโควิด เขาจะทำตัวเท่ๆ ไปแจกข้าวกัน แล้วเราก็เห็นเขาเออดีเว้ยเรามีความรู้สึกยินดี แต่ทีนี้เรามองว่าเฮ้ยมันแจกอย่างนี้มันก็ทำได้แค่หุ้นตังค์กันแล้วก็เอ้าไปแจกสนุกๆ กันอะไรเงี้ย แต่เราเห็นบางอย่างว่าเฮ้ยมันรู้สึกดีว่ะ คนมันไม่เคยทำ ใครอยู่ๆ ไปแจกข้าวคนเมื่อก่อนมันไม่มีนะ พอไปแจกแล้วเราน่ะทำอาหารเป็น คือเมื่อก่อนทำร้านสเต๊กแล้วผมมีปัญหาเหมือนกันปัญหาชีวิตเลย แล้วก็มันเทกโฮมอย่างเดียว กินที่ร้านไม่ได้ มันก็เหมือนปิดร้านนั่นแหละยอดขายก็ลดลงไปเลย ทีนี้มีความรู้สึกว่าเออเราต้อง move แล้วนะ มารู้ตัวคือเริ่มจะไม่มีกินแล้ว (หัวเราะ)” ก็เลยไปหาตลาดนัดเพื่อจะไปหาที่แล้วตอนนั้นผมเสิร์ชเจอว่าไอ้พวกกะเพราพวกนี้ “กะเพรา 25 บาท” มันเยอะ ที่เขาจะไปอยู่ตามตลาดนัด ตักใส่ถาดแล้วห่อๆ ด้วยสภาวะสังคมตอนนั้นมากกว่าที่มันเป็นตัวกำหนดโจทย์มา แล้วผมก็คือเลือกให้มันตรงแค่นั้นเอง “มันก็มาตรงที่อย่างแรกเลยคุณต้องขายไม่แพง ถ้าจะแบ่งปันน่ะนะ ผมไม่ได้คิดว่าไปช่วยใครนะ ผมมองว่ามันแค่แบ่งปันกันเฉยๆ” มันต้องกินได้ในความรู้สึกที่สบายใจด้วย แล้วผมมองเป็นช่องทางการตลาดด้วยว่า “ราคาถูก” ยังไงก็รอด! ยังไงมันก็มี Volume มันขายได้
“อินดี้” จริงไหม?
“แต่ผมจะบอกว่าไม่ใช่ตามสั่ง แต่เราทำตามสูตร โปรดสั่งตามเมนู (หัวเราะ) สั่งตามเมนูเพราะผมขี้เกียจมากำหนดสมองว่า คนนี้เดี๋ยวจะเอาไอ้นั่นมาผสมกับไอ้นี่ปวดหัวพี่! เอาง่ายๆ นะเหตุผลหลักเลยขี้เกียจทำปวดหัว มาสั่งเลยน้องเอาอะไร ในนี้เราในหัวเรามันบันทึกไว้แล้วอ่ะมันคล่องแล้ว เราก็หยิบปุ๊บปั๊บๆ อ๋อกะเพราเราก็ประมาณนั้น” สไตล์การทำอาหารของผมง่ายๆ เลย เอาตัวเราเนี่ยแหละเป็นที่ตั้งที่เราชอบ ใช่ ที่เราชอบ ถ้าแนวคิดเลยหนึ่งเราทำขึ้นมาก่อนแล้วเราโอเคกับมันแล้วนะในระดับหนึ่ง ที่เราตอนนั้นเราโอเคนะแต่ในส่วนที่พัฒนาอนาคตเรายังไม่รู้ ณ วันนั้นเราโอเค เราทำไปก่อน“มันจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นแบบเรา มันจะเป็นดีเอ็นเอแบบเราอ่ะแล้วเดี๋ยวเขานั่นแหละ คือลูกค้าเรา แล้วส่วนคนอื่นน่ะปล่อยเขาไป” ผมก็ทำแบบรสเข้มข้นนะ แล้วบางคนเขากินไม่อร่อย เราไม่เดือดร้อนอยู่แล้วเพราะว่าร้านหลับตาขี่มอเตอร์ไซค์ยังไปคว่ำหน้าร้านตามสั่งก็ได้เพราะว่าร้านมันเยอะ! ถูกไหมมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงเรา แล้วอีกอย่างหนึ่งผมก็ไม่ค่อยเปลี่ยนตามใครแล้วไม่งั้นมันเปลี่ยนไปเรื่อยเลย เปลี่ยนไปจนสูตรเราหายไปเลยก็มีนะ คนที่ชอบเหมือนเราก็มากินที่ร้านเรา “แล้วไม่ต้องมาเปลี่ยนแปลงผมด้วยนะ ว่าเอ้ยเค็มน้อย หวาน อะไรอย่างเงี้ยผมไม่ทำ (ไม่ใช่ว่าไม่เปิดรับคอมเมนต์) ไม่เปิดรับเลยก็ได้ไม่เปิดรับเพราะว่ามัน เราไม่ได้รับสร้างอาหารให้ใครเออเราขายอาหารแบบเนี้ย คือผมไม่มีเวลามากพอด้วยแล้วกติกาสำคัญลูกค้าน่าจะเข้าใจนะ ราคามันถูกแล้วมันควรจะเป็นแพทเทิร์นแบบนี้ ไปเร็วๆ เหมือนเป็นฟาสต์ฟูดน่ะพี่”
อั๋น “อินดี้” จริงไหม?“เขาเรียกกันเองว่า อินดี้ แต่ผมไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร แต่ถ้าอินดี้กับ “ความเอาแต่ใจ” มันอันเดียวกันน่ะ เออถ้าอย่างนั้นน่ะใช่ เพราะว่าผมก็เอาแต่ใจอย่างลูกค้าต้องการเราก็ไม่ทำอะไรอย่างเงี้ย เพราะเราไม่ได้ทำแบบนั้นอะไรอย่างเงี้ย จะว่าเอาแต่ใจก็ได้ทำนองนั้นนะพี่” ถ้าเขาเรียกอินดี้ว่า อิสระ แล้วมันใกล้เคียงกับความเอาแต่ใจมันก็ยอมรับว่าใช่ผม แต่ถ้าความหมายอื่นก็ มันไม่ใช่เรื่องแนวคิดนะมันเป็นเรื่องความเอาแต่ใจ (หัวเราะ) ตามใจตัวเองดีกว่า! ผมไม่ได้ตามใจลูกค้า “ก็อย่างที่ผมบอกอ่ะคนมันเยอะ ใน 100 คนน่ะเราไม่ต้องตามใจใครหรอก เราแค่บอกว่าเอ้ยกูอย่างงี้ กูอย่างงี้นะ มันต้องมีคนมาต่อแถวเรา อย่างน้อยสัก 4-5 คนก็ยังดีวะ อย่างน้อยก็เป็น เขาเรียกว่าดีเอ็นเอเราน่ะประมาณนั้นพี่”
เริ่มต้นที่ราคา “28 บาท” ตามวัตถุดิบแต่แพงสุดคือ 64 บาท
คือร้านผมราคามันเริ่มที่ 28 บาทนะ มันจะมีวัตถุดิบง่ายๆ ก็คือ หมูสับไก่ แต่ถ้า cost มันเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหมูชิ้นอะไรแบบนี้ราคามันจะเป็น 34 บาท อย่างหมูกรอบสูงสุดเลยคือ 48 บาท ไข่ดาว 6 บาท“แต่ผมแฟร์นะเพราะว่า อันไหนถูกเราก็เอามาขายให้มันถูกหน่อยเพื่อจะแบ่งปันกับคนอื่นได้ บางคนเขางบน้อย งบน้อยในที่นี้คนกินคนเดียวไม่รู้สึกนะ แต่ถ้าลองซื้อเยอะๆ สิ ซื้อแบบ 10 ห่อวันนี้ลูกหยุดทุกคนเลยสมมุติว่ามีลูก 10 คน หยุดเรียนหมดเลยอะไรเงี้ย มาซื้อร้านผม ผมว่าประหยัดไปได้เยอะ” อย่างราคาแพงสุดในร้านที่ขายมาคือจะเป็น 64 บาท รวมๆ แล้วนะ (เขาสั่งหมูกรอบพิเศษ เพิ่มอีก 10 บาท แล้วเขาเพิ่มไข่ดาวด้วย มัน 58+ไข่ดาว 6 บาท ก็เป็น 64) นี่คือเป็นราคาสูงสุดแล้ว แต่ได้เยอะผมรับประกัน กินไม่หมดหรอกคนถ้าไม่ได้กินเยอะจริงๆ
มีลูกค้าหลายคนบอกร้านนี้ยังไงถือว่า ราคาถูกกว่าร้านอื่นๆ จริงไหม?“ไม่ มี หลังจากนี้พี่ขับรถไปไหนพี่ลองมองป้ายดูดีๆ มี 25 (ราคา 25 บาท) เนี่ยเยอะ ให้สังเกตจะมีกะเพรา 25 ขับรถไปไหนจะเจอ มี ผมก็เจอ ให้ผมสารภาพกับสังคมเลยนะที่ มันขายราคานี้ได้มันจะมี “หมูสับ” อยู่แบบหนึ่งที่ตลาดเขาขายถูก เราก็ไม่รู้ว่าเขาผสมอะไรแต่อย่างน้อยเรารู้สองตัวว่า อาจจะมีไก่มีมันมีอะไรอย่างเงี้ย แต่ผมไม่ซีเรียสหรือถ้าลูกค้าซีเรียสต้องการกินหมูสับ มันก็ไม่ใช่ที่นี่ แต่จะให้เราเรียกมันว่าอะไรล่ะ ไก่สับมันก็ไม่ใช่มันเป็น หมู X ไก่ เป็นไก่เป็นหมูสุดท้ายเขาก็ต้องเรียกมันว่า หมูสับ แต่ของพวกนี้มันทำมารองรับใครรู้เปล่า ผู้มีรายได้น้อย แล้วคนที่ยอมรับมันได้มี! ไม่งั้นเขาทำมาขายไม่ได้หรอก ใช่ คุณจะไปเปิดโปงเขาว่าเป็นหมูปลอมก็ได้! แต่มันก็เรื่องหนึ่ง แต่ในพาร์ทของความอยู่รอดในสังคมน่ะการกินอยู่ การประหยัด มันอีกแบบหนึ่งนะ! แต่เราเอามาทำเพราะว่าลูกค้าที่เขารายได้น้อย เขายังกินได้อยู่เขาไม่ได้รู้สึกว่าแย่! หรืออะไร แล้วหลายๆ ร้านที่ทำอยู่ตรงนี้ช่วยผมคิดหน่อยว่าจะเรียกไอ้หมูนี้ ว่าอะไร? (หัวเราะ) เราจะได้เรียกมันใหม่ เราจะได้ไม่ต้องไปมุสาว่าเอ้ยมันคือหมูสับหรืออะไรอย่างเงี้ย ใช่ สร้างความเข้าใจให้ลูกค้าไปเลยว่าเอ้ยมันเป็นหมูเกรดผสมกับไก่นะ อะไรอย่างเงี้ย มันโอเคกว่าอีกสังคมมันจะได้เข้าใจไปเลย”
“ราคาถูก” อยู่ได้จริง! ในแง่ของคนขายแต่สำคัญคือ Volume ที่ต้องพิชิตให้ได้
ตอนแรกมันจะเอาเรื่อง Price ในหลัก 4P (Product, Price, Place และ Promotion) มาใช้ในการคำนวณต้นทุนแล้วก็ตั้งราคา
ส่วนใหญ่เขาจะคำนวณต้นทุนก่อนตั้งราคาใช่ไหม “แต่อันนี้แม่งตั้งราคาก่อน แล้วไปขายเลย! แล้วเหลืออะไรยังไงค่อยมาว่ากัน” แล้วหัวใจหลักคือ Volume ขายให้ได้เยอะๆ “อย่างกำไรห่อละบาทอ่ะ เซเว่นมีอยู่กี่สาขา สองหมื่นอัปที่ขายสาขาละห่อนึกออกไหมสมมตินะสมมติ พูดเรื่อง Volume ให้เข้าใจง่ายๆ วันหนึ่งคุณผลิตสองหมื่นชิ้นนะ โรงงานคุณทำทันไหมล่ะ มันก็คือเป็นอย่างงี้” มันก็คือเกิดขึ้นจริง มีกำไรจริง แล้วเรามารู้ทีหลังด้วยว่า ราคาถูกมันขายได้เยอะกว่าอยู่แล้ว เราชิงส่วนแบ่งการตลาดได้แบบง่ายๆ ไม่ได้ลำบากอะไร “แต่มันก็ไม่ทำให้ “แบรนด์” ยั่งยืนเสมอไปนะพี่ คุณต้องมาโฟกัสที่โปรดักต์ของคุณด้วยนะ ผมเริ่มเปลี่ยนแนวคิดในช่วงโควิดมากกว่า แต่ก่อนหน้านี้ผมจะมีฟังพวกสัมมนาพวกการตลาด ฟังอะไรเล่นๆ ในยูทูบน่ะนะเราก็ได้ความรู้เรื่องการขาย เรื่องวิธีคิดนะ แต่สำหรับร้านนี้มันเอาความคิดตรงนั้นมาครอบไม่ได้เลยนะ" ตอนแรกมันเป็นคำถามมากเลยว่าเฮ้ยต้นทุนอยู่ไหนวะ แล้วกำไรมันอยู่ไหน ทำไมมันเบียดกันจังวะ แล้วมันมีต้นทุนอยู่ไม่กี่อย่างหรอกแล้วทีนี้เราคิดว่า เฮ้ยมันใกล้ๆ ทุนกับกำไร range มันไม่มีช่องว่างมาก ก็เลิกคิดไปเลย! ไม่ใช่เลิกคิดที่จะทำนะ เลิกไปทำแผนตัวเลขอะไรไร้สาระพวกนั้นไม่ทำ ออกไปขายเลย! “เต็มที่ผมคิดมันคงขายได้ 2,000-3,000 มั้ง คิดอย่างนี้ มันคงไม่ต้องมาดีเท่ อะไรทำไปก่อน เราเลยตัดเรื่อง 4P เรื่องอะไรทิ้งไปก่อนไม่เอาแล้ว เรื่องทฤษฎีไม่เอาแล้ว พอไปขายปุ๊บก็ เอ้ย! อ๋อ กูเข้าใจแล้ว อะไรอย่างเงี้ย เข้าใจแล้วคือมันด้วย Volume ด้วยแหละ ปริมาณของยอดขาย ไม่ใช่รายได้นะ ของยอดขายมันสูง”
ทั้งร้านมีโต๊ะเดียว! “เชฟยืน 1” หนึ่งเดียวของร้าน
ปรากฏการณ์หนึ่งที่ตลอดเวลาเราได้เห็นในช่วงระหว่างอยู่ที่ร้านคือ จะมีลูกค้าที่ทยอยมารับอาหารตามที่ตัวเองได้สั่งเอาไว้ มีพี่ๆ ไรเดอร์ที่มารับตามออเดอร์การสั่งไว้ด้วย ซึ่งตั้งแต่ร้านเริ่มเปิด (10.00 น.) ก็จะมีคนทยอยมาเพื่อรับอาหารที่สั่งไว้ แล้วมีลูกค้า (ใหม่) ที่มาเพื่อที่จะสั่งอาหารรับประทานเลยที่ร้าน กับลูกค้าที่เพิ่งจะมาสั่งเพื่อกลับไปทานที่บ้านด้วย ซึ่งผลคือว่า “คิว” การได้รับอาหารคือยาวไปจนถึงเลยเที่ยงแล้ว! และสิ่งที่ได้เห็นคือว่าเจ้าของร้านเองซึ่งจะมีการแจ้งคิวล่าสุดให้ลูกค้าที่มาใหม่อยู่ตลอดเวลาว่าตอนนี้ไปถึงที่กี่โมงแล้ว ประเด็นคือ เพื่อให้คนที่มาสั่งอาหารได้ทราบและตัดสินใจก่อนว่า รอหรือไม่รอแล้ว! (ยังไม่เอา) ดี? แต่ว่าจะมีทางเลือกให้อย่างหนึ่งสำหรับคนที่มาสั่งที่หน้าร้านแล้ว คือว่าเมนูล่าสุดที่กำลังทำอยู่เป็นอะไรคุณสามารถจะพ่วงไปกับเมนูนี้ด้วยไหม? นี่ก็คือเป็นทางลัดที่จะช่วยให้เร็วที่สุดได้ สรุปว่ามีหลายคนยอมพ่วงด้วย (แต่บางคนยังไม่สั่งเลยก็มี) แต่ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศแบบมีการพูดคุยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้มีใครที่แสดงออกถึงความไม่พอใจเกิดขึ้นเลย
“ช่วงเช้ามันเป็นอย่างเงี้ยพี่ จริงๆ มันจะพูดว่ามันเป็นแบบนี้เลยมันก็ไม่ถูกหรอก ช่วงนี้ร้านมันเป็นกระแสอยู่แค่นั้นเองมันเลยใช้วิธีนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะพี่ 45 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงอย่างต่ำๆ เมื่อก่อนนะ แต่ปัจจุบันนี้มัน 2 ชั่วโมงอะไรเงี้ย คือเมื่อก่อนคนโรงงานเขาจะสั่งแล้วมันหลายอัน มันหลายห่อ พอมันหลายห่อมัน อย่างบางทีเจ้าหนึ่งเป็นสิบห่อ มันจะสะสมสักสิบห่อก็อาจจะ 20 นาที พอเจ้าใหม่มาก็ต้องรอแล้วมันมี อย่างนี้เหมือนกันที่เขามาสั่งไว้คนโรงงานเอาเที่ยงเอาอะไรโทรมาสั่ง แต่เมื่อก่อนจะรับสายได้ตลอดเลยนะ อย่างเปิดร้านแล้วก็ยังรับสายอยู่แต่เดี๋ยวนี้ มันไม่มีสมาธิพอพี่ ไหนจะต้องโฟกัสตรงนี้ทีเดี๋ยวมีลูกค้ามาอีกแล้วเราก็ตรงนี้ ตรงนี้ ไปตักข้าวอีกผมก็เลยตัด ตัดรับสายออกไป ทีนี้มันก็เลยเกิดปรากฏการณ์ที่ว่าลูกค้าโทรมาก่อน โทรมาก่อนเปิดร้าน เราก็ต้องทำต้องรับอ่ะพี่” 07.00-10.00 น. ที่ผมให้เขาโทรมาสั่งเอาไว้ก่อนได้ คือที่เล่ามานี้มันไม่ได้เกิดขึ้นจากเราเป็นคนกำหนดเลยนะ มันเกิดจากการแก้ปัญหาทั้งนั้นเลย มันเลยมาเป็นอย่างนี้“เพราะว่าเราต้องการความเร็ว เราก็บอกเขาว่าทำไม่เป็น (ในกรณีหากสั่งที่นอกเหนือจากในเมนูร้าน) ทำไม่ได้ หลักการง่ายๆ คือผมต้องการความรวดเร็วแต่ละกระทะ ถ้ามันเกิดมีเงื่อนไขอื่นเข้ามา ไอ้ความสามารถเรามันลดลงแล้วความรวดเร็วมันลดลง เพราะมันต้องเปลี่ยนต้องอะไร” แล้วอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ เดิมพันร้านมันไม่สูง มันลงทุนแล้วมันก็มีตัวเราแค่คนเดียว แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งมีโต๊ะเยอะๆ มีลูกน้องต้องดูแลคน “พี่ทานอะไรดีนะครับ อ๋อเอาหวานน้อยเหรอครับ เดี๋ยวบอกทางครัวให้นะครับ” อะไรแบบนั้น คือถ้าจะบอกว่าอินดี้มันอินดี้ได้ตอนนี้ ณ สภาวะนี้ เพราะเรารับผิดชอบแค่ตัวเราเองคนเดียว ไม่ต้องซีเรียส สังเกตเขาจะเป็นอย่างนี้กันหมด แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่เริ่มเป็น “แบรนด์” แล้วแบรนดิ้งแล้วมีลูกน้องมีอะไร ก็จะเปลี่ยนความคิดใหม่ ประมาณนั้น
หลายเรื่องมันประกอบกัน ถ้าให้นึกออกก็คือ อันดับแรกเลยง่ายๆ คือพื้นที่ร้านมันเล็ก capacity มันไม่เหมาะสมกับการเพิ่มต้นทุนแล้วเราเพิ่มลูกค้าได้ไหมล่ะ? มันก็ไม่ได้ แต่ ณ วันนี้มันล้นอยู่ และด้วย “ครัว” ผมมองว่ามันไม่พอสำหรับสองคนหรอก แล้วอีกเรื่องหนึ่งแถมคือ มันมี cost เพิ่มขึ้นมาผมไม่อยากมี“ผมมีความรู้สึกว่า ณ วันหนึ่งก่อนหน้านี้เราขายได้ประมาณนี้นะแล้วพอขายเพิ่มขึ้นมาเราก็ต้องไปจ่ายตรงนั้นน่ะให้ผู้ช่วยเราอย่างน้อยก็หมื่นนึงนะ หมื่นนึงนี่สำหรับผมถือว่าเยอะนะแต่สำหรับคนที่รับเงินน่ะ เขาได้น้อยนะพี่ 9,000 ถึง 1 หมื่น วันละ 350 เองมันไม่ได้เยอะนะ เราก็เลยมองว่าเรายังไม่ถึงเวลาที่จะมีคนมาร่วมงานด้วย ยังไม่ถึงเวลา แต่ก็วางแผนไว้ ว่าถ้าอยู่จุดนี้มันจะอารมณ์นี้แหละแต่ถ้าต้องการจะขยับขยาย มันต้องคิดต้องคิดใหม่ ต้องวางแผนใหม่”
มากกว่าเรื่องของ “กำไร” สิ่งที่ได้มาจากลูกค้าคือการเป็น Family
คุณอั๋น “นายอนุพงษ์ แพนสิงห์” เจ้าของร้าน “๒๔ โภชนา” ยังบอกด้วย ถ้าเอาตามหลักการนะ เราเป็นคนสร้าง “อนาคต” ในแต่ละวันหลายสิ่งหลายอย่างมันมีโอกาสให้เราตัดสินใจ เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ “ผมยกตัวอย่างอย่างนี้นะพ่อค้าแม่ค้าฟังไว้เลยนะ ลูกค้าสั่งพิเศษมา แต่เราอ่ะทำธรรมดา แต่เป็นลูกค้าใหม่ แล้วเราเก็บเงินเขามาแล้วด้วย ในที่สุดแล้วผมก็เลือกที่จะคืนนะ คืนเงินในส่วนต่าง แล้วบอกว่าเอ้ยทำผิดนะน้องทำธรรมดาไป อันนี้มันเป็นเรื่องเล็กๆ นะที่อยากจะบอกแต่ตรงนี้มันสำคัญ เล็กๆ น้อยๆ อย่าดูถูกนะ มันจะสะสมทำให้คุณน่ะเป็นคนแบบนั้น ไม่ว่าทั้งกรรมดีกรรมไม่ดี คุณสะสมมันสิ คุณก็จะเป็นคนแบบนั้นแหละถ้าอยากเจริญน่ะ คิดแล้วก็เลือกที่มันถูก เดี๋ยวมันเจริญของมันเองผมว่านะ” มันเป็นหลัก “เหตุและผล” มันไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์อะไรเลย ถ้าคุณโอเคแล้วสิ่งที่เขาได้รับมันดี ยังไงลูกค้าเขาก็ไม่ทิ้ง เพราะฉะนั้นน่ะเรื่องอนาคตผมไม่ค่อยโฟกัสว่าวันนี้แล้วอนาคตควรจะทำอยู่ไหมหรืออะไร ได้หมดเลย ผมพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะของชีวิตเปลี่ยนแปลงไปได้“แต่สิ่งที่ไม่อยากทิ้งแล้วทำแล้วมันรู้สึก ผมว่าหลายคนนะพ่อค้าแม่ค้า พี่ลองไปสัมภาษณ์ร้านที่เขาตั้งราคาแบบผมสิ เขาจะคิดเหมือนผมเลย ว่าราคานี้แหละจะขายต่อไปเรื่อยๆ บางทีอ่ะสิ่งที่เราได้รับ มันเป็นเรื่องกำไรแล้วหนึ่งนะ แต่มันมากกว่านั้นมันมีซ่อนเร้นนะ ความเป็นพี่เป็นน้องความเป็นครอบครัวกัน ผมขายของมารวมๆ แล้วก็ 20 ปีนะ สามปีหลังมานี้ชีวิตการขายของน่ะเรามีครอบครัว ที่ไม่ได้เกิดมาในไม่ใช่พี่น้องเรา แต่เราบางคนเขาบอกกับเราว่าเราเป็น Family กันนะ อะไรเงี้ยก็มีเยอะ! ผมไม่เคยได้ของจากลูกค้าเลย บางทีลูกค้าก็ซื้อโน่นซื้อนี่มาให้ ประมาณนั้นน่ะพี่”
มันทำให้เรารู้สึกถึงบรรยากาศความอบอุ่น มันเป็นร้านที่เรารู้สึกอบอุ่นแล้วเราทำต่อไปได้ เราอยากทำต่อ ผมก็เชื่อมั่นว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับร้านประเภทผมเกือบทุกร้าน “ถ้าใครทำอยู่ลองคอมเมนต์มาหน่อยว่าเป็นเหมือนผมไหม?” ที่ทำราคานี้ มันไม่ได้เป็นปาฏิหาริย์นะมันคือการแลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์ด้วยกัน“ถ้าคุณมี Impact กับคนได้เยอะๆ คุณเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เขาได้ แม้กระทั่งเรื่องเงิน เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ คุณมีค่ากับเขาแล้ว คุณอยู่ในสังคมได้ ประมาณนั้น แล้วคุณจะมีความสุข”
เริ่มต้นจากตั้งใจแบ่งปัน “๒๔ โภชนา” ไม่ใช่ตามสั่ง แต่เราทำตามสูตร โปรดสั่งตามเมนู ใครๆ ก็ว่าผมอินดี้! ขอบคุณการแบ่งปันเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจดีๆ จากพี่อั๋น “นายอนุพงษ์ แพนสิงห์” เจ้าของร้านที่ซึ่งออกตัวกับเราว่าพี่ผมไม่มีสาระนะ แต่ว่าทั้งหมดที่พูดคุยกันมาซึ่งต้องขอบอกว่าพี่อั๋นพี่โคตรแน่นไปด้วยสาระและมุมคิดดีๆ ที่น่านิยมอีกคนหนึ่งเลย แล้วต้องขอยกเครดิตให้ด้วยเรื่อง “อาหาร” ว่ารสชาติของเขาที่ทำออกมาตามที่เสียงลือเสียงเล่ากันมาจริงๆ นะ อร่อยและแถมปริมาณบวกราคาแล้วเชื่อแน่ว่า ใครที่มาใหม่ได้ลองแล้วก็ต้องเห็นด้วยอย่างแน่นอน
สามารถติดตามหรือแวะไปลิ้มลองรสชาติอาหารของร้าน “๒๔ โภชนา” ได้ที่ซอยสุขาประชาสรรค์ 2 (วัดกู้) ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทร.09-5193-6887 ต้องการโทรสั่งอาหารก่อนได้ตั้งแต่เวลา 07.00-10.30 น.(เท่านั้น) และช่วงนี้หลัง 15.30 น.ไปแล้ว พี่อั๋นฝากบอกมาว่าใครมาร้านของน่าจะหมดแล้ว อาจจะผิดหวังได้
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด