xs
xsm
sm
md
lg

อดีตวิศวกรทำฟาร์มตั๊กแตน สานฝันขายแมลงกิโลละ 10,000 บาท ในรูป “โปรตีนพร้อมดื่มจากแมลง” รายแรกไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แมลงกลายเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญในยุคที่ทั่วโลกหันมาตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงแมลงจะช่วยโลกในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกิดขึ้นการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ปัจจุบัน เกษตรกรไทยหันมาทำฟาร์มเลี้ยงแมลงกันมากขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก วันนี้ พามารู้จักฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตนครบวงจร ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงจนถึงการแปรรูป ตามมาตรฐานออแกนิก และ GAP เพื่อการส่งออก


ตกงานช่วงโควิด ผันตัวทำเกษตรเลี้ยงแมลง
ตั้งเป้าส่งออกนำเงินเข้าประเทศ


“นายปิยะณัฐ แสงจันทร์” เจ้าของฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตน อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และเจ้าของบริษัท อีพีซีไอ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากตั๊กแตนผสมธัญพืชแบรนด์ Proins (โปรอินส์) เล่าว่า ตนเองได้ลาออกจากงานประจำ ตำแหน่งวิศวกรโรงงานแห่งหนึ่ง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บริษัทประสบภาวะขาดทุน ปลดพนักงานบางส่วน ตนเลยตัดสินใจลาออกมา และมาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงตั๊กแตน เพราะมองเห็นโอกาสจากกระแสความต้องการโปรตีนจากแมลงทั่วโลกที่มีความต้องการสูง จึงได้ตัดสินใจเลี้ยงแมลง โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การผลิตผงโปรตีนจากแมลงส่งไปขายต่างประเทศ

โดยใช้พื้นที่จำนวน 4 ไร่ ที่บ้านเกิดของตัวเอง ทำการเพาะเลี้ยงตั๊กแตนตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยการปลูกหญ้าบนดินภูเขาไฟที่มีแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ และนำหญ้าที่ได้มาใช้สำหรับการเลี้ยงตั๊กแตน รวมถึงในกระบวนการเลี้ยงตั้งแต่การเพาะเลี้ยงด้วยหญ้าธรรมชาติ การทำโรงเรือนมาตรฐาน ทำให้ฟาร์มของเราได้รับมาตรฐาน GAP จากปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ และตั๊กแตนที่เพาะเลี้ยงได้ นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปจากโรงงานผลิตเล็กๆ ที่ได้มาตรฐาน GMP จนได้ออกมาเป็นผงโปรตีน และนำผงโปรตีนมาผ่านกระบวนการแปรรูป จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนผสมธัญพืช รสชาติต่างๆ ออกมาจำหน่าย และเราก็เป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนแบรนด์แรกในประเทศไทยที่ผลิตผงโปรตีนจากแมลง


แรงจูงจากเห็นคลิปต่างประเทศขายแมลงกิโลละ 10,000 บาท

นายปิยะณัฐ เล่าว่า จากผลการวิจัยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ที่พบว่าแมลงเป็นสัตว์ที่ให้โปรตีนสูง และเหมาะกับการนำมาใช้เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับมนุษย์ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก หันมาสนใจในการนำแมลงมาบริโภคมากขึ้น และการแปรรูปแมลงออกมาในรูปแบบของผง เพื่อนำไปต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบต่างๆ ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรักสุขภาพ ส่งผลให้ผงโปรตีนจากแมลงในต่างประเทศมีราคาขายกันถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผมตัดสินใจหันมาเพาะเลี้ยงแมลง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งออกแมลงในรูปแบบของผงโปรตีนออกไปขายในต่างประเทศ รองรับกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นทุกปี


ทั้งนี้ ในส่วนการเพาะเลี้ยง ได้อาศัยความรู้มาจากคนที่เคยเลี้ยงในพื้นที่ และการไปขอความรู้จากหน่วยงานด้านปศุสัตว์จังหวัด โดยวางแผนตั้งแต่แรกที่จะส่งออก ดังนั้นการเลี้ยงได้มาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ ก่อนเลี้ยงผมจึงปรึกษา และขอความรู้จากหน่วยงานด้านปศุสัตว์ เพื่อจะได้ขอมาตรฐาน GAP ด้วย

ในส่วนการผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP เป็นเรื่องที่ผมถนัดที่สุด เพราะผมเรียนจบวิศวกรโรงงาน และทำงานมาทางด้านนี้ นำความรู้ตรงนี้มาต่อยอดในการทำโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานไม่ได้ยากอะไร ซึ่งกระบวนการแปรรูปตั๊กแตนผง หรือแมลงผง จำเป็นที่จะใช้เครื่องจักรช่วยการผลิตเพื่อให้ได้แมลงผงที่มีความละเอียดที่เหมาะสมและจะต้องผ่านกระบวนการผลิตมาตรฐานเพื่อที่จะได้ไม่เกิดแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ในระหว่างการแปรรูปด้วย โดยแมลงอย่างตั๊กแตน จะใช้วัตถุดิบตั๊กแตนสดถึง 30 กิโลกรัม จะได้ผงตั๊กแตน 1 กิโลกรัม


เลือกแปรรูป “โปรตีนพร้อมดื่ม”
เพิ่มมูลค่า แทนการขายวัตถุดิบ

สำหรับในส่วนผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปที่ออกมาเป็นผงโปรตีนจากตั๊กแตน ไม่ได้นำไปขาย เพราะด้วยจำนวนมีไม่ได้เยอะมาก เราก็เลยตัดสินใจว่าจะนำมาต่อยอด โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนพร้อมดื่มออกมาจำหน่ายเอง เพราะน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการขายเป็นวัตถุดิบตั๊กแตนผง จึงได้ออกมาเป็นโปรตีนพร้อมดื่ม

นายปิยะณัฐ เล่าว่า ในส่วนผสมของโปรตีนพร้อมดื่ม แบรนด์ โปรอินส์ ของเรา จะมีส่วนผสมของ ผงโปรตีนจากแมลง 30 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนจากพืช 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นส่วนผสมอื่นๆ ที่จะมาช่วยเพิ่มรสชาติทำให้การดื่มโปรตีนของเราง่ายขึ้น ซึ่งข้อดีของการเลือกโปรตีนจากแมลง เมื่อเทียบโปรตีนจากพืชของแบรนด์อื่นๆ ในปริมาณเท่ากัน โปรตีนจากแมลงให้คุณค่าสารอาหารโปรตีนที่เป็นกรดอะมิโนสูงกว่าเท่าตัว ช่วยให้ผู้บริโภคที่เลือกกินผลิตภัณฑ์โปรตีนจากแบรนด์ของเราได้โปรตีนที่สูงกว่าในราคาที่ถูกกว่า 


เจาะตลาดจีน คนจีนเชื่อมั่นผู้ผลิตไทย
มากกว่าผู้ผลิตในประเทศตัวเอง

ในส่วนของแผนการตลาด นายปิยะณัฐ เล่าว่า ตนเองได้ผลิตโปรตีน โปรอินส์ ออกมาจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการจำหน่ายในประเทศไทย เป็นการทดลองตลาดก่อนว่า ลูกค้าให้การตอบรับในเรื่องของรสชาติ ฝอย่างไร ลูกค้าที่ได้ดื่มส่วนใหญ่ไม่ติดในรสชาติ แต่เป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่แรก คือ การส่งออกและประเทศกลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจ คือ ประเทศจีน ที่เลือกประเทศจีน เพราะจำนวนประชากรของเขาเยอะมาก แค่เมืองเดียวมีประชากรมากกว่า ประเทศไทย ทั้งประเทศ ก็เลยเลือกที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน ประกอบกับคนจีนเชื่อมั่นในผู้ผลิตสินค้าจากประเทศไทย มากกว่า ผู้ผลิตในประเทศของตัวเองเสียอีก และตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้จัดจำหน่ายในประเทศจีน


ส่วนช่องทางจำหน่ายในประเทศไทย มีขายผ่านเว็บไซต์ และช่องทางโซเชียลของบริษัท ส่วนตัวแทนที่นำสินค้าของเราไปจำหน่ายจะได้รับค่าตอบแทน 1 ซอง ให้ผลตอบแทน 10 บาท ซึ่งถ้าขายได้ 100,000 ซอง ได้ 1 ล้านบาท เราตั้งเป้ายอดขายในประเทศไทยไม่เยอะมาก เพียงแค่มีลูกค้าประจำที่ซื้อต่อเนื่องไม่เกิน 4,000 ราย ก็สามารถอยู่ได้แล้ว ส่วนผลตอบแทนหรือกำไรจากการทำฟาร์มจนได้ออกมาเป็นโปรตีนพร้อมดื่มจากผงโปรตีนตั๊กแตนในครั้งนี้ ได้ประมาณไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ในเรื่องการทำตลาด ส่วนการผลิตและต้นทุนในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงตั๊กแตนไม่ได้สูงมาก ส่วนราคาตั๊กแตนสด ปัจจุบันอยู่กิโลกรัมละไม่เกิน 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาล การเลี้ยงตั๊กแตน หรือแมลงชอบอากาศร้อน ถ้าหน้าหนาวไม่ค่อยกินอาหาร หรือผสมพันธุ์ ทำให้ผลผลิตในช่วงนั้นน้อย


ลงทุนไปกว่า 2 ล้านบาท ฟาร์มตั๊กแตน
และการผลิตผงโปรตีน ซุปเปอร์ฟู้ดส์

สำหรับการลงทุนทำฟาร์มตั๊กแตน รวมถึงการแปรรูปจนได้ผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนซุปเปอร์ฟู้ดส์ออกมาในครั้งนี้ “คุณปิยะณัฐ” บอกว่า ได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 2 ล้านบาท เป็นการนำเงินเก็บที่ได้จากการทำงานมาลงทุนทำตรงนี้ แต่พอมาเข้าถึงในกระบวนการทำตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเองไม่ถนัด และเป้าหมาย คือ การส่งออก ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนมาต่อยอดเพิ่มอีกคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้าน ช่วงนี้อยู่ในระหว่างการขอกู้กับสถาบันการเงิน และการขอทุนเพื่อทำการวิจัยเพื่อต่อยอดการตลาด อยู่ระหว่างการนำเสนองานวิจัยกับหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการของภาครัฐเข้ามาช่วยเพื่อให้กิจการเดินต่อไปได้

ติดต่อ โทร.08-0055-2698
www.proinssuperfood.com

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น