xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงอุตฯ ขานรับ OFOS โชว์ผลสำเร็จผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ไทย ปั้นทักษะบุคลากรแฟชั่นไทยกว่า 2,000 ราย คาดสร้างรายได้ ศก. 200 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบายเรือธงนายกอิ๊ง “One Family One Soft Power (OFOS)” แถลงผลสำเร็จการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ไทยสาขาแฟชั่น ผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น” ประจำปี 2567 งัดกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ติวเข้ม ยกระดับทักษะเดิม และเสริมทักษะใหม่แก่บุคลากรแฟชั่นใน 4 สาขา กว่า 2,000 คน ให้มีองค์ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพและธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถปรับตัวรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันและอนาคต คาดสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 200 ล้านบาท


นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างชาติ ด้วยการยกระดับและพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าจนสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับประเทศไทยนั้นมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ชัดเจน และมีชื่อเสียงทั้งด้านอาหาร การแต่งกาย ศิลปะและวัฒนธรรม เครื่องดนตรี รวมถึงเสน่ห์ความเป็นไทยที่สามารถดึงดูดและสร้างสรรค์ให้เกิด Soft Power ของประเทศได้อย่างดี ซึ่งล่าสุดจากการจัดอันดับ Soft Power ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกของ Global Soft Power Index 2024 โดย Brand Finance ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 ของโลก จาก 193 ประเทศ 


นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ 3 ด้านหลัก ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเรือธง (Flagship) สำคัญ คือ การพัฒนาทักษะกำลังคน ผ่าน นโยบาย “One Family One Soft Power (OFOS)” ใน 14 สาขา หนึ่งในนั้น คือ สาขาแฟชั่น โดยปี 2564 สามารถสร้างรายได้ราว 3.9 แสนล้านบาท การส่งออกสินค้าแฟชั่นมีมูลค่ากว่า 2.0 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานราว 7.5 แสนคน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ประกอบกับ นโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลก จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการพัฒนาทักษะกำลังคนในสาขาแฟชั่น ผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือ Up Skill - Re Skill” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น


ด้าน น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือ Up Skill - Re Skill” โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ใน 4 สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้แก่ 1) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Apparel) 2) อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry) 3) หัตถอุตสาหกรรม (Craft) และ 4) ผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty) รวมทั้งสิ้น 17 หลักสูตร โดยวิทยากรมืออาชีพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (Workshop) ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) จำนวน 10 หลักสูตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้นเกิดการสร้างรายได้และการจ้างงาน พร้อมทั้งเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงกับระบบ OFOS โดยคาดว่าผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้กว่า 200 ล้านบาท 


นอกจากนี้ การจัดงานในวันนี้ยังมีการมอบวุฒิบัตรให้แก่ตัวแทนผู้ประกอบการ ทั้ง 4 สาขา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่หลักสูตร E-Learning ไปยังสื่อต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางให้บุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการสาขาแฟชั่นที่สนใจสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะเพิ่มเติม รวมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ “Upskill & Reskill ยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สู่ Soft Power” โดยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐภาคการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนผู้ประกอบการมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน ตลอดจนการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์จากผู้ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้อีกด้วย น.ส.ณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น