“การศึกษาของไทยค่อนข้างที่จะเข้มงวดเด็กต้องเรียนตั้งแต่เช้า เคารพธงชาติตั้งแต่แปดโมงเช้าเลิกจนถึงสามโมงสี่สิบ บางคนต้องไปเรียนต่อนอกห้องเรียนต่อจนถึงมืดค่ำ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นตัวผ่อนคลายตัวแก้เพนพ้อยท์ให้เด็กๆ ได้ก็คือ “ขนม”
ที่ขายอยู่หน้าโรงเรียน บางครั้งพอโรงเรียนเลิกปุ๊บเนี่ยเราวิ่งไปซื้อขนมหน้าโรงเรียน แกะได้กินขนมอร่อยๆ ได้ลุ้นของแถมกัน ได้เอาของแถมมาสะสมแลกกับเพื่อนมาเล่นเนี่ย มันเป็นจุดที่ว่าจุดผ่อนคลายสำหรับเด็กๆ ในยุค 90 ขนมของแถมทั่วๆ ไปที่มีอยู่ในตลาดหลายๆ ตัวจะเอางบของต้นทุนเนี่ยไปใส่ในของแถมเยอะเกินทำให้ตัวผลิตภัณฑ์ขนมไม่อร่อย มันอาจจะเป็นรสชาติธรรมดา หรือว่ากลางๆ อะไรอย่างเงี้ย แต่ของ “โอเดนย่า” เนี่ยเราเน้นว่า อร่อยแล้วยังมีของแถม เพราะฉะนั้นเราจะทำขนมให้อร่อยก่อนแล้วยังมีของแถมที่ดีที่เล่นสนุกให้เด็กเล่นด้วย จะเป็นการแถมของเล่นที่เป็นคาแร็กเตอร์หรือว่าเป็นการ์ตูนที่อยู่ในเทรนด์ในยุคนั้นๆ อย่างยุค 90 เนี่ยดราก้อนบอลก็เป็นเรื่องที่ฮิตมากๆ เลยเด็กๆ จะชอบเรื่องดราก้อนบอลมาก พอยุคใหม่มาหน่อย จะมีโปเกม่อนเริ่มมีโปเกม่อนเข้ามา เด็กๆ จะเล่นโปเกม่อนของเล่นอะไรอย่างเงี้ยครับ แล้วสุดท้ายแล้วเด็กจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ของกระแสการ์ตูน” คุณแซม-พลรพี เหรียญชัยวานิช ทายาทรุ่นสามของบริษัท เอส พี อาร์ ฟู้ด อินดัสทรี จำกัด อดีตนักรีวิวของเล่นที่เป็นของแถมขนมโอเดนย่า (หากเทียบเคียงได้กับผู้คนในยุคนี้) ในห้วงช่วงเวลาเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา
ซึ่งตัวเขาเองถือเป็นหนึ่งใน “เด็กยุค 90” ที่เติบโตมาและเล่นของเล่นสุดฮิตที่แถมกับขนมโอเดนย่าทั้งในฐานะของทายาทธุรกิจที่มีส่วนช่วย “คุณพ่อ” เทสต์หรือว่าลองเล่นดูก่อนที่จะนำออกจำหน่ายให้เด็กๆ ได้เล่นกัน และยังเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในวัยนั้นที่เข้าใจความต้องการได้เป็นอย่างดีอีกด้วย วันนี้ในฐานะของผู้บริหาร “แบรนด์ขนม” ที่มีความแข็งแกร่งสามารถข้ามผ่านกาลเวลามาอย่างไม่เคยตกกระแสเลย และการนำ “ความทรงจำ” ของเด็กๆ ในยุคนั้นหวนกลับมาให้ “เด็กหนวด” ในตอนนี้ที่ซึ่งกลายสถานะไปเป็นคุณพ่อหรือว่าคุณแม่ของเด็กๆ เจนปัจจุบันแล้วได้รำลึกถึงความสุขสนุกสนานตอนนั้นกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นทั้งจุดขายสำคัญและการสามารถเชื่อมต่อ “วัย” เข้าด้วยกันได้แบบไม่มีข้อจำกัดด้วย “ของเล่น”
30 กว่าปีขนมโอเดนย่าที่เติบโตมากับเด็กไทย “ยุค 90”
“ต้องบอกว่าขนมโอเดนย่าเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของวัยเด็กของเพื่อนๆ ที่เติบโตขึ้นมาในยุค 90 ครับ เพราะฉะนั้น โปรดักต์ที่ผมออกมาผมจะพยายามออกให้มันคล้ายคลึงกับยุค 90 ให้มากที่สุดพอเพื่อนๆ มาซื้อขนมไปปุ๊บเนี่ย เพื่อนๆ จะรู้สึกว่าเหมือนกับนั่ง time machine ย้อนเวลากลับไปที่ยุค 90 อีกครั้งหนึ่ง พอเปิดห่อออกมาปุ๊บกลิ่นของขนมกระทบจมูกปุ๊บเนี่ย ความทรงจำในวัยเด็กจะกลับมาทันที เพราะฉะนั้นเนี่ย โอเดนย่าหนึ่งห่อครับมันเป็นมากกว่าขนมของแถม มันคือความทรงจำ มันคือเครื่องย้อนเวลาสำหรับเด็กๆ ยุค 90” คุณแซมเล่าว่าเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วรุ่นแรกคือจะเป็น รุ่นของ “คุณปู่” ก่อนคุณปู่จะเปิดเป็นร้านยี่ปั๊วขายน้ำขายขนมและแกจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับตัวสินค้าผลิตภัณฑ์ จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจที่จะมาเปิดเป็นโรงงานขนมเป็นของตัวเอง เริ่มสร้างโรงงานที่แรกที่วงเวียน 22 แล้วต่อมา ย้ายมาอยู่ที่ตรงฝั่งธน แล้วก็สร้างเป็นโรงงานเจซีเหรียญชัยขึ้นมา จะเป็นโรงงานดั้งเดิมของเรา ทีนี้ขยายมาตั้งแต่รุ่น “คุณพ่อ” ธุรกิจเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้เราย้ายมาอยู่ที่ใหม่และตั้งชื่อเป็น SPR Food Industry (ในย่านพระราม 2) และประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนมข้าวโพดอบกรอบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“พอตั้งแต่คุณพ่อเอามาทำคุณพ่อแกจะเป็นคนที่ชอบดูหนังชอบดูการ์ตูนครับ และแกจะเป็นคนที่จับเทรนด์ของตัวสินค้าเนี่ยเก่ง จะเอาตรงส่วนนี้มาประกอบลงไปในขนมของเรา อย่างขนม 1 ซองเนี่ยคุณพ่อจะหาของเล่นเล็กๆ ชิ้นเล็กๆ น้อยๆ มาแถมให้เด็กๆ ที่ซื้อขนมไปทานเนี่ย ได้เล่นสนุกกันด้วย” ย้อนกลับไปเมื่อประมาณสัก 35 ปีที่แล้วคุณพ่อได้เริ่มเอาตัว “คาแร็กเตอร์” มาใส่ลงในซองขนมยุคแรกขนมตัวแรก ที่คุณพ่อทำเป็นขนมที่แถม “การ์ดสิงหไกรภพ” ซึ่งเป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ ตั้งแต่สมัยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว จะพอซื้อขนม 1 ซองจะมีการ์ดเล็กๆ ให้ 1 ใบที่เป็นรูปดารา (ถือเป็นเจ้าแรกที่เริ่มทำ) ตอนนั้นคุณพ่อพาไปโรงถ่ายเลยพาพวกพี่ๆ กับผมไปโรงถ่ายไปดูถ่ายละครสิงหไกรภพ เพื่อที่จะขอถ่ายภาพมาเพื่อมาทำลงเป็นการ์ดแถมกับซองขนม “คุณพ่อน่าจะดูไอเดียจากประเทศญี่ปุ่นด้วย จากการที่คุณพ่อไปซื้อเครื่องจักรหรือว่าไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ขนมของประเทศญี่ปุ่นจะมีแถมการ์ดใบเล็กๆ ให้เด็กๆ สะสมเป็นที่ระลึกด้วยครับ คุณพ่อก็เลยเอาตรงนี้กลับมาทำที่ขนมของประเทศไทยโดยที่คุณพ่อตั้งเป้าไว้ว่าเราจะเป็นขนมของแถมที่อร่อย และก็มีของแถมให้เด็กเล่นสนุกด้วย” อย่างของแถมบางอย่างคุณพ่อได้ไอเดียมาจาก พวกบอร์ดเกม มีเอาไอเดียมาจากบอร์ดเกมบ้างเอามาจากของเล่นพวกเลโก้ที่ชิ้นหนึ่งๆ ราคาสูงๆ บ้าง แต่ก่อนพวกของเล่นพวกนี้ที่จะเอาเข้ามาในประเทศไทยเนี่ยมันจะบวกราคาขึ้นไปอีกสองสามเท่า มันจะทำให้มีเด็กแค่กลุ่มเล็กมากๆ เลยที่สามารถที่จะซื้อมาเล่นได้ คุณพ่อจะเอาของพวกนี้มาย่อส่วนและมาผลิตในประเทศไทย บางชิ้นพวกบอร์ดเกมกล่องใหญ่ๆ ราคาหลายพันบาท คุณพ่อสามารถย่อมาเป็นเกมกระดานเล็กๆ ให้เด็กเล่น ซื้อในราคา 3-5 บาทได้
ขนมหลอกเด็ก
“อย่างพอการ์ดโอเดนย่าออกครั้งนึงเนี่ยคุณพ่อจะเอาตัวอย่างมาให้เราดูบางที แต่ก่อนสถานที่เล่นของผมคือคลังสินค้า (หัวเราะ) บางทีเข้าไปในโกดังดูว่ามีอะไรออกบ้าง เตาอบวันนี้เราอบขนมอะไรกัน อะไรอย่างเงี้ยครับพวกของเล่น (ตัวแถมในขนม) เราก็เล่นเหมือนกันคุณพ่อก็จะเอามาให้เราดูก่อนว่า เนี่ยคุณพ่อจะออกตัวนี้ๆ นะ กิมมิกมันเป็นอย่างงี้ หรือว่าแม้แต่กระทั่งว่าการสำรวจตลาดเนี่ยครับ คุณพ่อปลูกไว้ให้แต่เด็กๆ เลยผมจะมี ค่าขนมพิเศษ Extra เพิ่มขึ้นมาเพื่อที่ว่า ค่าขนมตัวนี้เพื่อที่จะเอาไปซื้อสินค้าในตลาดมาดู ระหว่างทางขับจากโรงเรียนรถติดกลับบ้านใช่ไหมครับ คุณพ่อจะให้เอาขนมพวกนี้มาเปิดดูกัน ดูว่าคุณพ่อจะวิเคราะห์ว่าตัวนี้ดียังไง ตัวนี้ไม่ดียังไง ตัวนี้แพกเก็จจิ้งยังไม่ดีนะต้องปรับปรุง ถ้าปรับปรุงควรจะปรับปรุงยังไง คุณพ่อก็จะสอนตั้งแต่อยู่ในรถ” เพราะว่าตัวขนมมันเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชอบอยู่แล้ว ทุนเดิมมันเป็นเหมือนกับคุณพ่อลงมาคุยเรื่องเดียวกับเรา ก็จะเป็นหัวข้อสนทนาที่สนุกทั้งคุณพ่อทั้งลูก
เคยถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อว่าบ้านแซมทำ “ขนมหลอกเด็ก” ขายจริงไหม? “งานที่คุณพ่อทำอยู่ครับมันคือการเติมเต็มความฝันให้เด็กๆ คุณพ่อบินออกไปดูงานที่เมืองนอกแล้วก็ไปเอาของเล่นแพงๆ ที่สนุกๆ เนี่ยกลับมาที่ประเทศไทย นอกจากนั้นคุณพ่อยังคิดดัดแปลงทำยังไงก็ได้ให้มัน ผลิตออกมาได้ราคาถูกที่สุดและสามารถแถมลงไปในขนมซองละ 5 บาทได้ เพราะฉะนั้นเด็กๆ ไทยเนี่ยสามารถซื้อของเล่นได้ในราคาที่ถูก ได้เล่นของเล่นในราคาที่ถูก บอกว่าจริงๆ แล้วงานของเรามันคือการช่วยเด็กๆ ทำให้ความฝันของเด็กๆ เป็นจริงได้เล่นของเล่นที่ตัวเองอยากเล่น ในราคาที่สามารถจับต้องได้” พอคุณพ่อเล่าอย่างนี้มาปุ๊บเนี่ย หลังจากนั้นเป็นต้นมาคำว่า “ขนมหลอกเด็ก” มันกลายเป็นคำชมมากกว่า“พอคุณพ่ออธิบายตรงส่วนนี้ขึ้นมาปุ๊บเนี่ยงานของเรา มันกลายเป็นความภาคภูมิใจว่าตระกูลของเราเนี่ยเป็นคนที่ทำขนมมอบให้เด็กๆ นอกจากเป็นขนมที่อร่อย สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐานแล้ว ยังมีของเล่นที่เสริมพัฒนาการหรือว่าพัฒนาเด็กๆ ไปได้ด้วย”
เพราะว่าคุณพ่อมีการบินไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นทุกปีเลย และจุดที่เราเขาเรียกว่าโชคดีมากๆ เลยคือคุณพ่อพาพวกเราไปญี่ปุ่นด้วย คุณพ่อเล็งเห็นอนาคตตั้งแต่ตอนนั้นแล้วแกก็พาลูกๆ ไปฝึกงานตั้งแต่ตอนนั้นเลย พวกพี่น้องทุกคนหรือว่าลูกพี่น้องทุกคนจะไปดูงานได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ได้เรียนรู้ธรรมเนียมของญี่ปุ่น ได้เรียนรู้เทรนด์กระแสใหม่ๆ การ์ตูนใหม่ๆ จากประเทศญี่ปุ่น
ในขณะที่ของไทยยังมีอีก นอกจากการ์ดสิงหไกรภพแล้ว ยกตัวอย่างเช่นนิทานเรื่อง เจ้าขุนทอง คุณพ่อซื้อลิขสิทธิ์ของเจ้าของขุนทองมาทำแล้วแถมเป็นพวกของเล่นที่เสริมพัฒนาการให้เด็ก อย่างเกมเส้นทาง เมื่อก่อนคุณพ่อเคยทำจัดประกวดภาพระบายสี แล้วทำเป็นพวกบ้าน เป็นเมืองประกอบเล็กๆ ที่เป็นของเล่นที่เสริมพัฒนาการเด็กเกี่ยวกับเจ้าขุนทอง วางขายตอนนั้นก็ได้รับความนิยมมากๆ เหมือนกัน
สู่ “พิพิธภัณฑ์” เป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมของเล่น
พอผ่านมาถึงในรุ่นของผมทางเราปรับปรุงทางโรงงานให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ปัจจุบันเรามีระบบ HACCP ซึ่งเป็นระบบบริหารโรงงานอาหารที่ทำให้เราสามารถส่งออกขนมไปได้ทั่วโลกเลย “มีการส่งออกมานานแล้วเหมือนกันครับ ตั้งแต่พี่ชาย (พี่คนโต) เริ่มกลับมาทำงานก็มาบุกเบิกเรื่องตลาดส่งออก เพิ่มช่องทางการขาย” มีแฟนคลับต่างประเทศด้วย? เรามีแฟนคลับอยู่ที่เปรู เรามีแฟนคลับอยู่ที่ฝรั่งเศส ฮ่องกง เวียดนาม “จริงๆ เกิดขึ้นจากว่าผมไปเห็นซองขนมซองหนึ่งก่อนแล้วก็ เอ๊ะซองขนมซองนี้มีภาษาแปลกๆ เราก็เลยไปกดกูเกิลทรานสเลทดูว่ามันคือภาษาอะไร ก็ปรากฏว่าเป็นภาษาฝรั่งเศสผมก็เลยถามคุณพ่อว่าคุณพ่อมีส่งขนมที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยเหรอมีไปยุโรปด้วยเหรอ คุณพ่อเลยบอกว่ามีไปเหมือนกันส่งไปตามร้านขายของชำที่เป็นคนเอเชียเนี่ยตั้งแต่เมื่อสมัย 30 ปีที่แล้ว” แล้วมีคนฝรั่งเศสติดต่อมาในเพจเพื่อที่จะมาถามหา “การ์ดโอเดนย่า” เก่าๆ กับซองขนมเก่าๆ ที่เขาเคยซื้อกันตอนเด็กๆ ซึ่งพอถามไปถึงไลฟ์สไตล์ของเด็กคนนี้ คล้ายๆ กับของเราเลย คือพอเลิกเรียนปุ๊บก็วิ่งไปร้านขายของชำเพื่อไปหาซื้อขนมที่ตัวเองชอบ แล้วไปเจอขนมที่คุณพ่อซื้อมา เก็บมาบ้างมีเก็บไว้บ้างไม่ได้เก็บมาบ้าง พอ 30 ปีพอเขาโตเป็นผู้ใหญ่ปุ๊บ เขาก็เริ่มหาความทรงจำวัยเด็กของเขาว่า ขนมซองนี้มาจากไหน? จนสุดท้ายเขามาเจอเราว่าเป็นของประเทศไทยเอง
“แรกเริ่มของพิพิธภัณฑ์ฯ เนี่ยครับน่าจะเกิดจากนิสัยชอบสะสม “ของ” ของคุณพ่อก่อนครับ คุณพ่อเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่นซื้อซองขนมกลับมาพอทานได้เทสต์ผลิตภัณฑ์เสร็จแกจะไม่ทิ้งซอง จะเก็บซองเอาไว้เพื่อดูศึกษาอย่างอื่นต่อ แกจะเก็บอย่างซองที่อยู่ในห้องนี้เดิมทีแกจะเก็บใส่แฟ้มเอาไว้ มีอยู่ประมาณโห้! 40-50 แฟ้มได้ซึ่งพอมาถึงตอนที่เราสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราก็เลยคิดกันว่า จะเอาซองขนมนี้มา decorate ตกแต่งให้มันเห็นชัดเจนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปิดดู อยากจะดูซองไหนเราก็สามารถเดินขึ้นไปดูได้เลย และแกจะสร้างนิสัยการสะสมการเก็บของตั้งแต่เด็กๆ เลย ของเล่นที่เล่นแล้วเนี่ยแกจะไม่ให้ทิ้งกล่อง จะไม่ให้ทิ้งหรือว่าเวลาเราแกะชิ้นส่วน แม้กระทั่งของเล่นที่มันเป็นแผงประกอบครับเราแกะของเล่นมาประกอบเสร็จแล้วแผงตัวนี้เรายังต้องเก็บเอาไว้อยู่ครับ” ของเล่นที่เก็บรวบรวมไว้ในนี้ส่วนหนึ่งเป็นของสะสมของทางพี่ๆ น้องๆ “ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครับจะแบ่งออกเป็นโซน หลายโซน จะมีโซนที่เป็นตัวผลิตภัณฑ์ของทางบริษัท SPR Food ไล่ตั้งแต่ยุคซองแรกที่คุณพ่อทำคุณพ่อก็ยังเก็บเอาไว้อยู่ครับ จะเป็นซองขนมโบราณเนี่ยน่าจะมีหลายร้อยซองเหมือนกัน แล้วก็โซนที่ 2 จะเป็นโซน “คาเมนไรเดอร์” ซึ่งเป็นของสะสมของทางพี่เบียร์ (พี่ชายคนรอง) ครับห้องนี้จะพิเศษนิดหนึ่งตรงที่ว่าได้รับกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด ว่าเป็นห้องที่มีมดแดงเยอะที่สุดในโลกครับ (มีเกิน2 หมื่นตัว!) แล้วโซนถัดมาเป็นของสะสม “ของเล่นเก่า” ของพี่ชายคนโต ซึ่งของเล่นเก่าตัวนี้มันจะมองว่าเป็นของเล่นใช่ไหมครับ จริงๆ แล้วมันซ่อนประวัติศาสตร์เอาไว้อยู่ข้างในตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และประวัติศาสตร์ของการพัฒนาคาแร็กเตอร์การ์ตูนไล่ออกมาเรื่อยๆ จนถึงยุคปัจจุบัน” จริงๆ เราเริ่มเปิดเป็น small group visit มาสักพักหนึ่งแล้ว คนที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โอเดนย่าน่าจะมีราว 200 กว่าคนได้แล้ว ใครมาเราจะแจกเป็นบัตรเคาน์เตอร์นับให้ ก็จะมาเป็น small group visit ที่แบบว่านัดกันกลุ่มนี้อยากจะขอเข้ามาเยี่ยมชม ทางเราโอเคนัดหมายเพื่อที่จะเข้ามากัน ครั้งละ 5-10 คน เพราะว่าที่นี่ส่วนใหญ่ใครที่มาผมจะเป็นวิทยากรคอยแนะนำเรื่องราวให้ฟัง ถ้ามาเยอะกว่านี้กลัวว่าจะแนะนำได้ไม่ทั่วถึง แนะนำไล่ดูตั้งแต่ห้องแรกจนถึงห้องสุดท้ายเลย โดยการเยี่ยมชมไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทุกเพศทุกวัยที่ประสงค์เข้าเยี่ยมชมสามารถติดต่อเข้ามาได้
อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดให้มีขึ้นควบคู่ด้วยคือ fan meeting “สมัยก่อนเนาะเราย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วครับ การสะสมของเล่นพวกนี้มันจะจำกัดอยู่แต่ละโรงเรียน โรงเรียนใครโรงเรียนมัน แยกออกจากกัน แต่ปัจจุบันนี้พอพวกออนไลน์เข้ามาเยอะ การสะสมมันไม่ได้แบ่งอยู่แค่โรงเรียนเดียวแล้ว มันไม่ได้แบ่งอยู่แค่จังหวัดเดียวแล้ว มันเป็นทั้งประเทศเลยเพราะฉะนั้นเราจะมีนักสะสมโอเดนย่าทั้ง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก มีอยู่ทุกภาคเลยซึ่งแฟนคลับกลุ่มนี้ได้คุยได้ปฏิสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์กันในกลุ่ม ซื้อขายโอเดนย่าพวกเพื่อนๆ ก็อยากจะมาเจอตัวจริงกันว่า แต่ละคนเป็นยังไงอะไรอย่างเงี้ยเราก็เลยตอบโจทย์ตรงนี้ให้เพื่อนๆ โดยการจัด meeting ไปตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยการจัดเป็น fan meet แล้วมีกิจกรรมการแข่งขันการเขี่ยการ์ด การให้รางวัล การพูดคุย การเล่นเกมกันอะไรอย่างเงี้ย” ถ้าเป็น ODEN-YA meeting ปีหนึ่งอาจจะมี 2 ครั้ง แต่ถ้าเป็น mini meeting เราจะมีจัดเรื่อยๆ อยู่แล้ว 2 เดือน/ครั้ง 3 เดือน/ครั้ง มินิมีทติ้งจะเป็น มาที่นี่ด้วยและจะมีไปตามงานแสดงสินค้าด้วย อย่างงานใหญ่ที่เราจัดทุกปีคืองาน THAIFEX จะมีแฟนๆ ไปเข้าคิวซื้อสินค้ากันแล้วก็ไปแลกเปลี่ยน “การ์ด” กันอยู่ที่งาน ซึ่งโอเดนย่าเองจะขนของไปแบบจัดเต็มทุกปีเลย
“ความทรงจำ” กลายเป็นของที่มีมูลค่าขึ้นมา!!!
การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือผ่านการ “เล่น” เวลาซื้อของเล่นมาชิ้นหนึ่งไม่ใช่ว่าเราซื้อแล้วเราโยนให้ลูกเล่นอย่างเดียว ไม่ได้! เราต้องลงไปเล่นกับลูกด้วย แล้วเราจะเห็นพัฒนาการของเด็กๆ เพิ่มขึ้นมา จากของเล่นชิ้นหนึ่ง ทุกๆ ชิ้นที่เป็นของเล่นมันจะเสริมพัฒนาการเด็กทำให้เด็กรู้ฟังก์ชันว่า ตรงนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ฟังก์ชันนี้ต้องเป็นอย่างนี้ จุดๆ นี้ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตั้งแต่เด็กๆ เลยว่าของเล่นที่เด็กชอบควรจะเป็นยังไง ของพวก “การ์ด” ที่คนสะสมควรจะเป็นยังไง “เนื่องจากว่าการ์ดโอเดนย่าเนี่ยเป็นการ์ดที่ทางนักสะสมให้มูลค่ามากใช่ไหมครับ มันจะมีการ์ดอยู่ใบหนึ่งที่เรียกว่า SSR ที่เป็นการ์ดหายากของทางโอเดนย่า ผมเคยได้ยินเรื่องจากนักสะสมท่านหนึ่งเล่าให้ฟังเขาบอกพอเขาเจอผมในงาน meeting เขาบอกว่า พี่แซมๆ ขอบคุณมากเลยนะที่ช่วยไว้ ผมบอกว่าขอบคุณเรื่องอะไรเหรอ? เขาบอกว่ามีอยู่เดือนหนึ่งเขากับแฟนเขาเนี่ยสองท่านนี้เหมือนกับติดขัดปัญหาเรื่องทางด้านการเงินจำเป็นจะต้องเอาเงินนี้ชำระหนี้ในเดือนนั้นแล้วสองคนไม่รู้ที่จะทำยังไง ปรากฏว่ามองไปเห็นที่ข้างๆ ห้องมีลังขนมโอเดนย่าอยู่ลังหนึ่ง แกะมาปุ๊บเจอการ์ด SSR สองคนเขาบอกกอดกันร้องไห้กันใหญ่เลยว่า ดีใจว่าเดือนนี้รอดแล้ว! การ์ดใบนี้ใบเดียวเนี่ยสามารถทำให้หนึ่งครอบครัวเนี่ยผ่านวิกฤตไปได้ และสามารถสู้ต่อได้” พอได้ยินเล่าแบบนี้ก็เป็นความภูมิใจ ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราตั้งใจทำงานมากยิ่งขึ้น จริงๆ แล้วของสะสมหรือว่าพวก “การ์ด” ที่เราสะสมกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเราดูจากประวัติย้อนหลัง การ์ดโอเดนย่าในรุ่นที่คุณพ่อทำมาถึงปัจจุบันนี้บางใบราคา 2 หมื่น! ที่เป็นใบเลเซอร์บางใบราคา 2 หมื่น 2 หมื่นกว่า! คือถ้าเกิดนับกันจริงๆ ราคาของการ์ดที่ 5 บาทขึ้นมาเป็น 2 หมื่น ขึ้นมาเยอะกว่าราคาทองคำอีก! เพราะฉะนั้นอยากจะบอกนักสะสมทุกคนว่า ถ้าเกิดเก็บการ์ดโอเดนย่าไว้อยากจะให้เก็บไว้ให้ดี แล้วเราผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งของสะสมที่เราเก็บเอาไว้หรือว่าความทรงจำที่มันอยู่ในการ์ดเหล่านี้มันจะเป็นตัวสร้างมูลค่าให้การ์ด ให้กับของสะสมของเรา วันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็น เราอาจจะเดือดร้อนหรือว่าเราอาจจะต้องตัวนี้ อาจจะกลายเป็นตัวที่ช่วยเราให้เรารอดพ้นวิกฤตก็ได้
การปรับตัว และช่องทางการจำหน่ายปัจจุบัน
ยุคที่เกมออนไลน์เริ่มเข้ามา เด็กๆ เริ่มซื้อขนมน้อยลงสนใจไปเล่นเกมเยอะขึ้น ทางคุณพ่อมีการปรับตัว บางเกมสมัยโน้นจะเป็นเกมเคาน์เตอร์สไตรท์ คุณพ่อทำการ์ดเคาน์เตอร์สไตรท์มาขาย ยังขายดีอยู่ (หัวเราะ) จะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา “ตอนนี้ครับเรามีการสร้างโปรเจกต์ MEGA O ขึ้นมา คือเราพยายามจะรวบรวม ร้อยเรียงคนทุกเจนเอาไว้ด้วยกันครับ อย่างตัวล่าสุดที่เราพอเราออกโอเดนย่า 20 บาท ที่เป็นแถมดราก้อนบอลใช่ไหมครับ เราได้รับฟีดแบ็กจากทางลูกค้าบอกว่า พ่อพาลูกไปซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่นเพื่อที่จะตามล่าโอเดนย่า ลูกเองเนี่ยพ่ออยากได้โอเดนย่าห่อทองเป็นดราก้อนบอลแต่ลูกเองอยากได้การ์ตูนอย่างอื่น จะไปซื้อด้วยกันอะไรเงี้ยผมเลยได้ไอเดียขึ้นมาว่า ทางโอเดนย่าตอนนี้คือจะเริ่มขยับการ์ตูนไปที่ทันสมัยยิ่งขึ้นเป็นตัวที่เข้ากับเด็กเจนใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้ได้ทั้งคุณพ่อและก็ลูกสามารถเล่นสนุกได้ด้วยกัน” ควบคู่กับการขยายตลาดเพิ่มไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือว่าทางประเทศที่มีความรักสนใจในการ์ตูนอนิเมะเหมือนกัน
ปัจจุบันช่องทางการขายหลักของโอเดนย่าจะอยู่ที่เซเว่นอีเลฟเว่น และมีช่องทางการขายเป็นของตัวเองคือขายผ่านออนไลน์ (ผ่านทางชอปปี้ ลาซาด้า) ถ้าเป็นร้านยี่ปั๊วที่เป็น traditional market เราจะส่งผ่านหน่วยรถไป “เรามีรับผลิต OEM นะครับให้ทาง 7-11 ภายใต้แบรนด์ snack town และของทางแบรนด์โอเดนย่าที่เป็นตัวขนมสำหรับเด็กๆ ยุค 90 ใช่ไหมครับตอนนี้เรามีขนมโคโคริ ที่เป็นขนมรสชาติปลาหมึกครับเป็นสูตรทางต้นตำรับของทางโรงงานเราเลย แล้วจะมีขนมอีกอันหนึ่งชื่อว่า โอโตริ ขนมโอโตริเนี่ยจะเป็นซองละ 5 บาท จะเป็นการจับกลุ่มเล็กๆ เด็กเล็กๆ ที่ยังซื้อขนมหน้าโรงเรียนกันอยู่”
“ความซื่อสัตย์” ต่อผู้บริโภค และการมี Passion กับธุรกิจที่ทำ
คุณแซม-พลรพี เหรียญชัยวานิช ทายาทรุ่นสามของ เอส พี อาร์ ฟู้ด อินดัสทรี จำกัด บอกด้วยว่า สิ่งแรกเลยที่ขนมโอเดนย่าอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ ความซื่อสัตย์กับผู้บริโภค เรามอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค“ทางคุณแม่เคยพูดเอาไว้คำหนึ่งเขาบอกว่า ขนมที่เราทำให้ลูกค้าทานเนี่ยต้องเหมือนกับขนมที่เราทำให้กับลูกเราทาน ลูกเราเองก็ต้องกินได้ด้วย” เพราะฉะนั้นเรามองถึงเรื่องความสะอาด เรื่องรสชาติความอร่อย และความคุ้มค่าในตัวเงินที่เด็กๆ สามารถจับต้องได้ อันนี้เป็นกลยุทธ์หลักที่ทำให้โอเดนย่าอยู่คู่คนไทยมานานกว่า 30 ปี “ก็ธุรกิจน่ะครับยังไงก็ต้องประสบกับปัญหาแน่นอนแล้วล่ะ สุดท้ายแล้วการที่เราจะอยู่ได้ยาวนานเนี่ย มันต้องมี Passion กับธุรกิจที่เราทำ แล้วต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อกับธุรกิจที่เราทำทุกวันนี้ แม้บางครั้งเราจะเจอปัญหาที่ซีเรียสมากๆ พอเรานอนพักตื่นหนึ่ง วันรุ่งขึ้นเราต้องไปเริ่มต้นแก้ปัญหาใหม่ มันจะเป็นอย่างนี้ตลอดเป็นประจำอยู่แล้ว ทุกๆ 10 ปี ทุกๆ 12 ปี จะวนกลับมารอบหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรามีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจจริงๆ ไม่ยอมแพ้ มันจะทำให้เราสามารถอยู่ในตลาดได้นาน”
“ความทรงจำ” ที่กลายเป็นของมีมูลค่าขึ้นมา! 30 กว่าปีขนมโอเดนย่าเติบโตมากับเด็กไทยยุค 90 ขอบคุณเรื่องราวสุดประทับใจของเด็กหนวดในยุคปัจจุบัน (จากอดีตเด็กยุค 90) ที่วันนี้เติบโตมาพร้อมกับขนมโอเดนย่าความทรงจำในวัยเด็กที่ยังอยู่ในมุมของธุรกิจ ข้ามผ่านกาลเวลา แม้จะต่างหน้าที่กันแล้ว แต่ทว่าความทรงจำที่มีร่วมกันยังคงเหมือนเดิม ขอบคุณตัวแทนเด็กยุค 90 “แซม โอเดนย่า” ที่ทำหน้าที่ย้อนวันวานผ่านธุรกิจขนมพร้อมบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างมองเห็นภาพอีกครั้ง 30 กว่าปีขนมโอเดนย่าที่ยังคงเดินหน้าอยู่ในธุรกิจอย่างแข็งแกร่งต่อไป อย่างเข้าใจตลาดและมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ นับเป็นอีกตัวอย่าง “แบรนด์” ที่อยู่คู่คนไทยมานานและครองใจลูกค้าแบบที่เรียกว่า FC ได้อย่างเหนียวแน่นจริงๆ ขอบคุณสาวกเบอร์ต้นๆ ของขนมโอเดนย่า “ปอ ยูโร่ ของเล่นในความทรงจำวัยเด็ก” ที่กรุณาเป็นธุระในการพาทัวร์พิพิธภัณฑ์และ อาณาจักรของขนมโอเดนย่าในครั้งนี้
ติดตามผลงานหรือสนใจเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ขนมโอเดนย่า” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ SPR Food Industry เลขที่ 17 ถ.พระรามที่ 2 ซอย 51 แยก 1 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ หรือทางเพจ: แซม โอเดนย่า ขนมในตำนาน
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด