สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือเอ็นไอเอ NIA ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรไทย และหนึ่งในนั้นเป็นผลงานรับมือการเกิดฝุ่น PM 2.5 ของชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ นั่นคือ ชุดการเรียนรู้การรับมือสถานการณ์ฝุ่นด้วยกล่องลังฟอกอากาศ DIY และมุ้งสู้ฝุ่น
จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันและฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยที่ผ่านมา ทางกลุ่มชุมชนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนา “ระบบติดตามค่าฝุ่น @AirCMU” และ “คู่มือการเรียนรู้เรื่องมลพิษทางอากาศ” และต่อยอดนวัตกรรมโดยพัฒนา “ชุดการเรียนรู้การรับมือสถานการณ์ฝุ่นผ่านกล่องลังฟอกอากาศ DIY สำหรับมุ้งสู้ฝุ่น”
สำหรับนวัตกรรม “มุ้งความละเอียดสูง” ที่มีการตัดเย็บเข้ารูปให้พอดีจากฝีมือชุมชน ซึ่งพัฒนาขึ้นใหม่และนำมาประกอบกับพัดลมดูดอากาศ แผ่นกรองอากาศ HEPA รวมเป็น “ชุดกล่องลังฟอกอากาศ DIY”
ทั้งนี้ ส่วนประกอบทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยตัวเครื่องกรองภายนอกทำจากกระดาษลังแบบพับได้ ผู้ใช้งานสามารถประกอบใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก และทำจากกระดาษรีไซเคิล 100% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนวัตกรรมนี้มีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้ที่ไม่สามารถพักผ่อนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือห้องที่มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น ห้องผู้ป่วยรวม สามารถได้รับอากาศบริสุทธิ์ในราคาไม่แพง และสามารถปรับเปลี่ยนขนาดมุ้งเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นได้อย่างยืดหยุ่น
สำหรับยผลการทดสอบเบื้องต้น กล่องลังฟอกอากาศ DIY รุ่นที่ 1 ในห้องสภาวะปิดขนาด 24 ลูกบาศก์เมตร พบว่าค่า PM 2.5 ลดลงจาก 220 เป็น 45 ภายใน 15 นาที และลดลงเป็น 4 ถือเป็นค่าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพใน 40 นาที คิดเป็นประสิทธิภาพการกำจัด PM 2.5 เฉลี่ยร้อยละ 98.77+-0.03 ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการกำจัดฝุ่น เมื่อเทียบเท่าเครื่องฟอกอากาศที่ขายตามท้องตลาด นวัตกรรมนี้จึงสามารถช่วยทำให้ชุมชนสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องกรองอากาศที่ขายทั่วไปในท้องตลาดได้ขั้นต่ำถึงร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 นี้ NIA ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “นวัตกรรมเพื่อชุมชนในยุคภาวะโลกเดือด” (Innovation for Communities in the era of Global Boiling) เพื่อขอรับการสนับสนุนภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2568” (City & Community Innovation Challenge 2025) โดยจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ เพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่เมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน