xs
xsm
sm
md
lg

“กบอุดรสร้างโลก” รวมตัว Young Smart Farmer เลี้ยงกบมาตรฐาน GAP ดันไทยแหล่งส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กบเป็นอาหารยอดนิยมในหลายประเทศ ประเทศไทยหนึ่งในประเทศที่นิยมเลี้ยงกบ และมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่เคยมีร้านอาหารที่เมนูเฉพาะกบ เหมือนในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรคนรุ่นใหม่ จังหวัดอุดรธานี มองเห็นโอกาส ผลักดันส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงกบมาตรฐาน GAP เพื่อในอนาคตดันให้เป็นสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปขายนำเงินตราต่างประเทศเข้ามายกระดับเกษตรกรไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้พันจากความยากจน


รวมตัวเกษตรกรรุ่นใหม่รูปแบบสหกรณ์
สร้างมาตรฐานเลี้ยงกบคุณภาพ


นายชนะบุญ คู่วัจนกุล ผู้จัดการสหกรณ์เกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดอุดรธานี จำกัด และ เลขานุการ Young Smart Farmer Udonthani เล่าว่า จุดเริ่มต้น “กบอุดรสร้างโลก” เกิดขึ้นมาจากทางหอการค้าได้มีการจัดงานแฟร์ด้านการเกษตร และเปิดพื้นที่ให้กลุ่ม Young Smart Farmer นำผลผลิต และผลงานมาแสดงในงาน และมีหนึ่งในนั้นได้นำผลงานการเลี้ยงกบแบบครบวงจรมาแสดงในงาน ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดอุดร และทางรองผู้ว่าฯ ในสมัยนั้น คือ "นายสุรศักดิ์ อักษรกุล" ปัจจุบัน ได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เห็นถึงศักยภาพ และความเป็นไปได้ยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในการส่งเสริมการเลี้ยงกบให้เกษตรกรในพื้นที่ และผลักดันการเลี้ยงกบ ให้เป็นต้นแบบ หรือโมเดลสำหรับการทำเกษตรชนิดอื่นๆ

โดยทางรองผู้ว่าฯ ได้วางแผนให้ทุกหน่วยงาน ร่วมกับคิดบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมการเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด หอการค้าจังหวัด และอีกหลายๆ หน่วยงาน โดยได้จัดสรรงบประมาณลงมาให้ก้อนหนึ่ง จึงได้เป็นที่มาของ “กบอุดรสร้างโลก” ภายใต้การทำงานของสหกรณ์เกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดอุดรธานี จำกัด สมาชิกของสหกรณ์ ประกอบไปด้วย สมาชิกเครือข่าย 1.วิสาหกิจชุมชนกบอุดรสร้างโลก (อ.เมือง) 2.วิสาหกิจชุมชนฟาร์มผักบ้านดอนม่วง (อ.ประจักษ์ศิลปาคม) 3.วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานหนองหาน (อ.หนองหาน) และ 4.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรประมงบ้านบ่อเงิน (อ.กุดจับ)


โมเดล “กบอุดรสร้างโลก” สร้างมาตรฐานการผลิตยันการตลาด

ส่วนบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการบริหารจัดการ ตามแนวทาง กบอุดรสร้างโลก ซึ่งรูปแบบของกบอุดรสร้างโลก เกษตรกรจะต้องเลี้ยงกบที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP ตามที่กรมประมงกำหนด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเข้ามาดูแล เพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงให้ได้ตามมาตรฐานดังกล่าว และกบที่ผ่านการเลี้ยงมาตรฐาน GAP จะต้องมาส่งให้โรงงานชำแหละที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสหกรณ์เองมีโรงงานชำแหละกบ และแปรรูปกบที่ได้มาตรฐานรองรับด้วย

ในส่วนของปลายน้ำ คือ การตลาดเนื่องจากโมเดลของกบอุดรสร้างโลก ต้องการยกระดับการทำการเกษตรให้สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้จริง และแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ดังนั้น การทำตลาดแนวทางสำคัญเช่นเดียวกับการผลิต ซึ่งทางสหกรณ์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่า ราคาจำหน่ายจะต้องเป็นราคาที่ทางสหกรณ์เป็นผู้กำหนด ไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง จึงจะสามารถดำเนินการตามโมเดลการทำเกษตรยุคใหม่ได้


ทำตลาดอย่างไร ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

นายชนะบุญ เล่าว่า ทางสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองหาว่าจะทำตลาดอย่างไร หรือทำอย่างไรกบที่เลี้ยงในแบบที่ได้มาตรฐาน GAP สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคากบตามท้องตลาด เป้าหมายของสหกรณ์ในเบื้องต้นได้หาตลาดเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ในช่วงแรกที่เริ่มทำจะได้ลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าจากประเทศลาว ที่ต้องการกบที่เลี้ยงได้มาตรฐาน เพื่อนำไปส่งขายต่อที่ประเทศจีน และส่งร้านอาหารในประเทศลาว

โดยพ่อค้าจากประเทศลาวมารู้จักผู้เลี้ยงกบกลุ่ม Young Smart Farmer จากการไปร่วมออกบูทในงานหอการค้าจังหวัด โดยมีการสั่งออเดอร์กบเข้ามาเดือนละ 2-3 ตัน ซึ่งเป็นออเดอร์ค่อนข้างจะเยอะ ทำให้ทางกลุ่มผู้เลี้ยงกบเลยต้องหากบจากสมาชิกผู้เลี้ยงคนอื่นๆ ที่เลี้ยงได้มาตรฐาน เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์เกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดอุดรธานีด้วย


ปัจจุบัน มีสมาชิกทำฟาร์มกบอุดรสร้างโลก ประกอบไปด้วย 1.ฟาร์มกบนายตะวัน (อ.กุมภวาปี) 2.ฟาร์มกบเงินล้าน (อ.หนองหาน) 3.สินธุ์ฟาร์ม (อ.ทุ่งฝน) 4.หนองอ้อฟาร์ม (อ.หนองแสง) และ 5.สวนธัญพร (อ.กุดจับ) แต่ละฟาร์มมียอดขายต่อเดือนมากกว่า 1 ตัน เพราะไม่ได้ส่งขายให้สหกรณ์เพียงอย่างเดียวแต่มีส่งขายให้ก ร้านอาหาร และธุรกิจอาหารอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันการทำตลาดผ่านพ่อค้าจากประเทศลาว จะซื้อผ่านฟาร์มเลี้ยงกบเอง ไม่ได้ซื้อผ่านช่องทางของสหกรณ์ แต่การทำตลาดของสหกรณ์ฯ ที่ผ่านมา มีการดิวไปทางร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมชั้นนำ หลายแห่ง รวมถึงการมีออเดอร์ส่งให้ทางโมเดิร์นเทรด เช่น โกโฮล์เซลล์ และแม็คโคร


คุณภาพช่วยเกษตรกรขายกบได้ราคาที่สูงขึ้น

ในส่วนราคากบ ถ้าเป็นช่วงฤดูกาล ประมาณเดือนพฤษภาคม ที่มีกบออกสู่ตลาดเยอะ กบราคาตกมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 45 บาท ราคาซื้อขายที่ตลาดไท ในขณะที่กบอุดรสร้างโลก ราคาสหกรณ์รับซื้อในช่วงนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาว จะเป็นช่วงที่กบจะโตช้า กบขาดตลาด ราคากบอุดรสร้างโลก ขายกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนราคาท้องตลาดประมาณ 60-65 บาท ส่วนต้นทุนการผลิต ฟาร์มกบมาตรฐาน GAP อยู่ที่กิโลกรัมละ 40-45 บาท


ด้านนายสุดตา สีจันทร์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกบ สวนธัญพร จังหวัดอุดรธานี เล่าให้ฟังถึงการเลี้ยงกบว่า เสน่ห์ของกบอุดร คือ ความอวบอั๋น เนื้อแน่น อร่อย สีสันสวยงาม ซึ่งเราเลี้ยง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อเมริกัน และพันธุ์จาน โดยจะเลี้ยงกบตัวผู้และตัวเมียในอัตรา 1 ต่อ 3 คือ กบตัวเมีย 3 กบตัวผู้ 1 ซึ่งจะพอดีในการผสมพันธุ์ โดยจะเริ่มเลี้ยงลูกกบในกระชัง หรือบ่ออนุบาลก่อน เมื่อโตแล้วจะนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดิน เลี้ยงแบบธรรมชาติ ให้กบได้อยู่ตามธรรมชาติจริงของกบ จะทำให้กบเติบโตอย่างแข็งแรง และมีคุณภาพ แล้วจึงนำกบไปส่งขาย ขนาด 5-6 ตัวต่อกิโลกรัม

“กบอุดรสร้างโลก เป็นความยิ่งใหญ่ของการส่งเสริมการนำเรื่องการเลี้ยงกบเข้าสู่ระบบการสร้างอาชีพให้เกษตรกรที่มีความชัดเจน มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น การที่มีหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆ เข้ามาส่งเสริมเชื่อมโยง ทำให้กบอุดรฯ มีความแข็งแรงขึ้น และมีทิศทางการตลาดที่มั่นคง โดยล่าสุด โก โฮลเซลล์ ได้เข้ามาช่วยเหลือขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เริ่มส่งขายที่ โก โฮลเซลล์ สาขาอุดรธานีก่อน ซึ่งกบอุดรสร้างโลกที่ส่งขาย ต้องมีมาตรฐานการเลี้ยงที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน GAP”
ติดต่อ Facebook : กบอุดรสร้างโลก


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น