“ผมเริ่มจากความชอบก่อนพอเราชอบอะไรจะแบบมุ่งมั่นกับมัน ก็เก็บๆ ตอนนั้นคือไม่รู้หรอกไม่ได้ตั้งใจจะมาขายด้วยซ้ำไปแต่พอเริ่มเก็บไปเรื่อยๆ แล้วมันเริ่มเยอะจนกระทั่งเราสามารถทำเป็นอะไรได้นั่นแหละ มันเป็นจังหวะด้วยพอดี เราได้มีโอกาสออกอีเวนต์เขามีพื้นที่ให้เรา เราก็เลยโอเค เราเปิดเป็นร้านมา”
“ป๋าเอ็กซ์” อรรถกฤตย์ จีนมหันต์ เจ้าของร้าน ATAKITO’S SHOP ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความชอบโดยไม่ทันจะคิดถึงเรื่องของธุรกิจด้วยซ้ำไป สนุกกับการเล่นของเล่นซึ่งตนเองเก็บสะสมมาตามความทรงจำในวัยเด็ก พอนานวันเข้าของเล่นที่มีอยู่ซึ่งมันเยอะมาก“ทำไมถึงใช้ชื่อ Atakito’s ใช่ไหมครับเพราะว่า มาจากชื่อจริงผมคือ อรรถกฤตย์ แต่ว่าตอนสมัยทำงานอยู่เนี่ยลูกค้าญี่ปุ่น ลูกค้าญี่ปุ่นจะเรียกผมว่าอากากิโตะซัง มาจากคำว่าอรรถกฤตย์เนี่ยแหละ ผมก็เลยว่า เอ้อชื่อนี้ดีอากากิโตะซัง-Atakito เราก็เลยใช้คำว่า อากากิโตะตลอด พอมันมีช่วงที่โซเชียลเข้ามาเราก็ใช้ สมัยก่อนทุกคนจะไม่ค่อยใช้ชื่อจริงหรอกจะใช้ฉายากัน ก็เรียก อากากิโตะแล้วก็ผมจะมีพ่วงคำว่า “กาโม่แมน” คือเป็นเว็บๆ หนึ่งที่เป็นเกี่ยวกับของเล่นของสะสมและก็ ตัวกาโม่แมนเป็นตัวละครที่เราชื่นชอบมากเลยก็คือตัวสเปร็กตร้าแมน หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า กาโม่แมน ก็เลยใช้คำว่าอากากิโตะ กาโม่แมน และอากากิโตะมาตลอดเลยจนกระทั่ง อยู่ในวงการโซเชียล เก็บของสะสมอะไรมาเรื่อยๆ เนี่ยสุดท้ายคือมาเปิดร้าน เลยใช้คำว่า Atakito’s Shop มาตลอด”
คือตอนแรกมันคงเริ่มจากเป็นนักสะสม สะสมจากสิ่งที่เราชื่นชอบพอเราไปเห็นสิ่งที่เราชื่นชอบไม่ว่าจะตุ๊กตุ่นทอยเส้น ของเล่นของแถมขนม การ์ตูนเล่มละบาท เกิดจากความชื่นชอบก่อนเราเก็บตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ว่าพอมันเริ่มมีโซเชียล เราก็เริ่มคิดว่าเอ๊ะ! เล่นคนเดียวมันไม่สนุก “พอมันมีโซเชียล คือสมัยก่อนเล่นน่ะมันเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน ชวนกันมาเล่นอันนี้ก็คือกลุ่มเล็กๆ แต่ว่าพอเรามายุคหลังเนี่ยมันโต ต่างคนต่างไม่ค่อยรู้จักกันหรอก แต่มารู้จักกันในโซเชียล ก็ผมอ้างก่อนแล้วกันมันจะมีเว็บอยู่เว็บหนึ่งชื่อกาโม่แมนดอทคอมเนี่ย เขาเลยบอกว่าถ้างั้นป๋าเอ็กซ์ชื่นชอบ “ตุ๊กตุ่น” ใช่ไหมเอาไปเลย 1 ห้องเขาก็ให้ผมเป็นแอดมินห้องของ ตุ๊กตุ่นทอยเส้น การ์ตูนเล่มละบาท ของเล่นของเก่า แล้วก็มี “ฮีโร่ไทย” อีกนะคือผมชอบฮีโร่ไทยด้วย ก็เลยทำฮีโร่ไทยขึ้นมา” พอเราเข้าไปเป็นอย่างนั้นปุ๊บเราก็มีของอะไรมาเราจะขิงขิงโชว์กันใช่ไหม เราได้ของมาเราซื้อมาจากไหนเราก็ถ่ายรูปๆ แล้วก็ไปแปะโชว์ มันจะมีกลุ่มคนที่เป็นโซเชียล ในกลุ่มเข้ามานั่งคุยกัน เฮ้ยอันนี้ดีนะ อันนี้เคยเห็น เฮ้ยมันมีกี่แบบมีกี่ตัว เราก็เลยเหมือนพอมันมีช่องทางคุยสุดท้ายมันมีการจัด เขาเรียกว่าอะไร เจอกัน meeting กันมันเริ่มมีว่าเอ้ย! เดี๋ยววันไหนว่างๆ มาทอยเส้นกันสิ? เราก็นัดเจอกันที่บ้านคนโน้นคนนี้แล้วก็จัดกิจกรรมทอยเส้น
"มันก็เลยมีกิจกรรมเรื่อยๆ อย่างงี้ฮะ หรือมีการจัดงานการ์ตูนเล่มละบาทเอาการ์ตูนเล่มละบาทมาโชว์กัน มาคุยกันมาเปิดดูกันตามบ้านตามเพื่อนที่เรารู้จักกัน มันก็เลยกลายเป็นกลุ่มมีกิจกรรมนั่นแหละ เกิดการร่วมกันลักษณะมีการมาเจอกันแล้วก็เอาของมาเจอกันคุยกัน มันก็เลยไปเรื่อยๆ แต่ของสะสมเนี่ยผมแบบตอนนั้นเก็บแบบบ้าหลังเลยคือ อย่างตุ๊กตุ่นผมก็จะแบบเก็บไปเรื่อยๆ หลังจากที่ได้มาจากชุดแรกก่อนเนี่ยผมก็เก็บไปเรื่อยๆ มันก็เรียกพวกมันมาเรื่อยๆ พอเราซื้อมาเรื่อยๆ เนี่ยสมัยก่อนมันยังไม่แพงนะ สมัยก่อนยังตัวใหญ่ตกตัวละ 50 บาทตัวละ 100 เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้ทุกอย่างราคาแพงหมดเพราะมันผ่านมา 50 กว่าปีแล้ว แต่พอเราเก็บมาเรื่อยๆ มันเยอะเราก็เริ่มหาตู้เล็กๆ มาใส่ตู้หนึ่ง เฮ้ยมาเรื่อยๆ ตู้ที่สองเฮ้ยไอ้ตัวนี้แปลกๆ ไม่เคยมีซื้อเก็บๆ ซื้อเก็บเรื่อยๆ มันก็เลยมีเยอะ สุดท้ายตอนนี้ที่บ้านผมมีประมาณ 4 ห้อง ทำเป็นห้องใหญ่ก็คือเก็บตุ๊กตุ่นอย่างเดียวเลย เก็บการ์ตูนอย่างเดียวเลย และก็เก็บของเล่นฮีโร่อย่างเดียวเลย เป็นคล้ายๆ กึ่งพิพิธภัณฑ์ซึ่งเราก็เก็บของเรามาเรื่อยๆ" แล้วพอมันเริ่มมีเยอะๆ ขึ้นคราวนี้มันก็เริ่มมีพวกรายการต่างๆ เขามาสัมภาษณ์มาถ่ายทำ
ขอเป็น “เพื่อนร่วมฝัน” กับความทรงจำในวัยเด็ก
ตุ๊กตุ่นทอยเส้น การ์ตูนเล่มละบาท ของเล่นเก่าของสะสมแล้วก็อีกอันหนึ่ง ที่เปิดอีกห้องคือ ฮีโร่ไทย ตอนนั้นเขามีนโยบายอยากจะทำฮีโร่ไทยด้วย (ท้องถิ่น) เลยทำฮีโร่ขึ้นมากับเพื่อนอีกคนหนึ่งคือ มังกรชอนตะวัน ผมเองเป็นคนนครสวรรค์ เลยทำฮีโร่ขึ้นมาก็เกิดเป็นฮีโร่ขึ้นมาอีก “แล้วก็ชอบ cosplay ด้วยเราก็เลยทำชุดใส่ขึ้นมา และก็พวกฮีโร่ต่างๆ ไอ้มดแดงต่างๆ ก็มีชุดทำชุดใส่เล่นกัน ไปเล่นกับเด็กอะไรเงี้ย มันก็เลยเหมือนกับว่าพอมีกิจกรรมตามห้าง อย่างเงี้ยเราก็มีชุดคอสเพลย์ไปเล่นกับเด็ก มีเวลาเขามาบอกจัดงานไหนๆ แล้วเอาของไปโชว์ไหม เราก็มีของเล่นมีตู้ของเล่นของเราที่สะสมเอาไปโชว์ หนังสือไปโชว์ คราวนี้คนก็เริ่มมาดูบอกเฮ้ยมันไม่เคยมีมาก่อน! ว่าเฮ้ยยังมีคนเก็บอยู่อีกเหรอ” อย่างเวลาที่ผมเอาตุ๊กตุ่นไปโชว์จะโชว์เป็นตู้กระจกแล้วมีตัวเล็ก-ตัวใหญ่ และก็มีประวัติของมัน การ์ตูนเล่มละบาทก็มีให้อ่านฟรี มีกี่แบบ สมัยก่อนเป็นแบบไหน อย่างเงี้ยผู้ปกครองพาลูกมาก็จะบอกว่าเนี่ยแม่เคยเห็น แม่เคยเล่น พ่อเคยเล่น โอ๋ยตุ๊กตุ่นพ่อเคยเล่นเป็นเซียนเลยทุกคนแบบคุยกันมีความสุข ตั้งแต่นั้นมาเวลาเรามีการจัดงานเขาก็อันนี้คือจุดที่เป็นแบบว่า คนชอบมาก คือเหมือนย้อนไปในความทรงจำในอดีต
“ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งก็คือเรามีโอกาสได้ร่วมกับทางเพื่อนที่เขาจัดงาน เขาเรียก Thailand Classic Toy and Game มีพิธีกรอย่าง พล่ากุ้งอะไรเงี้ยก็ทำงานด้วยกัน จะจัดงานนี้ขึ้นมาแต่เขาบอกเอาแบบใหญ่เลยนะ เอาแบบมีของเล่น ของสะสมยุคโบราณเยอะๆ เลยนะแล้วก็มีเกมนะ แต่ของพล่ากุ้งเขาถนัดเกมเขาจะเป็นเกมของเขา ของผมถนัดของเล่นผมก็ไปหาเพื่อนที่อยู่ในวงการด้วยกันน่ะ 10 กว่าคนตอนนั้น คนนี้เอาตุ๊กตุ่น (ผมเอง) คนนี้เอาการ์ตูนเล่มละบาท คนนี้เอาของแถมขนม คนนี้เอาพวกการ์ดเกม แล้วเราก็มารวมเป็นกลุ่มออกบูทกัน ก็จัดงานมาหลายครั้งหลายที่คนก็มาชื่นชมมาดูกันเยอะ” พอทำออแกไนซ์งานไทยแลนด์คลาสสิกทอยแอนด์เกมก็มีอยู่จังหวะหนึ่ง จังหวะดีมากเลย เป็นที่มาของการเปิดร้านผมก็คือว่า ทางห้าง (พันทิพย์ประตูน้ำ) ตอนนั้นพอเราไปจัดงานให้เขา เขาบอกว่าไหนๆ เรามีของเยอะเนี่ยสนใจมาเปิดร้านไหม? เขาก็เริ่มชักชวนอย่างนี้ ฟรีนะ! ไม่มีค่าเช่า “ทำให้เราเกิดเป็นร้าน ทำไมให้ฟรี? เขาบอกอ๋อแต่เขาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จีพี คือตอนนั้นเขาจะคิดเป็น % GP คือเราขายได้เท่าไรอ้าวเป็นพาร์ตเนอร์ GP แต่ว่าเราจะต้องมีกิจกรรมให้เขา เช่น 2-3 เดือนจัดอีเวนต์ให้เขา จัดกิจกรรมให้เขาเพื่อเป็นการดึง Traffic ลูกค้าให้เข้ามาซึ่งผมก็บอกถ้างั้นได้นะ ช่วงนั้นก็คือมันเป็นช่วงปลายก่อนที่ผมจะเกษียณออกมาแล้ว (จากงานประจำ)” ตอนแรกกะมาเฉพาะวันอาทิตย์แต่ปรากฏว่าเขาบอกไม่ได้มันต้องเปิดทุกวัน เราก็เลยต้องไปจ้างพนักงานมาเฝ้าร้านเพราะว่าร้านต้องเปิดทุกวันแต่เราจะมาได้แค่วันอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โอ้โหตอนนั้นฟีดแบ็กของร้านดีมากเพราะว่า แต่ก่อนเวลาซื้อขายกันในเว็บมันจะเป็นแค่มองเห็นภาพ เขาก็จะเป็นลักษณะคือเหมือนวัดดวงน่ะ มันจะโม้ มันจะจริงสมจริงไหม หรือของจะเป็นแบบในรูปไหม แต่พอมามีหน้าร้านมันสามารถมาดู มาดูของจริงได้ “แล้วก็ร้านผมก็ต้องทำเป็นลักษณะเหมือนแบบ ได้เพื่อนมานั่งคุยกัน คือคอนเซ็ปต์ผมจะใช้ว่า “ขอเป็นเพื่อนร่วมฝันกับความทรงจำในวัยเด็ก” ทุกคนมาที่ร้านก็จะแบบว่าเหมือนมานั่งคุยกัน อ้าวกินกาแฟกันมากินขนม อ้าวมานั่งคุยกันนี่เอาการ์ตูนมานั่งดูกัน เอาตุ๊กตุ่นมานั่งดูกัน มานั่งคุยมาเล่นกันอย่างเงี้ย” มันเป็นเหมือนคอมมูนิตีหนึ่งที่แบบมานั่งคุยกันเสาร์-อาทิตย์ มานั่งจับกลุ่มคุยกัน มานั่งคุยกันอย่างเงี้ยแล้วเขาก็จะได้เห็นของจริงด้วย
ป๋าเอ็กซ์บอกว่า ข้อดีของการเปิดอยู่ในห้าง คือมันมีลูกค้าอื่นด้วย ที่เขาเดินผ่านไปผ่านมาเขาก็แวะเข้ามา แล้วรู้ไหมหลังๆ จากนั้นไม่ใช่แค่ลูกค้าไทยแต่กลายเป็น “ลูกค้าต่างชาติ” กลายเป็นผมก็เพิ่งรู้ว่าของเล่นเก่าๆ โบราณอย่างเงี้ยคนต่างชาติชื่นชอบมากไม่ว่าจะคนฮ่องกง คนญี่ปุ่น คนไต้หวัน หรือคนต่างชาติเขาชื่นชอบของเล่นแบบนี้เยอะ“เขาบอกว่าที่เขาชอบเพราะว่ามันเป็นของเล่นแบบแนวเก่าๆ แนวคลาสสิกซึ่งมันเป็นความทรงจำในวัยเด็ก แต่ไอ้ที่เป็นของเล่นทั่วๆ ไปที่เขาเคยเห็นบ้านเขาก็มี ฮ่องกงของเล่นเขาเยอะแยะเลยไปเดินสะพานเหล็กเขาก็เห็นอันนี้เยอะแยะ แต่ไอ้ประเภทของเล่นเก่าๆ ย้อนยุคอย่างเงี้ยมันไม่ค่อยมี แล้วมันไม่ค่อยมีคนเก็บ” เพราะของเล่นแบบนี้เขาเรียกของกระจอก ของเล่นก๊องแก๊ง อย่างเงี้ยมันเป็นของที่แบบทิ้ง! คือไม่ได้สนใจ แต่พอมันถูก (ผ่านมานาน) มันถูกเก็บตอนนี้มันกลายเป็นความทรงจำ เขาก็มองเฮ้ย! มันยังมีคนเก็บอยู่อีกเหรอ เฮ้ย! บางอันสภาพดีเลยเฮ้ยมันมาได้ยังไง พอเรามาเริ่มเยอะมันเริ่มมีพลัง เราจัดงานบ่อยๆ คนมาดูเฮ้ยมันมีพลังเพราะมันเยอะ แล้วมันเห็นหลากหลาย “เป็นที่น่าแปลกว่าผมเห็นลูกค้าผมหลายคนนะ ไม่ใช่เด็กที่เกิดในยุคนั้นมีทั้ง 20 มีทั้ง 10 ขวบกว่าก็มี 15-20 พวกนี้! เขาชื่นชอบแบบนี้ (ว่าพลางชูตุ๊กตุ่นให้ดูประกอบด้วย) แบบเข้าลึกเส้นเลยผมก็ถาม ทำไมเขาชื่นชอบเขาบอกว่า พ่อเขาเปิดให้ดู (หัวเราะ) เขาดูหนังไอ้มดแดงเขาก็ดูจากเครื่องเล่นดีวิดีและก็จากแผ่นอะไรต่างๆ และก็เด็กรุ่นนี้เขาก็จะดูอย่างเงี้ยผมก็งงๆ เอ๊ะทำไมเด็กเขารู้จักเลยแต่ละตัว เขารู้จักเลยอันนี้คือ น้ำกรด อันนี้คือ V3 เขาบอกเขาก็เนี่ยดูของพ่อแหละพ่อให้ดู พ่อก็จะเอาของที่ตัวเองชอบให้ดูไง กลายเป็นว่าเขาก็ชื่นชอบกลายเป็นเราเจอเด็กพวกนี้ ชอบของฮีโร่คลาสสิกในอดีต” คือตอนนี้ถ้าอยากจะดูพวกเกี่ยวกับตุ๊กตุ่นทอยเส้นอย่างเงี้ย ตอนนี้ผมน่าจะเยอะที่สุดแล้วก็มาดูได้ที่นี่ แล้วการ์ตูนเล่มละบาทน่าจะเยอะที่สุดแหละเพราะผมเก็บประมาณ 4 หมื่น-5 หมื่นเล่มแล้วตอนนี้
ร้านนี้เป็นร้านที่สองแล้ว คือช่วงโควิด ทุกห้างถูกปิดทีละเป็นเดือนเลย เราก็โอ้โหทำยังไงล่ะปิดเราทีละเป็นเดือนจะทำยังไงดี? ผมก็เลยต้องไปหาร้านอื่นที่มันอยู่ใกล้บ้าน “อย่างอันนี้มันอยู่ใกล้บ้านผมขับรถมา 15 นาทีเอง และข้อดีของร้าน stand alone อย่างเงี้ยคือมันไม่จำเป็นต้องเปิด คือคุณจ่ายค่าเช่าแล้วจบ แต่ถ้าอยู่ในห้างคุณจ่ายค่าเช่าคุณต้องมาเปิดทุกวัน เดือนนึงคุณหยุดได้ 1 วัน คุณก็ต้องมีลูกจ้างผมต้องจ้างลูกจ้าง 1 คนเพราะเราไม่ได้ไปทุกวัน แต่ถ้าเป็นอย่างเงี้ยคุณจ่ายเงินแล้วคุณจะไม่เปิดก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าคุณเปิดก็ได้แล้วที่นี่มันดีคือ เปิดได้ 24 ชม. ห้างมันยังเปิดตามเวลา เพราะฉะนั้นคิดสะระตะแล้วผมว่าอันนี้คุ้มกว่า” ยิ่งตอนโควิด มันมีช่องทางการขายเยอะคือส่วนมากตอนนี้ทุกคนจะขายทางหลักก็คือ โชเชียล ขายทางออนไลน์ แต่พอเรามีหน้าร้านคุณสามารถมาดูของจริงหน้าร้านได้ แล้วการมีหน้าร้านมันก็เหมือนสร้างความเชื่อมั่น มีหลักแหล่ง มีของ แล้วคุณอยากจะมานั่งคุยที่นี่ผมก็อาศัยเป็นที่นั่งพักผ่อน มานั่งคุยนั่งทำงานนั่งทำอะไร แล้วใครอยากมาทำกิจกรรมก็มาที่ร้าน บางทีเรายังไม่เปิดร้านลูกค้าโทรมาเราก็ขับรถมา 10 นาทีก็มาถึง “แล้วก็ข้อดีของที่ผมมาเปิดตรงนี้ตรงร่มเกล้า (ถ.ร่มเกล้า) กลายเป็นว่าลูกค้าเราที่เคยมาหาเราที่โน่นเขาก็ตามมาหาเราอีก ลูกค้าผมจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน พวกนี้เขาก็มาที่นี่พอผมบอกว่ามันอยู่ใกล้สนามบิน” ทุกคนจะมีความชื่นชมไม่เหมือนกัน อย่างไต้หวันเนี่ยจะชอบการ์ตูนเล่มละบาท ญี่ปุ่นบางคนก็จะชอบของเล่น บางคนก็จะชอบแนวผี อย่างที่ผมมีลูกค้าญี่ปุ่นเยอะเนื่องจากว่ามันจะมีคน คือพอเราเริ่มออกมาทำเต็มที่แล้วเราก็เริ่มมาคิดว่า จะทำยังไงให้ของเล่นเราของสะสมที่เรามีไม่ได้ขายอย่างเดียวแล้ว ให้มันแปรรูปไป
“อย่างผมสะสมการ์ตูนเล่มละบาทเนี่ย ขายหนังสือมันก็ขายมาหมดไปแต่ถ้าเรามาต่อยอดอย่างอื่นล่ะ? ผมก็เริ่มมาทำเป็นกระเป๋าผ้าอย่างเงี้ย ผมได้รู้จักนักเขียนการ์ตูนในอดีตเยอะแยะมากเลย คือมันจะมีรายการตอนนั้นเขาไปถ่าย สัมภาษณ์ผมนักสะสมไง ผมก็บอกเอ๊ะสัมภาษณ์นักสะสมทำไมไม่เอานักเขียนมาด้วยล่ะ เขาก็ไปตามนักเขียนมาเป็น 10 คนเลยตั้งแต่นั้น เราเลยรู้จักนักเขียนเยอะ คราวนี้นักเขียนบอกว่าเดี๋ยวนี้การ์ตูนเขาไม่ทำกันแล้ว โรงพิมพ์ปิดหมดแล้ว มีอะไรให้เขาทำไหม? ผมบอกถ้างั้นได้เดี๋ยวผมให้วาด แต่ว่าผมขอแต่งเรื่องเอง” มันก็เลยกลายเป็นการร่วมมือกัน ได้รู้จักนักเขียนหลายท่าน ผมก็เลยแต่งเป็นเรื่องมีเรื่องหลายๆ เรื่องเลย แล้วพอมันเป็นหนังสือออกมาเราก็ไปวางจำหน่ายในกลุ่มคนที่เป็นคนชื่นชอบด้วยกัน เวลาผมไปออกอีเวนต์เราก็มีหนังสือไปโชว์ด้วย มีหนังสือของที่เราเล่นด้วยแล้วก็มีอย่างอื่น “บางคนก็บอกทำไมไม่ทำเสื้อล่ะ เขาบอกให้ทำเสื้อทำเสื้อก็ได้นะ แต่ทำเสื้อเนี่ยมันจะขายยากเพราะมันมีหลายไซซ์ต้องมี XL มี L มี M มี S แต่ถ้าเป็นกระเป๋ามันทุกคนได้หมด เราก็เอาลายเส้นการ์ตูนนั่นแหละมาวาด ผมก็มีรูปภาพที่เป็นลายเส้นการ์ตูนเล่มละบาทเราก็เอามาทำเป็นกระเป๋าผ้า” ปรากฏว่าโอ้โหคนชื่นชอบเยอะแล้วไม่ใช่เฉพาะคนไทยนะ คนต่างชาติชื่นชอบเขาบอก เขาชอบลายเส้นอย่างนี้ เพราะว่ามันไม่มีแล้วคนไทยก็บอก เอ้ย! นี่ไงลายเส้นการ์ตูนผีการ์ตูนเล่มละบาท เราก็เลยทำมาเรื่อยๆ ผมก็เอาจากภาพที่ให้นักเขียนการ์ตูนวาดให้เนี่ยแหละเอามาทำเป็นกระเป๋า อย่างกระเป๋ามันมี 2 ด้านเราก็มี 2 ภาพแล้ว ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ตอนนี้ผมมีทำเป็นร้อยๆ แบบแล้ว แล้วเราก็มีช่องทางจำหน่ายอย่างน้อยคือร้านเรานอกจากจะเป็นแหล่งรวมของเล่นเราก็มี แตกไลน์เป็นสินค้าใหม่ๆ จากการ์ตูนเล่มละบาทเราก็ทำเป็นอาร์ตทอย มีรูปที่ทำเป็นแกลอรี่พอเวลาเรามีจัดงานอย่างจัดงานที่หอศิลป์เราก็เอารูปไปโชว์ด้วยเป็นงานศิลปะ ขณะเดียวกันเราก็เอางานศิลปะมาแปรรูปเป็นพาณิชย์ ทำเป็นกระเป๋า ทำโปสการ์ด ทำเป็นแก้วน้ำ ทำเป็นหลากหลาย มันก็เริ่มต่อยอดก็คือเป็นสินค้าหลากหลายขึ้น
เกิดการตามหา “ตัวพิเศษ” มีราคามีมูลค่าพุ่งขึ้นกว่า 100 เท่าก็มี!!!
มันถูกค้นหามาจากของเก่า มีบางคนก็เก็บไว้ มันจะอยู่ตามบ้านเก่าๆ คนบางคนที่มีที่เก็บสะสม คือพอเริ่มมีคนรู้ เขาก็จะเริ่มไปค้นหาตามลัง ตามปี๊บขนมปังไปตามหาต่างๆ มันก็จะมีอยู่ เขาจะมาด้วยลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่ว่ามีโรงงานผลิตออกมาซึ่งเมื่อก่อนมันมีโรงงานผลิตแต่ว่า พอยุคนี้มันหมดไปแล้วแต่ว่ามันยังมีที่บางคนยังเก็บอยู่ตามส่วนต่างๆ“คือสมัยก่อนเวลาผมไปที่ไหน ตามตลาดนั้นๆ น่ะคือถ้าไม่มีใครรู้จักเรา เราก็ซื้อสมัยก่อนไอ้พวกนี้มันจะขาย กองๆ มันจะมีขายเขาเรียกของตลาดนัดมือสองอย่างเงี้ย มันจะขายถูกสมัยก่อนของพวกหนังสือพวกนี้มันจะขายครึ่งราคาหมดเลย อย่างการ์ตูนเล่มละ 5 บาทเขาก็จะขาย 2.50 บาท การ์ตูนบาทนึงขาย 50 สตางค์ อย่างเงี้ย (ชูตัวตุ๊กตุ่นขึ้นให้ดู) เขาก็ขายเป็นกองๆ เป็นกิโลด้วยซ้ำไป” แต่พอยุคโซเชียล มันเริ่มคนรู้แล้วเนี่ย มันจะเริ่มมีราคาตอนหลังพ่อค้าทุกคนรู้หมดแล้ว ผมไปตลาดไม่ได้เลยคนจะรู้จัก “ป๋าเอ็กซ์” หมดเลย เอ้ย! ป๋าเอ็กซ์จะมาเดินซื้อตลาดอีกเหรอ แต่เด็กๆ บางคนเขาก็ยังเดินหากันเพราะว่า เขาก็ไปเดินหาอย่างเงี้ยคลองถมกลางคืน บางคนก็ยังไปเดินจับ เขาเรียกพ่อค้าเขาก็จะเดินจับ เดินหาของกันเพื่อจะเอามาขายต่อ เพราะตอนนี้เขาขายผ่านโซเชียลกันได้
มูลค่าของมันที่ขึ้นมาถึงตอนนี้? “ผมว่าเป็น ผมจะบอกว่ามันเป็นร้อยๆ เท่า!!! ก็คงได้ อย่างสมัยก่อนอย่างเงี้ยตัวละ 1 สลึง มันอยู่ในซองถั่ว เดี๋ยวนี้ตัวยางก็ตกมีตั้งแต่ 50 บาทถึง 100 บาท ตัวแข็งบางตัวเนี่ยมีตั้งแต่ 300/400 /500 หลัก 1,000 ตัวขนาด 7 นิ้ว 8 นิ้ว 5,000 ตัวเป็นหมื่น! ผมไม่อยากจะบอกเลยบางตัวมันตัวละเป็นแสน!!! เลย ถ้าเป็นตัวที่หายาก ที่เขาเล่นกัน เพราะว่ามันเหมือนพระเครื่องคือบางคนเขาจะเล่นกัน เขาสะสมกัน เขาก็จะตามหาของที่มันมีน้อยที่มันไม่ค่อยมี เป็นตัวพิเศษ อะไรอย่างเงี้ยเขาจะเล่นกัน” บางคนประกาศตามหาเลยนะ หาเจออย่างนี้ให้ตัวละเท่านั้น หาตัวเท่านี้บางตัวอย่างเงี้ยให้ตัวละ 5,000 ให้ตัวละหมื่น ให้ตัวละแสนยังมีเลย (หัวเราะ) เป็นราคาที่พอใจผู้ซื้อ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เหมือนกันแต่ละอัน อย่างสมมติยกตัวอย่าง มีอยู่ช่วงหนึ่งอย่างตัว 8 นิ้ว มันอยู่ประมาณสัก 4,000-5,000 เองแต่เพราะว่ามีคนเก็บคนที่เขามีรายได้เยอะเขาอยากได้หลายสี เขาก็จะบอกว่า ใครมีสีนี้เขาให้ 6,000 อย่างเงี้ย พอเขาเก็บได้อีกอ้าวเฮ้ย! มันมีสีนี้ด้วยเหรอ ใครมีสีนี้เขาให้ 1 หมื่น ตั้งแต่นั้นมันราคาก็พุ่งไปเรื่อยๆ ตามนี้ แต่ว่าพอเขาซื้อตัวนี้ไปแล้วปุ๊บอีกคนดันไปมีสีนี้อีกอาจจะไม่ได้ราคานี้แล้วนะ เพราะว่าราคานี้คนนี้เขาต้องการเขาได้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็จะเหมือนพระเครื่องมันจะมีขึ้นๆ มีลงแล้วแต่ แต่อันนี้มันไม่ค่อยลงมันขึ้นตลอด ราคามัน 50 เท่า 100 เท่า!!! อยู่แล้ว มันก็มีกลุ่มเล่นกัน ยิ่งเรามีเป็นอย่างนี้มา (หนังสือคู่มือตุ๊กตุ่นทอยเส้น) ทุกคนมันก็เหมือนมีคู่มือ แล้วก็พอมีกิจกรรม (ยกตัวอย่างของการแข่งขันตุ๊กตุ่นทอยเส้น) คือเราต้องมีกิจกรรมเรื่อยๆ ก็เหมือนพวกของเล่น เขาจะออกขายของเล่นก็ต้องทำหนัง พอทำหนังมีกลุ่มมีคนมานั่งคุยกันเขาก็ขายของได้ อย่างเงี้ยถ้าเรามีอย่างงี้เรื่อยๆ มีการออกโซเชียล มีการจัดบูท มีการแสดงคนมาเห็น เผลอๆ เราก็จะมีลูกค้าเพิ่ม เฮ้ยเขามี! เราก็มาเริ่มเก็บบ้างดีกว่า เฮ้ยขายได้นี่หว่า มันจะต่อยอดไปเรื่อยๆ
สนุกกับการเล่นของเล่นยังไงจนกลายเป็น “ธุรกิจ” ได้
“ป๋าเอ็กซ์” อรรถกฤตย์ จีนมหันต์ เจ้าของร้าน ATAKITO’S SHOP บอกว่า มันก็ทำรายได้ให้กับเราตอนแรกผมก็คิดว่าเก็บอย่างเดียวนะ แต่ใครจะไปคิดว่าอีกหน่อยไอ้พวกของนี้มันทำรายได้ให้เรา ผมถึงมาเปิดร้านได้ไง เราถึงมาเปิดร้านแล้วก็มีรายได้จากการขายของพวกนี้ “มันก็มีบ้างคือ ตอนช่วงโควิดมีกระทบบ้างเพราะว่า ร้านที่เราเปิดอยู่ในห้าง ตอนนั้นมันถูกปิด เป็นเดือนเลยแต่ว่าพอมัน มันเลยเกิดธุรกิจที่เรียกว่าการขายทางออนไลน์/โซเชียล เราก็ขายทางออนไลน์กลายเป็นว่า ขายทางออนไลน์บางทีดีกว่าด้วยซ้ำนะเพราะว่าบางคนไม่ต้องมีเสียค่าเช่าพื้นที่ด้วยซ้ำไป จริงๆ บางคนอยู่บ้านก็ขายของได้ แต่ขอให้มีของ แต่เราเนื่องจากเรามีของเรามีของมาก่อนแล้วไงเราสะสมมาก่อนแล้ว แต่ใครมาสะสมตอนนี้ถามว่าได้ไหม? ได้ แต่ไม่ทันแล้วเพราะว่าราคามันจะแพง คุณก็จะเริ่มขายยากแล้ว” มันเป็นของที่เฉพาะกลุ่มแล้วเป็นของที่มันหายาก สมัยก่อนผมก็เคยเก็บพวกหุ่นเหล็กแต่ปรากฏว่ามันออกมาใหม่เรื่อยๆ แต่ไอ้พวกนี้คุณเก็บไว้ก่อนเถอะ เพราะว่ามันไม่มีอีกแล้ว พอมันไม่มีอีกแล้วมันจะทำให้กลายเป็นมูลค่ามันเพิ่ม ถึงจะมีของใหม่มาแต่มูลค่ามันก็ไม่เท่ากับของเก่า แล้วพวกนักสะสมเขามีกำลังซื้อ เขาทำงานแล้ว เขามีกำลังซื้อ เขาสามารถซื้อได้ตัวละเป็นหลักหมื่นหลักแสนเขายังซื้อเลย! แล้วเขาไม่ได้มีแค่ตัวเดียวด้วย เขาก็จะมีห้องเก็บแบบคล้ายๆ กับผมคือเก็บให้มันแบบเยอะๆ
บางคนเขาก็เปิดเป็น “ร้านกาแฟ” เพื่อดึงดูดให้คนมาดูของแล้วก็มากินกาแฟเขาอย่างเงี้ย บางคนก็ไปจัดงานอีเวนต์ บางคนก็ไปเป็นพร็อพถ่ายหนัง คือพวกนี้พอเก็บไปเรื่อยๆ มันเริ่มทำมูลค่าให้กับเราได้เยอะ แล้วแต่ว่าเราจะไปต่อยอดทำยังไง ถ้ามีอย่างนี้อย่างเดียวเดี๋ยวมันก็หมดแต่ถ้าเรามีไปด้วย ซื้อมาด้วยขายไปด้วย เราก็ขายตัวซ้ำเราก็ออกมาทำกิจกรรมอย่างเงี้ย เราก็ทำหนังสือ “ทอยเส้นเล่นตุ๊กตุ่น” มันก็เกิดจากของเล่นของสะสมมาต่อยอด อย่างหนังสือของสะสมผมก็มาต่อยอดเป็นกระเป๋าผ้า ทำการ์ด ทำของเล่น ทำอาร์ตทอย พวกนี้มันสามารถประยุกต์ต่อไปได้จากความชื่นชอบ แล้วเราจะสนุกกับมัน เพราะเป็นของที่เราชื่นชอบ
เปิดกรุมหาสมบัติความทรงจำในวัยเด็ก “ป๋าเอ็กซ์” ATAKITO’S SHOP สนุกกับการเล่นของเล่นยังไงจนกลายเป็นธุรกิจได้!!! ขอบคุณ “ป๋าเอ็กซ์-อรรถกฤตย์ จีนมหันต์” และคุณปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ จากเพจ “ปอ ยูโร่ ของเล่นในความทรงจำวัยเด็ก” ที่กรุณาร่วมแบ่งปันเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดีๆ สำหรับการประกอบธุรกิจในครั้งนี้ ขอบคุณโครงการละเล่นไทย ภานใต้มูลนิธิดั่งพ่อสอน สามารถรับชมเนื้อหาฉบับเต็มได้ในรายการ “ชีวิตใหม่” (ชมคลิป) ทางยูทูบช่อง SMEs Manager
สอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการเยี่ยมชมร้านติดต่อไปได้ที่ Atakito’s Shop Airlink Park ชั้น 2 ถ.ร่มเกล้า แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โทร.08-3444-2211 FB : อรรถกฤตย์ จีนมหันต์