“จุดเด่นของมันคือสามารถให้รายได้ในพื้นที่ขนาดเล็กได้เพราะว่า เราปลูกในระยะชิด 1 ไร่ปลูกได้ 4,000 ต้น จากทั่วไปปลูกได้แค่ประมาณ 100-200 ต้น ราคาถ้าเราทำไม่ได้คุณภาพก็จะถูกมีตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไปถึงแพง แต่ถ้าทำให้ได้คุณภาพดีๆ เช่น ขนาดใบ ความปลอดภัย และระยะเวลาที่ออก เราสามารถทำให้ได้สูงสุดถึงกิโลละประมาณ 100 กว่าบาท
มะกรูดมันเป็นตลาดเฉพาะที่สำคัญที่สุดของมะกรูด คือ จะทำอย่างไรให้เราบริหารในเรื่อง “ของเสีย” มากกว่า ใบดีน่ะมันมีไม่เยอะหรอกแต่ว่าใบที่มันไม่สวยเราจะทำยังไงที่มันจะดันไปตลาดไหนได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้โมเดลนี้ว่า ใบที่ไม่ค่อยสวยนักจะส่งแม่ค้าตามตลาดนัดซึ่งเราจะได้มีรายได้ทุกสัปดาห์ แล้วจะมีใบที่ค่อนข้างดีขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะสเปกไปเรื่อย ส่งห้าง ส่งเข้าโรงงานแปรรูปอาหาร และส่งออกต่างประเทศ” เฮียเคี้ยง-นายอภิชาติ พรลาภเลิศสุข เจ้าของแปลงมะกรูดตัดใบที่ปลูกแบบ “ระยะชิด” บนพื้นที่ผลิตรวม 3 ไร่ในเขต ต.หนองปลาไหล อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี บอกเล่าถึงความน่าสนใจของอาชีพหลักซึ่งเจ้าตัวทำมานานกว่า 12 ปีแล้ว
“ขนาดของใบจะประมาณนี้ครับ (บอกพลางชูใบมะกรูดที่เด็ดมาโชว์ให้ดูด้วย) ซึ่งนี่คือสเปกใบสำหรับการส่งออก ไม่ใหญ่ไปกว่านี้มากครับ ถ้าใหญ่มากเนี่ยจะถือว่าเป็นตกเกรดเขาบอกว่าเป็นใบส้มโอครับ ต่างประเทศจะไม่เอาและก็ใบเล็กเกินไปเนี่ยเวลามันเข้าไปในแพกมันจะไม่สวยครับ แต่ถ้าหากว่าเราส่งในประเทศไทยเราเนี่ยอยากได้ใหญ่! เน้นใหญ่ไว้ก่อน ยิ่งถ้าเราทำได้ความหนาได้มากเท่าไหร่มันก็ยิ่งได้น้ำหนักมากขึ้นครับ” ใบที่โชว์ให้ดูนี่คือยังไม่แก่ (อายุได้ประมาณ 20 วัน) สเปกใบที่ส่งออกไปจะเป็นไล่ตั้งแต่สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เกาหลี และยุโรป นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ “กลิ่น” ด้วย สืบเนื่องจากการปลูกมะกรูดตัดใบจะนิยมใช้พันธุ์เสียบยอดที่มีต้นตอเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน แต่หากตอเป็นของพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่รากของมะกรูดด้วยกันเองมันจะมี “กลิ่น” ของพืชชนิดอื่นแทรกเข้ามา ซึ่งต่างประเทศเขาจะไม่ค่อยนิยม แต่ใบของเขาใหญ่จริงแต่ว่ากลิ่นจะไม่ค่อยได้ จะต้องเป็นกลิ่นของมะกรูดอย่างเดียวเลยเรื่องกลิ่นนี่สำคัญมากๆ “ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือห้ามมีพวกแมลงติดไป ไข่แมลงถ้าเราส่งออกต่างประเทศนะครับ แล้วเรื่องพวก “สี” ความเข้มของใบทุกอย่างครับ เรื่องโรคด้วยว่าอย่าให้มีพวกโรคแคงเกอร์ติดไป อันนี้คือผ่านมือทุกใบกว่าจะส่งออกได้”
ขายราคาเดียวทั้งปี
ปัจจุบันนี้ทำอยู่ทั้งหมด 3 ไร่ (6,500 ต้น) จะสลับหมุนเวียนกัน 5 แปลงย่อยจะสลับกันตัด (ไล่รุ่น) เพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องกัน แต่ว่าจะมีอยู่รอบหนึ่งที่เราจะตัดหมดทีเดียว เนื่องจากว่าช่วงปลายฝน-ต้นหนาวเราจะตัดทีเดียวเลยให้มันแตกพร้อมๆ กันหมด เป็นการพักต้นด้วยในตัวช่วงหน้าหน้าฝน “เพราะว่ามะกรูดในช่วงหน้าฝนเนี่ยจะเป็นช่วงมะกรูดที่ราคาไม่ค่อยแพง ปีหนึ่งจะราคาถูกประมาณ 3 เดือนครับ ประมาณเดือนสิงหา กันยา ตุลา ถูกนี่ประมาณสักดีๆ ประมาณ 35 บาท แต่ว่าส่วนใหญ่ผมทำราคาเดียวทั้งปี คือเวลาเราทำกับลูกค้าเราคิดบอกว่าขอราคาเดียวทั้งปีเลย จะถูกจะแพงเราเอาราคานี้ ช่วงแพงเราไม่หวั่นไหว ช่วงถูกเราก็เฉยๆ แต่ว่าออเดออาจจะลดลงบ้าง ราคาที่ขอแบบ cover ทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/กก. ถ้าเป็นช่วงที่ราคาพีกๆ ของปีอยู่ที่ประมาณ 135 บาท/กก. แต่ว่ามันจะพีกอยู่หลายเดือนอยู่ครับ ตั้งแต่มกรา กุมภา มีนา เมษา พฤษภา” หน้าแล้งอากาศมันแล้งและในพื้นที่หลายๆ พื้นที่ ไม่สามารถที่จะทำ (เพราะเขาไม่มีน้ำ) และก็โนว์ฮาวในเรื่องของการจัดการอันนี้สำคัญ บางทีเขาไม่มีในเรื่องของการดูแลการตัดให้มันเป็นรุ่น แล้วที่สำคัญที่สุดเลยคือ ใบมาตรฐาน GAP เพราะว่าในกรณีของการทำส่งออกหรือทำเข้าห้าง ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อที่จะไปรับรองว่าเราทำตามมาตรฐานถึงจะสามารถทำส่งออกได้
การรับรองมาตรฐาน และตลาดที่ส่งปัจจุบัน
ตอนนี้ของที่สวนเองมีใบรับรองมาตรฐาน “GAP” ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งได้มา หลายชนิดพืชที่ปลูกอยู่นอกเหนือจากมะกรูดตัดใบแล้ว รวมถึงยังมีการรับรองของ ม.แม่โจ้ ของกรมส่งเสริมการเกษตร และของ ศพก. เป็นต้น ปัจจุบันมีการทำตลาดในหลายๆ ช่องทางสำหรับมะกรูดตัดใบโดยเริ่มตั้งแต่ตกเกรด (ใบที่จะต้องตัดทิ้ง) จะส่งแม่ค้าตามตลาดนัด ราคาที่ได้เฉลี่ยอยู่ที่ 30-35 บาท/กก. แล้วมีส่งเข้าโรงงานแปรรูปอาหาร ราคาที่ได้มีตั้งแต่ 60 บาท/กก.ขึ้นไป แล้วเด็ดใบส่งเข้าห้างสรรพสินค้าได้ราคาอยู่ที่ 90 บาท/กก. และส่งออกต่างประเทศได้อยู่กิโลกรัมละ 100 บาท
ข้อดีของระบบปลูกและการจัดการ “ระยะชิด”
การทำมะกรูดระยะชิดเขาเรียกว่าสรีระวิทยาของไม้ผลเขตร้อน เนื่องจากว่ามะกรูดจะมี “ใบ” ที่สวยที่สุดแล้วให้พื้นที่ใบมากที่สุดคือ “กิ่งกระโดง” ดังนั้นถ้าเราปลูกระยะชิดเขาจะแย่งกันหาแสง เพื่อที่จะพุ่งขึ้นไปคือกิ่งกระโดง เพราะเวลาเป็นกิ่งกระโดงพื้นที่ใบเยอะและใบสวย ใบจะไม่กลม ใบจะเป็นออกแนว Shape เหมือนเขาเรียกว่า หุ่นนางแบบ จะยาวๆ มีเชฟใบมีรูปทรง “ถ้าเราทำเป็นมะกรูดที่เป็นทั่วๆ ไปที่กิ่งมันนอนลงมาอย่างเงี้ย มันจะติดดอกครับ ถ้ากิ่งมันเกินกว่า 60 องศาลงมามันจะติดดอก ออกผล ซึ่งเราไม่ต้องการเราต้องการใบอย่างเดียว พอกิ่งมันนอนลงมาใบมันจะออกกลมๆ ครับซึ่งมันไม่สวย เวลามันอยู่ใน shelf หรือเวลาเข้าไปอยู่ในแพกเกจเนี่ยมันไม่น่ารัก” การจัดการเรื่องโรคก็ง่ายกว่า เพราะว่าจะทำพร้อมกันทั้งรุ่นเลยเราตัดทีเดียว ตัดตั้งลำทีเดียวแล้วให้เขาแตก บังคับให้เขาแตกยอดพร้อมกันในครั้งเดียว ทำให้เราจัดการคอนโทรลได้ทั้งเรื่อง “ปุ๋ย” เรื่องของ “สารเคมี” และการจัดการแปลงก็ง่ายด้วย
การปลูกแบบระยะชิด ชิดสุดคือ 50x50 ซม.ปลูกแบบสลับฟันปลา แต่ว่าแปลงนี้จะห่างนิดหนึ่งถ้าใช้ 50x50 ซม. การจัดการเรื่องทางเดินจะยาก เราจะเดินทำงานยาก ดังนั้นทางเดินเราขยายจากระยะแถว 50x50 ซม. แต่ว่าทางเดินเราจะขยายออกมาหน่อยเป็นประมาณ 1 เมตร ซึ่งทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย“การคอนโทรลเรื่องความสูงของต้น จะไว้ประมาณนี้ถือว่าสามารถทำงานได้สะดวก ปีหนึ่งเราจะตัดให้มันต่ำลงมาอยู่ที่ระดับประมาณนี้ 1 ครั้งในรอบปี ไม่ให้เกินไปกว่านี้เพราะว่ามันจะจัดการ และการทำงานของเราจะยากขึ้น” การตอบโจทย์ในเรื่องของเกษตรทำน้อยแต่ได้มาก ถ้าในพื้นที่ 1 ไร่ของแปลงนี้ปีหนึ่งตัดได้ 6 ครั้ง ครั้งหนึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ (น้ำหนัก) 600 กิโลกรัม คราวนี้ขึ้นอยู่กับว่าราคาในช่วงนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วระบบนี้จะใช้คน หรือแรงงานเพียงแค่ 2 คน ใช้คนไม่เยอะ หรือถ้าหากว่าบ้านใครมีพื้นที่ไม่เยอะ ทำแค่ 1 งานก็ได้ (1 งานได้เป็น 1,000 ต้นแล้ว) สามารถทำเป็นรายได้เสริมจากรายได้หลักได้ แต่สวนมะกรูดตัดใบของตนเองคือเป็นรายได้หลัก
มะกรูด “เกรดพรีเมียม” ตลาดยังรับไม่อั้น!
เฮียเคี้ยง-นายอภิชาติ พรลาภเลิศสุข เจ้าของสวนมะกรูดตัดใบ (ระยะชิด) ยังบอกด้วย ถ้าเราสามารถทำเกรดพรีเมียมได้ตอนนี้ตลาดยังไม่พอ! ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะรีเควสต์เกรดพรีเมียมค่อนข้างเยอะแต่มันทำไม่ค่อยได้กัน นี่คืออุปสรรคปัญหาและอุปสรรคเลย แล้วอีกอันหนึ่งคือเรื่อง โนว์ฮาวในเรื่องของวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวอันนี้สำคัญ เนื่องจากว่ามะกรูดเขามี “น้ำมัน” ในตัวค่อนข้างเยอะ พอมีน้ำมันในตัวค่อนข้างเยอะการที่เขาจะเสื่อมสภาพหรือเขาเรียก “ตายนึ่ง” ก่อนที่จะไปถึงมือลูกค้ามันง่าย เพราะฉะนั้นระยะทางจากสวนไปถึงมือลูกค้าไม่ควรเกินกว่า 250 กม.หรือ 300 กม. ยกเว้นเรามีห้องเย็นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราไม่มีต้องลดความสูญเสียโดยระยะทาง ระยะเวลาคือต้องไปถึงให้เร็วที่สุด
“ผมทำมา 12 ปี เริ่มจากเป็นเกษตรกรเสาร์-อาทิตย์ เพราะว่าเป็นคนเมืองครับคือหลักๆ เลยผมไม่ได้เป็นคนที่นี่ ผมคนกรุงเทพฯ และพอดีได้แฟน (ภรรยา) เป็นคนที่นี่ ขอที่พ่อตาแล้วทดลองทำ จนกระทั่งรู้สึกว่ามันเริ่มอยู่มือแล้ว มันเริ่มที่จะเป็นอาชีพได้ เริ่มขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ แล้วก็หยุดอยู่ หยุดแค่ไหว อย่างก เมื่อไหร่ที่เราเกินความสามารถเรามันจะทำให้เรารายได้ลดลง ถึงติดลบได้! ทำเท่าที่เราไหวและมันก็สามารถที่จะเป็นอาชีพที่เราเลี้ยงดูครอบครัวได้ครับ”
เกษตรทำน้อยแต่ได้มาก ตอนที่ 2 : ปลูกมะกรูดตัดใบ (ระยะชิด) ขายได้กิโลละ 100 ทั้งปี 3 ไร่ยึดเป็นอาชีพหลักได้ ขอบคุณไอเดียอาชีพทำกินฉบับเกษตรพื้นที่น้อยแต่สามารถสร้างรายได้เทียบเท่าเกษตรพื้นที่ขนาดใหญ่ๆ ได้ “เฮียเคี้ยง” จากเกษตรกรวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สู่เกษตรกรตัวจริงในวันนี้กับบทพิสูจน์ 12 ปี “มะกรูดตัดใบ” ระยะชิด ที่สามารถเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวได้ พื้นที่ผลิตเพียง 3 ไร่เท่านั้น ขอบคุณ “คุณแมน2M” ที่กรุณาชี้เป้าเรื่องราวดีๆ ในครั้งนี้และขอบคุณ “ฟอร์ด (ประเทศไทย)” ในการเอื้อเฟื้อพาหนะสุดแกร่ง “ฟอร์ดเอเวอเรสต์” สำหรับการลงพื้นที่การเกษตรของจังหวัดกาญจนบุรีในครั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมเรื่อง “มะกรูดตัดใบระยะชิด” ได้ที่ 08-1375-2380 หรือ 08-9733-5188
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด