xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผวิเคราะห์ 10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง - ดาวร่วงในปี 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งท้ายปี 2567 นำผลการวิเคราะห์ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่ามีธุรกิจอะไรกันบ้าง ที่เป็นดาวเด่นประจำปี และธุรกิจอะไรบ้างที่อยู่ในภาวะถดถอย และต้องปรับตัวอย่างหนักในปี 2567

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง - ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว ปี 2567 ได้นำข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้ง ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ


เริ่มจากธุรกิจดาวรุ่ง 5 ธุรกิจ ประจำปี 2567



1) กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬา  ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายได้รับประโยชน์โดยตรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผนวกกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ มีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ปี 2567 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายสะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) 732 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 195 ราย (36.31%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 537 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มีมูลค่า 1,751.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 713.57 ล้านบาท (68.77%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 1,037.62 ล้านบาท)

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ การจัดตั้งธุรกิจด้านสถานที่ออกกำลังกายและสอนออกกำลังกายมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 27% นอกจากกีฬาที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ยังมีการออกกำลังกายแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น โยคะ พิลาทิส (Pilates) การดำน้ำ เป็นต้น โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย มีรายได้รวมอยู่ที่ 93,397.82 ล้านบาท สูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์

จากการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของโรงแรมที่พัก สปา ร้านอาหาร ส่งผลให้ ปี 2566 กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง มีรายได้รวมอยู่ที่ 359,670.04 ล้านบาท เป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและรายได้รวมมีมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (รายได้รวมปี 2563 จำนวน 146,062.75 ล้านบาท) โดยปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิงมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,976 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 477 ราย (31.82%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 1,499 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 6,427.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 1,740.48 ล้านบาท คิดเป็น 37.13% (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 4,687.02 ล้านบาท) ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ ธุรกิจความบันเทิง การแสดงโชว์ ก็มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มีกว่า 31.72% มูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 1.82 เท่า


3) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์

ช่วงปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดภาษี และการสนับสนุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตจำนวน 7 แบรนด์ผู้ผลิต ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในปี 2567 เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61% โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,033 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 183 ราย (21.53%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 850 ราย) ขณะที่ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 7,797.57 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 3,560.37 ล้านบาท (31.35%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 11,357.94 ล้านบาท) เนื่องจากปี 2566 มีนิติบุคคลในกลุ่มการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีทุนจดทะเบียนสูงหลายราย ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2567 ลดลง

4) กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ
กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) กลุ่มธุรกิจ e-commerce มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 2,283 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 365 ราย (19.03%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จัดตั้ง 1,918 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 3,979.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 755.31 ล้านบาท (23.42%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 3,224.59 ล้านบาท) ปี 2566 กลุ่มธุรกิจ e-commerce มีรายได้รวม 444,101.69 ล้านบาท
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยการผลิตกล่องกระดาษที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 77% และทุนจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.41 เท่า รวมทั้งธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องจากการค้าในรูปแบบ Cross-Border e-Commerce เป็นโอกาสที่เปิดกว้างการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ

5) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง
ภายใต้การผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมตลาด พัฒนา การจับคู่ธุรกิจ และนำเสนอกับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ทั่วโลก เช่น จัดตั้งศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) การสอดแทรกวัฒนธรรมการท่องเที่ยว/อาหารลงไปในเนื้อหาภาพยนตร์ และผลักดันพื้นที่ต่างๆ สู่การเป็นศูนย์กลางเมืองถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีรายได้รวมกว่า 43,122.90 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 242 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 22 ราย (10%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 220 ราย) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 630.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 340.09 ล้านบาท คิดเป็น 1.16 เท่า หรือ 116.92% (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 290.89 ล้านบาท)


5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว

1) ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ได้แก่ ธุรกิจผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ขั้นต้น ขั้นกลาง เหล็กแผ่น ธุรกิจผลิตโลหะมีค่า ธุรกิจผลิตโลหะที่เป็นโครงสร้างของการก่อสร้างอาคาร ธุรกิจผลิตเครื่องประดับ การเจียระไน เพชรพลอย เป็นต้น
ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ปี 2567 เผชิญภาวะถดถอยทั้งจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและมูลค่าทุนจดทะเบียน โดยในปี 2567 (ม.ค. - พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 306 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 18 ราย (5.56%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 มีจำนวน 324 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,492.42 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 73.14 ล้านบาท (2.85%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 2,565.56 ล้านบาท)

ปี 2566 ธุรกิจฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.87 ล้านล้านบาท ลูกค้ารายสำคัญของธุรกิจนี้เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงได้ชะลอการซื้อลงจากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับในตลาดปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ (เพชรแล็บ) ที่มีราคาถูกเข้ามาตีตลาด ทำให้ความต้องการอัญมณีในตลาดโลกลดลง ในส่วนของการผลิตเหล็กเผชิญปัญหาการเข้ามาของสินค้าเหล็กจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูก ขณะที่การผลิตเหล็กในประเทศไทยต้องมีการนำเข้าและมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าทำให้ขาดสภาพคล่อง ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขายสินค้า หากต้องการแข่งขันได้ ภาครัฐควรมีแนวทางหรือนโยบายในการป้องกันหรือจำกัดการเข้ามาของสินค้าต่างชาติ ในส่วนของอัญมณีควรได้รับการส่งเสริมในการผลักดันการส่งออก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้

2) ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าทั่วไป

ธุรกิจการค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้ามากขึ้น ปี 2567 (ม.ค. - พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,466 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 18 ราย (1.21%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 1,484 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,004.79 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 4.51 ล้านบาท (0.22%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 2,009.29 ล้านบาท)
ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้รวมอยู่ที่ 3.76 แสนล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลง คือ ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ (e-Commerce) มากขึ้น การแข่งขันจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนต่ำกว่า และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย ถึงแม้ว่าการขายรูปแบบออนไลน์จะเข้ามาแย่งตลาดของกลุ่มร้านในรูปแบบออฟไลน์ แต่ด้วยจุดเด่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของธุรกิจที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนจึงเข้าถึงง่ายและรู้จักลูกค้าเป็นอย่างดี จึงสามารถดึงจุดเด่นดังกล่าวมาพัฒนาการให้บริการ เช่น การนำส่งแบบเดลิเวอรี่ การจัดโปรโมชั่น และยังสามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆภาครัฐ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่มีศักยภาพควรให้การส่งเสริมร้านค้าปลีกชุมชนให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ด้วยสนับสนุนองค์ความรู้หรือเครื่องมือที่จะในการจัดการและบริการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


3) ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ ได้แก่ ธุรกิจพิมพ์หนังสือพิมพ์และวารสาร ธุรกิจจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่โบรชัวร์ใบปลิวและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ธุรกิจกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์ฯ (จำหน่ายฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่โรงภาพยนตร์ เครือข่ายโทรทัศน์ ฯลฯ) เป็นต้น

ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ถดถอยอย่างชัดเจน ปี 2567 (ม.ค. - พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 13 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 17 ราย (56.67%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 มีจำนวน 30 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 10.40 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 34.20 ล้านบาท (76.68%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 44.60 ล้านบาท)

ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้อยู่ที่ 8.15 พันล้านบาท สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล สื่อออฟไลน์ถูกแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์ที่มีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถวัดผลจากการทำโฆษณาได้อย่างแม่นยำมากกว่าการตลาดแบบออฟไลน์ หากกลุ่มธุรกิจนี้ยังต้องการแข่งขันควรปรับตัวให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและการพัฒนาของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์ ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เป็นต้น จึงจะสามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล

4) ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักด้วยวิธีอื่นๆ ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยการอบแห้ง การรมควัน การทำเค็ม การหมักในน้ำเกลือ หรือน้ำส้มสายชูธุรกิจการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกด้วยการ อบแห้ง การทำเค็มหรือการรมควัน

ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ปี 2567 (ม.ค. - พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 123 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 40 ราย (24.54%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 163 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 311.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 294.43 ล้านบาท (5.87%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 17.29 ล้านบาท)
ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้อยู่ที่ 5.71 หมื่นล้านบาท โดยได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อผลผลิตมีจำนวนลดน้อยลง รวมทั้งมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยลดลง ต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้ให้มีการจัดตั้งลดลง โดยธุรกิจนี้ควรให้ความใส่ใจในกระบวนการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สินค้าออร์แกนิก) การวางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้วัตถุดิบมีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตราฐานการส่งออกได้

5) ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนออก ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ปี 2567 (ม.ค .- พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 2,037 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 357 ราย (14.91%) (ม.ค.-พ.ย. 2566 จำนวน 2,394 ราย) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 5,865.61 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 6,565.32 ล้านบาท (52.81%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 12,430.93 ล้านบาท)

ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.63 แสนล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อความต้องการในกลุ่มนายหน้า นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ซื้อผู้ขายสามารถติดต่อกันโดยตรง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าเผชิญกับความท้าทายมากยิ่งขึ้น ธุรกิจจึงควรเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การบริการ ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน สร้างพันธมิตรเครือข่ายร่วมกับตัวแทนอื่นๆ ในตลาดเดียวกัน และใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาช่วยในการเชื่อมโยงผู้ซื้อ-ผู้ขายเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถค้นหาผู้ที่สนใจได้กว้างขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง

อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปี 2568 ภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอแนะนำให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต/การบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันในลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูล นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง มีการใช้ Data เป็นตัวช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องติดตามข่าวสารและแนวโน้มการประกอบธุรกิจทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและสามารถปรับตัวได้ทัน จะช่วยให้สามารถรับมือและนำพาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและธุรกิจมีความมั่นคง”


กำลังโหลดความคิดเห็น