xs
xsm
sm
md
lg

‘ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ มาแรง แนะผู้ประกอบการไทยวิ่งตามให้ทัน ชู Thai Style มัดใจ ชิงพื้นที่แข่งขันเวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชู ‘ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องรีบคว้าให้ทันตามเทรนด์โลก แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเงินทุน ความเชี่ยวชาญของนักออกแบบและค่าตัวที่สูง และตลาดที่ยังไม่กว้างมาก ในขณะที่เทคโนโลยีไม่รอช้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด รอนักออกแบบคอนเทนต์ของไทยมาบุกตลาด ชูภาพลักษณ์ Thai Style ครองใจชาวโลก ทั้งนี้ กลุ่ม e-Book สามารถทำรายได้และกำไรได้ดีที่สุด ขณะที่กลุ่มคาแร็กเตอร์น่าจับตามองมีนักออกแบบไทยกำลังโดดเด่น และสามารถต่อยอดมูลค่าสู่ตลาดการผลิตสินค้าคาแร็กเตอร์ได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าจับตามองและชี้ช่องโอกาสทั้งตลาดในประเทศไทยและโลกเพื่อให้นักธุรกิจไทยสามารถนำช่องว่างไปต่อยอดทางธุรกิจไทยได้ โดยในครั้งนี้พบว่า ‘ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ กำลังเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อตลาดโลก เพราะได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งยุคดิจิทัลที่รอบตัวเราเต็มไปด้วยเครื่องมือสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น Smart Phone, Smart TV, แท็บเล็ต หรือสื่อโฆษณาดิจิทัลก็ดี จะต้องได้รับการผลิตข้อมูลที่จะใส่ไปในเครื่องมือต่างๆ ที่ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทางจากนักสร้างคอนเทนต์ (Digital Content Creator) นั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเกิดธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ขึ้น

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า “ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทยแม้จะไม่ได้ดูหวือหวาเหมือนในตลาดต่างประเทศเพราะยังมีความท้าทายใน 3 ด้านคือ 1) เงินทุน ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตไปได้โดยเฉพาะการจ้าง Content Creator ที่มีฝีมือดีที่มีค่าตัวที่สูง เครื่องมือที่ใช้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ อย่างอุปกรณ์ Hardware และ Software ที่ถือเป็นต้นทุนสูงทำให้ธุรกิจขนาดเล็กยังเข้าไม่ถึงมากนัก 2) บุคลากร สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจนี้ นักออกแบบคอนเทนต์ของไทยถือว่ามีความสามารถที่ดีแต่ยังขาดตลาดในประเทศที่ช่วยพัฒนาทักษะให้เติบโตขึ้น ทำให้นักออกแบบต้องออกไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีเวทีที่กว้างพอให้นักออกแบบกลุ่มนี้ได้มีโอกาสแสดงความสามารถและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ และสุดท้าย 3) ตลาด ส่วนใหญ่แล้วตลาดในประเทศไทยจะเป็นการส่งออกคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศมากกว่าการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีพื้นที่อีกมากที่รอนักลงทุนไทยมาครองตลาดในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับภาครัฐได้เห็นความสำคัญของธุรกิจนี้ หลายหน่วยงานได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยการจัดงานแสดงศักยภาพต่างๆ พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีในการผลิต การออกมาตรการช่วยเหลือที่สอดรับกับความต้องการของธุรกิจโดยตรง รวมถึงการส่งเสริม Thai Style ที่จะเป็นจุดแข็งสร้างความแตกต่างบนตลาดโลก สะท้อนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างแดน

จากข้อมูลนิติบุคคลในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 1,071 ราย ทุนจดทะเบียน 4,806 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทดังนี้ แอนิเมชัน/คาแร็กเตอร์ จำนวน 299 ราย ทุนจดทะเบียน 1,464 ล้านบาท เกม จำนวน 257 ราย ทุนจดทะเบียน 1,217 ล้านบาท และ e-Book จำนวน 515 ราย ทุนจดทะเบียน 2,125 ล้านบาท โดยจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดมากที่สุด จำนวน 993 ราย หรือ 92% ทุนจดทะเบียน 4,211 ล้านบาท รองลงมาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญ จำนวน 74 ราย ทุนจดทะเบียน 61.46 ล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 4 ราย ทุนจดทะเบียน 535 ล้านบาท ส่วนใหญ่จัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ ด้านการลงทุนจากชาวต่างชาติพบว่า มีมูลค่าการลงทุน 834 ล้านบาท แบ่งเป็น แอนิเมชัน/คาแร็กเตอร์ 272 ล้านบาท เกม 422 ล้านบาท และ e-Book 139 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ มาเลเซีย 172 ล้านบาท ญี่ปุ่น 146 ล้านบาท และฮ่องกง 117 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยประเภท e-Book (คิดเป็น 48% ของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งหมด) เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสามารถสร้างรายได้และกำไรได้ดีที่สุดต่อเนื่อง โดยปี 2566 กลุ่ม e-Book มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3,971 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตและบริโภคในประเทศ สร้างรายได้ 3,162 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวของธุรกิจรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่โลกออนไลน์ และการปิดตัวของร้านหนังสือส่งผลให้ผู้คนเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือเป็นเล่มมาเป็นการอ่านผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกต่อการพกพาไปที่ต่างๆ และมีเนื้อหาที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่ายตามความสนใจ นอกจากนี้ กลุ่มคาแร็กเตอร์เป็นที่น่าจับตามองเพราะเริ่มมีนักออกแบบคาแร็กเตอร์ชาวไทยที่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักอย่าง Plaplatootoo ซึ่งได้รับไอเดียมาจากปลาทูแม่กลอง และบางรายยังสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศและยังเชื่อมโยงกับธุรกิจ Art Toy ที่กำลังเป็นกระแสนิยม กลุ่มคาแร็กเตอร์ยังสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้า merchandise ประเภทต่างๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การสร้างคาแร็กเตอร์ของ Butter Bear หรือหมีเนยที่เป็นจุดเริ่มต้นจากร้านขนมที่สื่อสารผ่านมาสคอตคาแร็กเตอร์หมี จนเป็นที่โด่งดังและมีสินค้าที่เป็นตัวแทนของ Butter Bear ออกสู่ตลาดตามมา

จากความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้นยังมีโอกาสให้นักลงทุนไทยได้คว้าไว้ เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์จะก่อให้เกิดความคึกคักและสถาบันทางการเงินจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้นจากเดิมที่ยังไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก ดังนั้น นักธุรกิจและผู้ที่อยู่ในสายงานออกแบบนี้จะต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้ทันต่อการเติบโตของธุรกิจ เมื่อเกิดการแข่งขันกันมากขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตในหลายด้านลดลง ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กที่จะมีโอกาสมากขึ้น” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น