xs
xsm
sm
md
lg

จับตาการมา “กาแฟภูซาง” ทุ่ม 20 ล้าน ใช้เวลา 5 ปี ปั้นกาแฟปางขอน “Specialty Coffee” ตอบโจทย์นักดื่มโหยหากาแฟคุณภาพรสชาติดี ดัน Soft Power เวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาแฟพิเศษภูซาง Pusang Specialty Coffee กาแฟจากดอยปางขอน จังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นมาจาก “นายสุวิทย์ ขันธวิทย์” นักธุรกิจที่ชื่นชอบและหลงรักการดื่มกาแฟ โดยยอมลงทุนกว่า 20 ล้าน ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการปลุกปั้นกาแฟปางขอน ให้เป็นกาแฟพิเศษ รองรับความต้องการของนักดื่มปัจจุบันที่โหยหากาแฟคุณภาพ รสชาติที่ดี ที่สำคัญไปกว่านั้น การคาดหวังที่จะได้เห็นกาแฟไทยเป็น Soft Power สร้างชื่อในเวทีระดับโลก


ส้นทางทุ่มกว่า 20 ล้าน ปั้นกาแฟพิเศษภูซางปางขอน

นายสุวิทย์ ขันธวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกาแฟภูซาง จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายกาแฟพิเศษภูซาง เป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า จากพื้นที่ปางขอน จังหวัดเชียงราย เล่าว่า ตนได้เข้ามาในวงการกาแฟ และก่อตั้งบริษัทกาแฟภูซาง มานานกว่า 5 ปี โดยเริ่มต้นจากการพัฒนากระบวนการผลิตและค้นหาเมล็ดกาแฟคุณภาพสายพันธุ์อาราบิก้าที่ดีที่สุด จนได้ออกมาเป็นกาแฟพิเศษภูซาง ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและผ่านการบ่มมานานกว่า 4 ปี เพราะการบ่มที่ดีจะทำให้กาแฟคงสภาพรสชาติที่ดีได้ถึง 5-6 ปี ก่อนนำออกมาจำหน่ายเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


“ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดตัวกาแฟพิเศษภูซาง ผมต้องไปเรียนเกี่ยวกับกระบวนการผลิตสารกาแฟมาจากสถาบันผู้เชี่ยวชาญจนได้ประกาศนียบัตรด้านนี้มามากกว่า 5 สถาบัน โดยผมได้ใช้เวลาไปกว่า 5 ปี และต้องใช้เงินลงทุนไปกว่า 20 ล้านบาท กับการพัฒนากระบวนการผลิต กว่าจะได้สารกาแฟที่ดีที่สุด ออกมาขายให้คอกาแฟที่มองหากาแฟคุณภาพชนิดพิเศษที่ดีที่สุด ที่ปัจจุบันความต้องการของนักดื่มที่ต้องการกาแฟที่มีคุณภาพ และรสชาติที่ดีเพิ่มมากขึ้น”


ทั้งนี้ ผมเริ่มจากการได้ส่งกาแฟภูซางปางขอนไปประเมินความเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) โดยวิธีเปียก (Washed) เพื่อสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีที่สุด ซึ่งผลการประเมินคุณภาพกาแฟปางขอน จากสถาบันกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย Specialty Coffee Institution of Thailand (SCITH) และสถาบันคุณภาพกาแฟของสหรัฐฯ Coffee Quality Institution (CQI) ได้รับคะแนนประเมิน 81.25 และ 82.67 ตามลำดับ ซึ่งสารกาแฟที่ได้รับการประเมินและได้รับคะแนนเกิน 80 จะสามารถจัดเป็นกาแฟพิเศษได้ (Specialty Coffee)


ทำไมต้องสายพันธุ์กาแฟปางขอน เชียงราย

นายสุวิทย์ เจ้าของกาแฟภูซาง เล่าว่า ก่อนที่เราจะเลือกกาแฟสายพันธุ์ปางขอนมาใช้สำหรับการผลิตกาแฟภูซางนั้น ผมได้ซื้อกาแฟจากแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าบนดอยถึง 14 แหล่ง เรียกว่าแทบทุกแหล่งบนดอยที่ผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า เราได้ทดลองนำมาผลิตหมดแล้ว และพบว่าดอยปางขอน เป็นดินแดนที่ผลิตกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์พระราชทานที่ดีที่สุด เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาผลิตเป็นกาแฟพิเศษปางขอน (Pangkhon Specialty Coffee) รองรับความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาดื่มกาแฟคุณภาพ รสชาติดี เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กว่าจะได้กาแฟภูซางออกมาจำหน่าย ครั้งนี้ ผมได้ทำการศึกษามาจนพบว่า กาแฟที่ดีควรจะต้องปลูกในพื้นที่สูงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตร แต่ไม่เกิน 2,000 เมตรเนื่องจากความสูงในระดับดังกล่าวมีอากาศที่เหมาะสมต่อการให้ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าที่มีคุณภาพและรสชาติที่ดี โดยพื้นที่ดอยปางขอนที่เราเลือกมาชาวเขาปลูกกาแฟเชอรี่ ที่ความสูง 1,300-1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล


เคล็ดลับกระบวนการผลิตสารกาแฟ
จนได้ออกมาเป็นกาแฟพิเศษภูซาง

หลังจากที่ได้กาแฟที่ผ่านการคัดเลือกมาจากหลายๆ แหล่งผลิตแล้ว สิ่งสำคัญที่ช่วยให้สารกาแฟคุณภาพ คือ กระบวนการผลิต ซึ่งผู้ผลิตสารกาแฟหลายแห่งยังไม่มีใครทำในแบบเดียวกับเรา วันนี้ มาเปิดเผยให้กับทุกคนได้ทราบกันว่า กระบวนการผลิต จนกว่าจะได้กาแฟพิเศษภูซางมานั้นต้องผ่านวิธีการผลิตอย่างไร

โดยเริ่มต้นจากการนำเชอร์รี่กาแฟปางขอนมาผ่านกระบวนการผลิต โดยเรามีโรงงานผลิตกาแฟภูซาง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ต.ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา อยู่ห่างจากดอยปางขอน เชียงราย ประมาณ 100 กม. โรงงานของเราประกอบด้วยอาคารโรงคั่ว สำนักงาน โรงบ่ม โรงตาก โรงผลิต มากกว่า 20 อาคาร มีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และผ่านการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด


เริ่มต้นจากกระบวนการที่ 1 สีเปลือก โดยนำกาแฟเชอร์รี่มาสีเปลือกทันทีที่มาถึงโรงงาน เพราะถ้าค้างคืน รสชาติกาแฟจะเปลี่ยนไป กระบวนการที่ 2 หลังจากนั้นแช่เมล็ดกาแฟที่สีเปลือกออกแล้วในถังหมัก ไว้ 1 คืน โดยน้ำที่ใช้หมักเมล็ดกาแฟ จะต้องมีค่า PH7 เท่านั้น (คุณภาพเท่ากับน้ำดื่ม) เพื่อไม่ให้มีกรด (โดยใช้น้ำบาดาลจากบ่อลึก 80 เมตร ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าน้ำมีค่า PH7) เพราะถ้ามีกรดในน้ำที่หมักกาแฟจะทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไป

กระบวนการที่ 3 นำเมล็ดกาแฟที่ได้มาผ่านกระบวนการสีเมือกเมล็ดกาแฟในวันรุ่งขึ้น และตากในโรงตาก Solar House ประมาณ 7-8 วัน เพื่อให้มีความชื้นของกะลากาแฟน้อยกว่า 12.5 เหตุที่ตากในโรง Solar House จำนวน 5 โรง เพื่อควบคุมคุณภาพการตากไม่ให้กะลากาแฟต้องสัมผัสกับความชื้น หรือน้ำจากหมอก น้ำค้าง หรือฝน อันจะทำให้รสกาแฟเปลี่ยนไป


โรงบ่มกาแฟสร้างจากโรงเรือนไม้สักมูลค่านับสิบล้าน
คาดหวังให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

สำหรับ กระบวนการที่ 4 การบ่มกาแฟในโรงบ่มจำนวน 6 โรง ที่มีมาตรฐาน อย่างน้อยประมาณ 1 ปี เนื่องจากเมล็ดกาแฟที่เป็นกะลาหลังการขัดเมือกออกแล้วตากให้แห้งในช่วง 1 ปีแรก จะมี Acidity สูง ทำให้รสกาแฟอาจเปรี้ยว ไม่กลมกล่อม เคล็ดลับโรงบ่มที่มีมาตรฐานคือ มีการควบคุมอุณหภูมิในห้องไม่ให้ร้อนเกินไป มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดเข้ามาฆ่าเชื้อในห้องได้บางส่วน อยู่ห่างจากพื้นดิน 2.5 เมตร เพื่อไม่ให้ไอดินหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ทำให้รสกาแฟเปลี่ยนไป การบ่มที่ดีจะทำให้กาแฟคงสภาพรสชาติที่ดีได้ถึง 5-6 ปี

และความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการบ่มสารกาแฟของเรา คือ การทำโรงบ่มทั้ง 6 หลัง จากไม้สัก ประเมินมูลค่านับสิบล้าน ที่เลือกทำโรงบ่มจากไม้สัก เพราะเรามีไม้สักของเราเองที่ปลูกไว้ และเมื่อตัดไม้สักมานำมาเก็บไว้ในรูปแบบของโรงบ่มกาแฟ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า “โรงบ่มกาแฟไม้สัก” ของเราจะกลายเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ให้ลูกหลานในอนาคตได้ชม


นายสุวิทย์ เล่าว่า ในปี 2563 โรงงานกาแฟภูซาง ได้เริ่มต้นซื้อเชอร์รี่กาแฟดอยปางขอน จากชาวเขาเผ่าอาข่า และเย้า มาเพื่อเริ่มการผลิต บ่ม และเก็บรักษากะลากาแฟในโรงบ่มและเก็บมาตรฐาน ให้เป็นสารกาแฟพิเศษปางขอนขั้นตอนที่สำคัญก่อนบรรจุถุงเป็นกาแฟคั่วขาย คือโรงคั่วกาแฟ ภูซาง ต้องมีมาตรฐาน ความสะอาด สวยงาม โดยโรงคั่วกาแฟภูซาง ได้รับมาตรฐาน การผลิต อ.ย. เลขที่ 56-2-01163-6-0001 เมื่อปี พ.ศ.2563


“ภูซาง” เตรียมเปิดตัวกาแฟสายพันธุ์เกอิชา
ทั่วโลกยกให้เป็นสายพันธุ์ดีที่สุดในขณะนี้

สำหรับในปีนี้ (2567) โรงงานกาแฟภูซาง ได้เริ่มซื้อเชอร์รี่กาแฟพันธุ์เกอิชา จากจังหวัดน่าน ซึ่งปลูกบนดอยพื้นที่มีความสูง 1,300-1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อนำมาผลิตเป็นสารกาแฟ เมื่อผ่านขั้นตอนการผลิต และการบ่มของกะลากาแฟพันธุ์เกอิชาเกิน 6 เดือน โรงงานกาแฟภูซาง จะนำสารกาแฟพันธุ์เกอิชา ไปประเมินที่ 2 สถาบันกาแฟข้างต้น โดยคาดว่าน่าจะได้เป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) มีคะแนนประเมินประมาณ 85 หรือมากกว่าโดยกาแฟคั่วและสารกาแฟพันธุ์เกอิชาจากโรงงานกาแฟภูซาง น่าจะเริ่มวางขายได้ตั้งแต่ปลายปี 2568

ทั้งนี้ กาแฟสายพันธุ์เกอิชา เป็นกาแฟที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า เป็นสายพันธุ์กาแฟที่ดีที่สุด โดยแหล่งปลูกเกอิชาที่มีราคาแพงที่สุดจากปานามา ขายกันถึงกิโลกรัมละ 10,000-50,000 บาท และบางที่สามารถทำราคาได้ถึงกิโลกรัมละหลักแสนบาท ส่วนแหล่งปลูกที่ประเทศเอธิโอเปีย ขายกันที่กิโลกรัมละ 6,000-8,000 บาท ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันมีการปลูกสายพันธุ์นี้ เพิ่มมากขึ้น ขายกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 5,000-7,000 บาท แต่ของเราจะขายในราคาที่ถูกกว่านั้นเยอะ ถ้าใครสนใจสามารถติดต่อเข้ามาสอบถามราคาได้ตามช่องทางติดต่อด้านล่าง ที่ผ่านมา ได้แจกกล้าพันธุ์เกอิชาไปให้ชาวเขาดอยปางขอน เพื่อนำไปปลูกหลักหลายพันต้น การปลูกกาแฟจะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ถึงจะเก็บผลผลิตได้


คาดหวังกาแฟไทยเป็น Soft Power เวทีระดับโลก

ท้ายสุด สุวิทย์ พูดถึงการเข้ามาทำกาแฟ ของตนเองว่า การทำงานตรงนี้ต้องการที่ทำอะไรเพื่อประเทศชาติ เพราะส่วนตัว อายุเยอะแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำตรงนี้ก็สามารถอยู่ได้กับทรัพย์สินที่เรามี แต่เรานำเงินกว่า 20 ล้านมาลงทุน 5 ปี ไม่ได้อะไรเลย เพื่อให้ประเทศไทยมีกาแฟคุณภาพพิเศษ ไปอวดชาวโลก และเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทย ซึ่งกาแฟปางขอน เป็นเสมือนเพชรของกาแฟพันธุ์ดีจากแหล่งปลูกที่ดี มีวัฒนธรรมชาวเขาอาข่า และเย้า ที่งดงาม มีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นเลิศ ในขณะที่โรงงานกาแฟภูซางเป็นเสมือนช่างที่นำเพชรล้ำค่าจากดอยปางขอนมาเจียระไนให้มีคุณค่า เป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) กาแฟไทยเป็น Soft Power ที่สามารถทำชื่อเสียงในเวทีโลกได้

สำหรับคนที่สนใจกาแฟพิเศษภูซาง เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเปิดตัว ได้จัดโปรโมชันขายราคาพิเศษ เพียงกิโลกรัมละ 600 บาท เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยสามารถสั่งชื่อได้ตามช่องทาง Shopee และ Lazada : Pusang Coffee ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก https://pusangcoffee.com/th/ และ Youtube :PUSANG (Pangkhon Specialty Coffee) TH และ EN

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *




กำลังโหลดความคิดเห็น