xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนี SMESI ต.ค.67 ฟื้นตัวแตะระดับ 52.2 กลับสู่ระดับความเชื่อมั่นในรอบ 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนี SMESI ต.ค.67 ฟื้นตัวแตะระดับ 52.2 กลับสู่ระดับความเชื่อมั่นในรอบ 3 เดือน ด้วยแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก และการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาคเติบโตอย่างชัดเจน SME คาดการณ์กำลังซื้อจะพุ่งสู่งขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังขอให้ภาครัฐช่วยดูแลต้นทุนและเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

น ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการ ผอ.สสว. เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ว่า ดัชนี SMESI ประจำเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 52.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.6 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนและกลับสู่ระดับความเชื่อมั่นอีกครั้ง หลังจากชะลอลงต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นต่อเนื่อง 3 เดือน 
ทั้งนี้ มาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรก ที่มีผลตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลดีกับกลุ่มธุรกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินทรัพย์คงทน เช่น รถจักรยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น บางกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หลายพื้นที่ยังได้รับผลบวกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงงานเทศกาลบุญและประเพณีประจำปี ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี 
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ ต้นทุน (ต่อหน่วย) กำไร และการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 59.3, 56.2, 41.5, 55.5 และ 50.4 จากระดับ 54.9, 52.7, 39.4, 49.8 และ 49.9 ในขณะที่องค์ประกอบด้านการลงทุนโดยรวม ปรับตัวจากระดับ 51.1 ของเดือนก่อนหน้า ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 แสดงให้เห็นถึงความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงยังไม่เชื่อมั่นในการลงทุนมากนักแม้เริ่มมีสัญญาณบวกในองค์ประกอบอื่นๆ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายสาขาธุรกิจ ประจำเดือนตุลาคม 2567 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ภาพรวมทุกภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.7 ซึ่งในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าคงทนเป็นสำคัญ ทั้งสินค้าในกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์

รวมถึงกลุ่มการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความงาม ผลจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.1 ปรับตัวดีขึ้นมาจากระดับ 49.7 สาเหตุจากกลุ่มการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผู้บริโภคเร่งการจับจ่ายใช้สอยปริมาณมากในครั้งเดียวเพิ่มขึ้นชัดเจน สะท้อนการกักตุนสินค้าของกลุ่มผู้ได้รับมาตรการกระตุ้น รวมถึงบางส่วนยังมีการรวมเงินกันเพื่อซื้อสินค้าคงทนในกลุ่มจักรยานยนต์ ทั้งมือ 1 และมือ 2 ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 51.7 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 48.5 เป็นผลจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ ส่งผลดีต่อเนื่องในกลุ่มบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผ่อนคลาย สันทนาการ รวมถึงกลุ่มบริการนวดและสปา ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 54.9 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.3 โดยภาคธุรกิจการเกษตรปรับตัวดีขึ้น จากช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในหลายพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคเหนือยังเผชิญกับผลผลิตที่เสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้านี้

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค พบว่า ทุกภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น และกลับเข้าสู่ระดับความเชื่อมั่นจากแรงหนุนของมาตรการรัฐ และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.7 ภาคเศรษฐกิจขยายตัวชัดเจน จากแรงหนุนของการแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้เกิดการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่อครั้งในปริมาณมากจากกลุ่มร้านค้าส่ง รวมถึงการขยายตัวในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องประดับ และสินค้าและบริการเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ
 
ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 50.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.1 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นและกลับเข้าสู่ระดับความเชื่อมั่นอีกครั้ง จากการขยายตัวของกำลังซื้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ทั้งจากมาตรการกระตุ้นของรัฐ และจากกำลังซื้อของภาคธุรกิจการเกษตรในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ยังเห็นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลบุญกฐิน
 
ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 51.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 48.5 ของเดือนก่อนหน้า เศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของอุทกภัยที่ยาวนานกว่า 2 เดือน ด้วยแรงหนุนของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวได้ ในขณะที่ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้รับผลดีจากการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหาย จากมาตรการเยียวยาผลกระทบของอุทกภัยในขณะที่สินค้าเกษตรในหลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาผลผลิตเสียหาย
 
ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 51.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 48.2 ของเดือนก่อนหน้า โดยภาคธุรกิจในพื้นที่เริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้งจากแรงหนุนของกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเป็นสำคัญ เนื่องจากประเทศต้นทางเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ในขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของคนในพื้นที่ได้แรงผลักดันบางส่วนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเห็นการรวมเงินก้อนเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่และมือสองเพิ่มขึ้นชัดเจน
 
ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 53.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.5 มีสาเหตุมาจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงในช่วงต้นเดือนยังได้รับแรงหนุนจากเทศกาลสารทเดือนสิบ ที่กระตุ้นให้ผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการรัฐมาจับจ่ายใช้สอย

เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.2 โดยภาคธุรกิจขยายตัวเล็กน้อย จากมาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลดีกับร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น กิจกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่ยังมาจากรูปแบบการใช้บริการระยะสั้นเพื่อรอเดินทางสู่สถานที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นเป็นหลัก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 54.5 ปรับตัวดีขึ้น ตามความคาดหวังการพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องของกำลังซื้อจากปัจจัยชั่วคราว เช่น การกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ และแรงส่งของช่วง High season โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ยังคงไม่แสดงแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แล้วก็ตาม อาจเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ในด้านการให้ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการอย่างเร่งด่วน คือต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง และหามาตรการป้องกันในระยะยาว รวมไปถึงด้านการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น โครงการเงินดิจิทัลควรมีการเร่งดำเนินการพิจารณากลุ่มผู้มีสิทธิได้รับเงินกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม หรือมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายช่วงเทศกาลส่งท้ายปี นอกจากนี้ การส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดหรือการต่อสู้กับคู่แข่งในระดับสากล เช่น การส่งเสริมทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาหรือการเพิ่มทักษะแรงงาน การส่งเสริมการเปิดตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ ซึ่ง สสว. มีบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SME จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผ่าน https://coach.sme.go.th/ หรือ Application ‘SME Connext’ ที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ

 หรือสามารถสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร.1301


กำลังโหลดความคิดเห็น