xs
xsm
sm
md
lg

ซีพี ออลล์-เซเว่นฯ สร้าง “ผู้ประกอบการจิ๋ว” ยกระดับโรงเรียน CONNEXT ED พัฒนาทักษะวิชาการควบคู่วิชาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้าพลิกโฉมโรงเรียน CONNEXT ED เฟสที่ 6 ผ่านโมเดล “ผู้ประกอบการจิ๋ว” ต่อเนื่อง ดึงผู้บริหาร-ครู-นักเรียน 6 โรงเรียนเจ้าของผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่นจาก 6 ภูมิภาค ผ้ามัดย้อมดาวเรือง-กระเป๋าจากกระจูด-ไซรัปอ้อย-กรอบรูปถมทอง-ยาดมสมุนไพรไม้หอม-ข้าวพื้นเมือง ร่วมเวิร์กชอปพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสต่อยอดสินค้า บูรณาการหลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาการควบคู่วิชาชีพ หวังสร้างต้นแบบก่อนขยายผลสู่โรงเรียน CONNEXT ED ทั่วประเทศ ด้านโรงเรียน-นักเรียนปลื้ม เพิ่มรายได้กลับสู่โรงเรียน-ครอบครัว-ชุมชน สร้างแรงบันดาลใจประกอบอาชีพของเยาวชนในอนาคต

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า การสร้างคนผ่านการศึกษาถือเป็นหนึ่งในกรอบกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่บริษัทยังคงมุ่งหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) เฟสที่ 6 จัดงานสัมมนา “โครงการปั้นผู้ประกอบการจิ๋ว 6 ภูมิภาค” คัดเลือกโรงเรียนนำร่องจากแต่ละภูมิภาค ที่สามารถบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างโดดเด่น และนำผู้บริหาร ครู นักเรียนจากโรงเรียนแต่ละแห่ง มาร่วมพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพิ่มเติม เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้โรงเรียนและชุมชนใกล้เคียงเกิดความยั่งยืน

“ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิชาการและวิชาชีพควบคู่กัน เรามองว่าทักษะการเป็นผู้ประกอบการ คือรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่วิชาชีพ และเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะช่วยให้เยาวชน ชุมชน โรงเรียนสามารถปรับตัวได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ประยุกต์โอกาส นำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่รอบตัวในชุมชนมาสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เราคาดหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้กลุ่มโรงเรียนนำร่องประสบความสำเร็จในการสร้างเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการจิ๋ว เกิดสินค้าที่สร้างรายได้คืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และกลายเป็นต้นแบบสู่การขยายผลไปยังโรงเรียน CONNEXT ED ที่เราดูแลอยู่กว่า 610 โรงเรียน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว


สำหรับโรงเรียนนำร่องจาก 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1.โรงเรียนวังไพรวิทยาคม ตัวแทนภาคตะวันออก เจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากดอกดาวเรือง 2.โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) ตัวแทนภาคใต้ เจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากกระจูด 3.โรงเรียนโคกงามวิทยาคาร ตัวแทนภาคตะวันตก เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลอ้อยก้อนและไซรัปอ้อย 4.โรงเรียนอนุบาลบ้านท่าพระยาจักร ตัวแทนภาคกลาง เจ้าของผลิตภัณฑ์กรอบรูปถมทอง 5.โรงเรียนบ้านสันป่าสัก ตัวแทนภาคเหนือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ยาดมสมุนไพรไม้หอม และ 6.โรงเรียนบ้านหนองคันนา ตัวแทนภาคอีสาน เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวพื้นเมือง

นางวรรณวนา พิทักษ์สงคราม ผู้อำนวยการโรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว ผู้บริหารโรงเรียนนำร่องโมเดลผู้ประกอบการจิ๋ว เจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากดอกดาวเรือง กล่าวว่า ชุมชนใกล้เคียงโรงเรียนปลูกดอกดาวเรืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับการสนับสนุนจากซีพี ออลล์ภายใต้ CONNEXT ED เฟสแรกๆ จึงได้ทยอยบูรณาการทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปลูกดอกดาวเรืองไปจนถึงทักษะการทำผลิตภัณฑ์จากสีดอกดาวเรืองอย่างผ้ามัดย้อม เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เช่น การเลือกดินเพาะปลูกดาวเรือง วิธีการปลูก การแปรรูป เวชสำอาง การตลาด บัญชี พร้อมทั้งนำความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนครูในโรงเรียนที่จบด้านวิทยาศาสตร์อาหาร และด้านศิลปะ มาถ่ายทอดให้นักเรียน จนเด็กนักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีดอกดาวเรืองและใบไม้ในท้องถิ่น ฝีมือเยาวชนและคนในชุมชน


“เราเริ่มขายมาได้ราว 2 ปี มีสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ ชุดสูท ชุดแซค ลูกค้าหลักในปัจจุบันเป็นคุณครู แพทย์ พยาบาล มียอดสั่งซื้อสูงในช่วงงานเกษียณ งานปีใหม่ สร้างรายได้กลับสู่นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน การบูรณาการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะวิชาชีพควบคู่ไปกับทักษะวิชาการ ช่วยให้เด็กๆ หลายคนที่มีฐานะไม่ดี มีองค์ความรู้ไปต่อยอดอาชีพของที่บ้าน รวมถึงมาทำงานด้านดาวเรืองเป็นอาชีพเสริมได้ ยิ่งในวันนี้โรงเรียนได้รับเลือกเป็นโรงเรียนนำร่อง มาร่วมสัมมนาปั้นผู้ประกอบการจิ๋ว เชื่อว่าจะช่วยให้โรงเรียน เยาวชน ชุมชนสามารถพัฒนาและขายผ้ามัดย้อมจากสีดอกดาวเรืองได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น” นางวรรณวนา กล่าว

น.ส.กัญญารัตน์ โหมดตาด หรือโฟร์ท นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว กล่าวว่า ได้เข้าร่วมพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปลูกดอกดาวเรืองตั้งแต่ชั้น ม.1 ได้เรียนรู้ทั้งวิธีการปลูก วิธีการคัดเลือกพันธุ์ ทักษะวิชาชีพที่สามารถไปต่อยอดวิชาชีพอื่นได้ โดยตัวเธอเองมีความฝันอยากประกอบธุรกิจของตัวเอง โดยสนใจงานด้านแฟชั่นเสื้อผ้า ซึ่งต่อยอดจากการผลิตผ้ามัดย้อมในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน อยากให้โมเดลผู้ประกอบการจิ๋วเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ต่อยอดไปถึงน้องๆ รุ่นต่อไป เนื่องจากผู้ปกครองเองก็ชอบกิจกรรมนี้ เพราะเกิดรายได้เสริม ลดภาระผู้ปกครอง เด็กๆ เองได้รับความรู้ สนุกสนาน เกิดการสานสัมพันธ์ในโรงเรียน


นายอับดุลเลาะ อูเซ็ง คุณครูโรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง คุณครูโรงเรียนนำร่องโมเดลผู้ประกอบการจิ๋ว เจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากกระจูด กล่าวว่า การสานกระจูดถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หลายครอบครัวให้ความสำคัญกับการสานกระจูดควบคู่ไปกับการทำประมง โรงเรียนจึงได้ร่วมกับซีพี ออลล์ ภายใต้ CONNEXT ED เฟสแรกๆ บูรณาการการสานกระจูดและเส้นกกเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน จนได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบ (School Model) มีผลิตภัณฑ์หลักคือหูหิ้วถ้วยกาแฟจากเส้นกก ที่นำไปใช้ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นหลายสาขาในพัทลุง และกระเป๋ากระจูดสานมือ วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการผู้ประกอบการจิ๋ว จึงมีความมุ่งหวังจะได้รับความรู้ด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ด้านการตลาด เพื่อให้สามารถสร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน นักเรียน ชุมชน พร้อมทั้งพาผลิตภัณฑ์กระจูดให้เป็นที่รู้จักทั้งระดับในประเทศและนานาประเทศ

นายอัศม์เดช รักษ์จันทร์ หรือช้ะชิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง กล่าวว่า จากการสนับสนุนล่าสุดของซีพี ออลล์ จึงทำให้มีห้องไลฟ์สดในโรงเรียน และได้มีส่วนร่วมเป็นคนขายกระเป๋ากระจูดผ่านไลฟ์ รวมถึงการสานกระเป๋ากระจูดทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน ทั้งในรายวิชา เช่น วิชาแปรรูปกระจูด วิชาแปรรูปเส้นกก ความฝันในอนาคต อยากเป็นคุณครูสอนวิชาศิลปะ เนื่องจากชื่นชอบในการเพนต์กระเป๋ากระจูด ขณะเดียวกัน อาจประกอบอาชีพเสริมด้วยการเพนต์กระเป๋ากระจูดลายภาพเหมือน เป็นภาพบุคคลให้เจ้าของกระเป๋าได้สะพาย


สำหรับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 55 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “Giving and sharing” วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 6 เฟส จำนวนกว่า 610 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด




กำลังโหลดความคิดเห็น