xs
xsm
sm
md
lg

‘นภินทร’ เดินหน้าสะสางปัญหาสินค้าต่างประเทศไร้คุณภาพ ประกาศแผน 3 ระยะ พร้อมเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุบชีวิต SMEs ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพาณิชย์เผยแผน 3 ระยะ สั้น กลาง ยาว หยุดปัญหาสินค้าไร้คุณภาพไหลเข้าประเทศ โดยแบ่งประเภทสินค้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม และกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1) บังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มข้น ตรวจคุณภาพสินค้านำเข้าโดยละเอียด 2) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศเข้าระบบ 3) ผลักดันให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องจด VAT 4) ช่วยเหลือ SMEs ไทย จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้ผู้ประกอบการไทยมีตลาดใหม่ๆ ขายสินค้า และ 5) สร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ผลักดันสินค้าไทยให้ออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศผ่านความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างชาติ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งที่ 2 ร่วมกับ 20 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อสรุปแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าต่างประเทศไร้คุณภาพและการส่งเสริมยกระดับ SME ไทย โดยมีแนวทางดำเนินการดังนี้

1) บังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการตรวจสินค้า ณ ด่านศุลกากร ด้วยการเพิ่มความถี่ในการเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน การเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบเว็บไซต์และสินค้าที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นไปตามกฎหมายไทย การเพิ่มจำนวนตัวอย่างการเก็บสินค้าสำหรับตรวจสอบสารพิษตกค้างให้มากขึ้น พร้อมทั้งจัดกลุ่มสินค้าเกษตรตามความเสี่ยงของการพบสารพิษตกค้างมาตรวจสอบ ในห้องปฏิบัติการ ให้ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง 2) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมีสำนักงานในไทยเพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้

3) ผลักดันให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องจด VAT โดยการปรับปรุงประมวลรัษฎากรกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร

4) ช่วยเหลือ SMEs ไทย ผ่านการให้ความรู้และการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบธุรกิจ การจัดมหกรรมส่งเสริมธุรกิจ การส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ผู้ประกอบการไทย และจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์เพื่อยกระดับธุรกิจไทยให้มีความพร้อมและเข้าใจตลาดมากขึ้น 5) สร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือด้วยแพลตฟอร์ม e-Commerce กับต่างชาติ การส่งเสริมนวัตกรรมสู่ตลาดต่างประเทศผ่านการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานระดับประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงผลักดันสินค้าไทยให้สามารถจำหน่ายบนแพลตฟอร์มต่างชาติ


นอกจากนี้ ภายใต้คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้เตรียมการยกระดับการช่วยเหลือผู้บริโภคของไทยเพื่อสกัดกั้นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ โดยจัดทำ MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับแพลตฟอร์ม e-Commerce โดยหน่วยงานดำเนินมาตรการแจ้งเตือนไปยังแพลตฟอร์มเกี่ยวกับปัญหาการจำหน่ายหรือโฆษณาสินค้าไม่ได้คุณภาพ/ผิดกฎหมาย การติดฉลากสินค้าและคู่มือการใช้งานภาษาไทย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มออนไลน์นำสินค้าดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม โดยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสาน ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้ MOU ดังกล่าวให้เห็นผลที่ชัดเจน

“สำหรับมาตรการที่กล่าวไปข้างต้นจะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับคุ้มครองผู้บริโภคชาวไทยไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันจะ ผลักดันให้สินค้าไทยมีมาตรฐานสากล ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากคนไทยและชาวต่างชาติ นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP เป็น 40% ในปี 2570 อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คณะอนุกรรมการจะทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดและจะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะต่อไป” นายนภินทร กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น