กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย ร่วมสร้างเครือข่ายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีทางเลือกบริการสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม หวังให้สถานบริการไทยมีมาตรฐานการบริการอย่างมืออาชีพ สร้างความไว้วางใจแก่ผู้สูงอายุและบุตรหลานที่จะเข้าใช้บริการ พร้อมดึงดูดผู้สูงอายุทั่วโลกเลือกไทยเป็นที่พักพิงช่วงบั้นปลายอย่างมีความสุข มั่นใจ!! ธุรกิจบริการไทยมีศักยภาพและมีมาตรฐานระดับสากลไม่แพ้ชาติใดในโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ให้ความสำคัญต่อการยกระดับธุรกิจบริการไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล พร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งรายได้หลักในการนำเงินตราเข้าประเทศ ทั้งในส่วนของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจและชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งส่งเสริมธุรกิจบริการของไทยให้มีความเข้มแข็ง ได้มาตรฐาน และผนึกกำลังกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อกำหนดทิศทางส่งเสริมการตลาดและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมทั้ง ผลักดันให้ธุรกิจบริการไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ล่าสุด วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ได้มอบหมายให้หม่อมหลวงภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ ‘Empower Future Senior Healthcare Business Thailand 2024’ ณ หอประชุมใหญ่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แจ้งวัฒนะ จัดโดยสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย เพื่อส่งเสริมสถานประกอบการบริการสุขภาพผู้สูงอายุให้ดำเนินกิจการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ในประเด็นที่สำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมทั่วประเทศ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร มาตรฐานการดูแลให้บริการ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งการบริหารจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพ การบริหารจัดการทางการเงินและบัญชี
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการช่วยสนับสนุนนำผู้ประกอบการ Health & Wellness เข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจ เพื่อขยายการลงทุนในพื้นที่ EEC และได้ร่วมงานเสวนา ‘Shaping the Future of Wellness Investment in EEC’ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาศักยภาพธุรกิจบริการของไทยให้ก้าวทันมาตรฐานการบริการเทียบเท่าสากล มีภาพลักษณ์ที่ดี อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการได้มากขึ้น และสามารถแข่งขันกับธุรกิจบริการประเภทเดียวกันกับประเทศต่างๆ รองรับการเปิดเสรีภาคบริการในอนาคต
นอกจากนี้ กรมยังได้ร่วมเป็นองค์กรภาคีจัดการเรียนหลักสูตร ‘Wellness and Healthcare Business Opportunity Program for Executives : หลักสูตรโอกาสธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง’ รุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นำโดยบริษัทไทยพัฒนาสุขภาพ จำกัด ที่ต้องการพัฒนาผู้นำด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ บริการสุขภาพและความงามอย่างเข้มข้น เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากขึ้น กิจกรรมดังกล่าว กรมได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาปรับปรุงหลักสูตรและเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ด้านพัฒนาธุรกิจการค้าอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้ระเบียบการค้าโลกใหม่
ปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทยซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีความโดดเด่นติดอันดับมีผู้ใช้บริการสูงเป็นลำดับต้นๆ ของไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เฉพาะประเทศไทย ปี 2567 มีประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวนมากกว่า 13.2 ล้านคน หรือ 20.36% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66.05 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
‘ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ’ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของคลังข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า DBD DataWarehouse+ พบว่า ปี 2564 มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจดทะเบียนจัดตั้ง จำนวน 116 ราย ทุนจดทะเบียน 465 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 93 ราย (ลดลง 23 ราย หรือ 20%) ทุน 341 ล้านบาท (ลดลง 124 ล้านบาท หรือ 27%) และ ปี 2566 จัดตั้ง 111 ราย (เพิ่มขึ้น 18 ราย หรือ 19%) ทุน 179 ล้านบาท (ลดลง 162 ล้านบาท หรือ 48%) ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567) มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 761 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 4,246 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องรองรับสังคมผู้สูงอายุที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจที่เร่งผลักดันธุรกิจให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ช่วยสร้างความไว้วางใจในการเข้าใช้บริการแล้ว กรมยังได้ส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุ สุขภาพและความงาม (Wellness) เช่น ธุรกิจสปา นวดเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ บริการความงาม และบริการทางการแพทย์ ในการช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน โดยปี 2568 เตรียมจัดโครงการ DBD Wellness 2025 เพื่อให้ความรู้ด้านการส่งเสริมการตลาดยุคดิจิทัล การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ Wellness รวมถึง สนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการด้านสุขภาพและความงามระดับประเทศ ส่งผลให้ไทยมีโอกาสก้าวสู่การเป็น ‘ฮับ’ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดึงดูดผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขให้เข้ามาใช้บริการในประเทศไทย โดยคาดหวังให้สถานบริการเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองที่สร้างความประทับใจแก่ผู้สูงอายุที่ได้ใช้บริการ ทั้งนี้ มั่นใจว่าเศรษฐกิจภาคบริการของไทยจะเป็นกำลังหลักสำคัญที่สร้างรายได้เข้าประเทศ” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ประกอบการที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-5158 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th