หากมองย้อนกลับไปในยุค 90s ยุคที่เฟื่องฟูของวงการเพลงและเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดศิลปินที่มีพรสวรรค์มากมายจนนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่น่าจดจำของวงการเพลงป็อปไทย อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบันที่โลกของดนตรีเปิดกว้างและไร้พรมแดน มีการเปิดรับแนวเพลงใหม่ๆ เข้ามา ทำให้เกิดการเรียนรู้และนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาแนวเพลงให้มีเอกลักษณ์และมีความน่าสนใจมากขึ้น จนมาถึงในยุคของวงการ Thai Pop หรือ T-Pop ซึ่งเป็นความสำเร็จอีกขั้นของวงการเพลงไทยที่กำลังจะเติบโตและก้าวไปสู่เวทีโลก บทความนี้จะพาย้อนรอยเส้นทางของวงการเพลงไทย จากยุค 90s สู่การพลิกโฉมประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเพลงไทย พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความสำเร็จนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของโครงการ Music Exchange ที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างศิลปินไทยกับโอกาสในเวทีดนตรีระดับนานาชาติ
ยุค 90s กับความสำเร็จที่มีข้อจำกัด
ยุค 90s ถือเป็นยุคทองของวงการเพลงป็อปไทย เป็นช่วงเวลาที่เห็นการปรากฏตัวของศิลปินคุณภาพมากมาย ซึ่งสร้างปรากฏการณ์และความสำเร็จอย่างสูงในประเทศ เช่น ธงไชย แมคอินไตย์ ที่สร้างปรากฏการณ์เพลงครองใจผู้ฟังทั่วประเทศ หรือทาทา ยัง ที่ได้รับฉายา "สาวน้อยมหัศจรรย์" จากความสามารถในการทำยอดขายอัลบั้มถึงหลักล้านชุดภายในเวลาเพียง 5 เดือน แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศ แต่การเติบโตสู่ระดับนานาชาติในยุคนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาดการผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง การขาดความร่วมมือในการส่งศิลปินไทยที่มีศักยภาพไปแสดงดนตรีในเวทีระดับนานาชาติ การสนับสนุนจากภาครัฐที่มีจำกัด รวมถึงการที่ค่ายเพลงส่วนใหญ่มุ่งเน้นการปั้นศิลปินเพื่อตลาดในประเทศเป็นหลัก
ยุค T-Pop การเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่
ปัจจุบัน วงการเพลงไทยได้เข้าสู่ยุค T-Pop ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ การสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐที่เห็นความสำคัญและโอกาสของอุตสาหกรรมดนตรีไทย จึงได้ริเริ่มโครงการและนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมวงการเพลงไทยสู่ตลาดโลก และการเปิดกว้างของเวทีระดับนานาชาติสำหรับศิลปินไทย นอกจากนี้ ค่ายเพลงและผู้ผลิตเริ่มมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาศิลปินที่มุ่งเน้นทั้งตลาดในและต่างประเทศ ขณะที่เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ศิลปินสามารถเข้าถึงแฟนเพลงทั่วโลกได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดีย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับศิลปินไทยในการก้าวสู่เวทีระดับโลก ส่งผลให้เกิดความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน ตัวอย่างที่โดดเด่น คือ MILLI แรปเปอร์หญิงศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรกที่ได้แสดงในเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่างโคเชลลา (Coachella) ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและการร่วมโปรเจกต์นานาชาติกับค่ายเพลง 88Rising ซึ่งนำไปสู่การได้รับเลือกเป็น 1 ใน 8 ศิลปินที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีระดับโลกนี้
โครงการ Music Exchange กุญแจสำคัญสู่เวทีโลก
โครงการ Music Exchange เป็นอีกหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันศิลปินไทยสู่เวทีระดับโลก ซึ่งริเริ่มโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี โครงการนี้ไม่เพียงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรีเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้ร่วมงานกับศิลปินและโปรดิวเซอร์ระดับนานาชาติ และสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมเพลงระดับโลก ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้เห็นได้จากการส่งศิลปินไทยไปร่วมแสดงในงานสำคัญในต่างประเทศมากมาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 48 ศิลปิน/วง ทั้งหมด 46 เทศกาล ประกอบด้วยเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นงานแสดงดนตรีที่มุ่งเป้าเพื่อการค้าและผู้ชมเป็นหลัก ( Music Festival) และงานแสดงดนตรีที่มุ่งเป้าด้านโอกาสทางธุรกิจระหว่างค่ายเพลง/ศิลปิน/ผู้จัดเทศกาล (Music Conference/Showcase Festival) เช่น เทศกาล 2024 Vagabond Festival ไต้หวัน เทศกาล JAM JAM ASIA ไต้หวัน เทศกาล Offside Festival 2024 ประเทศจีน เทศกาล HOI MUSIC FESTIVAL ประเทศเวียดนาม เทศกาล Hypefest Hong Kong 2024 ฮ่องกง เทศกาล Minami Wheel 2024 ประเทศญี่ปุ่น เทศกาล Nakasu Jazz ประเทศญี่ปุ่น เทศกาล Ringo Music Festival 2024 ประเทศญี่ปุ่น เทศกาล Asia Song Festival ประเทศเกาหลีใต้ AXEAN Festival 2024 ประเทศอินโดนีเซีย เทศกาล SXSW Sydney 2024 ประเทศออสเตรเลีย เทศกาล Parramatta Lanes ประเทศออสเตรเลีย เทศกาล Outbreak Winter Fest สหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ CEA ยังให้การสนับสนุนศิลปินไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมแสดงผลงานเพลงในงานเทศกาลไทย (Thai Festival) โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ เทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง (Thai Festival in Beijing 2024) เทศกาลไทย ณ กรุงมอสโก (Thai Festival in Moscow 2024) และเทศกาลไทย ณ กรุงโซล ครั้งที่ 9 สวัสดีโซล ไทยเฟสติวัล 2024: ทีป็อปสตอรี่ (Sawasdee Seoul Thai Festival 2024: T-Pop Story)
โครงการดังกล่าวยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายของผู้จัด ผู้คัดเลือกศิลปิน และเอเยนซี่ ระหว่างเทศกาลดนตรีในประเทศเป้าหมายมายังเทศกาลดนตรีในประเทศไทย ได้แก่ T-POP (Mart) Concert Fest 3, Monster Music Festival 2024, CAT Expo 11, Big Mountain Music Festival 14 และ Longlay Beach Life Music Festival 2024 การสร้างความสัมพันธ์และเปิดมุมมองใหม่นี้ช่วยให้ผู้จัดเทศกาลดนตรีจากต่างประเทศได้ค้นพบศิลปินไทยหน้าใหม่ และเข้าใจวัฒนธรรมดนตรีไทยอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนส่งผลให้ศิลปินไทยได้รับโอกาสรับเชิญไปร่วมแสดงในเวทีระดับโลกมากยิ่งขึ้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของวงการเพลงไทย
การเปลี่ยนแปลงจากยุค 90s สู่ยุค T-Pop สะท้อนถึงพัฒนาการอันรวดเร็วของวงการเพลงไทย จากการมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศ สู่การสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความสำเร็จนี้ประกอบด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ การผลักดันให้ศิลปินไทยได้แสดงบนเวทีระดับนานาชาติมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในขณะเดียวกัน การสร้างเครือข่ายและเปิดโอกาสให้ผู้จัดเทศกาลดนตรีจากต่างประเทศได้สัมผัสประสบการณ์ดนตรีในประเทศไทย ก็เป็นอีกกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงวงการเพลงไทยกับตลาดโลก
ด้วยเหตุนี้ โครงการ Music Exchange จึงถือเป็นตัวอย่างของความพยายามในการยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่มาตรฐานสากล โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างศิลปินไทยกับโอกาสในเวทีดนตรีระดับนานาชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดประตูสู่ความสำเร็จให้ศิลปินเท่านั้น แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจและกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีไทยในภาพรวมอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดและโอกาสในการสนับสนุนวงการดนตรีของไทย รวมถึงรายละเอียดโครงการ Music Exchange ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th และเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/CreativeEconomyAgency
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *