“25 บาทมันต้องอร่อยขนาดนี้เลยเหรอ?บางคนเขาไม่กล้าซื้อกลัวว่าของถูกมันจะไม่อร่อย แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้ขายถูกขนาดนั้น ลดปริมาณของลงมาให้มันอยู่ในราคาที่เรามีกำไรพอคนได้กิน จากเคยซื้อ 1 กล่องก็เป็น 4 กล่อง 5 กล่อง 9 กล่องอย่างเงี้ยค่ะ มันก็เลยเพิ่มมาเรื่อยๆ”
ขายดีมาจากที่อื่นใช่ว่าจะตอบโจทย์ตลาดเหมือนกันหมดทุกที่! เรามีโอกาสได้เปิดประเด็นนี้เพื่อพูดคุยกันกับแม่ค้าสาวคนเก่งในวัยเพียง 27 ปีรายนี้ “น้องฟ้า” น.ส.ธรันรัตน์ ศรีวรธนิษฐ์ ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงเจ้าของแฟรนไชส์น้องใหม่มาแรงในขณะนี้ก็ว่าได้ ชื่อร้าน “หมูทอดปังปัง”แห่งตลาดเซฟวันโกเสียงลือเสียงเล่าถึงความปังสมชื่อของร้านที่ทำให้เราต้องมาเจอกับแม่ค้าตัวเป็นๆ ฟ้าเล่าให้เราฟังอีกว่า “ลูกค้าเขาก็จะชมเราตลอดเพราะว่า เรื่องวัตถุดิบหนูค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญมากก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องคอมเพลนเกี่ยวกับเรื่องรสชาติของอาหารที่ไม่ดี หรือว่าอะไรที่มันไม่ดีกลับมาเลย (ถามว่าลูกค้าประจำเยอะไหม) ลูกค้าประจำเยอะค่ะ จะมีพี่คนหนึ่งจะจำได้เลยว่าเขาจะมาทุกวัน เขาจะแบบตัวใหญ่ๆ หน่อยสั่งพิเศษ 3 กล่องทุกวันมาทุกวันบอก พี่นี่ 2 เดือนแล้วนะพี่แบบไม่ใช่ ถ้าจะไปไหนบอกหนูด้วยหนูกลัวพี่แบบว่าเข้าโรงพยาบาล กินสามชั้น 3 กล่องเขากินคนเดียวแบบว่าหมดเลยทุกวัน (หัวเราะ) จนแม่ค้าเป็นห่วง ใช่เป็นห่วง”
เก็บทุนมาจากงานกลางคืน “พริตตี้ชงเหล้า” สู่เถ้าแก่ร้าน “หมูทอดปังปัง”
ร้านนี้จริงๆ เปิดมาได้กว่า 5 ปีแล้ว แต่ว่าที่สาขานี้เพิ่งจะเปิดได้ไม่ครบปีเลย “สาขาแรกของเราอยู่ที่ตลาดไทยสมบูรณ์พระประแดงค่ะ เปิดมา 5 ปีแล้ว เริ่มแรกเนี่ยหนูทำงานกลางคืนค่ะแล้วก็เหมือนว่าเก็บเงินได้ส่วนหนึ่ง แล้วเราอยากจะหาอาชีพเป็นของตัวเอง เป็นพริตตี้ชงเหล้าอย่างเงี้ยค่ะที่เขาขายดื่ม ใช่ มันเงินวันนึงๆ ก็ได้วันเกือบ 2,000 คือมันเยอะ! เราไม่ได้อยากทำงานกลางคืนไปตลอดอยู่แล้ว เราเข้าไปเพื่อที่จะเก็บเงินแล้วเราก็จะไปหาอะไรทำของตัวเอง คือความฝันน่ะจริงๆอยากจะเป็นแบบว่า CEO สวยๆ ขายเครื่องสำอางอะไรแบบนี้ (เป็นแม่ค้าออนไลน์) ใช่ แต่ว่าคือตอนนั้นค่ะเราทุนน้อยแล้วเราก็คิดว่าทำยังไง เรายังไม่ได้เป็นที่รู้จักในออนไลน์หรือว่าอะไร เรายังไม่เก่งเรื่องสร้างตัวตนเราก็เลยเอาที่มันแบบเซฟๆ เรา ก็เลยเลือกเป็นอาหารเพราะว่ามันจะได้แบบได้เงินทุนคืนมาไว เพราะว่าเราเสี่ยงได้แค่แบบครั้งเดียวมันมีแค่ก้อนนี้ ถ้ามันหมดแล้วก็คือหมดเลย” แล้วตอนนั้น “หมูทอด” กำลังดังมากเลย แล้วเราก็ชอบทานด้วยเราก็เลยไปตระเวนชิม พอไปชิมแล้วก็แบบเออมันก็อร่อยนะ เป็นของที่กินง่ายแล้วก็เหมือนว่ามันกินได้ทุกวันด้วย ก็เลยอยากจะขายหมูทอด
ทีนี้ไปตระเวนหาพื้นที่ไปหาตลาด แล้วเริ่มหา “สูตร” สูตรมาจากยูทูบเลย เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ แล้ววันแรกที่เปิดร้านสูตรยังไม่คงที่ด้วยจริงๆ แล้ว ทำไปแบบว่ามือใหม่เลยเพราะว่าไม่เคยทำ แต่อยากทำ “เหมือนเราชอบทำอาหารด้วยแต่เราเหมือนไม่รู้ตัวแหละ แต่ว่าไม่อยากขายของหรอกแต่ว่าอยากทำอาหาร แล้วเหมือนว่าอยากทำให้มันแบบดีที่สุดเพื่อ อยากให้มันให้คนทานเขาแบบว่าแฮปปี้แล้วตอนนั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องทุนหรือว่ากำไรหรือว่าอะไร คือใช้ของดีหมดเลยแล้วเราค่อยมาปรับเปลี่ยน แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ เรามาวิเคราะห์พวกเรื่องตลาดว่าเราต้องปรับต้องอะไรตรงไหน” ตอนนั้นเปิดได้ประมาณ 1 ปี เราเริ่มที่จะแบบอยากขยายแล้ว อยากจะขยายร้าน แต่ว่าเรายังขาดเรื่องการดูแล “ลูกน้อง” ดูแลเรื่องการจัดการพวกวัตถุดิบอะไรต่างๆ คือยังไม่เก่งแล้วเราก็ดื้อเราเลยอยากลองทำ พอลองไปทำปุ๊บมันติดปัญหา “คือเราไปเปิดอีกสาขานึงอยู่ที่อีกที่หนึ่งแล้วกันนะคะ สาขานั้นก็เปิดปุ๊บเรามีปัญหาเรื่องลูกน้อง (ลูกน้องโกงด้วย) แล้วช่วงนั้นเกิดโควิด แต่เราอยากทำไงเราดื้อเราก็แบบว่า เลยปิดไปสาขาที่สองแล้วมันอยู่ไกลเราไม่สามารถไปดูแลได้ทั่วถึง สาขาที่สองปิดไปในช่วงโควิดแล้วก็พักยาวเลย เพราะว่าเจ็บอยู่เหมือนกันช่วงนั้นเพราะว่าลงทุนไปแล้วเงินมันก็สูญ เราขายของคืนมาก็เป็นเงินแล้วก็หมุนเวียนไปเรื่อยๆ เราพักไปประมาณ 2 ปี” พอ 2 ปีตอนนั้นแถวบ้านเขาเปิดตลาด เป็นตลาดแบบโมเดลดีเลยสวยโปรไฟล์แบบว่ามีแบรนด์ใหญ่ๆ อยู่ด้านหน้าเราก็คิดว่ามันน่าจะทำเลดีนะ
ก็ไปจองพื้นที่ตั้งแต่เขายังไม่ขึ้นเสาเลย เราคิดว่ามันน่าจะได้นะเพราะว่ามีแบรนด์ใหญ่ๆ อยู่ด้านหน้ามีโน่นมีนี่ แต่ว่ามันยังไม่ขาดอีก เรายังวิเคราะห์ตลาดไม่ขาดอีกอยู่ดี “พอไปลงปุ๊บสิ่งที่เราคิดไว้มันไม่ได้เป็นเหมือนที่คิด แล้วพอลงไปตอนนั้นเปิดไปได้ประมาณเดือนนึงทุนมันเริ่มหาย แล้วเรารับลูกน้องเข้ามาด้วย แล้วเราก็ประจวบกับว่าเซฟวัน เขาเปิดตลาดได้ประมาณเดือนนึง เราเลยแบบต้องหาทางที่มันจะต้องไปต่อ เลยมาขายที่เซฟวัน”
ขายดีมาจากที่อื่นใช่ว่าจะตอบโจทย์ตลาดเหมือนกันหมดทุกที่!
วันที่มาเริ่มขายที่ตลาดเซฟวันโก 3 วันแรกเรามา คือเราไม่ได้ขายราคานี้ หน้าร้านเราที่สาขาแรกมันจะเป็นแบบ “บุฟเฟต์” มีผัก
มีน้ำพริก น้ำจิ้มให้ตักได้ แล้วมีน้ำซุป มีข้าวให้เติมได้ ซึ่งราคาตอนนั้นสตาร์ทอยู่ที่ 40 บาทเราเลยมาขายที่นี่ ขาย 40 เหมือนกันแต่ปรากฏว่าเรามาดูแล้วตลาดมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด “เพราะว่าเขาส่วนใหญ่เป็นของกินเล่น เขาจะมาซื้อของกินเล่น อาหารหนักๆ เนี่ยมันจะขายยากนิดนึง มาขายได้แบบข้าวหม้อนึงแบบ 3,000 แล้วมันไม่คุ้มกับที่เรามาจากที่ไกลบ้านเราอยู่ฝั่งโน้น แล้วเราข้ามมาที่ดอนเมืองมันไกล ใช่ มันไม่คุ้มกันแต่ว่ายังสู้อยู่” พอมาวันที่สามตอนนั้นรู้สึกว่าเหมือนฝนมันจะตก ฝนตกแล้วเราเลยมันว่างมากเลยเราก็แบบนั่งมอง มองดูคนที่เขาเดินว่าเออทำไมร้านเรามันถึงขายไม่ได้ เราเลยมองดูว่าเขาซื้ออะไรกัน “คนที่เดินเนี่ยเป็นช่วงวัยประมาณไหน เอ้! มันก็เหมือนเป็นลูกค้าเรานะเนี่ยแต่ว่า เขาเป็นนักศึกษาแต่เขาอยากกินหลายๆ อย่างแล้วตลาดเขาขายถูกกันด้วย แล้วเรา 40 บาทของเราคือให้แบบเยอะมากเลย เราเลยว่ามันน่าจะทอนของได้นะ ทอนของลงแล้วก็ลดปริมาณให้มันอยู่ในราคาที่เขาซื้อได้ง่ายขึ้นให้ตัดสินใจซื้อและก็ชิมได้ง่ายขึ้น”
ตอนนั้นเลยพอครั้งที่ 4 ที่เรามาตอนนั้นเป็นจุดเปลี่ยนเลย “คือเราตอนนั้นถ่ายคลิปด้วยลงเป็นไวรัลเป็นล้านวิวเลย แล้วเราบอกว่าทิ้งไม่ได้แล้วต้อง ทีแรกกะว่าจะไม่ขายแล้วเขาบอกว่าอยากกิน อยากกิน เราเลยไปคิดหาวิธี ทำอย่างไรให้เราอยู่ในตลาดนี้ได้” ก็เลยไปสรุปแล้วเคาะออกมาเป็น “ข้าวหมูสามชั้นทอด” ในราคากล่องละ 25 บาท ทำให้ราคามันย่อมเยาแล้วซื้อได้ง่ายขึ้น ให้มันเหมาะกับตลาดกลางคืน ให้มันเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงนี้ แล้วมันก็ใช่! “วันที่สี่เราเตรียมมาเนี่ย 500ชุด โอ้โห! ข้าวนี่หุงไม่ทันเลยค่ะแบบคนต่อแถวแบบ ยาว! โหไม่น่าเชื่อว่า เราแค่ปรับราคาลงแล้วปรับปริมาณลงมันทำให้ร้านแบบเป็นที่รู้จัก” หลังจากนั้นพอร้านเป็นที่รู้จักเราเลยได้มาอยู่ตรงด้านหลังของตลาดเพราะว่าแถวมันยาวมากเพื่อที่จะไม่ได้บังร้านอื่นเราก็เลยได้ตรงนี้
พลิกกลยุทธ์ “ราคา” แพงไปขายไม่ดี! มาเน้น “ขายของดี” แต่ราคาเข้าถึงง่ายแทน
สูตรใช้เวลาในการพัฒนาอยู่นานเป็นปีเลย ทีแรกสูตรไม่ใช่สูตรนี้ด้วยเหมือนเราอยากให้คนแบบ กินแล้วมันแบบอร่อย หอม โน่นนี่นั่นบางทีเราคิดเยอะไป เราใส่แบบของหลายๆ อย่าง รากผักชี กระเทียม พริกไทย ใส่ลงไปในหมูสามชั้นแล้วพอลูกค้ากินอร่อยนะ แต่ว่าเหมือนว่าเขากินไปสักเดือนนึงแล้วแบบหายไปเลย แล้วเรารู้สึกกับตัวเองว่าเรากินแล้วมันเลี่ยน มันเอียนไปนะเราก็เลยเปลี่ยน เป็นว่าให้มันตัดเรื่องพวกความหอมออกไป ให้มันไม่เลี่ยนเยอะเกิน ให้มันแบบทานได้ทุกวัน ก็เลยเปลี่ยนเป็นสูตรที่ใช้อยู่ปัจจุบัน “หมูของหนูก็จะหอมน้ำปลาค่ะจะเป็นหมูหมักน้ำปลา ใช่ จะหอมน้ำปลาแล้วจุดเด่นของเราจะอยู่ที่ “น้ำจิ้มแจ่ว” น้ำจิ้มแจ่วนี่สำคัญเลย คือมะนาวจะใช้มะนาวสดจะคั้นวันต่อวัน มันก็จะหอม แล้วพวกวัตถุดิบที่ใส่ทุกอย่างคือหนูเลือกของดีทุกอย่างเลย”
จริงๆ ที่สาขาพระประแดงจะมี “หมูเนื้อ” ด้วยที่แบบคนไม่ทานมันๆ ก็ทานได้ แต่ที่นี่เราไม่ได้เอามาเพราะว่าพื้นที่มันจำกัดแล้วมันทอดยากกว่า เราไม่ได้ชุบแป้งทอดแบบสามชั้นแล้วน้ำมัน (หมักหมูโดยใช้สูตรน้ำตาลปี๊บ) คือพอเวลาทอดแล้วมันติดกระทะด้วยตอนนี้เลยหาวิธีอยู่ว่าจะต้องทำยังไง แต่ก็กำลังจะได้แล้วคิดว่าประมาณต้นเดือนหน้าจะมีหมูเป็นแบบไม่มีมันมาให้ลูกค้าที่ตลาดเซฟวันฯ ได้ทานกันด้วย แล้วส่วนของ “ท็อปปิ้ง” จะมี 3 อย่าง คือ ไข่ต้มยางมะตูม (ไข่เป็ด) คือจะมันกว่าเวลากินกับหมูสามชั้นมันจะนัวๆ แล้วก็มี หมูยอ และกุนเชียง ทุกอย่างคือถ้าลูกค้าสั่งเพิ่มจะคิดราคาอยู่ที่ 10 บาท/ชนิด เท่ากันทุกอย่างเลย และ “น้ำจิ้ม” จะมีน้ำจิ้มแจ่ว และมี “พริกน้ำปลา” ซึ่งของที่ร้านนี่จัดว่าเด็ดเหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่ทานเผ็ดมากสามารถทานพริกน้ำปลาคู่กับหมูสามชั้นเข้ากันมากเลย พริกน้ำปลานี่ค้นสูตรอยู่นานเหมือนกันก็เด็ดเหมือนกัน ซึ่งสูตรของที่ร้านจะไม่เค็มโดดด้วย
ขายราคา 25 บาทแม่ค้าได้กำไรจริงไหม? ซึ่งฟ้าได้อธิบายเกี่ยวกับราคาตรงนี้ให้ฟังว่า เราจะคำนวณออกมาเลยดูว่า “หมู” ต้องใส่กี่กรัม ข้าวต้องใส่กี่กรัม น้ำจิ้มใส่กี่กรัม แล้วจะต้องดูว่ามันจะมีค่า “ต้นทุนแฝง” อีก 2% เราก็บวกไป เราดูมาแล้วว่า 1 กล่องได้นะถ้าเราขายเท่านี้ สโคปมันจะอยู่ประมาณนี้เราดูว่ามันไปได้ แล้วกำไรที่ได้ขึ้นมาจากส่วนตรงราคา 25 คือจะเป็นท็อปปิ้ง “ถ้าตอนนี้วันธรรมดาจะอยู่ที่ 1,000 กล่อง แล้วศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะอยู่ที่ 1,200 กล่องค่ะ แต่จริงๆ เคยพีกขึ้นไปสุดเลยคือ 1,500 กล่อง!” ตอนนั้นคือพีกมากขายตั้งแต่สามโมงแต่ว่าปิดโน่น ห้าทุ่มกว่า เพราะว่าแถวไม่ลดเลย (หัวเราะ) พอแถวไม่ลดก็เอาของมาเติม เอาของมาเติม คือไม่มีหมดร้านนี้ของไม่มีหมด ไม่ต้องกลัวของหมดเลยเพราะว่าเติมตลอด (หัวเราะ) จนเขาปิดไฟ เพราะตลาดเขาให้ปิดไฟได้ห้าทุ่มครึ่งเขาก็จะปิดไฟแล้ว เริ่มไล่แล้ว (หัวเราะ) เขาจะให้เก็บ แต่อย่างช่วงนี้ “ฝนตก” ลูกค้าน้อยลงจริงๆ ลูกค้าน้อยลง ถ้าไม่มีฝนนี่ปกติเลยคือลูกค้าจะต่อแถวยาว จะขายแบบว่าถึงไหนถึงกันเลย
ปังสุดๆ 3 เดือนมีแฟรนไชส์แล้ว 7 สาขา บางร้านคืนทุนได้ภายใน 1 เดือน!
“ตอนนี้แฟรนไชส์มีทั้งหมด 7สาขาค่ะ เพราะว่าพอเรามาขายที่นี่ (มันเกิดจากตรงนี้ใช่ไหม) ใช่ค่ะเกิดจากตรงนี้เลย พอมีรายการมาถ่ายทำหลายๆ รายการเขาแบบติดต่อเข้ามาอยากจะให้เราทำแฟรนไชส์ แล้วมันเยอะมากมันไม่ไหวเราเลยตัดสินใจทำแฟรนไชส์ เพิ่งเปิดแฟรนไชส์ได้ประมาณ 3 เดือนค่ะ แล้วตอนนี้ได้ 7 สาขา ยังอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อให้เราจะได้ดูแลได้ทั่วถึงก่อน” ส่วนต่างจังหวัดที่สนใจแฟรนไชส์ติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมากไม่แพ้กัน ยังก่อนกำลังศึกษาเรื่องวิธีการจัดการโดยเฉพาะการขนส่งที่เป็นต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ เพราะสาขาจะต้องสั่งวัตถุดิบ (หมู) และใช้แบบเดียวกันกับทางร้านแม่เท่านั้น เพื่อจะควบคุมในเรื่องของคุณภาพ (หมูที่นำมาใช้จะต้องมีมาตรฐานรับรอง) และเรื่องของรสชาติที่ได้ด้วย ดังนั้นจึงมีการบังคับซื้อในบางรายการห้ามไม่ให้ใช้ของจากภายนอก “คือหมูที่เราเลือกใช้จะต้องเป็นหมูที่คัดมาแล้ว ถ้าเป็นหมูตลาด มันจะมีหลายเกรดแต่ว่าหมูของเรา ใช้หมูเบทาโกรตอนนี้กำลังให้เขาทำเรื่องให้อยู่ค่ะ” สำหรับค่าแฟรนไชส์ตอนนี้มีราคาเดียวคืออยู่ที่ 56,000 บาท คือจะได้ทั้งร้านแบบนี้ไปครบชุดเลยลูกค้าไม่ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเลย ได้ของพร้อมขายแล้วได้รับการโปรโมตจากทางร้านแม่ด้วย เราจะไปสอนเองด้วย ไปช่วยโปรโมตร้านให้ทำคลิปลงช่องทางออนไลน์ของเราทุกแพลตฟอร์มเลย
อย่างสาขาพันธุ์ทิพย์ยกตัวอย่างสั่งหมูวันหนึ่งๆ ก็ 20-30 กก. ทุกวัน สั่งเราส่งแบบทำใหม่ให้ทุกวันเลยเพราะว่าร้านจะไม่ไกลจากที่เรามาก วันหนึ่งเขาจะขายอยู่ที่ประมาณ 400 กล่อง น้องๆ เขาจะขายอยู่ในหลัก “หมื่น” ต้นๆ ต่อวันเขาบอกว่าเขาอยู่ได้ เราก็โอเค “ตอนนี้คืนทุนกันหมดแล้วค่ะ อย่างสาขาพันธุ์ทิพย์นี่เดือนเดียวคืนทุนเลย มันอยู่ที่ทำเลและสถานที่ด้วย”
การเลือก “ทำเลค้า” ว่าสำคัญแล้ว ต้องดูพฤติกรรมการซื้อลูกค้าประกอบด้วย
เราต้องใช้วอลุ่มในการซื้อเพราะว่าเราขายถูก แล้วตัวกำไรมันอาจจะไม่ได้เยอะมากเลยต้องใช้คนมาซื้อเยอะ กำลังซื้อเยอะ “จากที่หนูขายมาพฤติกรรมลูกค้าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ละที่กินไม่เหมือนกัน ใช้ชีวิตเนี่ยก็ไม่เหมือนกัน เราเลยต้องมาดูแล้วปรับจูนเกี่ยวกับลูกค้า ณ ตรงนั้นๆ น่ะค่ะ ถ้าอย่างหนูดูสไตล์ง่ายๆ ก็มานั่งดู ว่าเขาซื้ออะไรกันมาดูก่อนเวลาเราไปดูพื้นที่ให้แฟรนไชส์หนูจะไปนั่งดู" ไปนั่งดูให้ไปดูทั้งวันเลยว่าคนเขาเดินประมาณไหน เดินกี่โมง ซื้ออะไร คนช่วงวัยประมาณไหน แล้วจะแนะนำเขาไปว่ามันจะเป็นแบบนี้นะ แบบนี้นะ ซึ่งเขาโอเคแต่ว่าบางคนเขาแบบอยากลอง ก็ลองไป มันจะเป็นเหมือนอย่างที่เราบอกจริงๆ เราค่อยไปปรับกันอีกทีหน้างาน“อย่างตรงอีกสาขาหนึ่งที่จะเปิดเขาบอกว่า คือคนมันไม่ได้เยอะขนาดนั้นเราเลยแนะแนวทางให้เขาไปว่า เอาลองสตาร์ทที่ 25 ไหมแล้วพิเศษเราขึ้นไป 50 เลยเพื่อที่จะให้มันเหมาะสมกับลูกค้าตรงนั้นเพราะว่า เหมือนว่าเราเอา 25 บาทเนี่ยเพื่อดึงคนแต่ถ้าเขารู้แล้วว่าโอเค เขาได้ลองแล้ว 25 บาทอร่อยนะ รอบหน้าเขามาเขาก็ซื้อเลย 50 บาท คือเหมือนเรากินข้าวมื้อนึงเพราะว่าข้าวมื้อนึงตอนนี้คือ 50 บาท จะเป็นทำนองนั้น”
อย่ามองปัญหาว่ามันเป็นปัญหา แต่คือ “การพัฒนา” ตัวเองเพื่อให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“ฟ้า-น.ส.ธรันรัตน์ ศรีวรธนิษฐ์” เจ้าของร้านหมูทอดปังปังบอกด้วยว่า ตอนนี้ถ้าอย่างเป็นสาขาของตัวเองถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ว่าตอนนี้เราไปดูแลเรื่องของพวกแฟรนไชส์มากกว่า อยากจะให้เขาสำเร็จเหมือนกับเรา ก็พยายามที่จะดันให้เขาได้เหมือนเรา จะไปศึกษาเพิ่มแล้วจะต้องไปลงมือช่วยเขาเพิ่ม “ถ้าในแฟรนไชส์หนูจะเป็นเรื่องของต่างจังหวัดน่ะค่ะ คิดว่ามันน่าจะ ยังๆ ไม่รู้เลยว่าจะคือตอนนี้เราติดปัญหาเรื่องการขนส่ง ของต่างจังหวัดเพราะว่าค่าขนส่งมันแพงอะไรเงี้ยค่ะ เรากำลังปรับว่าเราจะทำยังไงให้สาขาที่ต่างจังหวัดเนี่ยมันไปได้" แล้วอย่างสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจริงๆ มันก็โอเคอยู่แล้ว แต่ว่าเราคงจะเสริมพวกเรื่องเมนูเข้าไปมากกว่า เรื่องเมนูที่มันจะเริ่มจำเจ จะมีเมนูมาเพิ่ม แล้วมีโปรโมชันต่างๆ ให้เขา
“อยากให้คนที่กลัวหรือว่าไม่กล้าที่จะทำแบบว่า ก้าวออกจาก safe zone ตัวเองค่ะให้ลองก้าวออกมาแล้วทำมันให้ต่อเนื่องแล้ว mindset เนี่ยเป็นสิ่งที่สำคัญมากอยากให้มีวิธีการคิด มี mindset ที่ดีค่ะ แล้วทำมันเรื่อยๆ ทำให้สม่ำเสมอยังไงทุกคนสามารถสำเร็จได้อยู่แล้ว” ฟ้ายังบอกด้วย “ปัญหา” มันก็มีมาทุกวันแต่ว่าคือหนูจะไม่ค่อยมองปัญหาว่ามันเป็นปัญหา เรามองว่ามันเป็นประสบการณ์ว่าเราจะได้รู้ว่า เอ้ยเราเห็นตรงนี้มันเป็นปัญหาแล้วเราก็แก้มัน แล้วเราจะได้รู้ว่าอ๋อตรงนี้มันเป็นประสบการณ์นะ แล้วเราก็เก็บเกี่ยวแล้วเราค่อยเอาไปพัฒนาตัวเองให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ
พีกสุด 1,500 กล่อง/วัน “หมูทอดปังปัง” จับทางตลาดได้เน้นขายของดีราคาเข้าถึงง่าย “25 บาท” สุดปัง! ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดีๆ จาก น้องฟ้า-ธรันรัตน์ ศรีวรธนิษฐ์ เจ้าของร้านและแบรนด์แฟรนไชส์น้องใหม่สุดปัง! ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์แห่งความสำเร็จแบ่งปันไอเดียและแง่คิดมุมมองสำหรับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างดียิ่งในครั้งนี้
สามารถติดตามหรือแวะไปชิม “ข้าวหมูสามชั้นทอด” อร่อยๆ ในราคาจ่ายสบายกระเป๋า “25 บาท” ได้ที่ร้านทุกสาขารวมถึงแฟรนไชส์ทั้ง 7 ร้านของแบรนด์ “หมูทอดปังปัง” สะดวกที่ไหนแวะชิมได้ที่นั่น สอบถามเพิ่มเติมโทร. 06-5924-1659 ขอบคุณสถานที่ : ตลาดเซฟวันโก