กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยภาคธุรกิจไทยใช้บริการธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์’ เป็นช่องทางเชื่อมต่อ ‘ผู้ซื้อ-ผู้ขาย’ บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค หาพันธมิตรทางธุรกิจ และเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแต้มต่อทางการค้าสู้ธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์เติบโตต่อเนื่อง ภาคธุรกิจเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดอย่างคึกคัก เฉพาะ 9 เดือน ปี 2567 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 913 ราย ทุน 1,694 ล้านบาท การลงทุนในธุรกิจของชาวต่างชาติ นักธุรกิจ ‘สิงคโปร์’ เข้าลงทุนใน 2 ธุรกิจ แตะ 1 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ไต้หวัน และมาเลเซีย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ล่าสุดพบว่า ภาคธุรกิจไทยใช้บริการธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์’ เป็นช่องทางเชื่อมต่อ ‘ผู้ซื้อ-ผู้ขาย’ บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค หาพันธมิตรทางธุรกิจ และเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแต้มต่อทางการค้าสู้ธุรกิจรายใหญ่
ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า/บริการต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น ทั้งด้านการเงิน สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว การศึกษา และการดำเนินธุรกิจ เช่น แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ e-Marketplace แพลตฟอร์มบริการจองที่พัก แพลตฟอร์มเรียกรถ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจซอฟต์แวร์ได้เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ซอฟต์แวร์การบัญชี ซอฟต์แวร์การบริหารงานบุคคล ซอฟต์แวร์วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้น ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์จึงเป็นตัวช่วยทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ผ่านช่องทางดิจิทัล เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้ทั้งผู้ขายและลูกค้าตั้งแต่วิธีการชำระเงินจนถึงการบริการหลังการขาย ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์จึงเปรียบเสมือนผู้ช่วยเอสเอ็มอีไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตธุรกิจที่กำลังเผชิญไปได้
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยอย่างคึกคัก สอดคล้องกับจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียน โดยปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 976 ราย ทุนจดทะเบียน 2,159.23 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 1,074 ราย (เพิ่มขึ้น 98 ราย หรือ 10.04%) ทุน 2,333.81 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 174.58 ล้านบาท หรือ 8.09%) ปี 2564 จัดตั้ง 1,551 ราย (เพิ่มขึ้น 477 ราย หรือ 44.42%) ทุน 2,952.80 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 618.99 ล้านบาท หรือ 26.53%) ปี 2565 จัดตั้ง 1,162 ราย (ลดลง 389 ราย หรือ 25.08%) ทุน 2,857.57 ล้านบาท (ลดลง 95.23 ล้านบาท หรือ 3.23%) ปี 2566 จัดตั้ง 1,111 ราย (ลดลง 51 ราย หรือ 4.39%) ทุน 2,480.82 ล้านบาท (ลดลง 376.75 ล้านบาท หรือ 13.19%) ปี 2567 (เดือนมกราคม-กันยายน) จัดตั้ง 913 ราย ทุน 1,693.81 ล้านบาท
ปัจจุบัน ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 10,069 ราย (แพลตฟอร์ม 1,760 ราย ซอฟต์แวร์ 8,309 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 390,663.69 ล้านบาท (แพลตฟอร์ม 47,560.44 ล้านบาท ซอฟต์แวร์ 343,103.25 ล้านบาท) ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 5,532 ราย (54.94%) ภาคกลาง 2,018 ราย (20.05%) ภาคใต้ 774 ราย (7.69%) ภาคเหนือ 633 ราย (6.29%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 525 ราย (5.21%) ภาคตะวันออก 476 ราย (4.72%) และภาคตะวันตก 111 ราย (1.10 %) โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 9,756 ราย (96.89%) ทุน 332,430.80 ล้านบาท (85.09%) ขนาดกลาง (M) 252 ราย (2.50%) ทุน 31,571.93 ล้านบาท ( 8.08%) และขนาดใหญ่ (L) 61 ราย (0.61%) ทุน 26,687.96 ล้านบาท ( 6.83%)
ภาพรวมของผลประกอบการในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ 3 ปีย้อนหลัง ทำรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 รายได้รวม 74,821.35 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 94,778.39 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19,957.04 ล้านบาท หรือ 26.68%) และปี 2566 รายได้รวม 132,650.78 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 37,872.39 ล้านบาท หรือ 39.96%) โดยปี 2566 กลุ่มแพลตฟอร์มสามารถทำรายได้สูงกว่ากลุ่มซอฟต์แวร์ 24,075.16 ล้านบาท หรือ 44.35% (รายได้กลุ่มแพลตฟอร์ม 78,362.97 ล้านบาท รายได้กลุ่มซอฟต์แวร์ 54,287.81 ล้านบาท) ซึ่งปี 2566 เป็นปีแรกที่กลุ่มแพลตฟอร์มมีรายได้มากกว่ากลุ่มซอฟต์แวร์
ในส่วนของนักลงทุนชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ของประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน โดยสัดส่วนการลงทุนของนักธุรกิจชาวไทยมีมูลค่า 362,266.43 ล้านบาท คิดเป็น 92.73% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 35,839.00 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 326,427.43 ล้านบาท) การลงทุนของชาวต่างชาติมีมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท
ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มแพลตฟอร์มที่ชาวต่างชาติลงทุนสูงในประเทศไทย ได้แก่ สิงคโปร์ ลงทุนในธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลและให้บริการเช่าพื้นที่สำหรับวางเซิร์ฟเวอร์ มูลค่ากว่า 2,897.37 ล้านบาท และมาเลเซีย ลงทุนในธุรกิจตลาดกลางสำหรับการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มูลค่า 687.21 ล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจในกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ชาวต่างชาติลงทุนสูงในประเทศไทย ได้แก่ ไต้หวัน ลงทุนในธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์ด้านการใช้บริการในยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ มูลค่า 5,559.39 ล้านบาท มาเลเซียลงทุนในธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลทั่วไปในด้านขนส่งและโลจิสติกส์ มูลค่า 1,213.88 ล้านบาท และ สิงคโปร์ ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะด้านทุกชนิด
ธุรกิจแพลตฟอร์มจะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าสมาชิก ค่าโฆษณา หรือ ค่าบริการต่างๆ ทำให้การมีจำนวนผู้เข้าใช้แพลตฟอร์มจำนวนมากและสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การออกแบบแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่ายตอบโจทย์ความต้องการตามวัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์ม การจัดโปรโมชัน หรือกิจกรรมต่างๆ จะช่วยดึงดูดใจให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มซ้ำ รวมทั้งการจัดการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับแพลตฟอร์ม การดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แพลตฟอร์ม
ธุรกิจซอฟต์แวร์นอกจากความต้องการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปแล้ว ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้านการขายต้องใช้ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งบริการหลังการขายและจัดการข้อมูลลูกค้าที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง ซึ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL เปิดแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมเครื่องมือหลายๆ ด้าน ในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจไว้ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ยุคดิจิทัล เบื้องต้นมีผู้ให้บริการ 7 ราย ภายใต้ 4 หมวดหมู่ นำเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้ใช้บริการ * ด้าน Sales and Marketing * ด้าน Design and Development * ด้าน Human Resource และ * ด้าน Analytics and Reporting ภายใต้ชื่อ “DBD SMEs360” โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าใช้งานได้ทันทีตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2547-4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th