หลังจาก ทางเพจ Subway ในไทย ได้มีประกาศผ่านหน้าเพจ ชื่อว่า Subway Thailand ถึงกรณีข้อร้องเรียนจากลูกค้า เกี่ยวกับ เรื่องคุณภาพอาหาร , วัตถุดิบขาด, กระดาษห่อซึ่งไม่มีพิมพ์ลาย Subway , กระดาษห่อลาย Subway สีเลอะติดอาหาร ขนมปังไม่ใช่ของ Subway และ อื่น ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก
จากการตรวจสอบพบว่าลูกค้าที่ร้องเรียนเข้ามาได้ไปใช้บริการจากร้าน Subway ในสาขาที่ถูกยกเลิกสิทธิ์ Franchise ไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ สาขา Food Generation สาขา CP ทาวเวอร์ สีลม , ปตท. บางแสน ,ปตท. สุขสวัสดิ์, ปั้มเชลล์ ลาดพร้าว, ทองหล่อ, เชลล์ ท่าพระ, คาลเท็กซ์ ประชานุกูล, ดิ อัพ พระราม 3, บางจาก ราชพฤกษ์ และ อื่นๆ ดังนั้น หากลูกค้าประสงค์ที่จะสั่งหรือซื้อ Subway สามารถสังเกตหน้าร้าน จะต้องมีเลขที่ร้านและ เครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise จะเป็นแฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิโดยถูกต้องพร้อมบริการตามปกติ
จากประกาศดังกล่าว ทางหน้าเพจ ได้มีแนบรายชื่อ ร้านแฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิ โดยถูกต้อง จำนวน 51 สาขา สามารถดูรายชื่อได้ทางหน้าเพจ และรายชื่อร้านแฟรนไชส์ที่ถูกยกเลิกสิทธิ์ แฟรนไชส์มาพร้อมกันสามารถติดตามดูได้ทางหน้าเพจ เช่นกัน
ประวัติความเป็นมาของ Subway Thailand เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2546 ในรูปแบบของแฟรนไชส์ และมีการเปลี่ยนมือผู้บริหารแฟรนไชส์อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อปี 2565 Subway ในไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ "อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป" ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาแบรนด์ให้เป็น Top 3 ของธุรกิจอาหารบริการด่วน (QSR) ในตลาดที่มีมูลค่าถึง 47,700 ล้านบาท และวางแผนที่จะขยายสาขาให้ได้ 1,000 แห่งในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ก็ยังคงทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งต้องเปลี่ยนผู้บริหารแฟรนไชส์ อีกครั้ง เมื่อต้นปี 2567 บริษัท โกลัค จำกัด GL บริษัทย่อยในเครือของ PTG (พีทีจี เอ็นเนอยี) ได้เข้ามาซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ Subway Thailand ด้วยเงินลงทุนกว่า 35 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัท โกลัค จำกัด ประกาศว่า บริษัทฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิในการให้และเปิดแฟรนไชส์ร้านอาหารซับเวย์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย (Master Franchisee) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป และบริษัท ฟู้ด เจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเคยเป็นผู้รับแฟรนไชส์และดำเนินกิจการร้านซับเวย์นั้นได้สิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์ร้านอาหารซับเวย์โดยสิ้นเชิงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันมีสาขาที่เป็นผู้รับแฟรนไชส์และอยู่ภายใต้การดูแลในปัจจุบัน 51 สาขา และสาขาที่สิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์ 105 สาขา
อนึ่ง ซับเวย์ได้ทำสัญญามาสเตอร์ แฟรนไชส์ ฉบับใหม่กับบริษัท โกลัค จำกัด ซึ่งมี บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากในระดับผู้ถือหุ้นแท้จริง (Ultimate Shareholder) เพื่อขยายธุรกิจแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดย PTG ลงทุนผ่านบริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด (GFA) ที่เป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นผ่านทางบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด 70% ส่วน น.ส.เพชรัตน์ อุทัยสาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์เดิมถือหุ้น 5% และ บริษัท ไลฟ์สไตล์ ฟู้ด จำกัด ที่ น.ส.เพชรัตน์เป็นกรรมการบริษัท ถือหุ้น 25%
ในส่วนของสาขาที่ถูกยกเลิก ตอนนี้ ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหว ซึ่งบริษัทแม่ เองก็ยังได้ได้ออกมาจัดการว่าจะทำอย่างไรกับร้านที่ถูกยกเลิก และเค้าจะยังคงได้รับสิทธิ์ และใช้ชื่อ Subway ได้หรือไม่ คงจะต้องไปฟังจากเจ้าของสิทธิ์ ที่ถูกยกเลิกด้วย
ทำความเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ในส่วนองค์ประกอบแฟรนไชส์ ประกอบด้วย 3 ประการ คือ 1.แฟรนไชส์ซอร์ Franchisor ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจตามระบบที่เจ้าของสิทธิ์เตรียมไว้ และใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์
2.แฟรนไชส์ซี Franchisee ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจตามระบบที่เจ้าของสิทธิ์ได้จัดเตรียมไว้ และใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์ และ 3. ค่าตอบแทนในการใช้สิทธิ์ อย่างน้อย 2 อย่าง ได้แก่ แฟรนไชส์ฟี Franchise Fee ค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน จะจ่ายก่อน เริ่มดำเนินงาน หรือ เรียกว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิ์ต่างๆ ให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ และ รอยัลตีฟี Royalty Fee ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเก็บ เป็นเปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนหรือ ต่อปี จากยอดขายหรือ บางกิจการอาจเรียกเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้า
ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ จากลักษณะการขยายธุรกิจแฟรนไชส์โดยทั่วไป แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) Product and Brand Franchising เป็นการให้สิทธิ์ในตัวผลิตภัณฑ์หรือเครื่องหมายการค้า เพื่อการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าใน ยี่ห้อสินค้านั้น แฟรนไชส์ประเภทนี้แฟรนไชส์ซอร์ฐานะผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มักจะกำหนดมาตรฐานทางคุณภาพด้านต่างๆ ให้แฟรนไชส์ซีปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากกว่าจะที่ผลิตเอง
2) Business Format Franchising เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ซอร์กำหนดระบบของการดำเนินธุรกิจให้ใช้ เหมือนกันทั่วโลก ทั้งสินค้า เครื่องหมายการค้า วิธีบริหารระบบการเงิน ระบบงานต่างๆ รวมทั้งแผนการตลาด ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับสิทธิ์ในการให้บริการ หรือ ทำการผลิต สินค้าที่มีสูตรหรือส่วนประกอบเฉพาะ หรือ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้รูปแบบและ เครื่องหมายทางการค้าของเจ้าของแฟรนไชส์โดยมีการถ่ายทอดระบบและวิธีการดำเนิน ธุรกิจ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ปฏิบัติตามให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ เจ้าของแฟรนไชส์กำหนด เพื่อรักษาภาพลักษณ์และศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด
3) Conversion Franchising เป็นระบบแฟรนไชส์ที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการอิสระ ซึ่งต้องการให้ธุรกิจเข้าสู่ ระบบแฟรนไชส์โดยมีรูปแบบ หรือ ใช้เครื่องหมายทางการค้าที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค แฟรนไชส์รูปแบบนี้อาจเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีแต่ผลเสียอยู่ที่การดำเนินงานจะถูกควบคุมจากเจ้าของ ธุรกิจแฟรนไชส์มากกว่าการดำเนินธุรกิจโดยปกติและ ผลตอบแทนที่ได้ต้องนำไปแบ่ง กับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วน ตัวอย่างเช่น แฟรนไชส์ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์เป็นต้น
ครั้งนี้ มาดูกันว่าหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการมาตรฐานแฟรนไชส์ เมืองไทยใช้หลักเกณฑ์อะไร โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สำหรับการจัดการแฟรนไชส์ ในประเทศไทย หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำ “เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจในระบบแฟรนไชส์” เมื่อปี 2552 ตามแนวทางมาตรฐานคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award – MBNQA) อันเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
โดยเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้รับการพัฒนาและจัดทำขึ้น เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำไปปฏิบัติในทุกสภาพแวดล้อมทาง ธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย โดยคงรูปแบบการบริหารเชิงระบบ อ้างอิงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award –TQA) ซึ่งจัดทำโดยอ้างอิงจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพ แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา The Malcolm Baldrige National Quality Award : MBNQA
ส่วนเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ปี 2565 (Total Quality Franchise Management -TQFM) ประกอบด้วยเกณฑ์ 7 หมวดหลัก คือ หมวดที่ 1 การนำองค์กร (Leadership) หมวดที่ 2 กลยุทธ์ (Strategy) หมวดที่ 3 ลูกค้าและแฟรนไชส์ซี (Customer) หมวดที่ 4 การวัดการวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management) หมวดที่ 5 บุคลากร (Workforce) หมวดที่ 6 การปฏิบัติการ (Operations) หมวดที่ 7 ผลลัพธ์ ( Results)