xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “กระเพรา ๓ ภาค” จากกะเพราที่ไม่ถูกต้อง! สู่ร้านผัดกะเพราที่ใคร ๆ ก็อยากมาลอง พิเศษทุกจานมีแปะทอง!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เราไม่ใช่กะเพราที่ถูกต้องเพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะมาทานกะเพราที่เป็นกะเพราเลยต้องบอกว่าร้านเราไม่มี และร้านเราไม่ทำ เริ่มแรกที่ชื่อว่า กระเพรา ๓ ภาค เพราะว่ามีแบบภาคเหนือ, กลาง, ใต้ ให้ลูกค้าเลือกซึ่งแต่ละภาค จะต่างกันที่พริกและผักพื้นบ้านที่ใส่ลงไป


อย่างภาคเหนือ เราจะใส่เป็นพริกคั่วมะแขว่นและก็ใบผักแพวลงไปผัดกับใบกะเพรา ส่วนภาคกลาง ก็จะอิงเป็นกะเพราโบราณซึ่งโบราณสมัยก่อนอาหารจะมีความเป็นในเรื่องของ “อาหารและยา” ซึ่งจะใช้สมุนไพร ใช้เครื่องเทศ เข้ามาอยู่ในอาหารค่อนข้างเยอะก็เลยเอาตรงนี้มาทำเป็น กะเพราโบราณ ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศ 10 ชนิด เด่นที่กลิ่นของขิง กระวานและก็พริกไทย ส่วนภาคใต้ เราจะใส่เป็นพริกเหลืองกับใบโหระพาลงไปผัดกับใบกะเพรา เพราะว่าได้แรงบันดาลใจมาจากตอนไปทานผัดพริกเหลืองที่ภาคใต้ เราชอบความหอมของกลิ่นโหระพาและก็มันจะมีกลิ่นและความหวานของพริกเหลืองเข้ามาเราก็เลยเอามาอะแด๊ปรวมเข้ากับกะเพรา ถามว่ามันเหมือนกะเพรา 100% ไหม? จริง ๆ กลิ่นอายมันค่อนข้างต่างไปเลย” คำบอกเล่าถึงคาแรคเตอร์ที่แตกต่างออกไปเลยสำหรับร้าน “กระเพรา ๓ ภาค”จากเชฟสาวเจ้าของร้านในวัยเพียง 29 ปีแต่ทว่าการเดินทางของธุรกิจร้านกะเพราแห่งนี้ย่างก้าวสู่ปีที่ 5 แล้ว “แพว-นางสาวณิรินทร์ญา ตรัยเมธีทัศน์” เล่าให้เราฟังว่า เรียนจบทางด้านอาหารมา จาก ม.สวนดุสิต และก็ช่วงที่เรียนมันทำให้เราค้นเจอตัวเองว่าเราชอบในเรื่องของอาหารไทย เราชอบในเรื่องของวัตถุดิบไทยพื้นบ้าน ซึ่งไม่ใช่วัตถุดิบที่มีทั่วไปแต่ว่าเราได้เจอความเป็นเอกลักษณ์ของวัตถุดิบพื้นบ้านที่มันมากกว่านั้น อย่างเช่นพวก ผักแพว ผักแขยง พวกเครื่องเทศสมุนไพรที่เขามีกลิ่นโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อันนั้นก็คืออีกหนึ่งความชอบและก็คืออีกหนึ่งความชอบของแพวก็คือว่า แพวชอบไปเที่ยวและหนูชอบไปเที่ยวตามต่างจังหวัดของประเทศไทย และก็ชอบไปกินอาหารพื้นบ้านของเขา เพราะว่ามันมีความแตกต่างมันจะซ่อนความเป็นเอกลักษณ์อะไรสักอย่างของแต่ละพื้นที่ของไทย นั่นก็คือสิ่งที่เราชอบแต่เราก็เก็บไว้


“แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่เรามีโอกาสแล้ว เราเลยเอาความชอบทั้งหมดและก็ตัวเรา เอา Passion ของเราล้วน ๆ น่ะมาทำตรงนี้
เพราะแพวรู้สึกว่าถ้าเราทำในสิ่งที่เรารักทำในสิ่งที่เราชอบเราจะทำมันได้ดี แพวก็เลยมองว่าแล้วอะไรล่ะที่มันจะทำให้คนเข้าถึงง่าย คนเข้าใจง่ายพูดแล้ว get เพราะถ้าวันนี้สร้างเป็นเมนูใหม่ขึ้นมาเลยมันอาจจะเข้าถึงยากนิดนึง และด้วยความที่เราเองไม่ได้มีชื่อไม่ได้มีใครรู้จักเราเลยมันน่าจะค่อนข้างที่จะเข้าถึงยากอย่างที่บอก แพวก็เลยตัดสินใจเอาคำว่า “กะเพรา” นี่แหละมาทำ”
ชื่อร้าน “กระเพรา ๓ ภาค” ที่มี “ร” จริง ๆ คือมันผิด! ทุกรายการหรือทุกครั้งก็จะโดนตำหนิเรื่องของ “กะเพรา” ไม่มี ร.เรือ นะ! ซึ่งตนเองจะรู้ดีที่สุดในเรื่องนี้ เพราะว่าก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่สะกดคำถูกต้อง“แต่ว่าคือจะผิดแค่ชื่อร้าน ส่วนในชื่อเมนูทุกอย่างสะกดถูกต้องหมดเลย ชื่อร้านเนี่ยยอมรับว่ามันเป็นแผ่นใหญ่มากแล้วมันค่านข้างที่จะต้องแก้งานใหญ่เหมือนกัน แต่ว่าในตอนนั้นนะค่ะคือเราต้องเปิดร้านแล้วใช่และก็ด้วยความที่ เมนูของที่ร้านมันเกิดมาจากความรักความชอบในเรื่องของความเป็นเอกลักษณ์ ความแตกต่างของแพรวอยู่แล้ว ที่แบบมันเป็นสิ่งที่เราชอบจนแพวเอามาทำเป็นอาหาร พอสักพักเนี่ยเรามาใส่ใจเรื่องของเมนูเรื่องของอาหารที่เราทำแล้วมัน โชว์ถึงความแตกต่างความไม่เหมือนที่ไหนจนกลายเป็น ทำให้เรามีชื่อเสียงมีลูกค้าได้จนถึงทุกวันนี้แล้วตอนที่เราตัดสินใจจะแก้ไขชื่อค่ะ เราก็เลยมองว่าเฮ้ย! ในเมื่อเราไม่ได้เป็นกะเพราที่ถูกต้องเหมือนที่เขามีแต่โบร่ำโบราณแล้วทำไม เราถึงต้องแก้คำว่ากระเพรา ๓ ภาค นี้ให้มันถูกต้องด้วยล่ะ?”เพราะมันเหมือนกับว่ามันก็เป็นการโชว์ตั้งแต่ชื่อร้านแล้วว่า กะเพราร้านนี้ไม่ถูกต้องนะ!


เปลี่ยนความเป็นกะเพรา “เมนูสิ้นคิด” เป็นผัดกะเพราซึ่งทำยากกว่าที่คิด!
ในเมื่ออาหารของเรามันไม่มีที่ไหน เราก็เลยต้องเป็นคนเล่าเรื่อง เราก็จะพูดให้เวลาเราแนะนำอาหารจะต้องพูดใส่อารมณ์
ใส่กลิ่น ใส่รสชาติเข้าไปให้ลูกค้าพอที่จะนึกออก อย่างเวลาแพวจะแนะนำ “กะเพราภาคเหนือ” ว่าคล้าย ๆ กับลาบคั่วทางภาคเหนือ หลายคนอาจจะเคยกินลาบคั่วแต่ว่าไม่เคยกินแบบกะเพราภาคเหนือ เขาก็จะแบบพอนึกภาพตามที่เราบอกได้ ว่าอ๋อมันน่าจะประมาณนี้นะ แล้วพอเขาทานไปฟีดแบ็คที่ได้รับกลับมาเขาก็แบบ เออมันภาคเหนือจริง ๆ มีกลิ่นสมุนไพรภาคเหนือมันขึ้นมาเลย อะไรแบบนี้ มันเหมือนอาหารเหนือที่เคยไปกินเลย เหมือนเมนูภาคเหนือที่แม่เคยทำให้กินเลย อะไรแบบนี้ แสดงว่าเราไปถึงในจุดที่ว่าเราอยากให้มันออกไปทางภาคเหนือ ส่วนภาคใต้ก็จะออกเผ็ดร้อน หอมมีกลิ่นของใบโหระพาขึ้นมากับกลิ่นของพริกเหลือง(เทียบเคียงกับผัดพริกเหลืองของภาคใต้) ก็มีหลายคนบอกทำไมไม่ใส่ขมิ้นทำไมไม่เอาพริกแกงใต้มา เพราะว่ามันจะกลายเป็นคั่วกลิ้งไปเลย มันจะกลบเกินไป


“ลูกค้าก็จะบอกว่าเอ้อมันไม่มีที่ไหนเลย เมนูนี้คืออะไรเหรอ แพวบอกว่ามันเป็นเมนูที่แพวคิดขึ้นมาเอง เพราะว่าแพรมีสิ่งหนึ่งที่แพวไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับร้านเราคือเรื่อง การเปรียบเทียบ อย่างเราเองเราเป็นผู้บริโภคเหมือนกันบางทีเราไปกินร้านนี้เรายังเคยเปรียบเทียบเลยว่า ร้านนั้นอร่อยกว่า ร้านนี้อร่อยกว่า เอ้ยรสชาตินี้นะ แต่เราไม่อยากให้มันเกิดการเปรียบเทียบเกิดขึ้นกับเรา เราก็เลยทำอะไรที่มันไม่มีเหมือนที่อื่นเลย คือลูกค้ากินแล้วลูกค้าจะไม่สามารถเปรียบเทียบเรากับอะไรได้เลยเพราะ มันแค่ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น” อันนี้ก็คือเป็น mindset หนึ่งที่ใช้ในการคิดเมนูอาหารขึ้นมา ลูกค้าที่มาคือเขาก็ต้องอยากลองอะไรแปลก ๆ ก่อนอันดับแรก ชอบลองของแปลกอยากกินอะไรแปลกใหม่“ทำอาหารที่มันง่าย ๆ ให้มันดูยากขึ้น ให้มันดูลำบากขึ้นในการกินอย่างเงี้ยค่ะ เพราะว่าถ้าเดินเข้ามาแล้วจะมาสั่งแค่เอากะเพราหมูสับ-ไข่ดาว อ๋อลูกค้ามีพริก 4 อย่างให้เลือกค่ะลูกค้าจะเลือกรับพริกแบบไหนดีคะ เขาก็จะแบบเอาแล้วเริ่มยากละว่าจะกินอะไรดี คือเหมือนกับว่าทำสิ่งที่มันธรรมดาให้มันไม่ธรรมดาให้มันรู้สึกว่าลูกค้าได้มีอารมณ์ร่วมกับเราแล้วเขาแบบอยากมาลอง” เพราะว่าถ้าเป็นกะเพราทั่วไปมากินแต่ละวันมันก็คือกะเพราซ้ำ ๆ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นกะเพรา 3 ภาค วันนี้คุณจะกินภาคเหนือ พรุ่งนี้คุณมากินภาคใต้ วันต่อไปคุณมากินภาคอีสานไหม? หรือว่าวันนี้กินหมูกลาง พรุ่งนี้มากินไก่กลาง วันต่อไปมากินเนื้อกลาง แบบนี้คือทุกอย่างมันไม่มีอะไรซ้ำกันเลย แล้วมันทำให้ลูกค้าได้เจอเรื่องใหม่ ๆ อยู่ตลอด กับแค่คำว่ากะเพรา


3 ภาค” สอบผ่านแล้วภาคที่ 4 ต้องมา! พร้อมเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน
ก็มาจากลูกค้าถามกันเยอะ แล้วภาคที่ 4 หายไปไหน? ภาคอีสานไปไหน ด้วยความที่ 3 ภาคที่ผ่านมาเราใช้ “ซอส” ตัวเดียวกันทำทั้งหมดเลย แต่ว่าพอเป็น “ภาคอีสาน” ถ้าพูดถึงอีสานมันก็นึกถึง “ปลาร้า” วิ่งเข้าหัวอยู่แล้ว แพรวก็เลยคิดว่าจะเอาปลาร้ามาเล่นยังไงดีกับภาคอีสานจะใส่อะไรเข้าไปดี มันเลยมาช้ากว่าคนอื่นเขาหน่อย“ภาคอีสานเราก็เลยจะใส่น้ำปลาร้า ใช้เป็นพริกป่นข้าวคั่วแล้วก็จะมี ผักชีใบเลื่อยลงไปผัดกับใบกะเพรา ซึ่งมันจะอารมณ์คล้าย ๆ กับลาบผสมแกงอ่อม แต่เป็นลาบที่ไม่เปรี้ยวใช่ค่ะ แต่ว่ายังคงมีกลิ่นของความเป็น มีกลิ่นของใบกะเพราเข้ามาด้วย”


ถ้าขายดีที่สุดจะเป็น ภาคเหนือ เนื้อสับภาคเหนือขายดีที่สุดเพราะว่า มีความแปลกและก็อร่อย แต่ว่าถ้าเข้ามาแล้วสั่งเลยก็อาจจะเป็น ภาคกลาง ลูกค้าก็จะคิดว่าภาคกลางน่าจะเหมือนกะเพราทั่วไปแต่พอเขาได้กินแล้ว เขาจะรู้ว่ามันไม่เหมือน การตีความกะเพราภาคอีสานกับลูกค้าพอพูดถึง “ปลาร้า” ลูกค้าจะบอกว่าน่าลอง เพราะว่าลูกค้าที่เข้ามาในร้านคืออยากลองแปลก ๆ อยู่แล้ว เขาก็จะอยากลองว่าใส่ปลาร้าแล้วรสชาติมันจะเป็นยังไง มันจะอะไรยังไงเขาก็ตัดสินใจลอง“พอเราเก็บฟีดแบ็คลูกค้าสักพัก มันก็ทำให้เรารู้ว่า แต่ละภาคลูกค้าสั่งอะไรเยอะใช่ไหมคะ ก็เลยจับมาเป็นเหมือนเซ็ต “ซิกเนเจอร์” ของเราว่าในกะเพราถาด 3 ภาคเนี่ย ลูกค้าก็จะได้กินตัวซิกเนเจอร์ของเราก็คือ ไก่ใต้ หมูกลาง เนื้อเหนือ คือครบทั้งภาคครบทั้งเนื้อสัตว์เลย และก็ได้ข้าว 1 ที่ ไข่ดาว 1 ฟอง”กะเพราถาด3 ภาคราคาจะอยู่ที่ 250 บาท ทานได้ประมาณ 2-3 คน แล้วก็มี “กะเพราถาด 4 ภาค” ด้วยก็จะเพิ่มภาคอีสานเข้ามา แต่ว่าเซ็ตนี้จะไม่มีข้าว ลูกค้าจะต้องสั่งข้าวและก็ไข่เพิ่ม จะเน้นว่า4 ภาคเน้นเป็นกับข้าวมากกว่า ราคาอยู่ที่ 320 บาท ทานได้ประมาณ 3-4 คน นอกจากนี้ในส่วนของ “จานเดียว” เป็นแบบราดข้าวราคาเริ่มต้นที่ 85 บาท หมูสับ ไก่ แต่ถ้าเป็นหมูตุ๋น 95 บาท เนื้อสับก็ 95 บาท และที่ร้านก็ยังมีเมนูพิเศษที่จะเป็นเนื้อวัตถุดิบที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง แต่ละเดือน อย่างเช่นช่วงนี้ มีคอหมูย่าง มีเนื้อสไลด์ มีกุ้ง อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นราคาก็จะต่างกันไป


อาหารอย่างอื่นในร้านก็จะมีด้วย ส่วนใหญ่เป็นแบบจานด่วนราดข้าวแต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมว่า ต้องไม่มีที่ไหน ต้องมีที่นี่ที่เดียว ทุกเมนูก็เลยเป็นเมนูที่แพวคิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเลย คือไม่สามารถไปเจอเมนูนี้ที่อื่นได้เลย อย่างเช่น จะมีแสร้งว่ากะเพราของ คือจะใช้เป็นพริกกระเทียมมาผัดกับเนื้อสัตว์แต่ว่าเราไม่ใส่ใบกะเพรา แต่ว่าเราจะเอาใบมะกรูดเข้ามาใส่แทนเราเลยให้เขาชื่อว่า
“แสร้งว่ากะเพรา” แล้วก็จะมีเป็น “ผัดชา” เมนูนี้จะใช้สารพัดเครื่องเทศที่ทำให้ลิ้นชา หมาล่า มะแขว่น ชวงเจียง แล้วก็ผัดกับน้ำมันงาให้ชื่อว่าผัดชา และก็จะมีอีกเมนูหนึ่งก็คือ “ต้มลำหมูตุ๋น” เรามีหมูตุ๋นก็เลยเอามาทำเป็นเมนูต้ม ซึ่งเมนูนี้ต้มลำมันเกิดจากว่าก็เรามีพริกภาคเหนืออยู่เราจะทำยังไงดี แพรวชอบเอาสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาแตกเป็นเมนูอื่น ต้มลำเกิดจากว่าเราอยากเอาผักแพว เอาพริกคั่วมะแขว่น มาทำเป็นต้มก็เลยทำไปชิมไปแล้วสรุปก็ พอมันเปรี้ยวปุ๊บเฮ้ยมันดี! คือมันไม่เหมือนที่ไหน ไม่มีที่ไหนมีแบบนี้ เราก็เลยเอาคำว่า “ลำ” มาแทนคำว่ายำ กลายเป็นต้มลำที่มีรสชาติเผ็ดเปรี้ยวเหมือนต้มยำ แต่ว่าใส่พริกภาคเหนือกับใบผักแพวลงไปก็เลยชื่อว่าต้มลำแบบนี้


ช่วงพีคสุด ๆ ยอดขาย “หลักแสน” แต่อยู่ดี ๆ วิกฤตโควิดฯ ก็มา!
ตอนนี้เมนูที่ร้านก็จะเน้นเป็นอาหารคาวจานด่วนก่อน และก็จะมีเมนูต้ม มีเครื่องดื่ม และก็มีของหวาน จะมีอยู่ประมาณนี้“ช่วงพีค ๆ ใช่ไหมคะช่วงนั้นแพวจำได้เลยว่า เปิดตั้งแต่ 11.00น.ถึง 22.00 น. ได้ออกมาเจอโลกภายนอกแค่แบบประมาณ ครึ่งชั่วโมง(หัวเราะ) นอกนั้นก็คืออยู่ในครัวอยู่หน้าเตาตลอด ผัดจนปวดมือมาก ๆ อะไรเงี้ยค่ะแล้วลูกค้า เข้ามาต่อแถวในร้านที่เป็นร้านเล็ก ๆ มีอยู่ 4 โต๊ะเล็ก ๆ แต่ลูกค้ายืนต่อแถวกันในร้าน ลูกค้านั่งรอ 2 ชั่วโมงลูกค้าก็นั่งรอช่วงนั้น เป็นช่วงที่พีคสุด ๆ และก็ถ้าขายดีที่สุดแบบที่จำความได้เลยค่ะวันนั้นอยู่ที่หมื่นสอง แล้วก็เดือนนั้นขายได้อยู่ประมาณ 2 แสน ซึ่งมันเป็นสองแสนที่แบบเรากับสองแขนเนี่ยสร้าง 2 แสนค่ะ คือมันสุดยอดมาก ๆ ใช่ค่ะ นึกถึงแล้วเราก็ภูมิใจ แล้วก็อย่างที่บอกค่ะโควิดฯ เข้าเลย(หัวเราะ) เดือนต่อไปก็โควิดฯ เลย”

สำหรับแพวจริง ๆ แล้วการเปิดร้าน “กระเพรา ๓ ภาค” ขึ้นมา ต้องบอกก่อนว่าแพวไม่ได้หวังเรื่องเงินเป็นเรื่องหลักเลยแพวทำเพราะว่า ตรงนี้มันคือความสุขคือความชอบเพราะฉะนั้นแล้ว เรื่องเงินมันคือโบนัสที่ได้เข้ามา แต่ทุกวันที่แพวได้ทำในสิ่งที่แพวรักสิ่งที่แพวชอบ ลูกค้าแฮปปี้ ลูกค้ากินหมดลูกค้าบอกต่อ อันนี้มันคือความสำเร็จมาก ๆ แล้ว ส่วนเรื่องตัวเงินจะได้เท่าไรมันเป็นผลตอบรับที่เราได้กลับมา แต่ว่าถามว่ามันมีผลไหม? มีผลแน่นอนอยู่แล้วเพราะว่าเรามีเรื่องของค่าใช้จ่าย เรามีเรื่องของชีวิตประจำวันที่เราต้องกินต้องใช้เงิน“เพราะฉะนั้นแล้วแพวก็เลยมองว่ามันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ แล้วเราจะทำยังไงล่ะ? เพื่อให้เรายังมีรายได้ เพื่อยังให้ร้านมันกลับมาได้เราไม่ได้มองไม่ได้ไปท้อกับตัวเลขที่มันลดลง แต่เราแค่ว่าแล้วเราต้องทำยังไงล่ะ เพราะถ้าเราไปท้อเราไปเครียดจากสองแสนลงมาตู้ม! เหลือเดือนละไม่ถึงแสน ถ้าเป็นคนอื่นท้อไปแล้วปิดร้านไปแล้วถูกไหมคะแต่เราไม่ได้โฟกัสที่ตรงนั้นน่ะเราแค่โฟกัสว่า ทำยังไงให้มันดีขึ้นใช่ค่ะ”




เป็น 5 ปีที่เจอรับน้องมาครบ! หนัก ๆ ทั้งนั้นแต่ว่าก็ผ่านมาได้
จากเงินลงทุนเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยคือ แสนห้า ตอนนั้นก็คือหมดเลยแต่ว่าเราแบบอยู่กับ “ความมั่นใจ” ว่าเราทำได้แค่นั้นเลย
แน่นอนว่าเดือนสองเดือนแรกยังไม่ค่อยดีเพราะว่าคนยังไม่รู้จัก “มันดังได้ยังไงใช่ไหมคะ ก็ด้วยความที่เราไม่ได้ขายแต่อาหารค่ะแต่ว่าเราขายตัวเองด้วย คือเราต้องเป็นคนออกมาเล่าด้วยเราทำการโพสต์ลงโซเชียลฯ ด้วยอะไรอย่างเงี้ยค่ะและก็ ด้วยความที่เราตั้งใจทำให้มันแตกต่างตั้งแต่หน้าตาอาหารแล้วค่ะ ก็คือ กะเพราของเราแปะทองใช่ไหมคะแล้วพอ การแปะทองเนี่ยแน่นอนล่ะว่าลูกค้าช่วง เขาเรียกว่าอะไรพฤติกรรมการบริโภคของคนตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วคือการกินจะต้อง ถ่ายรูปก่อนแล้วค่อยกินนั่นล่ะค่ะ เรามองเห็นในจุดนี้เราก็เลยเอากะเพราของเราเนี่ยแปะทองเพื่อให้มันแตกต่าง สร้างความแตกต่างสร้างความน่าสนใจมันก็เลยกลายเป็น มันเกิดจากที่ลูกค้าเนี่ยล่ะค่ะถ่ายรูปแล้วก็แชร์ ถ่ายแล้วก็แชร์ ๆ จนแบบมีรายการต่าง ๆ เริ่มเข้ามา”

ร้านเก่า(ร้านแรกเลย) อยู่ที่นาคนิวาส 3 ร้านตรงนั้นเปิดมาได้ประมาณ 2 ปี แล้วเป็น 2 ปีที่แบบถือว่าเป็นการรับน้องใหม่ได้ดีมาก
เพราะว่าแพวเจอโควิด-19 แบบเต็ม ๆ หลังเปิดร้านได้ 3 เดือน กำลังขายดีเดือนที่ 4 เลย! เดือนที่ 4 กำลังดังกำลังมีชื่อเลยเจอโควิดฯ เต็ม ๆ แล้วโควิดฯ กินเวลาไปประมาณ2 ปี แต่พอ 2 ปีโควิดฯ กำลังจะดีปุ๊บเจ้าของที่เขาไม่ต่อสัญญาให้ ทำให้เราต้องย้ายอีก ก็คือแบบเป็นประสบการณ์รับน้องที่แบบสุด ๆ จริง ๆ แต่ว่าร้านก็ยังอยู่มาได้ “ย้ายไปสายไหมก่อนช่วงหนึ่งตอนนั้น ที่ย้ายไปตรงสายไหมเป็นเพราะเราคิดว่าตรงนั้นมันใกล้บ้านเรา แล้วมันเป็นแหล่งรวมญาติมิตรสหายของเราอยู่ตรงนั้นเรามีเพื่อน ๆ วัยเด็กที่เคยเรียน ตีแบดด้วยกันอยู่แถว ๆ นั้นค่ะ คือตอนนั้นคิดว่าเรามีคนรู้จักอยู่ตรงนั้นแล้วเขาก็ติดตามเรามารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เราก็คิดว่าเออเขาก็น่าจะมาเป็นลูกค้าเราแหละและก็ แต่ถามว่าจากตรงนี้ไปตรงนั้นน่ะค่อนข้างไกลแล้วก็เปลี่ยนโลเกชันเลย แต่ตอนนั้นเราก็คิดว่าถ้าเขารักเราจริง ๆ(หัวเราะ) เขาก็น่าจะต้องตามเราไป”ก็มีลูกค้าตามไป แล้วคือพอย้ายไปตรงสายไหมตอนแรกเราก็คิดว่า มันต้องดีแหละ แต่ว่ามันก็ให้บทเรียนกับเราอย่างหนึ่งในเรื่องของการเลือก Location เหมือนกันเพราะว่าตอนนั้นเราไม่มีความรู้เลย เราแค่มั่นใจว่าเรามีคนรู้จักเราน่าจะมีฐานลูกค้า แต่พอไปถึงจริง ๆ มันค่อนข้างที่จะหลายอย่าง การที่ไม่มีที่จอดรถมันค่อนข้างที่จะส่งผลมาก ๆ และก็เรื่อง “ทำเล” เราก็ต้องดูลูกค้าด้วย ว่าเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้ดู ตรงนั้นคนส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเป็นหมู่บ้านเยอะก็จริง รถผ่านไปมาเยอะก็จริง แต่ว่ามันเป็นการออกไปทำงานแล้วกลับมาบ้าน ซึ่งพฤติกรรมของการบริโภคมันแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าเดิมของร้านที่เคยขายอยู่ในย่านนี้ จะต่างกันไปเลย


“ความสำเร็จ” อาจชี้วัดได้จากง่าย ๆ “ความสุข” ที่เรายังมีอย่างไม่กดดัน
ณิรินทร์ญา ตรัยเมธีทัศน์ เจ้าของร้าน “กระเพรา ๓ ภาค” ยังบอกด้วย สำหรับแพวมองว่าตรงนี้ที่มันยังอยู่ได้อยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะว่า แพวเริ่มต้นทำเขาด้วย “ความสุข” แล้ววันนี้มันก็ยังคงเป็นความสุขอยู่ของการลงมือทำ เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่แพวสามารถแนะนำได้ก็คือว่า ถ้าเราอยากทำ ทำเลย! ไม่ต้องเชื่ออย่างอื่นเชื่อความมั่นใจของตัวเอง เชื่อว่า“เชื่อว่าเราทำได้ทำมันไปก่อน เพราะว่าวันนี้ถ้าแบบมันอยู่แค่ในความคิด แล้วถ้าเราฟังแต่เสียงคนอื่นยังไงมันก็ไม่ได้เกิด ถ้าเกิดว่าเราคิดขึ้นมาแล้ว แล้วมั่นใจแล้วว่าเราจะทำ ทำไปเลยมันจะดีหรือไม่ดีเดี๋ยวมันได้รู้ แต่ถ้าไม่ทำ แน่นอนล่ะมันไม่เกิดแล้วมันก็ไม่ได้รู้แน่นอนอยู่แล้ว แล้วเนี่ยมันก็เป็นสิ่งที่คอนเฟิร์มแพวว่าถ้าวันนั้นแพวไม่เริ่ม แพวก็จะไม่มีวันนี้” แล้วสำหรับแพว “กระเพรา ๓ ภาค” นี้มันอาจจะไม่ได้แบบสำเร็จในเรื่องของยอดขายแต่มัน สำเร็จในเรื่องของชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ค้าขาย ไม่ได้มีใครทำธุรกิจมาก่อนไม่ได้มีใครเคยทำร้านอาหารมาก่อนแต่เรา เป็นคนแรกที่ทำ แล้วกระเพรา ๓ ภาคมันพาให้แพวได้ไปเจออะไรหลาย ๆ อย่างมาก เพราะฉะนั้นแล้วบางที “เป้าหมาย” หรือความสำเร็จของเรามันอาจจะไม่ใช่ที่เรื่องของตัวเงินเพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะถ้ามันคือเรื่องของตัวเงินเราจะกดดันมากเพราะว่า เราจะโฟกัสแต่ว่าต้องให้เงินถึงเท่านี้! ต้องมีเงินเท่านี้! ต้องเงินเท่านี้ ๆ ไม่เลย แต่พอแพวไม่ได้เอาเรื่องเงินหรือเรื่องยอดขายมาเป็นโฟกัส “มันทำให้แพวได้เจออะไรเยอะแยะมากมากมายเลยได้ออกรายการฯ ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ทำอีกเยอะแยะมากมาย แล้วสิ่งสำคัญเลยคือมันยังเป็น “ความสุข” เพราะว่าเราไม่ได้กดดันจากเรื่องอื่น”



เริ่มต้นทำจาก “ความสุข” และถึงแม้ว่า เส้นทางที่ผ่านมาอาจจะพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นมากมายควบคู่ไปกับความสำเร็จที่หอมหวานซึ่งผ่านเข้ามาให้ชื่นใจหายเหนื่อยด้วย เพื่อเป็นพลังสำหรับการก้าวไปต่อ “กรเพรา ๓ ภาค” จากกะเพราที่ไม่ถูกต้อง! สู่ร้านผัดกะเพราที่ใคร ๆ ก็อยากมาลอง ด้วยความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร ขอบคุณน้องแพว-นางสาวณิรินทร์ญา ตรัยเมธีทัศน์ เจ้าของร้านที่มีดีกรีเป็นถึง “เชฟ” อนาคตไกลที่เลือกมาเดินตามความฝันของตัวเองเพื่อทำในสิ่งที่รัก และทำมันได้อย่างมีความสุขเสมอมาตลอดช่วงระยะเวลากว่า 5 ปี แล้ว ขอบคุณที่มาร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจดี ๆ ในครั้งนี้

สามารถติดตามผลงานหรือแวะไปลองชิมเมนูผัดกะเพราที่แปลกแตกต่างไม่เหมือนใครได้ที่ร้าน “กระเพรา ๓ ภาค” ตั้งอยู่ที่โครงการ 71 Malls ลาดพร้าว 71 นาคนิวาส กรุงเทพฯ หรือโทร.098-389-8951

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น