xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) จากแรงงานไทยในญี่ปุ่นสู่เจ้าของฟาร์มผักไทย “ไร่ศตพล” บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ปลูกอะไรก็ขายดีจนทำไม่ทัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เริ่มปลูกผักนี่ก็เหมือนว่า “พื้นที่” คนญี่ปุ่นตอนนี้คนสูงอายุเขาทำมาแต่ดั้งเดิมใช่ไหมแล้วพอเด็กรุ่นใหม่เขาจะไม่ค่อยทำเขาก็มาบอกให้ที่บ้านญี่ปุ่นเนี่ยถ้าเขาปล่อยให้ที่ดินรกร้างมันเหมือนเสียภาษีเยอะ เขาก็มาบอกให้เราทำฟรีคนโน้นคนนี้ก็มาบอกผมเลยได้ที่ฟรีเยอะ”


ผมอยู่ต่างประเทศจริงแต่ผมยังรักเมืองไทย มาปลูกผักก็เอา “ผักไทย” มาเผยแพร่เรามีชื่อเสียงผมก็ดีใจนะว่า ผมมาอยู่ญี่ปุ่น
30 ปี มาทำผัก 10 กว่าปีนี่ ที่พูดเสียงเครือๆ เนี่ยมันปลื้ม คือว่าเราให้มีศักดิ์ศรีหน่อยว่าเออเราเป็นคนไทยเรา ผมไม่คุยนะว่าผมก็อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น การค้าผักไทยในญี่ปุ่น ยังไงก็เอาผมเป็นไอดอลได้ คนญี่ปุ่นมาศึกษากับผมเป็นลูกศิษย์ไปหลายคนแล้ว คนจีนก็มา (คนญี่ปุ่นให้คนจีน/ลูกน้องมาฝึก) อยู่กับผม 3 เดือน 2 เดือนจนเดี๋ยวนี้ เขาไปมีอาชีพของเขาแล้ว แล้วคนไทยลูกน้องผมที่ว่าเคยมาทำเขาไปอยู่ทางเขตศรีสะเกษอะไรเนี่ยเขาตั้งตัวกันได้หมด สิ่งหนึ่งคือว่าดีใจมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนญี่ปุ่นอยู่หลายราย ตอนนี้เขาค้าขายผักไทย ผักไม่พอผมยังไปซื้อเขามาขายต่อเลย

ป๋าเทพ หรือ คุณศตพล สุขานนท์ชนาภา เจ้าของฟาร์มผักไทย “ไร่ศตพล” ที่เขตอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น เล่าให้เราฟังอีกว่า
เมื่อ 30 กว่าปีก่อนตนได้วีซ่า 3 เดือนเพื่อเข้ามาทำงานที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นทำงานรับจ้างขับรถแบ็กโฮที่เข้าทำงานตามไซต์งานที่เขารับจ้างรื้อบ้านเก่าของคนญี่ปุ่น ทำไปทำมาอยู่ญี่ปุ่นมา 15 ปี ได้เจอกับแฟน (ภรรยา) ซึ่งเป็นคนลาวและได้แต่งงานกัน ตนเลยได้วีซ่าอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตามภรรยาที่มีสิทธิด้วย พอทำงานไปเรื่อยๆ ตนเริ่มคิดว่า มันมีเวลาว่างเยอะ เข้างานตี 4 เลิกงานบ่ายโมง “แล้วช่วงบ่ายโมงถึงห้าหกโมงเย็นเนี่ยมันว่าง ว่างผมก็ปลูกผักกินก่อน ปลูกไปปลูกมามันเยอะขึ้นเราก็แบ่งให้คนอื่นเขากินบ้างอะไรบ้าง คนอื่นเขาบอกว่าเอาเป็นค่าปุ๋ยค่าเสียเวลาไป ให้เราแบบว่าเหมือนถ้าเขามาเอาเฉยๆ มันเกรงใจอะไรเงี้ยก็เลย แล้วผมพอคนโน้นมาคนนี้มาบอกต่ออะไรเงี้ยเราก็ทำ คนไหนอยากกินอะไรก็มาสั่งเราว่า ทำไมไม่ปลูกผักชีลาว ไม่ปลูกกวางตุ้ง ไม่ปลูกตำลึง ไม่ปลูกอะไร เราก็ไปหาพันธุ์มาเริ่มปลูก และค่อยๆ เริ่มเยอะไปเรื่อยๆ”


พอคนบอกต่อกันแล้วเขาก็มาเที่ยวสวน พอดีผมปลูกไปเรื่อยๆ มันเริ่มมาดังจาก “กะเพรา” ปลูกกะเพราตอนนั้นกะเพราไรซ์สึ (กะเพราราดข้าวโปะหน้าด้วยไข่ดาว) มันดังในญี่ปุ่นด้วย ตอนนั้นเขามาที่ร้านส้มโอแล้วเขาถามว่าเอากะเพรามาจากไหน? จริงๆ แล้วมันจะต้องมาจากเกาะโอกินาวา แต่เขาบอกว่ามาจาก “ไร่ศตพล” นี่เองเขาปลูกอันนี้ผักของเขาสวย แล้วก็ตอนนั้นจะมีรายการทีวีช่องใหญ่ของญี่ปุ่นได้เข้ามาถ่ายทำรายการที่ไร่ศตพลด้วย ประจวบกับตอนนั้นตนกำลังทำ “ผักชี” อยู่ด้วยเลยดังในญี่ปุ่นอีก รวมทั้ง กะเพรา โหระพา ผักชี และผักบุ้ง ต่อมาปลูกพริก “ตอนนั้นผักบุ้งมาจากเมืองโอกินาวามันเข้าโตเกียวไม่ได้ เป็นโรคเขาเลยสั่งระงับ แต่ว่าพอเรามาปลูกผักบุ้งที่นี่ได้มันก็เหมือนเข้าทางเรา”


ป๋าเทพยังบอกด้วย ปีที่แล้วยังได้ที่เพิ่มมาอีก 10 กว่าไร่ จากเดิมทำอยู่ตอนนี้รวม 50 ไร่ แต่ว่าในจำนวนดังกล่าวจะมีบางแปลงที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่บ้าง คิดเป็นเงินไทยประมาณไม่เกิน 3-4 หมื่นบาท/ปี ที่ว่าเป็นแปลงที่เราเริ่มต้นทำช่วงแรกๆ ใกล้กับบ้านเรา ยังคงจ่ายค่าเช่าที่ให้เขาอยู่ ส่วนแปลงอื่นๆ ที่อยู่รอบนอกห่างออกไปส่วนใหญ่มันเหมือนกับว่าเราได้มาฟรีแล้ว


“ผักไทย” ปลูกได้-ปลูกดีในญี่ปุ่น เลือกปลูกชนิดตามที่ตลาดต้องการ
ชนิดผักเด่นๆ ที่มีปลูกอยู่ในฟาร์มตอนนี้จะเป็นพริก ผักชี คะน้า กะเพรา โหระพา แมงลัก ตัวท็อปๆ เลยจะมีประมาณ 13-14 อย่าง แต่ว่าที่นี่จะมีผักไทยอยู่เกือบทุกอย่าง ผักชีนี่คือติดอันดับต้นๆ ของขายดี ต้องออกวันละ 30-40 กก. ทุกวัน กะเพราวันละ 30-40 กก. ผักบุ้งนี่ต้องตัดวันละ 30 หรือ 50 กก. เพราะว่าจะมีทั้งทำส่งพวกร้านสโตร์ต่างๆ และมีวิ่งรถเองเพื่อจะออกไปขายผักในช่วงกลางคืนด้วย อย่าง “มะเขือ” ก็ต้องมีออกวันละ 70-80 กก. วันหนึ่งๆ ทำผักออกขายไม่ต่ำกว่า 1,000 กก.ทุกชนิดประมาณ 20 กว่าอย่าง มีกระทั่งตำลึง ยอดฟักทอง ที่ญี่ปุ่นเขาจะกินยอดมะระ ยอดตำลึง ยอดฟักทอง (คนไทยในญี่ปุ่นนะ) แล้วมะเขือมีมะเขือตอแหล มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริกก็มี พริกขี้หนูสวน พริกกะเหรี่ยง พริกหนุ่ม และก็พริกชี้ฟ้าของศรแดง มีทุกอย่างครับ”


ปลูกผักไทยที่นี่จะไม่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี อย่างหน้าหนาวจะได้ผักชี คะน้า กวางตุ้ง ต้องปลูกอยู่ในโรงเรือนหรือโดมซึ่งที่นี่จะมีสำหรับการปลูกพืชในช่วงหน้าหนาวอยู่ประมาณ 10 โรง หรือพริกจะอยู่ได้อีกถึงกลางเดือนพฤศจิกาจากนั้นจะเป็นน้ำแข็งแล้ว ซึ่งการปลูกพืชในโดมจะต้องใช้พลาสติกช่วยคลุมดินให้อีกทีหนึ่งด้วยอยู่ญี่ปุ่นปลูกผักไม่ได้ทั้งปี อย่างผักที่อยู่ด้านนอกไม่ได้ พริกไม่ได้ กะเพรา โหระพา พอย่างปลายเดือนหน้าต้องเริ่มสั่งมาจากที่อื่นแล้ว แล้วมีคนที่หิ้วมาจากเมืองไทยมาขายให้เราบ้าง แต่เราก็ไม่ขาดเพราะว่าเราก็ต้องแพงเท่าไหร่เราก็ต้องซื้อเพื่อจะเลี้ยงร้านค้าไว้ แต่พริกเนี่ยเรา พริกสดเราก็ต้องแช่แข็งไว้ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ตัน เราก็ส่งวันละ 10 กว่าโลอะไรเงี้ย เลี้ยงลูกค้าเราไว้ เพราะระยะอยู่ในญี่ปุ่นนี่จะได้ตั้งแต่เดือน 5 ถึงเดือน 10 คือว่าเต็มๆ เลย นอกนั้นมันก็คือว่าลดลง”


ส่วนกลุ่มลูกค้าหลักๆ เลยจะเป็นอันดับหนึ่งคือ คนไทย อันดับสองอย่างเวลานี้เราค้าขายกับพวกอินโดฯ บังกลาเทศ เราไปส่งที่ร้าน (หรือสโตร์) ของเขาเลยเขาเป็นร้านส่ง แล้วเขาไปขายปลีกอีกที เขาจะกินพริกเขียวเราจะส่งพริกเขียวแล้วก็แตงกวา พวกผักบุ้ง ผักกาดเขียวปลี พวกยอดฟักทองเราส่งสัปดาห์หนึ่งๆ ประมาณเกือบ 1,000 กก.เหมือนกัน ส่วนอันดับสาม ญี่ปุ่น ผักไทยเพราะว่าร้านอาหารไทยที่ว่าร้านใหญ่ที่สุดคนเจ้าของหรือซาโจ้เป็นคนญี่ปุ่น จะเป็นญี่ปุ่นส่วนมากแล้วก็กุ๊กกับคนเสิร์ฟกับแคชเชียร์เนี่ยเป็นคนไทย แต่เจ้าของจริงๆ เป็นญี่ปุ่น บางเจ้ามีเป็น 10 สาขา เขาก็ใช้ของเราอยู่อย่าง จัสมิน ใช้พริกของเราปีหนึ่งๆ เป็น 1,000 กก. ต้องส่งเขาเลยว่าพริกแดง 1,000 กว่าโล แล้วผักกะเพรา โหระพา สัปดาห์หนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 7-8 กก. ผักชีก็สัปดาห์ละ 15 กก. เราต้องส่งเขาตลอด “อย่างในญี่ปุ่นผมจะวิ่งในเขตไปถึงชินจูกุ อิเคะบุคุโระ อะไรเงี้ยนะไปเขตนี้ ถ้าอย่างเมื่อคืนเงี้ยผมจะวิ่งตั้งแต่อิตาซาจู แถวเวนุส แถววัดอาซากุสะ จะวิ่งไปในเขตนี้อย่างวันนี้ ก็วิ่งทางเขตโตเกียวเหมือนกันแต่ก็ตั้งแต่มาซาโด้จนไปถึงชินนิโจเนาะ ก๊วยหว่าแถวนี้ แล้วก็วันพฤหัสฯ อีกเขตหนึ่งอยู่แถวไซตามะ ผมวิ่งอยู่ 3 จังหวัดของญี่ปุ่น มีโตเกียว ไซตามะ และก็ชิบะ เพราะมันเป็นเขตติดต่อกัน”

อย่างในช่วงเวลาที่เราวิ่งรถเพื่อออกไปขายผักเอง คือว่าพอใครอยากจะซื้ออย่างวันจันทร์ซื้อไม่ทันต้องรอไปอีกวันจันทร์หน้า จะไม่วิ่งซ้ำที่เดิมโดยจะต้องรอจนกว่าจะถึงรอบหน้าที่มาเขตนี้อีกเท่านั้น อย่างใครถ้ามาไม่ทันเขาก็ให้เราส่งทางไปรษณีย์ให้ซึ่งที่ไร่ก็จะมีบริการส่งทางไปรษณีย์ด้วย (เหมือนเคอรี่บ้านเรา) ช่วงกลางวันก็มีทำผักเพื่อส่งทางเคอรี่แล้วก็เรามีรถเล็กเพื่อไปส่งตามร้าน (หรือสโตร์) ของอินโดฯ บังกลาเทศพวกนี้เขากินผักไทย ไปวันเว้นวัน


การขายเลียนแบบตลาดผักเมืองไทย ให้ลูกค้าได้หลากหลายแต่จ่ายไม่แพง!
อย่างรถที่ผมไปขายกลางคืนมันเป็นผักชาวบ้าน เหมือนว่าใครอยากกินอะไร อย่างเช่น แกงอ่อม ผักชีลาวมีไหม ใบแมงลักมีไหม มีฟักทองอ่อนไหม มีตำลึงไหม มีอะไรบ้างมีถั่วพูไหม ถั่วฝักยาว คือว่ามันมีทุกอย่างในรถที่เราเตรียมเอาไป มันเหมือนว่าคนจ่ายกับข้าวในบ้าน แต่จริงๆ ในร้านอาหารที่เราส่งก็มีมะเขือ กะเพรา แล้วก็โหระพา ผักชีฝรั่ง แต่อย่างปีหน้ากะว่าจะลองทดสอบทำ “ผักชีฝรั่ง” ดู อย่างใบชะพลูตอนนี้ปลูกเองแล้วก็ผ่านอยู่ แล้วที่เขาเรียกผักไผ่ (หรือผักแพว) ของทางเหนือเขาเอาไปใส่ลาบ ไปยำไก่ยำอะไร แถวนี้คนเหนือคนอีสานเยอะ เหมือนตลาดสดบ้านเราเลยผมว่า แผงบางทีเมืองไทยยังจะน้อยกว่าผักที่ผมอยู่ในญี่ปุ่นเลย “เหมือนสิบกว่าปีที่เราทำมาเนี่ยมัน เหมือนเรารู้ใจว่าอุ้ยผักตอนนี้ทำอย่างนี้เราขายดีอย่างเงี้ย แต่เวลาอย่างกะเพรา โหระพา ผมทำไปประมาณขีดเดียว กำละขีดๆ ใส่ถุงหมดนะ ของผมต้องใส่ถุงหมด มันจะไม่เหี่ยวแล้วถุงเราใช้แบบเหมือนถุงร้อนบ้านเราแบบบาง มันจะไม่เหงื่อ กำเดียว 200 ถ้าซื้อ 3 กำเนี่ยลดเหลือ 500 เยน เท่ากับลดให้เขาร้อยนึง แต่เหมือนเขาซื้อเขาก็อยากจะได้ 3 กำ มันลดไป 100 แต่ถ้าอันไหนมีน้อยเราก็จะไม่ให้เขาซื้อแค่อย่างเดียวคือว่าเอากะเพรา 1 กำ เอาโหระพา 1 กำ สะระแหน่ 1 กำ หรือใบแมงลักเอามารวมกัน คือให้ได้ 3 อย่าง 500”


เราจะให้เขาคละๆ กันไปเพื่อจะไม่ให้ของชนิดใดชนิดหนึ่งหมดไปก่อน เผื่อไว้ให้คนมาทีหลังจะได้ซื้อได้ด้วย (คล้ายๆ การขายผัก 3 อย่าง 20 บาทในตลาดบ้านเรา) เหมือนว่าบางคนเขาก็ชอบด้วย แล้วเวลาเราไปขายพอมันหมดก็หมดพร้อมกันทุกอย่างไปเลย อย่างคนไหนซื้อเยอะเราจะแถมให้เขาด้วย ถ้าเราเห็นแล้วว่าอย่างคนนี้ซื้อให้เพื่อนไปสองคนแล้ว แล้วตัวเองซื้ออีกเราจะมีแถมให้เขาเอาไปกินด้วยอีก มันเลยกลายเป็นว่าปากต่อปากแล้วเขาก็นิยมซื้อด้วยส่วนตัวมากกว่า พอเขาเห็น เขาเลือกผักได้สวย ต่างจากของเจ้าอื่นๆ ที่บางทีเขาใส่ถุงไม่ดี ห่อไม่ดี พอเปิดแล้วผักเน่ามาอย่างเงี้ย และเหมือนว่าเขาไม่รับผิดชอบ แต่อย่างของเราถ้าเขาบอกซื้อไปแล้ววันนั้นถุงนั้นไม่สวยเลยหรือว่าอะไร เราจะแถมให้เขาไปเลย มันเหมือนเราไปอยู่ในใจเขาแล้วมันก็ ใครก็ต้องรอเรา

“บางทีเนี่ยคนมามีเงินมาหมื่นเยนอย่างเงี้ย พอเห็นของโน่นบ้างมีมะม่วงมีอะไรผมขายหมด มีขายพวกเครื่องกระป๋องด้วยนะ มีปลาร้า มีประมาณเกือบ 10 อย่างละมั้ง ปลาร้า กะปิ หอม กระเทียม อะไรพวกนี้จะมีหมดเลยเหมือนเป็นสโตร์เคลื่อนที่ ก็ได้ผักได้เครื่องปรุงไปทั้งหมดเลย ข่า ตะไคร้ผมทำเป็นชุดต้มยำไปเสร็จ มีข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด แล้วอย่างคนญี่ปุ่นเขาอยากจะกินต้มยำเขาก็มาซื้อเราก็แนะนำ บางคนไม่รู้วิธีทำแต่เขาเคยไปไทยเขาเคยกิน เขามารอรถเรา เราจะถามเขาว่าวันนี้จะกินอะไรครับ อยากทำอะไร เขาก็บอกเคยกินต้มยำกุ้งเราจัดเป็นชุดต้มยำให้เขา แล้วมันมีคนอร์มีเครื่องปรุงเครื่องอะไร ก็เหมือนเขาติดใจเขามารอซื้อกันอย่างเงี้ย เหมือนเราบอกวิธีทำให้เขาด้วย”


ขายดีมากถึงขนาดต้องสั่งจองก่อน! ช่วงโควิดคนอยู่บ้านยิ่งขายดี
เรารู้ว่าจุดนี้ จุดนี้อย่างจันทร์-อังคาร-พุธ คือว่าเราต้องเตรียมไปให้เต็มเลย จนบางทีล้น โดยเฉพาะอย่างร้านอาหารอย่างเวนุสเฉพาะที่เราจอดทีหนึ่งมีประมาณ 5-6 ร้าน เราต้องทำไปส่งเขาด้วยเขาจะไลน์มาบอกเราไว้ก่อนเลย มะละกอ 2 ลูก กะเพราครึ่งโล อะไรอย่างเงี้ยเราจะจัดใส่ถุงเตรียมเอาไว้ให้เขาเลย เพราะถ้าเราไม่จัดไปก่อนเขาจะไม่เหลือ คนจะมารุมแย่งกันซื้อมันจะไม่มีเหลือให้เขา มันไม่ได้คือว่าเราเน้นว่า อย่างน้อยร้านค้าต้องมาก่อนเลย เขาจะไลน์มาก่อนเราต้องได้ก่อนแล้ว จัดมาให้เขาจากบ้านก่อนแล้ว เวลาเราไปทีจะส่งให้ทางร้านด้วยและก็ขายปลีกด้วย

“มันเหมือนคุ้นเคยกันแล้ว บางคนเรียกเราป๋าบางคนเรียกแม่เรียกพ่อเรียกอะไร แล้วอย่างช่วงโควิดเนี่ยที่ว่าดูเหมือนวิกฤต แต่เราอยู่ได้เพราะอะไร เพราะคนอยู่บ้านเราไปส่งที่บ้าน เขาแชร์ที่อยู่มาให้เพราะว่าทำกับข้าวกินเองหมดเลย สรุปแล้วเดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นทำกับข้าวเป็นหมดเลย บางคนนี่เขาไม่ได้ออกไปไหนไปกินที่ร้านไหนเขาให้อยู่ที่บ้าน เขาก็สั่งให้เราขับรถไปที่บ้านเขาเลยนะเขาก็ลงมาซื้อ แล้วสิ่งไหนที่เขาทำไม่ได้เขาดูจากยูทูบบ้างหรือโทร.มาถามกับเราบ้างอะไรเงี้ย เดี๋ยวนี้เขาเก่งกันหมดเลย โอ้เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ออกมาซื้อกับข้าวมาทำกับข้าว เราขายดีกว่าเก่าอีก จากวิกฤตช่วงโควิด เพราะคนอยู่บ้าน คนไม่เคยทำกับข้าวก็ต้องมานั่งทำกับข้าว”


บทเรียนจาก “ภาษี” ของญี่ปุ่น การค้าต้องซื่อตรงและทำให้ถูกต้อง
ครั้งแรกผมยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ผมจะเล่าให้ฟัง ผมทำแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็เหมือนว่าอยากจะออกจะเก่งกว่าเขาหรือแบบว่าไม่อยากเสียมาก แต่สรุปแล้วผมบอกเลยคนดูเรื่องนี้แล้วเอาไปคิดเลยนะทั้งในเมืองไทยหรือว่าในญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ว่าถ้าเราทำไม่ซื่อตรงนะไม่ได้! “ผมเนี่ยเจอย้อนหลังมา มากเลย! ผมโดน 7 ปีให้หลังช่วงก่อนโควิด ผมเจอย้อนหลังเป็นเงินญี่ปุ่น 3,000 ใบนะ! 2 ปีผมถึงใช้หนี้หมด ตอนนี้ผมโล่งแล้ว (หัวเราะ) ผมถึงกล้าออกทีวีออกสื่อต่างๆ ได้ เขาปรับเลยเราโดนย้อนหลังเลยในระยะเวลา 7 ปีที่เราไม่ได้ส่ง เขาปรับเราถ้าคิดเป็นเงินไทยตอนนั้นเรตประมาณ 28 นะ เป็นเงินไทยนี่ประมาณ 8-9 ล้านบาท! ผมเสียไปแล้ว แต่สิ่งนี้เราบอกให้ว่า เข้าสู่ระบบแล้วผมจ้างบริษัทเขาทำให้แล้ว ที่มาออกวันนี้ผมให้เป็นสื่อว่า สิ่งไหนที่ทำไม่ดีอย่าไปทำ เอาสิ่งที่ซื่อตรงได้น้อยแต่ได้แบบปลอดภัยอะไรเงี้ย มันดีกว่าครับ เพราะว่าเวลาโดนย้อนหลังแล้วมันเจ็บปวดนะครับ (หัวเราะ)”




เตรียมส่งต่อความสำเร็จอาชีพบั้นปลาย จะไปใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวแล้ว
ป๋าเทพ หรือ คุณศตพล สุขานนท์ชนาภา เจ้าของฟาร์มผักไทยในญี่ปุ่น “ไร่ศตพล” บอกว่า สิ้นปีนี้ผมจะหยุดออกขายเองในช่วงกลางคืนแล้ว เพราะว่าผมมีเด็กญี่ปุ่นที่มาเรียนรู้กับผมแล้วเขาอยากจะทำต่อ เขาขอทดลองทำ เขาขอเซ้งกิจการแบบขอทำแล้วผมจะอยู่เบื้องหลังเขา อยู่แบบว่าไม่ต้องไปขายเองตอนกลางคืนเพราะหูตาไม่ค่อยดีแล้ว เราจะช่วยเขาปลูกผักแล้วแบบเป็น “เซ็นเซ” เป็นคนดูแล แล้วผมจะปลูกผักในรอบนอกให้เขาว่า เขาไม่พอเราจะเอาผักเราไม่ต้องขายกลางคืนส่งเขาอีกทีหนึ่ง“ตั้งแต่ปีใหม่ไปแล้ว ผมจะไม่ออกไปขายผักเองในตอนกลางคืนแล้ว แต่เขายังใช้ชื่อของ “ไร่ศตพล” อยู่นะครับซึ่งเขาเป็นลูกน้องผมนี่แหละ แต่เขาเป็นคนญี่ปุ่นเราก็คิดว่าสิ่งวิชาที่เขามาเรียนรู้เราจะให้ปลูกฝังอยู่ในญี่ปุ่น เราและลูกน้องเราก็อยู่ในญี่ปุ่น เขาใช้ชื่อเราประมาณสักปีสองปีแล้วจะให้เขาลอยตัว เราให้เขาเปลี่ยนระบบไป คือเขาจะให้เราอยู่เฉยๆ ไปก่อนให้ดูแลเขา เขาตั้งเงินเดือนให้อะไรให้ เราอายุเยอะแล้วปีนี้ 68 แล้วครับ ก็คิดว่าเตรียมจะเกษียณแล้วเทปนี้ถือว่าฝากไว้เลยว่า เจอที่ไหนก็ยัง “รักเมืองไทย” ยังปลูกฝังความเป็นไทย ยังขึ้นล่องกลับไทยบ้าง มาญี่ปุ่นบ้างอะไรเงี้ย ผมมีครอบครัวอยู่ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว ผมคงจะมีเวลาพักผ่อนตัวเองบ้างแล้ว และจะพาแฟนไปเที่ยวประเทศโน้นประเทศนี้บ้างใช้ชีวิตตอนแก่ครับ”


จากลูกจ้างแรงงานไทยในญี่ปุ่น สู่เจ้าของฟาร์มผักไทยรายใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในประเทศญี่ปุ่น “ไร่ศตพล” บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ปลูกอะไรก็ขายดี (มากๆ) จนทำไม่ทัน! ขอบคุณ “ป๋าเทพ” คุณศตพล สุขานนท์ชนาภา ที่กรุณามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในอาชีพการเกษตรที่ญี่ปุ่น และยังเป็นผู้ที่นำ “ผักไทย” ไปเผยแพร่เพื่อให้คนต่างชาติได้รู้จักอีกด้วย ความสำเร็จในเรื่องของรายได้ที่ไม่ต้องพูดถึงเลยจากการทำอาชีพมานานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ทว่ายังมีอีกหนึ่งเรื่องที่พอได้ฟังแล้วทำให้เรารู้สึกชื่นใจในฐานะคนไทยคือ ป๋าเทพยังได้นำวัฒนธรรมความเอื้อเฟื้อและการแบ่งปันแบบคนไทยที่มีให้กันเสมอนำไปใช้อยู่ในวิถีของการทำอาชีพได้อย่างสำเร็จสวยงาม และสร้างความประทับใจให้ลูกค้าทั้งคนไทยเองและชาวต่างชาติ ที่ต่างให้ความเชื่อถือและสนับสนุนสินค้าของไร่ศตพลอย่างด้วยดีซึ่งไม่ว่าจะปลูกหรือผลิตอะไรมาขายก็ขายดีมากๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเชื่อว่าคงเป็นอยู่แบบนี้ตลอดไปเช่นกัน



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น