xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ธุรกิจโรงพิมพ์เจ๊งไม่เป็นท่า! หันทำ “วุ้นมะพร้าว” ขายเริ่มจาก 0 สู่ยอดขาย 173 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 67 รายได้แตะ 300 ล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อธุรกิจโรงพิมพ์เจ๊งไม่เป็นท่า เคลียร์หนี้สินจนหมดตัวผันตัวมาเป็นพ่อค้าขาย “วุ้นมะพร้าว” แบรนด์ “แม่ละมาย” ขายดีจนลืมหน้าอ้าปากได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเริ่มต้นจาก 0 สู่ยอดขายหลักร้อยล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขายปี 2567 ไว้ที่ 300 ล้านบาท อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีอาชีพและรายได้จากการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร พร้อมชูหมัดเด็ดของแบรนด์ที่เอา “เม็ดแมงลัก” มาผสมเข้ากับวุ้นน้ำมะพร้าวเพื่อให้เกิดความแตกต่างและลอกเลียนแบบยาก ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 20-40% ในทุกปี


นายวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ เจ้าของแบรนด์ขนมหวานแม่ละมาย เล่าว่า เดิมทีทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ และเมื่อย้อนไปเมื่อ 2541 ธุรกิจล้มเหลวไม่เป็นท่าและทำการเคลียร์หนี้สินจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “หมดตัว” จึงกลับมาตั้งหลักที่จังหวัดสุพรรณบุรีที่เป็นบ้านเกิดของภรรยาและคิดหาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ในช่วงนั้นคิดทำ “ไก่ย่าง” ขายเพราะคุณพ่อทำอาหารเป็น ทำให้ตัดสินใจลองขายไก่ย่างสูตรพริกไทยดำและเป็นสูตรเฉพาะที่คิดขึ้นมาเองพร้อมทั้งย่างขายตามริมถนนกับร่ม 1 คันเพราะไม่มีหน้าร้าน แต่ก็มัดใจลูกค้าได้ด้วยรสชาติ ทำให้ได้รับฟีดแบกที่ดีจากลูกค้ากลับมา แต่พอทำไปได้สักพักก็ต้องเลิกกิจการไปเพราะคุณแม่บอกว่าไม่อยากให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่าโดยตรงก็ตาม จึงทำให้ต้องเลิกกิจการไก่ย่างไปในที่สุด


ต่อมาได้เริ่มทำ “มะม่วงดอง” ขายและนำไปขายตามรีสอร์ตต่างๆ พร้อมกับเอาชื่อคุณแม่มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์คือ “แม่ละมาย” โดยให้เหตุผลการตั้งชื่อแบรนด์ว่าเป็นสิริมงคล จึงทำให้เป็นแบรนด์ “แม่ละมาย” ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา สำหรับการทำมะม่วงดองขายให้กับนักท่องเที่ยวโดยการทำไปด้วยและขายไปด้วยนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากต้นทุนไม่มี กำลังคนก็ไม่มี ทำให้เกิดไอเดียใหม่คือการนำสินค้าเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และท้ายที่สุดก็ได้นำสินค้าเข้าไปวางขายบนชั้นสำเร็จในปี 2541 และเริ่มขายในเซเว่น อีเลฟเว่นจังหวัดสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยารวมกัน 20 สาขา จากนั้นก็ได้ขยายไปอย่างต่อเนื่องในภายหลังพร้อมกับเริ่มมีพนักงานมากยิ่งขึ้น


ในช่วงปี 2545-2546 เริ่มเปลี่ยนโปรดักส์มาเป็น “วุ้นมะพร้าว” และทางเซเว่น อีเลฟเว่นก็ได้เจรจานำสินค้าใหม่ของทางแบรนด์เข้าวางขายในร้านทั่วประเทศ แต่ทางแบรนด์ยังไม่มีความพร้อมมากนักเพราะในตอนนั้นสามารถทำขายส่งได้ประมาณ 17 จังหวัดใกล้เคียงประมาณ 500 สาขา จนกระทั่งในปี 2551 เริ่มมีความพร้อมและบริหารจัดการบริษัทได้ดีก็ได้ตัดสินใจส่งสินค้าให้กับเซเว่นฯ เพื่อวางขายได้ทั่วประเทศ


สินค้าของแม่ละมายมีจุดแข็งคือการเพิ่มกิมมิคเข้าไปเพื่อให้เกิดความแตกต่างอย่างเช่น “วุ้นมะพร้าวใส่เม็ดแมงลัก” พร้อมด้วยน้ำเชื่อมและเติมกลิ่นมะลิ เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่คนอื่นสามารถทำตามได้แต่อาจจะทำไม่ไหวเพราะในตัวสินค้ามีการใส่วัตถุดิบหลายอย่าง รวมถึงกระบวนการรักษาความสะอาดจะต้องได้มาตรฐานและมีคุณภาพมากที่สุด เนื่องจากเม็ดแมงลักค่อนข้างดูแลเรื่องความสะอาดได้ยาก ดังนั้นจุดแข็งของแบรนด์แม่ละมายคือการรักษามาตรฐานได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้การนำเม็ดแมงลักมาเป็นวัตถุดิบในวุ้นมะพร้าวนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลจัดการให้ได้คุณภาพ เนื่องจากปัญหาสำคัญของเม็ดแมงลักคือการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทางแบรนด์จึงได้นำนวัตกรรมเครื่องนวดฝัดเม็ดแมงลักแบบแห้งของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาใช้ เพื่อให้ปราศจากสารปนเปื้อนดังกล่าว จนได้เป็นวุ้นน้ำมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักแบบถ้วยที่วางขายในร้านเซเว่นฯ นั่นเอง


ปัจจุบันแบรนด์แม่ละมายมีสินค้าวางขายในร้านเซเว่นฯ ทั้งหมด 10 รายการ โดยแบ่งออกเป็นขนมหวาน 7 รายการ เครื่องดื่ม 2 รายการ และธัญพืช (แห้ว) 2 รายการ ซึ่งแห้วเป็นสินค้าใหม่ที่วางขายเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทั้งนี้แห้วที่นำมาแปรรูปวางขายนั้นเป็นแห้วที่ดีจากจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะเป็นพืชที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI นอกจากนี้ถึงแม้แม่ละมายจะมีสินค้าวางขายในเซเว่นฯ เพียง 10 รายการและขายราคาต่อชิ้นในหลักสิบบาท แต่ก็ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยปีละ 20-40% ทุกปี ซึ่งในปี 2566 สามารถสร้างยอดขายได้เฉลี่ย 173 ล้านบาทและในปี 2567 นี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 300 ล้านบาท


นอกจากนี้แบรนด์แม่ละมายยังมุ่งมั่นยกระดับพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นให้มีคุณภาพ เช่น ลูกตาล ลูกลาน ใบเตย โดยเลือกรับซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้จากเกษตรกรที่เพาะปลูกแบบไร้สารเคมี และผ่านการตรวจสอบจากทางบริษัทก่อนจัดเก็บเพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าขายให้กับผู้บริโภคในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ในปัจจุบันทางแบรนด์ได้มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั่วประเทศและสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนปีละหลาย 10 ล้านบาทหรือคิดเป็น 50% ของยอดขาย


ในส่วนของกำลังการผลิตในตอนนี้สามารถผลิตได้ประมาณ 120,000 ชิ้นต่อวันและตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไว้ที่ 250,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งการตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตนั้นวางแผนการลงทุนไว้ที่ประมาณ 50-60 ล้านบาท โดยครอบคลุมไปในส่วนของอาคาร เครื่องจักรและการจัดการบริหารต่างๆ ที่อยู่ในงบการลงทุน ซึ่งทางแบรนด์เปิดเผยว่าภายใน 2 ปี จะได้เห็นกำลังการผลิตแตะ 250,000 ชิ้นต่อวันอย่างแน่นอน

กลยุทธ์เด็ดของแม่ละมายที่ขายสินค้าในราคาหลักสิบแต่สามารถสร้างรายได้หลักร้อยล้านบาทนั้น คุณวีระเปิดเผยว่า การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นแบรนด์จำเป็นต้องมีสังคมที่ดี ทีมที่แข็งแกร่ง ซึ่งทีมที่หมายถึงไม่เพียงแค่ทีมงานในบริษัทแต่รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ นอกจากนี้ก็ต้องมีพันธมิตรที่ดีเพื่อการเติบโตในแง่ของการทำธุรกิจ ส่วนเรื่องกำไรและเงินต่างๆ นั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้เช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่ Key Success ของธุรกิจ ซึ่งถ้าหากทำธุรกิจได้แบบนี้ถึงอย่างไรก็ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน


อย่างไรก็ตามแบรนด์แม่ละมายเป็นอีกหนึ่งเอสเอ็มอีที่มีกลยุทธ์และการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นแบรนด์ที่ไม่ใช่การเพิ่มยอดขายในระยะสั้นแต่ยังเป็นการพัฒนาสมดุลระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคในระยะยาว รวมถึงเป็นแบรนด์ที่ส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรในไทย เพื่อส่งต่ออาชีพและรายได้กลับคืนสู่ชุมชน นอกจากนี้ยังได้มีการแนะนำและฝึกอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :
แม่ละมาย วุ้นมะพร้าว



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น