xs
xsm
sm
md
lg

“พาคนรักกลับบ้าน” ไอเดียเขยเพชรบูรณ์ ปลุกปั้น “นางั่ว” เมืองแห่งโกโก้ สานฝันเด็กรุ่นใหม่ไม่ทิ้งบ้านเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โกโก้ พืชเศรษฐกิจ ที่หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสิรมให้เกษตรกรได้ปลูก พอมาถึงวันนี้ เราเริ่มได้เห็นผลสำเร็จที่เกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของเกษตรกรไทย และคนรุ่นใหม่ Young Smarth Farmer ที่พยายามปลุกปั้นแจ้งเกิดโกโก้จากประเทศไทย และหนึ่งในนั่นก็มีชื่อ ของ บริษัทต้นน้ำนางั่ว และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เกิดจากความทุ่มเททำงานอย่างหนัก ของ “บักต้น” เขยเพชรบูรณ์ ที่ต้องการพาคนรักกลับบ้าน

นายประเสริฐ ไกนอก (บักต้น) เจ้าของ บริษัทต้นน้ำนางั่ว จำกัด และ ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2565 เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้ นางั่ว และบริษัทต้นน้ำนางั่ว มาจากตนเองมีความต้องการจะกลับบ้านเกิด หลังจากเดินทางไปอยู่ในเมืองมานาน เมื่อแต่งงานก็เลยอยากจะพาครอบครัวกลับมาลองจับงานด้านการเกษตรในแบบที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง เริ่มจากไปดูว่าในตลาดเขาขายพืชผักอะไรกัน


โดยเริ่มกลับมาทดลองปลูก ซึ่งได้ปลูกพืชหลายๆ อย่าง ก่อนจะมาจบที่การปลูกโกโก้ และที่ตัดสินใจปลูกโกโก้ เกิดขึ้นมาจากความรู้สึก ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเวลาเอามะขามไปให้ฝรั่งกิน และพูดถึง มะขาม แทมมารีน ฝรั่งก็งงว่าเรากินแทมมารีน แต่พอบอกว่า แทมมารีนเคลือบช็อกโกแลต ก็รู้ทันที คิดว่า โกโก้ หรือ ช็อกโกแลตเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรู้จัก เป็นภาษา สากล ถ้าเราทำช็อกโกแลต หรือ โกโก้ น่าจะดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับมาบ้านเกิดได้

และเป็นที่มาของการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ ภายใต้ “โครงการพาคนรักกลับบ้าน” ปลูกและรับซื้อผลผลิตโกโก้จากเกษตรกร มาแปรรูป เป็นคราฟช็อกโกแลต จนถึงทุกวันนี้ ได้ทำงานกับสมาชิกผู้ปลูกโกโก้ นับพันราย ซึ่งเป้าหมายของเราคือ ต้องการทำให้ นางั่ว เป็นเมืองแห่งช็อกโกแลต และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ใช้โกโก้เป็นสื่อ ที่เมื่อนึกถึงโกโก้ อยากให้นึกถึง นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีบริษัทต้นน้ำนางั่ว ดูแลรับซื้อผลผลิตนำมาแปรรูปและทำการตลาดให้


เราต้องการจะทำให้คนรุ่นใหม่ ที่ในอดีต พ่อ แม่ส่งลูกๆ ไปเรียนและทำงานในเมือง เพราะไม่มีทางเลือกของงานมากนัก แต่ถ้าสามารถทำให้นางั่ว เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นแหล่งปลูกโกโก้ที่สำคัญของประเทศ เด็กคนรุ่นใหม่เหล่านั้น มีโอกาศและทางเลือกจะไม่ทิ้งครอบครัวเข้าไปอยู่ในเมือง

ตอนนี้ เราก็กำลังที่จะเดินไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ จากคนในชุมชน ลุง ป้า น้า อา และน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ ผู้นำชุมชน หน่วยงานของภาครัฐ และ เอสเอ็มอี ดี แบงค์ ให้การสนับสนุนเงินลงทุน ทุกภาคส่วนมาช่วยกันขับเคลื่อนเพราะถ้าทำเพียงลำพัง ไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ไม่สามารถจะเดินมาถึงจุดนี้ได้


คุณต้น เล่าว่า การทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ นางั่ว ทำงานโดยยึดหลักการบริหารงาน แบบ 3 P คือ People ผู้คนการจ้างงาน Profit ลูกค้ารายได้ Planet สิ่งแวดล้อม โกโก้ และพื้นที่ในการปลูก ทุกอย่างต้องทำงานประสานกันทุกภาคส่วน จึงจะสามารถนำพากิจการดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต ภายใต้การค้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ให้ทุกส่วนได้ประโยชน์เท่าๆ กัน เราจึงให้ความสำคัญทั้งระบบ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านั้น เหมือนลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าจะเดินมาได้ถูกทาง ที่ทำให้ทั้งเกษตรกร และเราได้ประโยชน์ร่วมกัน


“ผมต้องใช้เวลาถึง 11 เดือน หมดเงินไปหลายแสนบาท แต่ไม่ได้ขายโกโก้ พอมาดูบัญชี รู้เลยว่า ทำอย่างนี้ต่อไป เดินต่อไม่ได้ จึงได้ศึกษาการแปรรูปอย่างจริงจัง กับ ครูโอ๋ “พรมวิหาร บำรุงถิ่น” แบรนด์ ภูเกต ช็อกโกแลต ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี และ Dr.Rosane Freitas Schwan ซึ่งเป็นเพื่อนกับ อ.เจริญ จากนั้นก็เริ่มวิจัยเรียนรู้คุณภาพ จากเวทีแข่งขันต่างๆ เช่น Coe Cacao of excellent การประกวดเมล็ดโกโก้ยอดเยี่ยมของโลก ที่อิตาลี จนถึงปัจจุบัน”

ด้วยความตั้งใจ อย่างมุ่งมั่นที่ทำให้นางั่ว เป็นที่รู้จักในนามของเมืองแห่งช็อกโกแลต บักต้น ได้ทำงานอย่างหนัก และวันหนึ่ง เมื่อ รายการดูให้รู้ เปิดรับสมัครเกษตรกร เพื่อไปเรียนรู้การทำเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น คุณต้น ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และได้เป็นตัวแทนผู้ปลูกโกโก้ นำความรู้ต่างๆ มาให้กับเกษตรกร


คุณต้น เล่าว่า ได้นำความรู้ต่างๆ มาทำงานร่วมกับเกษตรกร เพราะต้องยอมรับว่า คนในพื้นที่มีความรู้ด้านการทำเกษตรมานาน และคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำเกษตร ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญต้องนั้น มาผสมผสานกับความรู้ในการทำเกษตรแนวใหม่ที่ได้ไปเรียนรู้มา

“ผมไม่ได้เป็นคนเพชรบูรณ์ แต่ผมเป็นเขย เพชรบุรณ์ เก็บเงิน เก็บทอง มาลงทุนที่นี่ ต้องการที่จะทำเศรษฐกิจอะไรให้เกิดในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่มีข้อดี เพราะมีความขยัน ไม่มีความคิดอะไรที่ซับซ้อน ในขณะที่เราเองก็อาจจะคิดซับซ้อนเกินไป พอเราปรับจูนกันได้ ทำงานได้อย่างลงตัว”


เช่น ปัญหาที่เราเจอ ทำไมโกโก้ มันถึงไม่เติบโตอย่างที่ต้องการ แต่พอเรามามองว่า ทำไมต้นไม้บนภูเขา ก็ไม่ได้ดูแล ไม่ได้รดน้ำ ใส่ปุ๋ย แต่ก็ยังเติบโตได้ดี และพบว่า สิ่งเดียวที่ทำให้ต้นไม้บนภูเขาอยู่รอดได้ มาจากระบบนิเวศน์ การอยู่ร่วมกันของต้นไม้หลายๆ ชนิด เราก็เลยกลับมาสร้างระบบนิเวศน์ให้กับโกโก้ของเรา เหมือนคนเราจะรอดคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยคนอื่นๆ อยู่รอบข้าง หรือ ถ้าเราจะสอนให้คนที่ทำเกษตรอยู่แล้ว มาทำตามเราก็ต้องทำให้เขาเห็นก่อน แต่ในช่วงแรกไม่ได้คิดว่าจะไปเปลี่ยนความคิดของเค้าทันที แต่ใช้การทำแผ่นไวนิล เขียนเรื่องราวขั้นตอนต่างๆ ออกมาเป็นภาพ เป็นข้อความ และเอาไปติดไว้ ถ้าบางเวลารู้สึกว่า อยากจะลองทำอย่างเรา หรือ ติดขัดปัญหาอะไรก็อ่านและลองทำตามดู ซึ่งก็ได้ผล

และปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว ได้เป็นแหล่งผลิตโกโก้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่สามารถผลิตโกโก้ที่ได้มาตรฐานโลก ส่งไปขายต่างประเทศ ทำให้คนทั่วโลก ได้รู้จักโกโก้จากประเทศไทย หลังจากที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าโกโก้ เป็นความภาคภูมิใจของ กลุ่มผู้ปลูกและแปรรูปโกโก้ทั่วประเทศ

ติดต่อ โทร.08-7056-3308
Facebook : กลุ่มโกโก้ นางั่ว


กำลังโหลดความคิดเห็น