การขับเคลื่อนยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าการตลาดสูงมาก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมสินค้าและบริการ ทั้งอาหาร แฟชั่น เครื่องสำอาง และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเองยังมีส่วนแบ่งตลาดอยู่น้อยมาก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอาหารมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น
วันนี้ พามารู้จักกับ 2 ผู้ประกอบการอาหารที่ประสบความสำเร็จทำตลาดฮาลาลในต่างประเทศ ไม่ได้มีโรงงานเอง ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี สามารถเข้าไปขายในประเทศมุสลิมได้หลายประเทศ และอีกหนึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานซีอิ้วเก่าแก่ เกิดมากว่า 100 ปี ตำนานตลาดน้อย เตรียมยื่นขอมาตรฐานฮาลาล เพื่อเตรียมเข้าไปเปิดตลาดในกลุ่มร้านอาหาร ที่ต้องการซีอิ้วดำสูตรโบราณแต้จิ๋ว จากประเทศไทย
โชติสกุลรัตน์ โรงซีอิ้วดำเก่าแก่กว่า 100 ปี
ย่านตลาดน้อยที่ยังดำเนินกิจการอยู่
“โชติสกุลรัตน์” โรงซีอิ้วเก่าแก่ ที่เปิดมามากกว่า 100 ปี เดิมชื่อโรงซีอิ้วเคียมง่วนเชียง เปิดครั้งแรกในย่านตลาดน้อย ย่านการค้าเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน ในกรุงเทพฯ แต่ตอนหลังได้ย้ายออกจากตลาดน้อย เพราะพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย โดยย้ายไปตั้งโรงผลิตอยู่ ที่จังหวัดสมุทรปราการ การดำเนินการผ่านมาถึงรุ่น ที่ 4 “มาณิสสา โชติสกุลรัตน์”
มาณิสสา โชติสกุลรัตน์ ทายาทเจ้าของโรงซีอิ้ว โชติสกุลรัตน์ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของโรงซีอิ้ว โชติสกุลรัตน์ มาจากเหลากง อพยพมาจากตำบลก๊กเอี้ยว ประเทศจีน เป็นตำบลที่ได้ชื่อว่าผลิตซีอิ้วดำที่อร่อยที่สุดในประเทศจีน เและเมื่อเหลากงอพยพมาอยู่ที่ประเทศไทย ก็ได้นำสูตรการทำซีอิ้วดำพร้อมกับนำสายพันธุ์เชื้อรา Aspergillus Oryzae ดั้งเดิมจากตำบลเก๊กเอี้ยว มาผลิตซีอิ้วดำเค็ม และซีอิ้วดำหวานสูตรโบราณ มาจนถึงปัจจุบัน
เกือบสิ้นชื่อเมื่อสู้แบรนด์ใหญ่ไม่ได้
ทั้งนี้ โรงซีอิ้วของเราเป็นหนึ่งในไม่กี่โรงที่ยังคงดำเนินกิจการต่อ ซึ่งเมื่อในอดีต สมัยรุ่นเหลากง หรือ รุ่นอากง มีโรงซีอิ้วเกิดขึ้นมากมายหลายยี่ห้อ แต่ก็ต้องเลิกกิจการไปหลังจากที่การทำตลาดไม่สามารถสู้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ได้ ในส่วนของโรงซีอิ้ว โชติสกุลรัตน์ เอง สมัยคุณพ่อ จริงก็ต้องการจะเลิกกิจการเช่นกัน แต่ยังมีลูกค้าที่ยังชื่นชอบ และติดใจในรสชาติ ซีอิ้วดำที่ไม่เหมือนใครของเรา โดยเฉพาะร้านอาหารที่ต้องรักษารสชาติของอาหารให้เหมือนเดิม ก็เลยอยากให้ยังคงทำต่อ ทำให้คุณพ่อตัดสินใจทำต่อ สมัยคุณพ่ออาศัยฐานลูกค้าเดิม
ผ่านมา 100 ปี ผลิตใช้โอ่งและเตาฟืน
เพื่อคงรสชาติแบบโบราณ
ในส่วนของการผลิตแม้จะผ่านมานับ 100 ปี แต่ทางโรงซีอิ้วของเราก็ยังคงการผลิตในรูปแบบโบราณดั้งเดิมเพื่อรักษาคุณภาพและรสชาติให้เหมือนเดิมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการหมักด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยใช้เชื้อราหมักซีอิ้วที่เป็นสายพันธุ์เฉพาะนำมาหมักกับถั่วเหลืองที่เราคัดเลือกมาแต่ถั่วเหลืองคุณภาพดี ในโอ่งและต้มเคี่ยวด้วยเตาฟืนนานกว่า 8 ชั่วโมงจนได้เป็นซีอิ้วดำสูตรเข้มข้นที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ปราศจากการปรุงแต่งด้วยสารเคมี และวัตถุกันเสีย
สำหรับสินค้าของเรา ประกอบไปด้วย ซีอิ้วดำเค็มตราตาแป๊ะ ซีอิ้วดำหวานตรากุหลาบ และยังมีอีกหลายยี่ห้อ เพราะลูกค้าของเราจะมีอยู่ในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ เดิมทำตลาดแบบมีตัวแทนขายดูแลในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่นครปฐม ใช้แบรนด์ดอกกุหลาบ หรือ ที่จังหวัดชลบุรี ก็จะใช้อีกแบรนด์หนึ่ง เป็นต้น โดยมีด้วยกันทั้งหมด 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ซีอิ้วดำเค็มตราตาแป๊ะ ตราบ้าน ตราดอกบ๊วย ตราแดง ซีอิ้วดำหวานตราดอกกุหลาบ และตรากระเช้า ลูกค้าหลักจะเป็นร้านอาหาร และครัวเรือนในเขตพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
เตรียมขอมาตรฐานฮาลาล
เชฟช่วยสร้างชื่อ ซีอิ้วดำไทย โกอินเตอร์
มาณิสสา เล่าว่า ในส่วนแผนการตลาดในปีนี้ 2567 มีแผนที่จะขยายตลาดส่งออก แต่ยังคงมุ่งเน้นไปที่ตลาดร้านอาหาร เพราะที่ผ่านมาลูกค้าของเราเป็นเชฟในร้านอาหารหลายแห่ง ซึ่งเชฟเหล่านี้บางคนก็ทำงานในต่างประเทศ หรือ เวลาไปต่างประเทศก็เอาซีอิ้วดำของเราไปด้วย ทำให้เราคิดว่าเราน่าจะทำตลาดร้านอาหารในต่างประเทศได้ เพราะเชฟหลายแห่งเริ่มรู้จักซีอิ้วดำของเรา และมีการใช้จากการแนะนำของเชฟด้วยกัน เป็นโอกาสของเราที่จะได้โกอินเตอร์
สำหรับในส่วนของตลาดฮาลาล คิดว่า ในเมื่อเราจะทำตลาดส่งออก เราควรจะส่งออกไปได้ทุกประเทศ รวมถึงประเทศในกลุ่มของมุสลิมด้วย ซึ่งตอนอยู่ในระหว่างการขอเครื่องหมายมาตรฐาน ฮาลาล เชื่อว่า ในกระบวนการผลิตของเราการขอเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาลไม่น่าจะยากมาก เพราะทุกขั้นตอนการผลิตของเราได้ผ่านมาตรฐาน อย. และทำอย่างสะอาดปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต
Vena Thailand ผลิตภัณฑ์อาหารมุ่งเน้นความเป็นไทย
นอกจากนี้ ในส่วนของการผลักดันผู้ประกอบการไปสู่ตลาดส่งออกอาหารฮาลาลไทย นั้น ยังมีอีกหนึ่งรายที่ได้มาตรฐานฮาลาลไทย และสามารถที่จะส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศมุสลิมได้ เป็นผลสำเร็จ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่เน้นรสชาติไทย ของ Vena Thailand ของ “คุณจันทนา มังคะลา” เธอเป็นมุสลิม ที่ตั้งใจจะทำอาหารรสชาติไทยให้คนมุสลิมทั่วโลกได้ชิม
โดยเปิดตัวจากผลิตภัณฑ์อกไก่แท่งกรอบ CRISPY Chicken STICKS และ COCONUT CRISPY ROLLS เป็นทองม้วนกรอบมะพร้าว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากได้ทำตลาดโดยการออกโรดโชว์ในต่างประเทศกลุ่มมุสลิมร่วมกับ ทางหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ปัจจุบันมีออเดอร์ จากประเทศซาอุดิอาระเบีย บูรไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ฯลฯ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำสินค้าไปขายให้กับคนมุสลิมในประเทศต่างๆ ได้
แค่ 1 ปี Vena Thailand โรดแล่นบนตลาดฮาลาลในหลายประเทศ
คุณจันทนา เล่าว่า เราเป็นบริษัทคนไทยที่เติบโตมาในด้านอาหารไทยและรสชาติดั้งเดิมของประเทศไทย เราเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติไทยสู่ตลาดโลก เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยและรสชาติไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นอกจากนี้เรายังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติไทยแท้ให้มีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของตลาดโลกอย่างไม่สิ้นสุด
โดยส่วนตัวมาทำธุรกิจนี้มาได้ประมาณ 1 ปี ผลตอบรับที่ออกมาถือว่าดีเกินคาด และความตั้งใจทำอาหารรสชาติแบบไทยให้กับคนมุสลิมทั่วโลกก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นหลังจากที่ได้ลูกค้าเป็นคนมุสลิมหลายประเทศ ชื่นชอบในผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเสนอ จนมีออเดอร์ซึ่งมาจากตัวแทนขายจากหลายประเทศ สั่งสินค้าของเราเข้าไปขายในประเทศของเขา โดยเฉพาะCRISPY Chicken STICKS เขาอาจจะไม่เคยกินมาก่อน เราเป็นรายแรกทำให้เราไม่มีคู่แข่งในขณะนี้
ในส่วนของขั้นตอนกว่าการทำผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของเรา ต้องบอกว่าไม่ได้มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยากมากกับคนทำโรงงาน เพราะเราไม่ได้มีโรงงานเอง แต่เราใช้โรงงานที่ได้มาตรฐานฮาลาลอยู่แล้ว ซึ่งเราใช้เวลาในการเตรียมเรื่องเพื่อขอมาตรฐานฮาลาล เพียง 6 เดือน ซึ่งมาตรฐานฮาลาลที่ได้จากประเทศไทย เป็นที่ยอมรับในกลุ่มมุสลิมทุกประเทศที่เราได้ไปโรดโชว์ และโชว์ดี ที่สินค้าของเราถูกปากคนมุสลิม ทำให้เราได้มีโอกาสในการทำตลาดฮาลาลในต่างประเทศ
ด้าน นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟืองฟู รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำหรับโรงงานไหน หรือ ผู้ประกอบการรายไหน ที่ต้องการจะขอมาตรฐานสินค้าฮาลาล เพื่อที่จะยกระดับสินค้าของตัวเองให้สามารถขายสินค้าให้กับกลุ่มคนมุสลิม ปัจจุบันนี้ สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมีศูนย์ให้การช่วยเหลือ ที่ชื่อว่า ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ที่ดูแล โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย และครม.มติให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เมื่อ กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์แห่งนี้ จะดูแลฮาลาล แบบครบวงจร ทั้งอาหาร แฟชั่น ยาสมุนไพร และการท่องเที่ยวฮาลาล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สศอ.ในฐานะหน่วยงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ได้ดำเนินกิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปแล้ว 4 กิจกรรม ได้แก่ เปิดตัว ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย กิจกรรมที่ 2 การขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลภายในประเทศ โดยนำผู้ประกอบการร่วมงาน THAIFEX -Anuga Asia 2024 กิจกรรมที่ 3 นำผู้ประกอบการไทยไปร่วมกิจกรรมการเจรจาความร่วมมือทวิภาคี ระหว่างไทย กับบรูไน กิจกรรมที่ 4 การประชุมระดับรัฐมนตรี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย นำผู้ประกอบการร่วมโชว์แสดงศักยภาพสินค้าฮาลาลไทย
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด