xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวัน พลิกชีวิตลูกชาวนายากจน สู่เจ้าของโรงงาน ซื้อที่ดิน 100 ไร่ รถกว่า 10 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวัน เส้นทางชีวิตของลูกชาวนามีที่ดินเพียง 7 ไร่ ทำนาแค่พอเลี้ยงลูกแทบจะไม่เหลือขาย จนต้องออกมาหาขายของ จนได้มาเจอข้าวเกรียบกุ้งเปลี่ยนชีวิตลูกชาวนายากจน กลายเป็นเศรษฐี เจ้าของโรงงานข้าวเกรียบกุ้ง และได้เป็นเจ้าของที่ดิน 100 ไร่ และ ซื้อรถให้ครอบครัว และใช้งานกว่า 10 คัน แม้วันนี้ ทุกอย่างจะสะดุดลง ยอดขายหลักล้าน เหลือแค่หลักแสนต้น ๆ จน เจ้าของโรงงาน ข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวันคนนี้ ต้องหันไปทำเกษตร แต่เธอยังยันว่า ยังไง คนที่ยังรักข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวัน ก็ยังคงได้กินอยู่ เพราะเธอไม่มีวันปิดโรงงาน ถึงวิกฤตครั้งนี้ หนักกว่าทุกครั้ง


จุดเริ่มต้น ข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวัน
พลิกชีวิตลูกชาวนาสู่เจ้าของโรงงาน


นางณอร สอนสุด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวัน ผลิตและจำหน่ายข้าวเกรียบกุ้งและข้าวแต๋นน้ำแตงโม จังหวัดพิจิตร เล่าว่า ตนเองเปิดโรงงานผลิตข้าวเกรียบกุ้ง และข้าวแต๋น มาตั้งแต่ปี 2548 ก่อนหน้านั้น ในปี 2540 ได้รู้จักกับข้าวเกรียบแบรนด์หนึ่ง เห็นเค้าขายดีมาก เราก็เลยอยากจะขายบ้าง ตอนแรกเราก็ไปรับเค้ามาขายก่อน แต่ตอนหลังมีออเดอร์เยอะขึ้น เห็นว่าเรามีลูกค้าอยู่ น่าจะทำขายได้

จึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เราได้ทดลองทำข้าวเกรียบกุ้งในสูตรของเราออกมาขาย ซึ่งคิดว่าน่าจะถูกปากลูกค้าของเรา แบบลองผิดลองถูกอยู่สักพัก พอได้สูตรที่คิดว่าลูกค้าน่าจะชอบก็ได้ให้แฟนช่วยออกแบบเครื่องจักรให้ โดยแฟนเค้าเคยเป็นช่างมาก่อน ก่อนหน้านี้ ที่เราไปรับข้าวเกรียบมาขาย ตนเองและแฟนก็ไปในโรงงานทำข้าวเกรียบแห่งนั้น แฟนเห็นก็กลับมาลองทำเครื่องจักร และแฟนทำออกมาได้ดี เพราะเครื่องจักรสามารถผลิตข้าวเกรียบกุ้งได้ตามอย่างที่เราต้องการ โดยในครั้งแรกลงทุนไม่เยอะ เครื่องจักรเราก็ออกแบบเอง เพราะในช่วงนั้น ยังมีลูกค้าไม่เยอะ


ปี 2554 น้ำท่วมขาดทุนแทบหมดตัว
ฟื้นกลับมาได้ออเดอร์เพิ่มแบบไม่คาดคิด


จนกระทั่ง ในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ตอนนั้นปิดโรงงานเพราะน้ำท่วม กู้เงินจากธนาคารมา 6 แสนบาท หมดเลยขาดทุนเกือบจะต้องปิดกิจการ จนเรามาได้เงินกู้จากธนาคาร ช่วยต่อสภาพคล่อง อีก 1 ล้านบาท หลังจากน้ำท่วม ปี 2556 ดีขึ้นมาเรื่อย ตอนนั้นถือว่าดีมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะมียอดขายเพิ่มหลายเท่ามากถือว่าขายดีมาก ยอดขายต่อเดือน 1-2 ล้านบาท มีตัวแทนรายย่อยที่วิ่งเข้ามารับข้าวเกรียบไปขายมากถึง 50-60 ราย ส่วนตัวแทนรายใหญ่เป็นตัวแทนภาค 6 ราย  ใช้แป้งทำข้าวเกรียบวันละเป็นพันๆ กิโลกรัม ช่วงนั้นได้มีการกู้เงินมาเพิ่มเพื่อซื้อเครื่องจักรเพิ่มแต่เจอปัญหาเครื่องจักรใช้งานไม่ได้หมดไปอีกเป็นล้าน แต่ด้วยยอดขายที่ไปได้ทำให้ไม่ได้กระทบกับการทำธุรกิจของเรา และเป็นเงินกู้เราก็ค่อยทะยอยใช้หนี้ ธนาคารไป


พิษเศรษฐกิจทำลูกค้าหายเกือบหมด

โดยในช่วงที่ยอดขายเยอะ ตอนปี 2556 ก่อนจะเจอสถานการณ์โควิด ยอดขายเยอะมาก ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราได้ซื้อที่ดินเพิ่ม จากเดิมมีที่ดิน 7 ไร่ สามารถซื้อที่ดินเพิ่มได้เป็น 100 ไร่ และซื้อรถเพิ่มอีกจนถึงปัจจุบันมีรถถึง 10 คัน และในช่วงนั้นโรงงานของเรามีพนักงานกว่า 30 คน แต่พอมาเจอโควิด ยอดขายก็ยังพอไปได้ แต่เริ่มลดลงพนักงานเหลือสัก 10 กว่าคน ยอดขายประมาณ 500,000 - 600,000 บาท แต่พอหลังสงกรานต์ ตั้งแต่ปี 2567 ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมดเลย จากเดิมก่อนโควิดมีลูกค้ามารับไปขาย 50-60 ราย ตอนโควิด เหลือไม่ถึง 10 ราย ตอนนี้ เหลือแค่ 3 ราย จากมีออเดอร์ทุกวัน ตอนนี้ มีอาทิตย์ละ ครั้ง คนงานตอนนี้ เหลือ 3-4 คน และทำงานตามออเดอร์ จากแป้งที่เคยใช้เป็นตัน เหลือ 300 กิโลกรัมต่อวัน รายได้ประมาณ สักเดือน 300,000 บาท


ณอร บอกว่า ชีวิตในอดีตก่อนจะมาขายข้าวเกรียบกุ้ง เธอเป็นลูกชาวนาที่บ้านยากจน การสร้างธุรกิจของเธอ เริ่มต้นจากศูนย์ หลังจากที่ตนเองกับแฟนต้องวิ่งไปหาของมาขาย เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองและดูแลลูก เพราะอาศัยทำเกษตรอย่างเดียวไม่พอกิน เพราะการทำเกษตรมันได้ไม่เยอะ เพราะมีพื้นทีน้อย เพียงแค่ 7 ไร่ แต่พอได้มาทำข้าวเกรียบทุกอย่างดีขึ้นมาเรื่อย แม้ว่าจะมีบางช่วงที่เราสะดุดไปบ้าง แต่ก็กลับมาได้ทุกครั้ง  จากเกษตรกรชาวไร่ชาวนาจนๆ คนหนึ่ง กลายมาเป็นเจ้าของโรงงานทำข้าวเกรียบ มีที่ดินเป็น 100 ไร่ มีรถเป็น 10 คัน ส่งต่อชีวิตดีดี ให้กับลูกๆ ได้มีเงิน มีหน้ามีตาในสังคม มีทรัพย์สมบัติให้ลูกๆ


ยันไม่ปิดโรงงาน แต่ต้องทำเกษตรควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้ ลูกๆ จะไม่มีใครมาช่วยสานต่อกิจการข้าวเกรียบ และ มีปัญหายอดขายที่ลดลงไปเยอะมาก เราก็ยังคงเดินหน้าทำข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวันของเราต่อไป ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำเต็มตัว เหมือนแต่ก่อน เพราะเราคงจะกลับไปทำเกษตร เพราะมีพื้นที่ที่สามารถไปปลูกข้าวทำนา ตั้งใจว่าปีนี้ ทำนาควบคู่ไปด้วย พื้นที่ของเราเอง ไม่ได้ไปเช่าเขา รายได้จากทำนาน่าจะพออยู่ได้ ตั้งใจว่าจะทำสัก 200 ไร่ เช่าสัก 100 ไร่ อีก 100ไร่พื้นที่ของเราเอง แต่ถ้าวันนึงมีคนมาสั่งข้าวเกรียบของเราก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ เพราะมีคนงานที่สามารถมาทำงานกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ


สำหรับการขายข้าวเกรียบกุ้งเมืองชาละวันของคุณณอร จะขายผ่านตัวแทนที่รับไปขายส่งร้านโชวห่วยที่ทอดหนึ่ง เดิมมีตัวแทนขายอยู่เยอะมาก 50-60 ราย ช่วงที่ขายดีดี ส่งให้ลูกค้าในราคาโหลละ 75 บาท ลูกค้าส่งต่อโหลละ 80-90 บาท เมื่อก่อน ลูกค้ารายหนึ่งสั่งที่ 500-700 โหล ร้านโชวห่วยขายในราคาห่อละ 10 บาท โหลหนึ่งขายได้ 120 บาท ได้กำไร 30-40 บาท ต่อโหล

ติดต่อ โทร. 06-4691-9529




คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น