xs
xsm
sm
md
lg

ออซั่มคาเฟ่ เจ้าของแฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอน 9 สาขา ทำไมเลือกแฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชนะชัย ภูศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออซั่ม คาเฟ่ จำกัด เจ้าของร้านแฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอนหลายสาขา ในฐานะของแฟรนไชซี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการมาเปิดร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน หรือ Café Amazon ว่า เริ่มมาจากตนเองคลุกคลีอยู่กับการทำธุรกิจของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือ สถานีบริการน้ำมัน ปตท.มานานกว่า 55 ปี ตั้งแต่ยุค 3 ทหาร


หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ได้เข้ามาบริหารกิจการต่อจากครอบครัว ตลอดระยะเวลาของการบริหารงานในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เริ่มเห็นแต่ละสาขาของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เริ่มมีการนำร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน หรือ Café Amazon เข้ามาเปิดอยู่ภายในปั๊มน้ำมันมากขึ้น ซึ่งตนมีความสนใจ และมีความชื่นชอบในคาเฟ่อเมซอนอยู่แล้ว เพราะไม่เพียงแต่เป็นธุรกิจที่สามารถช่วยสร้างให้เกิดยอดขายใหม่ๆ ให้ธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นธุรกิจที่สามารถส่งมอบอาชีพ หรือโอกาสใหม่ๆ ให้คนในชุมชนได้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ในปี 2555 จึงได้ตัดสินใจมาเปิดแฟรนไชส์ คาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในตัวอำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จากนั้นในปี 2559 จึงเริ่มมีการขยายสาขาออกไปเปิดนอกพื้นที่ปั้มน้ำมัน ปตท.เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นขยายสาขาเพิ่มขึ้นในปีต่อมา และมีสาขาในกรุงเทพมหานคร เช่น สาขาปิ่นเกล้า เขตบางพลัด สาขาซอยโรงพยาบาลเจ้าพระยา เขตบางกอกน้อย เป็นต้น รวมปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์คาเฟ่อะเมซอน อยู่ทั้งหมด 9 สาขา


นายชัยชนะ ยังได้ให้มุมมองในการทำธุรกิจ แฟรนไชส์ คาเฟ่ อเมซอน ว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากมีทั้งผู้ประกอบร้านกาแฟรายเล็ก ไปจนถึงผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์กาแฟรายใหญ่ เปิดกันเยอะไปหมด อย่างไรก็ดี คาเฟ่อเมซอน มีจุดแข็ง คือ แบรนด์ที่มีชื่อเสียง เป็นแบรนด์เน้นคุณภาพ และการบริการ ประกอบกับเป็นแบรนด์ที่อยู่มายาวนาน

ทั้งนี้ ในการคัดสรรวัตถุดิบอย่างเมล็ดกาแฟ ทางเจ้าของแบรนด์คัดสรรเมล็ดกาแฟ โดยเริ่มตั้งแต่การปลูก การดูแล กรรมวิธีการคั่วบดจากโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับสากล และมีความใส่ใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ใส่ใจในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นการดูแลตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ จนถึงมือผู้บริโภคที่เป็นในส่วนของปลายน้ำ นอกจากนี้ ที่เราเลือกเปิดแฟรนไชส์ คาเฟ่ อเมซอน เพราะมีทีมงานหลังบ้านที่มีความสามารถในการทำกิจกรรมการตลาดต่างๆ การคิดค้นสูตรเครื่องดื่มใหม่ๆ ทำให้ลูกค้าแฟรนไชส์ ซีอย่างเราไม่ต้องมาคิดเรื่องว่าจะทำการตลาดหรือจะจัดโปรโมชันอะไร


สำหรับในส่วนหน้าที่ของแฟรนไชส์ ซี ที่ต้องรับผิดชอบ คือ การทำ QSC ได้แก่ Quality = การรักษาคุณภาพ มาตรฐานการชงเครื่องดื่มของบาริสต้าแต่ละคนเพื่อส่งมอบความอร่อยของรสชาติแต่ละเมนูที่ชงในแต่ละแก้วให้ลูกค้าอย่างดี จนแต่ละแฟรนไชส์ที่ตนเปิดมีลูกค้าประจำที่อยู่ในบริเวณชุมชนนั้นๆ ต่างแวะเวียนมาซื้ออยู่เสมอ

ส่วน S= Service การส่งมอบบริการที่ดีให้ลูกค้า โดยที่บาริสต้า ในแต่ละสาขาของตนสามารถจดจำชื่อของลูกค้าประจำได้เลย รวมถึงการเป็นจุดนัดพบ เป็นห้องรับแขกให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเราบริการสถานที่ให้ลูกค้าได้มีพื้นที่ในการพบปะพูดคุย รวมถึงนั่งทำงานด้วยเช่นกัน และ C= Clean การดูแลความสะอาดภายในร้าน การปฏิบัติตามสุขาภิบาลอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ครองใจผู้บริโภคไปตลอด


ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้แฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอน ในแต่ละสาขาที่ตนเปิดมีรายได้ ยอดขาย สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่เปิดมายังไม่มีสาขาไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จ และต้องปิดกิจการไป เพราะเราสามารถปฏิบัติได้ตามที่ทางทีมงานคาเฟ่อเมซอนกำหนดมา ส่วนการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดแฟรนไชส์เครื่องดื่ม ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะเป็นคนชี้วัดว่าแฟรนไชส์รายไหนจะได้ไปต่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น