xs
xsm
sm
md
lg

“ตำปากเปิด” อดีตพนักงานธนาคารกินส้มตำทุกวัน ทำร้านเอง โตเงียบๆ ขยายไปแล้วกว่า 60 สาขา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเปิดร้านส้มตำ ในเวลานี้ถ้ามองไปในทางไหนหมือนจะเต็มไปหมด มีตั้งแต่รถเข็นส้มตำเล็กๆ ไปจนถึงร้านใหญ่โต ทั้งในห้าง และนอกห้าง การเปิดกันเยอะขนาดนี้ และทำไมร้านเหล่านี้ ยังอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยทุกภาค ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หนึ่งในเมนูที่พอมารวมตัวกัน ก็จะต้องพากันเข้าร้านส้มตำ วันนี้พามารู้จักร้านส้มตำ ชื่อว่า “ตำปากเปิด” ของอดีตพนักงานธนาคาร ตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านส้มตำ

นางสาวศดานันท์ ผิวหูม (คุณนก)
เปิดร้านส้มตำไม่ได้ง่าย กว่าจะมาเป็น
“ตำปากเปิด” เปิดและปิดมาแล้ว 2 ครั้ง


นางสาวศดานันท์ ผิวหูม (คุณนก) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตำปากเปิด จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์และร้านตำปากเปิด เล่าว่า เดิมตนเองทำงานเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง และด้วยความที่เป็นคนชอบกินส้มตำมาก ในทุกๆวันก็จะต้องตำส้มตำไปกินที่ทำงาน และ วันหนึ่งอยากสร้างอาชีพให้กับครอบครัว ก็เลยเปิดร้านส้มตำขึ้นมา ตอนแรกคิดว่าน่าจะง่ายๆ แต่พอเปิดจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ตอนนั้นไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ให้คนในครอบครัวดูแลกันเอง ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะร้านส้มตำเยอะ การแข่งขันสูง และขายอาหารต้องมีการบริหารจัดการร้าน จัดการวัตถุดิบ ซึ่งครั้งแรกมีลูกค้าอยู่นะ แต่ไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ตั้งใจ ก็เลิกไป และก็มาเปิดอีกครั้งที่ 2 ลองทำใหม่ ครั้งนี้ก็เหมือนเดิม ไม่คุ้มกับค่าเหนื่อย คือ มีลูกค้าแต่กำไรน้อย ปิดไปอีก

จนในที่สุด คุณนก บอกว่า ครั้งนี้ รู้สึกเริ่มอิ่มตัวกับการทำงานธนาคาร เริ่มอยากจะออกมาสร้างอาชีพ สร้างธุรกิจของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจลองกลับมาเปิดร้านส้มตำอีกครั้ง จากเดิมเปิดให้ครอบครัวทำกันเอง แต่ครั้งนี้ ขอเปิดเป็นร้านของตัวเอง แรกๆทำควบคู่ไปกับงานประจำ ซึ่งนำประสบการณ์ความผิดพลาดของการเปิดร้านทั้งสองครั้ง มาเป็นบทเรียน และไปเรียนหลักสูตรการเปิดร้านอาหาร และเรียนการทำอาหารเพิ่มเติม


การแข่งขันร้านส้มตำมีสูงมาก
งัดกลยุทธ์สื่อประชาสัมพันธ์เข้าช่วย

ในส่วนของเมนูส้มตำ อาหารอีสาน ครอบครัวของเราก็ถนัดกันอยู่แล้ว เพราะทำกินกันทุกวันอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ตอนเปิดร้าน 2 ครั้งแรก ไม่ใช่ส้มตำของเราไม่อร่อย เพราะมีลูกค้าเข้ามากินอยู่และหลายคนชื่นชอบเมนูส้มตำ และอาหารอีสานของร้านเรา แต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี และไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์ ซึ่งการแข่งขันในย่านลาดปลาเค้า รามอินทราที่เราเปิด ร้านอาหารเยอะมาก และร้านอาหารอีสานก็เยอะเช่นกัน ทำให้เราต้องปิดร้านไป เพราะแข่งขันไม่ได้

หลังจากกลับมาเปิดใหม่ ครั้งที่ 3 ใช้ชื่อว่า “ตำปากเปิด” ครั้งนี้ ต้องบอกว่า “คุณนก” เธอทุ่มสุดตัว เพราะตั้งใจว่าจะต้องแจ้งเกิดตำปากเปิดให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เพราะนอกจากการเรียนหลักสูตรเปิดร้านอาหาร และเมนูอาหารมาแล้ว คุณนกเธอยังได้ใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ แนะนำร้านไปค่อนข้างเยอะพอสมควร เพื่อให้คนจดจำแบรนด์ “ตำปากเปิด”

“ตอนนั้น เริ่มมีลูกค้าที่มีชื่อเสียง อย่าง ดารา นักแสดงแวะมากินที่ร้านของเรา นกก็ขอถ่ายรูปและเอาไปรีวิวในช่องทางโซเชียลฯตำปากเปิด ก็เลยทำให้ร้านเริ่มเป็นที่รู้จัก นักรีวิวอาหาร ก็มาขอรีวิว มาขอถ่ายเอาไปลงเป็นการบอกต่อ ในแบบที่รวดเร็ว และคนเริ่มจดจำชื่อร้านได้ และยังได้รับการชักชวนจากรายการทีวีดังๆ อีกหลายรายการ คนเริ่มรู้จักร้าน และรู้จักตัวของเจ้าของร้าน คือ “นก” มากขึ้น ปัจจุบัน นกใช้ตัวเองมาเป็นจุดขาย โดยการเริ่มสร้างตัวตน เพื่อให้คนจำเราได้ในทุกช่องทาง”


เปิด 6 ปี ขยายสาขาแฟรนไชส์ 60 สาขา

ทั้งนี้ หลังจากที่มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มากินชื่นชอบ เริ่มถามหาแฟรนไชส์ว่าเราขายไหม ตอนนั้นก็เลยกลับมาทำการบ้านว่า ถ้าจะเปิดขายแฟรนไชส์จะต้องทำอย่างไร มีกฎเกณฑ์อย่างไร และที่เลือกขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์ เพราะจากประสบการณ์ ถ้าขยายสาขาเอง กลัวว่าเมื่อเราไม่ได้ลงไปดูแลเองทำให้การบริหารจัดการไม่ทั่วถึง จะเกิดการผิดพลาดเหมือนครั้งแรกที่เปิดร้านและต้องปิดตัวไป เราก็เลยเลือกที่จะขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์ขึ้นมาแทน

สำหรับร้านตำปากเปิด เปิดมาตั้งแต่ปี 2560 รวมระยะเวลาถึงตอนนี้ ก็ 7 ปี โดยได้เริ่มขยายสาขาแฟรนไชส์ หลังจากที่เปิดร้านมาได้ประมาณสัก 1-2 ปี ปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์แทบจะทุกภาค ประมาณ 60 สาขา และตั้งเป้าไว้ว่า ต้องการจะมีสาขาแฟรนไชส์ ร้านตำปากเปิด ให้ได้สัก 100 สาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์อยู่เกือบทุกภาค แล้ว


ส่วนรูปแบบของแฟรนไชส์ ทำออกมา 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นแบบ คีออส ราคา 150.000 บาท ขายเฉพาะเมนูส้มตำ อาหารอีสาน และ ยำต่างๆ และ รูปแบบที่สอง เป็นแบบร้านอาหาร ราคา 350.000 บาท ซึ่งมีเมนูส้มตำ ยำ อาหารอีสาน แกง ทอด ฯลฯ ราคานี้ เป็นราคาระบบแฟรนไชส์ ซึ่งจะสอนและแนะนำตลอดระยะเวลาการเปิดร้าน ไม่รวมการตกแต่งร้าน อุปกรณ์ และวัตถุดิบต่างๆ โดยมีทีมงานที่จะมาคอยดูแล สอนทำอาหาร เลือกทำเล และสอนการเปิดร้านอาหาร ฯลฯ

“คุณนก” เจ้าของร้าน บอกว่า ที่ผ่านมาจุดขายของเราอย่างหนึ่งคือ สูตรน้ำปลาร้า ที่เมื่อนำมาทำเมนูไหน ก็โดนใจลูกค้าทุกเมนู ทางร้านทำน้ำปลาร้าสำเร็จรูปออกมาขาย และลูกค้าแฟรนไชส์จะต้องใช้น้ำปลาร้าที่เป็นสูตรของทางเราเท่านั้น ด้วย เพื่อที่จะได้ทำออกมาในรสชาติเดียวกันทุกร้าน ส่วนวัตถุดิบของสดอื่นๆ ลูกค้าแฟรนไชส์สามารถหาซื้อได้เอง

พอถามถึงรายได้ ผลตอบแทนเจ้าของร้าน ตำปากเปิด บอกว่า สำหรับการขายอาหารหรือ เมนูส้มตำ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 % หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ค่าพนักงาน หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เหลือประมาณนี้ ส่วนรายได้ของบริษัทฯ ในช่วงผ่านมา มีรายได้ ต่อเดือนอยู่ที่ 6 หลัก ยังไม่ถึง 7 หลัก


จุดขายทำให้ “ตำปากเปิด” ประสบความสำเร็จ

สำหรับ จุดขายที่ทำให้ “ตำปากเปิด” ประสบความสำเร็จ ขยายสาขาแฟรนไชส์ได้มากถึงเกือบ 70 สาขาในขณะนี้ ส่วนหนึ่งส่วนสำคัญ มาจากรสชาติของอาหาร จากสูตรที่มาจากครอบครัวคนอีสาน และกินอาหารอีสานทุกวัน และนำมาบวกกับการลองผิดลองถูก จากลูกค้าที่เคยมากิน และการไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากสูตรการทำอาหารที่ได้มาตรฐาน จนได้สูตรการทำอาหาร ที่ “คุณนก”เจ้าของร้าน มั่นใจว่า สามารถแข่งขันกับร้านอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ “คุณนก” ไปเรียนหลักสูตรการบริหารจัดการร้าน เพื่อนำมาบริหารต้นทุนทุกอย่างของทางร้าน เพื่อให้ได้คอร์สที่ประหยัดที่สุด เพื่อให้เกิดกำไรต่อหน่วยสูงที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องไปบวกที่ราคาอาหารให้แพงเกินไป เพราะในช่วงที่การแข่งขันสูง แม้รสชาติจะดี แต่ราคาอาหารแพงเกินไปก็ไม่มีลูกค้าเข้าร้าน ดยราคาอาหารเริ่มต้นที่ 50 บาท

และสุดท้าย การทำประชาสัมพันธ์ ในยุคนี้ ถือว่าได้เปรียบ เพราะมีสื่อออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่ง “คุณนก” ได้ใช้สื่อโซเชียลฯ และสื่ออื่นๆในทุกช่องทาง เพื่อเข้าถึงและให้ลูกค้าจำจดแบรนด์ นอกจากนี้ เธอยังได้ใช้กลยุทธ์ การตั้งชื่อร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้จดจำได้ง่าย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ คนจำชื่อ “ตำปากเปิด” ได้


เปิดร้านส้มตำ ชื่อสำคัญต้องตั้งชื่อให้คนติดหูจำง่าย

ปัจจุบัน มีร้านตำที่หลายคนจำได้มาจากชื่อ เช่น ตำมั่ว ตำซั่ว ตำนัว ตำแซ่บ ฯลฯ คุณนกบอกว่า ในอนาคต เธอก็อาจจะเปลี่ยนชื่อให้ดูง่าย ติดหูคนมากกว่านี้ ก็เป็นได้ เพราะชื่อร้านส่วนตัวเธอ มองว่ากลายเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคสื่อออนไลน์ ชื่อสะดุดหู ยิ่งทำให้คนอยากจะไปลองกิน แต่ก็คงจะเป็นเรื่องของอนาคต เพราะตอนนี้ ชื่อ “ตำปากเปิด” ก็ติดหูคนไปแล้ว หลักๆตอนนี้ “ตำปากเปิด” มุ่งไปที่ทำประชาสัมพันธ์ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแฟรนไชส์

“เจ้าของตำปากเปิด” พูดถึงการตัดสินใจมาทำธุรกิจของตัวเองครั้งนี้ว่า ตนเองคิดไม่ผิด แต่ไม่ใช่การทำงานประจำไม่ดีนะ มันก็ดี เพราะส่วนตัวได้ความรู้หลายอย่างจากการทำงานธนาคารมาใช้กับการทำร้านตำปากเปิดในครั้งนี้ แต่การทำงานประจำไม่เหมาะกับเรา ซึ่งการที่ออกมาทำธุรกิจของเราเอง ปัญหามีมาให้เราแก้ทุกวัน ไม่ได้ต่างจากการทำงานประจำ ที่มีปัญหามาให้เราแก้ทุกวัน แต่ปัญหาแตกต่างกันไป การแก้ปัญหาแตกต่างกัน

ติดต่อ Facebook : ตำปากเปิดแฟรนไชส์ ส้มตำเงินล้าน
โทร. 06-1115-5885


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น