xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหารไม่หวั่น สินค้าจีนบุกไทย ตั้งเป้าไทยผู้ส่งออกอาหารโลกติด TOP 10 ด้วยฟังก์ชั่นอาหารแห่งอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่มีกระแสการเข้าบุกตลาดของสินค้าจีนในประเทศไทย ทำให้หลายคนกังวล ซึ่งในส่วนของอาหาร ทางสถาบันอาหารเองมองว่าน่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้น และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไทยได้เปรียบดุลการค้าด้านอาหารกับประเทศจีนมาตลอด โดยในปีล่าสุดประเทศไทยมีการนำเข้าอาหารจากประเทศจีนเพียง 9 หมื่นกว่าล้านบาท ในขณะที่ไทยเอง ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรไปขายจีนมากถึง 3.7 แสนล้านบาท ไทยยังเกินดุลการค้ากับจีนอยู่มาก


ดันไทย ผู้ส่งออกติดท็อป 10 ของโลก

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมา มีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารและเกษตรไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และจากการจัดอันดับผู้ส่งออกอาหารโลก ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 พบว่า ประเทศไทยได้ขยับอันดับการส่งออกอาหารไปตลาดโลก จาก อันดับที่ 14 ในปี 2566 มาอยู่อันดับที่ 12 ใน 6 เดือนแรกปี 2567 และการที่ประเทศไทยมีอันดับการส่งออกดีขึ้น มาจาก ประเทศคู่แข่งที่เคยมีอันดับที่ดีกว่า คือ อินเดีย โปรแลนด์ อินโดนีเซีย มีการส่งออกลดลง

และจากอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ 3 หน่วยงานหลักทำหน้าที่ผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันการส่งออกอาหารจากประเทศไทยให้ขึ้นมาติด 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ส่งออก SME ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
รับอานิสงส์ วัตถุดิบราคาลง
ดันอันดับส่งออกจากลำดับ 14 ขึ้นมา 12

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 แตะระดับ 852,423 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ปัจจัยหลักส่งผลให้การส่งออกอาหารจากประเทศไทยไปสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาจาก การปรับตัวของราคาวัตถุดิบหลายตัวมีราคาลดลง ทำให้ไทยสามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ เช่น ราคาปลาทูน่าที่ลดลงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยง สามารถส่งออกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ผลิตซอสได้รับต้นทุนน้ำตาลและถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลง ราคากากถั่วเหลืองและราคาข้าวโพดที่ลดลงเอื้อต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมไก่ การลดลงของราคาข้าวสาลีในตลาดโลกช่วยลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น และไทยยังได้รับอานิสงส์จากการอินเดียลดการส่งออกข้าว ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น


แรงกดดันศก.โลกชะลอตัว
ทำให้ส่งออกครึ่งหลังชะลอตัว

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในภาคเกษตรที่ต่อเนื่อง ค่าเงินบาทยังคงผันผวนและมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค ภาพรวมในปี 2567 คาดว่าการส่งออกของอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เทียบจากปีก่อน(66) ที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
เพิ่มขีดความสามารถด้วยงานวิจัย

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ในส่วนของการผลักดันให้ประเทศไทย ขึ้นมาติดอันดับท็อป10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารโลก นอกเหนือจากสินค้าเกษตร แล้ว ในส่วนของการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มของ SME เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมา ทางสถาบันอาหารเองได้ช่วยเหลือเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี เยอะมากถึง ร้อยละ 95 โดยเฉพาะในเรื่องของงานวิจัย ให้ความสำคัญมาตลอด และในระยะหลังประเทศไทยได้ใช้งบเพื่อการวิจัยและพัฒนาร้อยละ 1 ถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

เนื่องจากการที่เราจะหวังพึ่งเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ จะเห็นได้จากการที่ประเทศจีน สามารถขายสินค้าเกษตรที่ราคาถูกกว่า หลายประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรเจอปัญหาเดียวกับเรา และยังมีเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ให้มีศักยภาพ และสามารถส่งออกได้ ทำให้การส่งออกอาหารจากประเทศไทย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออก ทาง 3 หน่วยงานจับมือ ร่วมกันทำงานมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในกลุ่มสินค้าชุมชน เช่น การเพิ่มมูลค่า ผักกะหล่ำปรี ที่คัดทิ้งเดิมนำไปทำอาหารสัตว์ มูลค่าที่ได้ไม่เยอะ แต่พอนำงานวิจัยเข้าไปช่วยแปรรูปกะหลำปรีที่เหลือทิ้ง นำมาเป็นสินค้าในกลุ่มสแน็ค (Snack) ช่วยเพิ่มมูลค่าได้เยอะมาก และยังสามารถส่งออกไปขายยังประเทศที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพได้ด้วย หรือ การพัฒนาอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก เช่น การนำอัลมอนต์ที่ตกเกรดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอัลมอนต์ เป็นโปรตีนทางเลือกกำลังได้รับความนิยม

   ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ส่งเสริมการผลิตอาหารแห่งอนาคต เพื่อดันไทย ติดTOP 10

ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทำงานภาคเอกชน ในการผลักดันส่งเสริมการผลิตอาหารแห่งอนาคต(Future Food) คือ สินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยในปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) ประเทศไทยส่งออกสินค้ากลุ่ม Functional Food มากที่สุด (สัดส่วน 90% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.23 แสนล้านบาท) รองลงมาคือ Alternative Protein (สัดส่วน 4.5% เติบโต 9% มูลค่ากว่า 6.5 พันล้านบาท) Medical & Personalized (สัดส่วน 4% เติบโต 2% มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท) และ Organic food และ Whole foods (สัดส่วน 1% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.6 พันล้านบาท) ในกลุ่มออแกนิกมีสัดส่วนที่ผู้ประกอบการอาหารไทยทำได้น้อย เพราะมีขั้นตอนเยอะ และต้องลงทุนสูง ประกอบกับราคาค่อนข้างแพง ทำให้ขายได้ยาก

จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างความชัดเจนและกำหนดแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ได้กำหนดคำนิยามของอาหารแห่งอนาคต คือ “อาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตอบสนองวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ มีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และคาดการณ์เป้าหมายมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยในปี 2570 ไว้ที่ 500,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ดี ถ้าการเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยสามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และการปรับเพิ่มงบวิจัยให้เป็นไปตามเป้า โอกาสที่ประเทศไทยจะมีลำดับการเป็นผู้ส่งออกอาหารไปตลาดโลกขึ้นมาติดท็อป 10 หรือ การขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 1 อาเซียนหรือ อันดับ 1 ในเอเชียได้ และที่ผ่านมา ในอุตสาหกรรมอาหารเองได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และ มีนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่นำนวัตกรรมการผลิตอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอินกรีเดียนท์ กลุ่มซอส และเครื่องปรุง เข้ามาลงทุนในไทย และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และเริ่มมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอินกรีเดียนท์เป็นอาหารฟังก์ชันฟู้ดมากขึ้น ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น