กรมการข้าว เดินหน้าพัฒนาชุมชนต้นแบบในการปลูกและผลิตข้าว ส่งเสริมข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจาก “วิสาหกิจชุมชนจุน ” จังหวัดพะเยา และ “ศูนย์ข้าวศรีดอนมูล” จังหวัดเชียงราย ผลักดันเป็นซอฟท์พาวเวอร์ไทย ชูผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “ข้าว” ออกสู่ตลาดกระจายรายได้สู่ชุมชน
นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวมุ่งสนองนโยบายรัฐบาล รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าวให้มีมูลค่าสูง ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ สินค้านวัตกรรม การบริการ และทำการต่อยอดข้าวออกสู่ช่องทางตลาดต่าง ๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยยังส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้มากขึ้น โดยมี “โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตรและแผนการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาด ปี 2567” เป็นโครงการสำคัญ ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งทำงานกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างเข้มข้น และมุ่งเน้นให้แต่ละพื้นที่พัฒนาข้าวให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียม เชื่อมโยงกับตลาดที่มีศักยภาพทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ โมเดิร์นเทรด และทำให้เกิดแบรนด์ที่น่าจดจำจากแต่ละชุมชน
หนึ่งในชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวของภาคเหนือคือ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีความโดดเด่นในการผลิตข้าวได้หลากสายพันธุ์จากความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์ในการปลูกข้าว ด้วยดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำที่มีส่วนประกอบจากหินภูเขาไฟและหินตะกอนชนิดต่าง ๆ ซึ่งพบบริเวณพื้นที่ราบหรือค่อนข้างราบระหว่างหุบเขา ดินมีการระบายน้ำเลวเนื้อละเอียด ซึ่งเหมาะแก่การปลูกข้าว ประกอบกับการมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ถูกพัดพามาจากน้ำแม่อิงส่งผลให้ผลผลิตข้าว จังหวัดพะเยามีความหอม รสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวยังเป็นข้อได้เปรียบในการต่อยอดไปสู่ผู้บริโภคที่มีหลากหลายไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สร้างมูลค่าจากการใช้กรรมวิธีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงสองปีที่ผ่านมามูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 27% (มูลค่าปี 2565 อยู่ที่ 9,169.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 7,127.63 ล้านบาท) มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์กว่า 4% รวมถึงผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
นายโอวาท กล่าวเพิ่มเติมว่า วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลจุน ได้เข้าร่วมหลากหลายโครงการตามกิจกรรมสนับสนุนของกรมการข้าวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปี 2557 ได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าทำความสะอาดข้าวและเมล็ดพันธุ์แบบติดตั้ง ต่อมาในปี 2561 รับการสนับสนุนรถตักข้าว จำนวน 2 คัน และปี 2563 ได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าทำความสะอาดข้าวและเมล็ดพันธุ์แบบเคลื่อนที่ โดยจากการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องได้ช่วยให้คนในชุมชนมีความสะดวกในหลากกระบวนการผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมยังช่วยตอกย้ำให้ชุมชนรู้จักช่องทางการขายหรือแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภค
ด้านนางสาวชัญญาณัฐ พระวิสัตย์ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้สมัยใหม่ในการผลิตข้าว รวมถึงการเพิ่มมูลค่าข้าวในทางการค้าเชิงพาณิชย์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อยกระดับข้าวพื้นเมืองให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล ซึ่งผลิตภัณฑ์ข้าวของวิสาหกิจชุมชนเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดและผู้บริโภค มีข้าว 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105) ข้าวกล้อง ข้าวมะลิแดง ข้าวก่ำ และข้าวไรซ์เบอรี่ ด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี จึงต่อยอดความต้องการของตลาดและขยายพันธุ์ข้าวในวิสาหกิจชุมชน โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคู่ในการเป็นศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์ข้าวให้เลือกเพาะปลูก ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี
“วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 1,000 คน 200 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 1,000-2,000 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น เกษตรกรทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน พฤษภาคม – ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 650 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 50 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 15,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวหอมมะลิ โดยนอกเหนือจากความโดดเด่นในการเพาะปลูกข้าวได้หลากหลายสายพันธุ์แล้ว วิสาหกิจยังมีความพร้อมในการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคด้วยกำลังการผลิตที่สูง ผ่านผลิตภัณฑ์ข้าวที่ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์สร้อยศรี ซึ่งแบรนด์นี้มุ่งใช้ กลยุทธ์ที่สำคัญทั้งความเป็นข้าวพรีเมียม ความเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตจากแหล่งเพาะปลูกคุณภาพบนพื้นที่สูง ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมี และมีสุดยอดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวทั้ง 5 ชนิด ที่หารับประทานได้ยาก มีความหอม นุ่ม เหนียว อร่อย รับประทานกับอาหารได้หลากหลายประเภท”
นางสาวชัญญาณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าข้าวในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าพรีเมียมเพื่อส่งต่อไปถึงผู้บริโภค ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง ข้าวพองกรอบเคลือบช็อกโกแลต เวย์ข้าวโปรตีนผสมธัญพืช 9 ชนิด แป้งข้าวอินทรีย์ และข้าวแต๋น ที่หลากหลายรสชาติ ผสมผสานการตกแต่งให้น่ารับประทาน โดยได้สร้างผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปในชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ข้าวหอมสร้อยศรี” เช่นเดียวกับข้าวสำเร็จรูป การันตีด้วยรางวัลข้าวดีเด่น ปี 2543 และปี 2544 กับโล่รางวัลชนะเลิศประเภทข้าวหอมมะลิดีเด่นระดับประเทศ อีกทั้งยังได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวให้ก้าวสู่สินค้าโมเดิร์นเทรดสำหรับผู้ประกอบการห้าง ค้าปลีก และค้าส่ง เพื่อนำไปจัดจำหน่าย อาทิ ท็อปส์ เดลี่ สาขา พะเยา และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ทั้งนี้ พร้อมเดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านกลยุทธ์ ทางการตลาดที่ครบวงจรการจัดจำหน่าย ผ่านออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ นายโอวาท เปิดเผยเพิ่มว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีการสร้างแปลงนา – วิสาหกิจชุมชนต้นแบบเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการพัฒนา พร้อมทั้งทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตที่ดีไปยังชุมชนอื่น ๆ โดยแนวทางดังกล่าวยังช่วยให้กลุ่มชาวนามีความเข้มแข็ง มั่นคง รู้จักแนวทางเพิ่มมูลค่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการแปรรูป การลดของเสีย นวัตกรรมในการผลิต การต่อยอดสินค้าไปสู่การบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการทำตลาดและการทำแบรนด์สินค้า และผลักดันให้ระบบเกษตรกรรมอย่าง การปลูกและผลิตข้าวในแต่ละพื้นที่มีความแข็งแกร่งและอยู่ได้ในระยะยาวอีกด้วย
“ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นชุมชนต้นแบบการผลิตข้าวที่สำคัญของจังหวัดและภูมิภาค ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแปลงใหญ่ข้าวด้วยแนวคิดการปลูกข้าวปลอดภัย เพื่อแก้ปัญหาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดี ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจนได้รับมาตรฐานการรับรอง GAP (Good Agricultural Practice) การผลิตข้าวตามหลักการ GAP Seed จากกรมการข้าว ควบคู่กับการจัดทำระบบควบคุมภายในเพื่อควบคุมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งกระจายและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสู่ชาวนาในพื้นที่ด้วยพื้นที่เพื่อการผลิตเฉพาะเมล็ดพันธุ์ถึง 238 ไร่ สามารถกระจายไปถึง 5 พื้นที่ที่มีการปลูกข้าว และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญให้กับคนในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้เกษตรกรยังมีความมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบประณีต พร้อมทั้งการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ มีความเชื่อมั่นระดับสูง การยกระดับมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งการแปรรูปข้าวให้เป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีการดำเนินการด้านการตลาดเข้าถึงผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนการเชื่อมต่อผลผลิตข้าวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีศักยภาพในการสร้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชนในตำบล”
นอกจากการผลักดันชุมชนต้นแบบในการผลิตข้าวของแต่ละพื้นที่แล้ว กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ยังมุ่งลดจุดอ่อนอุตสาหกรรมข้าวไทยในกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การลดของเสีย การทำการตลาด รวมถึงการผลักดันสินค้าสร้างสรรค์ - สินค้านวัตกรรมของแต่ละชุมชนให้เหนือไปกว่าการแปรรูปขั้นกลาง เนื่องจากขณะนี้ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยแนวทางนี้มุ่งหวังให้ อย่างน้อยเกิด 1 ผลิตภัณฑ์หรือบริการเรือธง ที่ต่อยอดหรือใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อสร้างการจดจำและรายได้ที่มากขึ้นให้กับวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งพลิกโฉมเกษตรกรรมให้ไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่ทุกกระบวนการเชื่อมโยงกันทั้งระบบการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูง คนในชุมชนเกิดรายได้สูง และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น
ด้านนายธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล เปิดเผยว่า กรมการข้าว ได้ให้
การส่งเสริมองค์ความรู้ การพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สินค้าข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดข้าว รวมถึงการเพิ่มมูลค่าข้าวในทางการค้าเชิงพาณิชย์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อยกระดับสินค้าในพื้นที่ชุมชนศรีดอนมูล ซึ่งผลิตพันธุ์ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค มีข้าวพื้นเมือง 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105) ข้าวเหนียว (กข6 สันป่าตอง และกข-แม่โจ้ 2) ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี จึงได้ต่อยอดขยายพันธุ์ข้าวให้มีเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เริ่มจากสมาชิกในชุมชน และให้เกษตรกรเลือกเพาะปลูก เพื่อผลผลิตที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของศูนย์ข้าวชุมชนในการขยายพันธุ์ข้าวให้มีเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น
วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลศรีดอนมูล ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 38 คน 45 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 1,037 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ เกษตรกรทำนาปีละ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน มิถุนายน – สิงหาคม และ เดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน เมษายน และเดือน มิถุนายน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 800 กิโลกรัม – 1.29 ตัน/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 250 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 11,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวหอมมะลิ
นอกเหนือจากนี้ความโดดเด่นของศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล คือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็น คราฟต์เบียร์ ภายใต้แบรนด์สุราฮิมนา ซึ่งอยู่ในกระบวนการทดสอบความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์แปรรูปให้เป็นไปตามมาตรฐานกรมสรรพสามิต ทั้งเรื่องของรสชาติ การสร้างแบรนด์ให้ตรงการตามต้องการของตลาดและดึงดูดใจผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต่อยอดข้าวเหนียวเขี้ยวงู (GI) แปรรูปเป็นเหล้าขาว ในรูปแบบโซจู ที่ทำการตกแต่งกลิ่นและรสชาติหลากหลายรส อาทิ ลิ้นจี้ สตอเบอรี่ มะม่วง และพีช และมียังมีแนวคิดในการแปรรูปข้าวหอมมะลิ 105 เป็น ชา ที่มีความหอมของข้าวหอมมะลิ โดยแนวคิดเหล่านี้กำลังอยู่ในกระบวนการต่อยอดความสำเร็จในผลิตภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าประจำชุมชนในการสร้างรายได้อนาคต”
นายธนานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนศรีดอนมูลยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้ข้าวด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อผู้บริโภค ได้แก่ ข้าวสุญญากาศภายใต้ชื่อแบรนด์ “ศรีดอนมูล” ฟางข้าว
อัดก้อน กระดาษสาจากฟางข้าว ก้อนเพาะเห็ดจากฟางข้าว และก้อนอิฐจากฟางข้าว โดยผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปได้พัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลิตข้าวได้มาตรฐาน GAP ได้รับรางวัลการันตีในการประกวดข้าวหอมมะลิ ประเภทรายบุคคลและสถาบันเกษตร ในปี 2565 นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดการสีข้าว ส่วนฟาง แปรรูปเป็นรำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าว และแกลบ ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนไม่มีเหลือทิ้งเป็นขยะแต่อย่างใด (Zero Waste) และ
เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อจัดจำหน่าย ส่งเสริมการค้าเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม สำหรับศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลศรีดอนมูล ได้เข้าร่วมหลากหลายโครงการตามกิจกรรมสนับสนุนของกรมการข้าวอย่างต่อเนื่องถึง 11 ปี อาทิ ปี 2563 ได้รับการสนับสนุนเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือก โดยจากการได้รับการสนับสนุนจะช่วยให้คนในชุมชนมีความสะดวกในกระบวนการผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังสามารถช่วยรักษาคุณภาพของเมล็ดรักษาสีและรูปร่างของเมล็ดข้าวให้สวยและมีความสมบูรณ์สูง ไม่ทำให้เยื่อหุ้มและตาข้าวเสียหาย พร้อมยังช่วยตอกย้ำให้ชุมชนรู้จักช่องทางการขายหรือแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภค
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *