xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับวันแม่! มารู้จักเส้นทางชีวิตแม่นักสู้ “แม่สมาน” หาบขนมขายสู่เจ้าของโรงงานขนมหวานโกอินเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องในวันแม่แห่งชาติ วันนี้ พามารู้จักกับเส้นทางการสู้ชีวิตของคุณแม่ เจ้าของโรงงานผลิตขนมหวานพื้นเมืองและหม้อแกงแม่สมาน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ถ้าพูดถึงหม้อแกงเพชรบุรี ในจำนวนแม่ๆ ทั้งหลาย ก็ต้องมีชื่อของแม่สมาน เพราะด้วยประสบการณ์ที่อยู่บนเส้นทางการทำขนมขายมากว่า เกือบ 50 ปี และรสชาติแบบฉบับของขนมเมืองเพชร ทำให้แม่สมานในวันเริ่มต้นจากหาบขนมขาย วันนี้ กลายเป็นเจ้าของโรงงานผลิตหม้อแกง และขนมหวานส่งขายทั่วจังหวัดเพชรบุรี


เส้นทางต่อสู้แม่สมานวัยเด็ก

ถ้าแวะจังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในของฝากที่ทุกคนหิ้วกลับบ้าน นั่นคือ ขนมหม้อแกง และเชื่อว่า ขนมหม้อแกงที่หลายคนซื้อกลับมา หนึ่งในนั้นน่าจะมาจากโรงงานผลิตหม้อแกง “แม่สมาน” เพราะหลายๆแบรนด์รับขนมมาจากโรงงานแห่งนี้มาจำหน่าย วันนี้ พามารู้จักกับเส้นทางชีวิต กว่าจะเป็นเจ้าของโรงงานหม้อแกงแม่สมานที่บอกเลยว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

นางสมาน กลิ่นนาคธนกร เจ้าของ โรงงานหม้อแกงแม่สมาน 
เล่าว่า เดิมตนเองเป็นคนจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันอายุ 75 ปี ชีวิตในวัยเด็กลำบากมาก เพราะครอบครัวฐานะยากจน เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อหาบเข่งใหญ่ 5 ใบ เดินตามทางรถไฟ ระยะทางกว่า 10 กิโล เพื่อนำไปขาย ได้เงินครั้งละ 5 บาท และขากลับระหว่างเก็บใบชะครามไปขายเจ็กโรงหมูได้กิโลละ 50สตางค์บ้าง 1 บาท และมีงานอะไรก็ทำหมด รับจ้างดำนาและยังไปเก็บข้าวตกมาขายทำมาหมดแล้วเพื่อ ช่วยครอบครัว


ชีวิตหลังแต่งงานต้องอดมื้อกินมื้อเพื่อลูกๆ

และวันหนึ่งได้พบรักกับสามี “นายอุดม กลิ่นนาคธนกร” ในปี 2511 แม่สมาน เล่าว่า ชีวิตหลังแต่งงานลำบากมาก เพราะต้องหาเงินเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว เริ่มจากขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย กินบ้าง อดบ้าง บางวันเงินแทบจะไม่มีติดตัว แต่ก็ต้องสู้เพื่อหาเงินเลี้ยงลูก 3 คน หาเงินให้ลูกไปโรงเรียนคนละ 2 บาท บางครั้งก็ต้องไปเป็นหนี้ ร้านขายข้าวสารเพื่อที่จะเอาข้าวสารมาให้ลูกๆ ได้กินกันก่อน

ครั้นจะขายก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวไม่พอ ก็เลยไปทำงานก่อสร้างเพื่อจะได้หาเงินมาใช้หนี้ แต่ก็ยังมีบ้าง ไม่มีบ้าง รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว แม่สมานก็เลยตัดสินใจเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากญาติสามีที่เพชรบุรี ที่เปิดร้านขายอาหาร และได้มาทำงานเป็นลูกจ้างร้านอาหาร ได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท พอทำงานได้ครบหนึ่งสัปดาห์ ก็เดินทางกลับบ้านเพื่อเอาเงินไปให้ลูกๆ ไปโรงเรียน


จุดเริ่มต้นของแม่ค้าหาบเร่

หลังจากนั้นญาติสามีเลิกทำ ตนเองได้สูตรข้าวมันส้มตำมาจากครูพักลักจำและมาทำขาย และเป็นจุดเริ่มต้นของการหาบของขาย เพราะตอนนั้นไม่มีเงินทุนเปิดร้าน ต้องขึ้นรถเมลล์โดยสารมาลงขายตามหน่วยงานราชการ ในตลาดเพชรบุรี พอหาบไปนานเริ่มเมื่อยและเหนื่อย อาศัยนั่งขายหน้าร้านเจ้าของร้านออกมาไล่ก็ต้องเดินขายไปเรื่อย แต่บางร้านก็ใจดีให้นั่งขายได้ พอขายไปนานเริ่มเป็นที่รู้จักและคุ้นกัน เจ้าของร้านก็ไม่ไล่แล้ว ตอนนั้นขายอยู่กระทงละ 2-3 บาท พอขายได้ก็เก็บเงินส่งไปให้ลูกได้กินได้ใช้ได้ไปโรงเรียน


ที่มาของการทำขนม ลองผิดลองถูกเอง

แม่สมาน เล่าว่า พอทำไปสักระยะเริ่มมีลูกค้าประจำหลายคนเริ่มเบื่อก็บอกว่าทำไม ไม่ทำอย่างอื่นมาขายบ้าง กินข้าวมันส้มตำบ่อยๆ ก็เบื่อ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม่สมานหันมาทำขนม เริ่มจากทำ “ข้าวต้มมัด” แม่สมานบอกว่า ก็อาศัยครูพักลักจำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเหมือนเดิม และอาศัยลูกค้าที่คอยติชมก็นำมาปรับ และค่อยๆ พัฒนาหาขนมชนิดอื่นๆ มาทำ เช่น ขนมใส่ไส้ ตะโก้ ข้าวเหนียวตัด หรือ ถ้าลูกค้าต้องการทำให้อาหารอะไรมาขาย เราก็ทำมาขายหมด

และด้วยความตั้งใจในการทำอาหารหรือขนมทุกอย่างออกมาขายก็เลยเป็นที่ถูกปากของลูกค้าในเรื่องของรสชาติที่หวาน มัน อร่อย จนเกิดการบอกต่อหลังๆ แม่สมานมีลูกค้ารู้จักและแวะเวียนมาซื้อขนมเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่กล่าวขาน และทางรายการทีวี ของ “คุณต๋อย ไตรภพ” เชิญไปออกรายการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขนมของแม่สมานก็เป็นที่รู้จัก


จากหม้อแกงไม่ได้คิดทำตั้งแต่แรก
ทำไมกลายเป็นร้านหม้อแกงชื่อดัง

ส่วนที่มาของขนมหม้อแกง มาจากวันหนึ่งมีลูกค้ามาสั่งขนมหม้อแกงจำนวน 100 ถาด ซึ่งในตอนนั้นแม่สมานติดปัญหา คือ ยังไม่เคยทำขนมหม้อแกงขายเลย จึงไปสั่งขนมหม้อแกงจากร้านผลิตขนมหม้อแกงขายที่เพชรบุรี และนัดรับขนมในช่วงเวลา 3 ทุ่ม แต่ปรากฎว่าคนทำขนมหม้อแกงเลื่อนให้มารับตอนเย็น แม่สมานก็เลยโทรไปสอบถามถึงการเลื่อนเวลานัดรับของ เพราะเกรงว่ารับมาเร็ว ขนมหม้อแกงจะเสียหาย ทำให้ร้านขนมหม้อแกงที่ทำขนมให้ไม่พอใจ บอกว่าถ้าไม่มารับก็เอาเงินคืนไป

แม่สนามโกรธมาก เดินทางไปซื้อเครื่องอบขนมหม้อแกง มุ่งมั่นและตั้งใจ อดตาหลับขับตานอน เพื่อที่จะทำขนมหม้อแกงออกมาขายให้ได้ โดยไม่มีความรู้เลย อาศัยลองผิดลองถูก ซึ่งก็ใช้เวลาทดสอบรสชาติอยู่นาน จนได้ขนมหม้อแกง ที่อร่อยถูกปากลูกค้า จนสุดท้ายหม้อแกงแม่สมานก็เป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และได้รับเลือกให้เป็นของดีประจำจังหวัดเพชรบุรี ในปี 2549 และได้PSO ระดับ 5 ดาว จนถึงปัจจุบัน


จากหาบขายมาสู่การมีหน้าร้านและโรงงานโกอินเตอร์

หลังจากร้านขนมหวานแม่สนามเป็นที่รู้จัก และขายดิบขายดี จนแม่สนามจากหาบขาย ก็ได้มาเช่าหน้าร้านในตลาดเพชรบุรี ใช้ชื่อร้านว่า “เพ็ชรสมาน” และมีลูกค้าที่ขายของฝากของที่ระลึก แม้แต่ร้านของฝากชื่อดังของเพชรบุรี หลายร้านก็ยังมารับขนมของแม่สมานไปขายกัน

และที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อมีลูกค้ารายหนึ่งเข้ามาติดต่อขอให้ทำขนมเพื่อส่งไปขายต่างประเทศ เป็นที่มาของการเปิดโรงงานเพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐาน อย. GMP และมาตรฐาน มผช. ฮาลาล ฯลฯ รองรับตลาดส่งออก เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ขนมจากโรงงานแม่สมานได้มีโอกาสโกอินเตอร์ไปหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และยังได้มีการพัฒนาสูตรเพื่อทำตลาดฮาลาล ที่ ประเทศมาเลเซียด้วย


ยอดขายวันละ 200 บาท สู่ยอดขายวันละ100.000 บาท

โดยเมื่อนับถึงวันนี้ แม่สมานเปิดโรงงานหม้อแกงมาเกือบ 30 ปี แล้ว ใช้เงินลงทุนไปกว่า 20 ล้านบาท มีลูกค้ามารับหม้อแกง จากโรงงานแม่สมานไปขายเป็นจำนวนมาก มียอดขายต่อวันเป็น 1,000 ถาด ถ้าเป็นช่วง เสาร์ อาทิตย์ มีออเดอร์ หลายพันถาด ถ้าย้อนกลับไปจากวันแรกที่แม่สมานหาบของขายมีรายได้เยอะสุด 200-300 บาท วันนี้ แม่สมาน มีรายได้หลักหลายแสนบาทต่อวัน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับลูกๆ ทั้งสามคน จากสองมือแม่ที่สู้มานะและอดทน จากวันแรกแค่เพื่อให้ลูกค้าได้มีกินมีเงินไปโรงเรียน ต่อยอดจนกลายมาเป็นอาชีพที่มั่นคงให้ลูกๆ ไม่ต้องลำบากเหมือนแม่ในอดีต

ติดต่อ Facebook : ขนมหม้อแกงแม่สมาน ขนมหวานพื้นเมือง
โทร. 08-1995-8317

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น