ชาวเกาะลันตา รวมกลุ่มเลี้ยงชันโรง ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ชู น้ำผึ้งชันโรงคุณภาพจากป่าที่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ชันโรง” เป็นแมลงผสมเกสรชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับ การผสมเกสร ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากมีประโยชน์ต่อการผลิตทางการเกษตรแล้ว ชันโรงยังสามารถเลี้ยงเพื่อเก็บเกี่ยว “น้ำผึ้ง” สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ดังเช่น เกษตรกรตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่เลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม ขยายจากกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อย กลุ่มแปลงใหญ่ที่เข้มแข็ง ก้าวสู่ตลาดท้องถิ่นและทั่วประเทศผ่านช่องทางออนไลน์
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2567 สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรที่เลี้ยงชันโรงในตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ชันโรงตำบลคลองยาง ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงรายย่อยในพื้นที่ตำบลคลองยาง จำนวน 34 ราย เข้าร่วมโครงการ พื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 320.75 ไร่ โดยมีการส่งเสริมการผลิตกล่องเลี้ยงชันโรง เพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากชันโรง โดยผ่านกระบวนการจัดเวทีวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของกลุ่ม จากนั้นได้ดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นให้แก่เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่แบบครบวงจร ทั้งในด้านเทคนิคการเลี้ยง อาทิ การดูแลรักษา และการผลิตกล่องเลี้ยงชันโรงที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมต่อการเลี้ยง รวมทั้งด้านการเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อาทิ การบริหารจัดการกลุ่ม การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพ
“ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ชันโรงตำบลคลองยาง มีความเข้มแข็ง เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งชันโรงที่มีคุณภาพและมีจุดเด่นเฉพาะตัว เนื่องจากเลี้ยงในป่าชายเลนที่อุดมไปด้วยพืชสมุนไพรที่หลากหลาย ไม่มีการใช้สารเคมี ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจากการได้รับองค์ความรู้จากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้ได้น้ำผึ้งที่สะอาด ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของคนรักสุขภาพ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ด้าน นายประสาน บุตรสมัน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ชันโรงตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่ตำบลคลองยางเป็นป่าชายเลน ซึ่งมีตัวชันโรงอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงมีชาวบ้านบางรายเลี้ยงชันโรงไว้ 1-5 กล่อง เพื่อใช้บริโภคในครอบครัว ต่อมามีปราชญ์ชุมชนได้ค้นพบว่าการเลี้ยงชันโรงในป่าชายเลน จะทำให้น้ำผึ้งชันโรงที่ได้มีคุณภาพ เนื่องจากมีความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยเฉพาะพืชสมุนไพร จึงได้รณรงค์ให้คนในชุมชนมาเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม โดยรวมกันเป็นกลุ่ม เริ่มจาก 14 ราย ต่อมาในปี 2567 สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะลันตาเข้ามาส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบเกษตรแปลงใหญ่ จึงมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 34 ราย มีชันโรงทั้งหมด 2,000 กว่ากล่อง
กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะลันตา สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้เข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงชันโรง และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนสำหรับจัดทำกล่องเลี้ยงชันโรงแจกจ่ายให้กับสมาชิก และทำเอกสารเเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม พร้อมทั้งประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเข้ามาบูรณาการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์และเชื่อมโยงการตลาด ส่งผลให้สมาชิกสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการผลิตกล่องเลี้ยงชันโรงใช้เองได้ ซึ่งเดิมทีจะต้องซื้อจากพื้นที่อื่นที่มีราคาสูง และยังต้องแบกรับค่าขนส่งและกล่องที่ได้ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงชันโรงในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รับความรู้ด้านการแยกขยาย การล่อหรือการต่อชันโรงตามธรรมชาติเข้ากล่องเลี้ยง การสร้างแหล่งอาหาร การจัดวางกล่องเลี้ยงในพื้นที่ ที่ชันโรงสามารถมีแหล่งอาหารได้ตลอดทั้งปีสามารถเพิ่มผลผลิต ทั้งทางด้านการขยายแม่พันธุ์ ในกล่องเลี้ยง และผลผลิตน้ำผึ้งได้สูงขึ้นกว่า 50% ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอากาศในแต่ละปี
ด้วยสภาพพื้นที่ของตำบลคลองยางเป็นป่าชายเลน ซึ่งมีความหลากหลายของพันธุ์พืชมากกว่า70 ชนิดและเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา 39 ชนิด จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรงของกลุ่มแปลงใหญ่ชันโรงตำบลคลองยางมีคุณสมบัติพิเศษ ประกอบกับมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง สามารถควบคุมผลผลิตให้มีความสะอาด ลดการปนเปื้อน และเทคนิคการจัดการ การหมักบ่ม ซึ่งกระบวนการจัดการเหล่านี้ทำให้คุณภาพผลผลิตน้ำผึ้งมีคุณภาพแตกต่างจากการเลี้ยงในรูปแบบเดิม
การบริหารจัดการของกลุ่มจะขับเคลื่อนโดยสมาชิกทั้งหมด แบ่งหน้าที่คณะกรรมการกลุ่มรับผิดชอบในแต่ละส่วน โดยจะมีการติดตามให้คำแนะนำสมาชิกในทุก ๆ ด้าน เมื่อถึงกำหนดเก็บน้ำผึ้ง ทางกลุ่มก็จะรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก โดยรับซื้อในราคาขวดละ 700 บาท (ขนาด700 ซีซี) เมื่อผ่านกระบวนการไล่อากาศแล้ว จะบรรจุขวดขนาด 250 ซีซี จำหน่ายขวดละ 400 บาทและบางส่วนจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แชมพู ครีมอาบน้ำ โลชั่น น้ำมันหอม น้ำมันนวด และสบู่ ซึ่งในแต่ละปีทางกลุ่มจะรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกได้ประมาณ 57 กิโลกรัม เพื่อจำหน่ายในตลาดชุมชน ออกบูธงาน ที่จัดโดยภาครัฐและมีจำหน่ายทางออนไลน์บางส่วน ซึ่งทางกลุ่มจะมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงและผลิตภัณฑ์ประมาณ100,000 กว่าบาท และกำหนดให้มีการแบ่งเงินรายได้ 15% เข้าสวัสดิการให้กับชุมชน และอีก 15% สำหรับสมาชิกผู้เลี้ยงชันโรง
“หลังจากเรามารวมกลุ่มกันเลี้ยงภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทำให้เรามีเครือข่ายจากหลาย ๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ควบคุมผลผลิตให้มีความสะอาด ลดการปนเปื้อน ผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดี ซึ่งในอนาคตเราจะขยายจำนวน การเลี้ยงโดยจะส่งเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้เลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม เพราะถือว่าทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าชุมชนของพวกเรา และบางคนยังขาดโอกาส ขาดแหล่งทุน ทางกลุ่มแปลงใหญ่จะเข้าไปช่วยกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ให้มีอาชีพ มีรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีต่อไป”นายประสานกล่าวทิ้งท้าย