xs
xsm
sm
md
lg

ที่มา 30 ปี “ โจ๊กสยาม” เกี่ยวข้องกับ “โจ๊กบางกอก” อย่างไร หรือหมดยุคแฟรนไชส์ราคาถูกหลังพบปิดตัวเพียบปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โจ๊กสยาม” อาจจะเป็นชื่อที่หลายคนไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึง “โจ๊กบางกอก” คุ้นหูมากกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าจริงแล้ว เจ้าของโจ๊กบางกอกตัวจริง เขาคือใคร และเกี่ยวพันกับโจ๊กสยามาอย่างไร และวันนี้ จะพามาพูดคุยกับเจ้าของ “โจ๊กสยาม” เพราะปีนี้ 2567 ประกาศที่จะบุกตลาดแฟรนไชส์อย่างจริงจัง พร้อมตั้งเป้าเตรียมเปิด 100 สาขา และมาฟังจากปากเจ้าของ “โจ๊กสยาม” ว่า ที่ผ่านมาทำไมถึงต้องยอมทิ้ง โจ๊กบางกอก และเปลี่ยนชื่อมาเป็นโจ๊กสยาม


ที่มากว่า 30 ปี โจ๊กสยาม การันตรี “เชลล์ชวนชิม”

นายสมชัย ธุระกิจเสรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเอส คอร์ป จำกัด เจ้าของแบรนด์โจ๊กสยาม เล่าว่า ตนเองและภรรยา คือ “คุณวนาพร ธุระกิจเสรี” เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารด้วยการเปิดร้านโจ๊กแห่งแรกที่ย่านโชคชัย 4 ในปี 2545 โดยได้พยายามพัฒนาสูตรโจ๊กขึ้นมาในแบบที่ไม่เหมือนใคร เพื่อให้ถูกปากคนไทย และด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาสูตรโจ๊กอย่างตั้งใจ จากที่ตัวเองมีพื้นฐานการทำอาหารขายอยู่แล้ว จากการเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดมาก่อน


ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะขยายสาขาได้เยอะ เพราะช่วงนั้น การขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์เพิ่งเริ่มมา ที่เห็นชัดๆในวงการอาหาร เช่น เคี้ยงเอ็มไพน์ ราชาบะหมี่ ฯลฯ เราก็อยากจะขยายสาขาเยอะและให้เป็นที่รู้จักแบบนั้นบ้าง ผมก็เลยทุ่มเทพัฒนาสูตรโจ๊ก เพื่อจะให้ได้โจ๊กที่ไม่เหมือนใคร เพราะคาดหวังว่าจะขยายสาขาให้เยอะเหมือนแบรนด์ดัง ใช้เวลาในการพัฒนาสูตรโจ๊กนานกว่า 8 เดือน จนได้เป็นที่มาของ “โจ๊กบางกอก” เมื่อย้อนกลับไปเกือบ 30 ปี

และด้วยสูตรที่ไม่เหมือนใคร ทำให้โจ๊กบางกอกของเราในเวลานั้น ได้รับความนิยม จากรสชาติที่คนไทย ไม่เคยกินโจ๊กรสชาตินี้มาก่อน จนเกิดการบอกกันปากต่อปาก จน ในปี 2547 เราก็ได้รับการันตรีความอร่อย ด้วยเครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” จาก “มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” หลังจากนั้น ได้เปลี่ยนชื่อจากร้านโจ๊กบางกอก มาเป็นโจ๊กสยาม


เจ้าของสูตร “ โจ๊กบางกอก” ตัวจริง เกิดอะไรขึ้นต้องเปลี่ยนชื่อ “โจ๊กสยาม”

“โดยในช่วงเริ่มต้น ในตอนนั้น ที่ผมเปิดร้านใหม่ใช้ชื่อว่า “โจ๊กบางกอก” ถ้าพูดถึงโจ๊กบางกอกในตอนนี้ หลายคนน่าจะรู้จักกันมากกว่า เพราะมีสาขาแฟรนไชส์จำนวนมาก และหลายคนก็คงสงสัย ในเมื่อผมเป็นเจ้าของร้านและเจ้าของสูตร และทำไม ไม่ใช้ชื่อโจ๊กบางกอก ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อเป็นโจ๊กสยาม”

สมชัย เล่าว่า เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเปิดร้านใหม่ ตอนนั้น เขามีน้องชายสองคน ซึ่งทั้งสองคนเขาก็มีหน้าที่การงานที่ดี ทำงานบริษัทชั้นนำของประเทศไทย มีเงินเดือนหลายหมื่นบาท และผมก็ไปชักชวนทั้งสองคนว่า มาทำตรงนี้ด้วยกันไหม พอผมไปเล่าให้ฟังว่าดียังไง ผลตอบแทนเป็นอย่างไร ทั้งสองคนก็เริ่มสนใจ ตัดสินใจลาออก ซึ่งในช่วงแรกทุกอย่างไปด้วยกันได้ดี บริหารกิจการแฟรนไชส์โจ๊กบางกอกด้วยกัน 3 คน จนผ่านไปสักประมาณปีครึ่ง ความเห็นเริ่มไม่ลงรอยกัน


"ตอนนั้นธุรกิจแฟรนไชส์มาแรงมาก การเติบโตของโจ๊กบางกอกไปได้ดี แต่ผมมองว่า การขายแฟรนไชส์ ราคาหลักหมื่นไม่ยั่งยืน และทำให้ภาพลักษณ์ ชื่อ โจ๊กบางกอกเสีย ถ้ามีการเปิดและปิดบ่อยๆ แต่ทางน้องชายไม่เห็นด้วย ผมก็เลยตัดสินใจถอนตัวออกมา และมาทำของตัวเอง ซึ่งเราก็ต้องรับผิดชอบและเราไปชวนออกจากงานมาทำ ก็เลยยกแบรนด์โจ๊กบางกอกให้น้องชายสองคนไปบริหาร และร้านของผมที่โชคชัย 4 เปลี่ยนชื่อ ร้านโจ๊กบางกอก มาเป็นร้านโจ๊กสยาม จนถึงทุกวันนี้"


เตรียมขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้า 100 สาขา

สมชัย เล่าว่า ในช่วงนั้น ไม่ได้สนใจที่จะขายแฟรนไชส์เลย ส่วนสาขาที่เห็นในตอนนี้ ประมาณ 12 สาขา มาจากให้ลูกน้องที่ทำงานกับเรา ไปเปิดบ้าง เราเปิดเองบ้าง โดยเริ่มที่จะขยับและเริ่มขยายสาขาในปี 2557 ที่มีให้ลูกน้องไปเปิดสาขา พร้อมกับมีการรีแบรนด์และปรับเปลี่ยนป้ายหน้าร้านใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัย และมีอาหารอย่างอื่นๆ มาขายด้วยนอกเหนือจากโจ๊ก ในปี 2565 ก่อตั้งบริษัท เจ เอส คอร์ป จำกัด เพื่อรองรับการขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์อย่างเต็มตัว และตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปี จะมีสาขาโจ๊กสยามให้ครบ 100 สาขา

“ส่วนเมนูอาหารที่นอกเหนือจากโจ๊ก มี บะกุ๊ดเต้ ต้มเลือดหมู และเกี้ยวสไตล์เสฉวน ส่วนของโจ๊กของเราเป็นโจ๊กสูตรกวางตุง ถ้าถามว่า เหมือนกับโจ๊กบางกอกไหม ก็ต้องบอกว่าเหมือนกัน แต่จะต่างกันที่รายละเอียด และความใส่ใจการทำของแต่ละร้าน ซึ่งส่วนของโจ๊กสยาม และโจ๊กบางกอกเป็นสูตรเดียวกัน มาตั้งแต่แรก เพราะเป็นสูตรที่ผมคิดขึ้นมาเอง แต่ที่บอกว่าต่างกัน เพราะการทำอาหารทุกอย่างแม้จะสูตรเดียวกัน แต่ถ้าคนทำไม่ใส่ใจรสชาติออกมาไม่เหมือนกัน”


การแข่งขันธุรกิจร้านอาหารรุนแรง
คนตกงานเปิดเยอะแฟรนไชส์ราคาถูกอยู่ยาก

นายสมชัย กล่าวว่า ในปีนี้ 2567 ทางบริษัท ได้วางแผนการขยายสาขาแฟรนไชส์เพิ่มอย่างจริงจัง โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจที่ต้องการจะเป็นแฟรนไชส์ ไปได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งก็มีคนให้ความสนใจสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก รูปแบบแฟรนไชส์ของ โจ๊กสยาม แตกต่างไปจากโจ๊กบางกอก แบบสิ้นเชิง เพราะผมเชื่อมั่นว่า การทำธุรกิจยั่งยืน ต้องมีหุ้นส่วน หรือ แฟรนไชส์ที่ตั้งใจจะทำ ถ้าขายแฟรนไชส์ราคาถูกไป ในช่วงนี้อยู่ยาก และมีแฟรนไชส์ราคาถูกที่ปิดตัวไปเยอะมากในปีนี้ หลังจากเปิดกันเยอะในช่วงโควิด ซึ่งในเวลานี้ ถ้าลูกค้าแฟรนไชส์ ไม่พิจารณาให้ดี หรือไม่ตั้งใจทำ โอกาสที่เจ๋งมีสูงมาก

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงเรดโอเชียนของร้านอาหาร เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงโควิดมีร้านอาหารเปิดเป็นจำนวนมาก เพราะมีคนตกงานเยอะ จำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันสูง ร้านไหนที่อยู่ไม่ได้ก็ต้องเลิกไป ซึ่งจะได้ยินข่าวมีร้านอาหารปิดเป็นจำนวนมากในปีนี้ แต่ที่เราสวนกระแสหันมาขยายสาขาแฟรนไชส์ในปีนี้ เพราะยังมั่นใจว่า คนที่จะมาลงทุนกับเราจะต้องรอดเท่านั้น เราถึงจะพิจารณาขายแฟรนไชส์ให้ โดยทางเราจะพิจารณาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นทำเล หรือดูความตั้งใจของคนที่มาซื้อแฟรนไชส์กับเรา ก่อนที่จะปล่อยไป


ตั้งราคาแฟรนไชส์ หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน

ทั้งนี้ บริษัทได้วางเป้าหมายในการขายแฟรนไชส์ในครั้งนี้ คือ ต้องให้ทุกคนที่มาซื้อแฟรนไชส์ร้านโจ๊กสยาม ต้องรอดไปกับเราแบบ 100% เราก็ไม่ต้องการให้คนที่มาลงทุนหลักแสนหลักล้านและไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นเงินทุนที่ค่อนข้างเยอะสำหรับคนที่ไม่ได้เงินมากนัก ดังนั้น ถ้าเราไม่มั่นใจก็จะไม่ปล่อยแฟรนไชส์ไป ซึ่งการปิดสาขาไม่ได้เสียหายเฉพาะคนซื้อแฟรนไชส์ เจ้าของแบรนด์เสียหายด้วย เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ทันที


สำหรับรูปแบบของแฟรนไชส์ โจ๊กสยาม มีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบคีออส พื้นที่ 20 ตารางเมตร ตัวอย่าง สาขาลาดพร้าว วังหิน และสาขา BTS อุดมสุข ฯลฯ ราคาแฟรนไชส์ เริ่มต้นที่ 500,000 บาท ในส่วนแบบที่ สอง เป็นแบบร้าน หรือ ห้องแถว ราคาแฟรนไชส์อยู่ที่ 800,000 บาท ยังไม่รวมค่าตกแต่ง ซึ่งถ้าจะเปิดแบบเป็นร้าน คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า หลักล้านบาท

ติดต่อ www.joksiam.com

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น