xs
xsm
sm
md
lg

10 อันดับธุรกิจรายได้สูงสุด ปี 2566 มีอะไรบ้างเช็กเลย ครั้งนี้ กลุ่มปิโตรเลียม มาแรงแซง เครื่องประดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดรายได้ธุรกิจ 10 อันดับที่มีจำนวนสูงสุดจากการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านงบการเงินประจำปี 2566 พบว่า มี 6 กลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุดคือ กลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม กลุ่มเครื่องประดับ (ขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับและร้านขายปลีกเครื่องประดับ) กลุ่มยานยนต์ (ผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล, ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ และขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ) ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน (ขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมันและขายส่งเชื้อเพลิงเหลว) ทั้ง 10 ธุรกิจยังคงครองอันดับเหมือนปี 2565 บางธุรกิจมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเลียมและพลังงานที่มีปัจจัยพลังงานทางเลือกเข้ามาเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่นิติบุคคลกว่า 80% ของนิติบุคคลทั้งประเทศ ซึ่งมีรอบปิดบัญชีในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องนำส่งงบการเงินประจำปี 2566 แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมฯ ได้นำข้อมูล งบการเงินและผลประกอบการของธุรกิจมาวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาพรวมและเชิงลึกในรายธุรกิจ

อธิบดี กล่าวต่อว่า “ล่าสุดกรมฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลผลประกอบการที่น่าสนใจ พบว่า กลุ่มธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องประดับ ยานยนต์ ธนาคาร และพลังงานสามารถสร้างรายได้สูงสุดจากทุกกลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็นรายธุรกิจ 10 ประเภทตามลำดับดังนี้ อันดับที่ 1 ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม สร้างรายได้เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 3.84 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 7.50% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.89% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

สำหรับธุรกิจในอันดับที่ 2 และ 3 เป็นกลุ่มขายส่งขายปลีกนาฬิกาและเครื่องประดับซึ่งได้รับปัจจัยบวก สืบเนื่องมาจากผลประกอบการของร้านขายทอง ได้แก่ อันดับ 2 ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ สร้างรายได้อยู่ที่ 3.12 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 13.67% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 3.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.01% ของธุรกิจในกลุ่มนี้ และ อันดับที่ 3 ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ สร้างรายได้อยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 26.42% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 74.53% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
อันดับที่ 4-6 เป็นธุรกิจในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มนี้ว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ และยังเกาะกลุ่มสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ อันดับที่ 4 ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล สร้างรายได้อยู่ที่ 1.56 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 11.57% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.96% ของธุรกิจในกลุ่มนี้ อันดับที่ 5 ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ซึ่งไม่ได้จัดประเภทไว้ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.05% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.45% ของธุรกิจในกลุ่มนี้ อันดับที่ 6 ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.33% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.49%ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 7 ธนาคารพาณิชย์ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 21.17% และ 100% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท อันดับที่ 8 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 1.13% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 0.68 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.54% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 9 และ10 เป็นธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงและพลังงานที่ยังคงสร้างรายสูงได้ติด 10 อันดับ แม้ว่าจะมีปัจจัยการเข้ามาแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า แต่การใช้พลังงานเชื้อเพลิงยังคงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ อยู่เช่นเคย โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปที่ยังคงเป็นพาหนะส่วนใหญ่ของประเทศ ได้แก่ อันดับที่ 9 ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน สร้างรายได้อยู่ที่ 1.02 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2.38% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 0.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56.95% ของธุรกิจในกลุ่มนี้ และอันดับที่ 10 ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว สร้างรายได้อยู่ที่ 0.96 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.82% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 0.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.88% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

จากข้อมูลรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 ที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 แล้ว ยังคงเป็นธุรกิจที่เคยติด 10 อันดับมาก่อน โดยเฉพาะ 3 อันดับแรกที่ครองแชมป์อยู่ในอันดับเดิม สำหรับรายได้ของธุรกิจทั้ง 10 อันดับ โดยส่วนใหญ่อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มของของปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปัจจัยด้านราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และการที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มีทางเลือกในการใช้พลังงาน อาจทำให้ส่งผลกระทบบางส่วนต่อรายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น