“เดือนละ 1 ล้านในส่วนของแคเทอริ่งซึ่งถ้ามกราก็ 1.5 ล้านเพราะเป็นช่วงที่เขาทำบุญขึ้นบ้านใหม่เยอะหรือทำบุญออฟฟิศกันเยอะก็แล้วแต่แล้วก็เดือนไหนที่ได้รับงานองค์กรใหญ่ๆ แบบบุฟเฟต์หลายๆ วันก็เยอะหน่อย แต่ถ้าเป็นของผักผลไม้ผูกปิ่นโตก็ 7-8 แสน/ด.ไม่เกิน”
จริง ๆ ถ้ามองว่าข้อเสียหรืออะไรที่มันไม่ดีที่ผ่านมา ก็คือเป็นเรื่องของการตลาดที่ทำได้ไม่ดี จริง ๆ ของมันดีบริการน่ะดีแต่ว่าคนรู้จักน้อย หรือพอไม่รู้จักเลยก็เลยทำให้ไม่มียอดขาย พอไม่มียอดขายปุ๊บในส่วนของ Fixed cost จ่ายก็ต้องจ่ายไป กำไรก็น้อยลง ๆ กระแสเงินสดไม่ดีก็เนี่ยก็ทำให้รายได้(ไม่มีรายได้เพิ่ม) ก็เลยมองว่ามันเป็นจุดที่ด้อยที่สุดคือเรื่องของการทำการตลาด เพราะเมื่อก่อนก็จะไม่ได้เอาตัวเองออกสื่อไม่มี แต่ก็ถ้าเราไม่เปลี่ยน ถ้าเราไม่ทำอะไรบางอย่าง ก็จะไม่มี “สุขทุกคำ” ก็เลยต้องปรับเปลี่ยนหาวิธีการหลาย ๆ อย่าง อย่างเช่นเรื่องของการที่จะเอาตัวเองเนี่ยมาเป็นซีอีโอแบรนดิ้งอะไรประมาณนั้น จนกลายเป็นว่าตอนนี้พอทุกคนเห็นผมปุ๊บก็คือเรื่องของ อาหารปลอดภัย อันนี้อันหนึ่งแล้วก็เรื่องของ “ห่อใบตอง” คนนี้เรื่องห่อใบตองนะ ก็คือจะเป็นภาพที่เขาได้รับจากการที่เขาเห็นสื่อที่เราทำออกไป หรือว่าจะเป็นเรื่องของ Catering ไทย ๆ อ๋อก็ต้องเป็นของเจ้านี้เลย “สุขทุกคำ”
คุณสมศักดิ์ เจียรสมบูรณ์ เจ้าของร้าน “สุขทุกคำ” บอกกับเราว่า กว่า 7 ปีหากรวมกับทั้งการเปลี่ยนสถานะจากลูกค้ารับตะกร้าปันผักก่อน สู่หุ้นส่วนของร้าน และกระทั่งกลายมาเป็นเจ้าของบริษัท “สุขทุกคำ” ในปัจจุบัน เริ่มจากการที่ตนเองก่อนหน้านี้ก็ทำงานเป็นพนักงานบริษัทแล้วมีอยู่วันหนึ่ง ก็ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ยืนยาว อายุมากก็ยังแข็งแรงพอหลังจากนั้นตนเองก็เริ่มปรับเปลี่ยนเรื่องของการกินก็คือ เนื้อสัตว์เริ่มลดลงหรือแทบจะไม่กินเลยแล้วก็หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น แล้วพอแต่งงานมีลูกแล้วก็เลยอยากให้ลูกได้กินอะไรที่มันแบบปลอดภัยที่สุด เท่าที่เราจะหาได้ “ก็เลยมาเจอร้านชื่อ เฮลท์มี เดลิเวอรี่ ซึ่งเขาก็ทำแบบนี้จริง ๆ เป็นต้นโมเดล ก็คือเรื่องของการขายผักผลไม้ การผูกปิ่นโต และก็แคเทอริ่ง เป็นโมเดลที่มีอยู่แล้วก็ผมก็มาเป็นลูกค้าของเขา รับตะกร้าปันผักสัปดาห์นึงเขาก็ส่ง1 ครั้ง มีเนื้อหมูมีไข่ไปส่งด้วย ก็รับมาตลอดแล้วก็มีอยู่วันหนึ่งเจ้าของร้านก็ชวนผมมาเป็นหุ้นส่วน” จริง ๆ ตั้งแต่ผมเริ่มให้ลูกได้รับประทานอาหารพวกนี้ปุ๊บมันก็เป็นไอเดียของผมอยู่แล้วว่า สักวันหนึ่งผมจะต้องมีธุรกิจที่แบบผมจะมีสวนผักอยู่ข้างหลังแล้วก็มีโรงแพ็กเป็นห้องมาตรฐาน (เป็นบ้านเนี่ยแหละ) และก็มีรถไปส่งผักอันนี้ก็เป็นสิ่งที่คิดมาทุก ๆ วันจนมาเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ถึงแม้ว่าเรื่องสวนผักนี่ยังไม่มีแต่มันก็ 50% แล้วที่มันเป็นภาพที่ผมเอาเป็นว่าฝันไว้ แล้วก็พอปี 2561 ผมก็เริ่มเข้ามาบริหารที่นี่ และก็ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ก็จดเป็นรูปแบบของบริษัท
“สุขทุกคำ” ไม่ใช่แค่อาหารอร่อย แต่ต้องปลอดภัยด้วย
คำว่า “สุขทุกคำ” จริง ๆ ที่มาก่อนที่เราจะจดเป็นบริษัทก็มีน้องคนหนึ่งที่ดูแลด้านมาร์เก็ตติ้งให้กับเรา เขามาช่วยดูว่าเราควรจะเปลี่ยนเป็นชื่ออะไรดี เขาก็เลยเสนอชื่อนี้มา“ซึ่งเขาก็กำลังนั่งทานอาหารอยู่นี่แหละ เขาก็คิดถึงเรื่องของการที่ได้รับประทาน อาหารแล้วมีความสุขเพราะว่าอาหารปลอดภัย อร่อย ปลอดภัยเพราะอะไรเพราะว่าคนที่ปลูกเขาไม่ได้ใช้เคมีถูกไหมครับ แล้วคนที่กินก็ได้ประโยชน์จากอาหารที่ไม่มีสารเคมีด้วย”อันนี้ก็คือเป็นที่มาของ “สุขทุกคำ” คือไม่ใช่แค่อร่อย แต่ต้องปลอดภัยด้วย
แนวของสุขทุกคำก็คือต้องเป็น “ระบบเกษตรอินทรีย์” โดยมีการคัดเลือกเฉพาะผัก ผลไม้ ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็นจากค่ายไหนก็แล้วแต่ จะมีการเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรที่เป็นเจ้าของผลผลิตด้วยไปเยี่ยมไปเยือนต่าง ๆ ก็จะได้รู้ว่าเขาก็ยังมีแนวคิดแบบนี้อยู่ แล้วพอได้ต้นทางมาไม่มี “เคมี” เพราะเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ปุ๊บ ผมก็มีหน้าที่ในการแพ็กจัดส่งโดยการที่ลด “พลาสติก” ให้ได้มากที่สุดเพื่อจะส่งให้กับลูกค้า กลุ่มที่รับผักผลไม้หรือแม้กระทั่ง “เนื้อสัตว์” ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแม่บ้านซึ่งบางคนก็ทำงานบางคนก็อยู่บ้านเขาก็จะสั่ง สั่งเพื่อนำไปปรุงอาหารทานเองภายในครอบครัว ส่วนใหญ่ลูกค้าเกือบ 99% คือจะเป็นลูกค้าประจำ
ตลาดสด และผูกปิ่นโตสินค้าและบริการหลักในช่วงแรกก่อน
ก็ทำเป็นเว็บไซต์ขึ้นมา ในส่วนของผักและผลไม้เพื่อให้สะดวกสบายในการสั่งซื้อว่าช่วงนี้มีรายการอะไรบ้าง มีผักอะไรบ้าง ซึ่งถ้ารายการไหนไม่มีมันก็จะไม่โชว์ขึ้น ก็เป็นในลักษณะแบบนี้ จริง ๆ มันก็จะมีใส่สต็อกเข้าไปว่าขายได้อีกจำนวนเท่าไรซึ่งก็จะเหมือนกับMarket Place ทั่วไป แต่ที่ร้านก็จะมีการอัปเดตสต็อกทุกวันอาทิตย์ ให้ลูกค้ากดสั่งซื้อ มันก็จะมีข้อมูลที่จะสั่ง/รายการสั่งซื้อเข้ามา เราก็จะรู้ว่าลูกค้าคนนี้อยู่เส้นทางไหน เราก็จะไปส่งวันนั้น ในส่วนของผูกปิ่นโต มีการทำโฆษณาผ่านกูเกิ้ลแอด ลูกค้าพิมพ์หรือเสิร์ชคำว่า ปิ่นโตสุขภาพ ปิ่นโตอะไรต่าง ๆ ก็จะเจอเราซึ่งมีการทำโฆษณาในส่วนนั้น แล้วก็จะมีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามา
แนวของอาหารที่ทำก็คือ ใช้วัตถุดิบ “ออร์แกนิค” เป็นหลักก็คือ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์อย่าง เนื้อหมู ก็จะมาจากสามพรานฟาร์ม ไก่ก็จะมาจากแทนคุณ แล้วก็ไข่ไก่ก็มาจากแทนคุณ ก็จะเอาตัวหลัก ๆ ไม่ได้บอกว่า 100% นะเพราะว่า 100% มันยากมาก แล้วก็ทำใหม่ ๆ ทุกเช้าแล้วก็ไปส่ง ลูกค้าก็จะเห็นเราผ่านทาง google จากนั้นก็จะทักไลน์มา แล้วทางร้านก็จะส่งลิงก์สำหรับสั่งอาหารให้ ก็จะมีเมนูให้เลือกได้ตั้งแต่วันที่1 ถึงสิ้นเดือน ในแต่ละวันก็จะมี 5 เมนู เขาก็จะกดเลือกได้“สำหรับรสชาติของอาหารก็คือจะเป็น รสกลาง ๆ ซึ่งบางคนก็อาจจะบอกว่าจืด แต่ก็ลูกค้าประจำก็เขาก็ทานมาเรื่อย ๆ นะ เรามีลูกค้าประจำมากกว่า 90% ในแต่ละเดือนเขาก็ทานได้ คือจริง ๆ ก็จะเหมาะกับผู้สูงวัยมากกว่าเพราะว่ารสชาติออกกลาง ๆ ถึงแม้จะเป็นแกงเผ็ด ก็ไม่ได้เผ็ดมาก อย่างนี้เป็นต้น”
แตกไลน์สู่ Catering ไทย ๆ แนวรักษ์โลกทางรอดใหม่ของธุรกิจ
พอหลังจาก “โควิด-19” มาก็ต้องวางแผนเต็มที่ เราต้องฟื้นให้ได้จากแคเทอริ่ง ก็พยายามทำให้มันดูมีความเป็นไทย ดูรักษ์โลกมากขึ้น ๆ ซึ่งมันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจนถึงช่วงนี้ แล้วจริง ๆ มันไม่ใช่เป็น “รักษ์โลก” ธรรมดาแต่เป็นรักษ์โลกแบบไทย ๆ ถ้าแบบรักษ์โลกทั่วไปก็เห็นได้เยอะ แต่ถ้ารักษ์โลกแบบไทย ๆ ก็อาจจะเห็นได้น้อย“ถ้าสุขทุกคำแคเทอริ่งก็จะเป็นแบบ ข้าวห่อใบตอง ขนมไทย หรือข้าวเหนียวหมูก็แล้วแต่” ถ้าเป็นบุฟเฟต์ก็จะเป็นอาหาร 5 อย่าง ขนมไทย 3 ผลไม้ 2 น้ำสมุนไพร 2 ก็จะมีให้ลูกค้าเลือกได้
ราคาเริ่มต้นต่อครั้ง ประมาณ 7-8 พันบาททางร้านก็สามารถออกงานให้ได้ อย่าง “ขันโตก” เป็นชุดสำหรับการถวายพระ 9 รูป รวมค่าบริการแล้วก็ประมาณ 8 พันเราก็ไปจัดให้ได้ แต่ถ้าเป็นหลาย ๆ ที่เขาก็อาจจะไม่ทำกันเพราะว่าด้วยวอลลุ่มมันน้อย(ยอดเงินมันน้อย) แต่ว่าเราก็ยังทำได้อยู่ แล้วก็ที่ร้านจะมีบริการชื่อชุด “ปิ่นโตชวนฉัน” สำหรับถวายพระ เป็นปิ่นโตรักษ์โลก อาหาร 3 อย่าง ขนมไทย 2 ผลไม้ 1 มีข้าวสวยและก็มีน้ำสมุนไพร
“โอกาส” และการแข่งขัน สำหรับธุรกิจนี้
“เดือนละประมาณ 1 ล้าน แคเทอริ่งนะครับ เดือนละ 1 ล้านแต่ถ้าช่วงมกราก็ 1.5 ล้าน เพราะเป็นช่วงที่เขาทำบุญขึ้นบ้านใหม่เยอะหรือทำบุญออฟฟิศกันเยอะก็แล้วแต่ แล้วก็เดือนไหนที่รับงานองค์กรใหญ่ ๆ ก็แบบบุฟเฟต์หลาย ๆ วันก็เยอะหน่อยอย่างเงี้ยครับ” แต่ถ้าเป็นของผัก ผลไม้ ผูกปิ่นโต อย่างตอนนี้ก็ไม่เกิน 7-8 แสน/เดือน ซึ่งเราก็รู้แล้วว่าจุดที่เราจะต้องขยายคือต้องเป็น “แคเทอริ่ง” เราก็ต้องพยายามโปรโมตอะไรต่าง ๆ ให้มากขึ้นไปอีก“อย่างเทคนิคต่าง ๆ อย่าง tiktok ก็มีแล้วจริง ๆ ผมก็ได้ลูกค้าจาก tiktok ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยคิดว่า tiktok จะช่วยได้ แต่ตอนนี้มันใช่! มันคือสื่อหลักไปแล้วมั้งอะไรเงี้ย ผมก็มีทำ สอนห่อใบตอง คนดูเป็นล้านวิวเลย! ไม่น่าเชื่อ ผมก็แบบรู้จักคำว่า “ไวรัล” ก็มาจากคลิปนี้แหละ คนดูคืนหนึ่งเป็นหลักแสน มันก็มีคนสนใจงานพวกนี้”
จริง ๆ ถ้าบอกว่ามีคู่แข่งไหม? ก็ไม่ค่อยได้เห็น เท่าที่เห็นที่รู้จักก็ยังน้อย ถ้าเป็นแนวของแคเทอริ่งที่เป็นรักษ์โลกแบบนี้ แต่ถ้าเป็นแนวของผูกปิ่นโต หรือขายผักผลไม้ออร์แกนิคก็ถือว่าเยอะ เยอะขึ้นเลยล่ะ ไม่ใช่ว่าเยอะขึ้นน้อยเลยแต่มีเยอะมากในตอนนี้ซึ่งเราก็ต้องพยายามรักษาลูกค้าเดิม ให้เขาซื้อกับเราได้อย่างต่อเนื่องเพราะว่าบางที ลูกค้าใหม่เขาก็ยังไม่เข้าใจเรา เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเขาอันนี้เรื่องจริง ก็เลยยังมีลูกค้าประจำนี่แหละลูกค้าประจำที่แบบนานมากก็ยังสั่งต่อเนื่อง เราก็พยายามทำตรงนั้น
ต้องหาทางเพิ่มรายได้
“การทำธุรกิจนี้ผมก็ยัง ทำ3 อย่างนี้ไปด้วยกัน ก็พยายามที่จะให้มีเรื่องของการโปรโมตการทำการตลาดให้มันมีมากขึ้น อย่างจริง ๆ ตอนนี้ผมก็มีทำ “อาหารเฉพาะโรค” ให้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยเรามีทีมซึ่งเป็นนักวิชาการทางด้านการกำหนดอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เฉพาะโรคด้วย หลาย ๆ อย่างเราก็ปรับเปลี่ยน ปรับเปลี่ยนให้ทัน มันก็เป็นการเพิ่มรายได้หลักทางหนึ่ง ที่ทุกคนในร้านในบริษัทต้องทำร่วมกัน”เป้าหมายของผมคือ ผมต้องเพิ่มรายได้ให้ได้มากกว่านี้ อย่างตอนนี้ผมเฉลี่ยว่าสักประมาณเดือนละ 2 ล้าน ปีนี้นะ แต่ปีนี้ก็ถือว่าดีกว่าปีที่แล้วเยอะเลย ผมลองคำนวณดูแล้วมากกว่า 60% ภาพรวมหมดเลยนะเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ก็มาจากแคเทอริ่ง แล้วก็จริง ๆ มันต้องมากกว่านั้น มันต้อง 2.5 ล้าน “เพราะว่าจริง ๆ แล้วถ้าเล่าเรื่องช่วงโควิดฯ จริง ๆ ผมไม่ได้ติดปัญหาเรื่องเงินเลยนะ(หัวเราะ) เพราะผมมีเงินกู้มาก้อนหนึ่งไม่เป็นไรเงินเดือนมีจ่าย ๆ ไม่เครียดเลย เพราะมีเงิน แต่สุดท้ายพอเราใช้เงินก้อนนั้นหมดเราต้องเอากำไรมาจ่าย สมมุติมีกำไรเท่านี้ก็เท่านี้แหละไปจ่ายดอกเบี้ยหมดแล้ว ไปจ่ายเงินกู้หมด อันนี้ก็เป็นความท้าทายความตื่นเต้นที่บางทีก็ เอ้ยมัน6 ปีแล้วนะมันยังไม่ผ่านเรื่องนี้เลย อะไรเงี้ย มันก็จริง ๆ ปีนี ตั้งแต่เดือนที่ 1-5 ไม่ได้มีกำไรหรอก ติดลบเยอะด้วย ถ้าใครเป็นผมอาจจะหยุดไปแล้ว ก็แต่ผมไม่หยุด! ผมก็คิดว่ามันยังต้องมีทาง” เพราะฉะนั้นการเพิ่มรายได้นี่ก็เป็นหลักเลยที่จะต้องทำเพิ่ม แล้วก็การควบคุมต้นทุนนี่ก็ต้องทำด้วย ปีนี้มันเริ่มดีขึ้น กำไรมันมีเห็นแล้ว
ความท้าทายที่ต้องแลกด้วยศรัทธาแต่เจตนายังเหมือนเดิม “สุขทุกคำ”
คุณสมศักดิ์ เจียรสมบูรณ์ เจ้าของร้าน “สุขทุกคำ” ยังบอกด้วย สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือการขยายวงให้กว้าง ถ้าเราทำได้ ซึ่งมันก็มีความยากลำบากแต่ก็น่าจะต้องทำได้ น่าจะทำได้! คือถ้าจากกระแสการตอบรับจากลูกค้าเขาก็ความมั่นใจมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนที่ “สุขทุกคำ” ให้บริการ“คำว่า สุขทุกคำ ยังเหมือนเดิม แต่ คอนเซ็ปต์ยังเหมือนเดิม แต่ เป้าหมายมันจะกว้างขึ้น”โตขึ้น ถ้า “สุขทุกคำ” โตขึ้นปุ๊บ เกษตรกรก็โตขึ้น พื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ก็จะเยอะขึ้น หรือคนที่จะมาอยู่ในเครือข่ายของสุขทุกคำก็จะเยอะขึ้น แล้วก็คนที่ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยด้วยวัตถุดิบออร์แกนิคก็จะมากขึ้น
ขอบคุณเจตนาดี ๆ ของร้าน “สุขทุกคำ” ที่พร้อมเสิร์ฟวัตถุดิบออร์แกนิคและอาหารที่ปลอดภัยไร้สารเคมีเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภค ได้มีสุขภาพดีเพื่อชีวิตที่ยืนยาวต่อไป ถึงแม้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่อาจเจอกับอุปสรรคอยู่บ้างแต่ด้วย การปรับตัวการยอมรับการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การทำธุรกิจในยุคนี้ Smart ได้ง่ายขึ้นซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องชื่นชมในสปิริตของซีอีโอที่กล้าเปลี่ยน เพื่อนำพาบริษัทไปสู่ทิศทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ทำให้วันนี้ “สุขทุกคำ” กลายเป็นที่รู้จักในอีกฐานะของธุรกิจแคเทอริ่งแนวรักษ์โลกเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งกำลังได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าจนเรียกได้ว่ากลายเป็น “โลโก้” ที่ใคร ๆ ก็นึกถึงไปแล้ว
สามารถติดตามผลงานหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “สุขทุกคำ” เลขที่1 ซอยราษฎร์บูรณะ 30 แขวง/เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ โทร.086-332-8366 เพจ: สุขทุกคำ เว็บไซต์: sooktookkum.com
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด