xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) การขุดพลอยยังมีอยู่! “บ่อพลอยเหล็กเพชร” ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดกิจกรรมขุดพลอยโบราณ ช่วงไฮซีซั่นทำเงิน 6 หลักต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อต้องการอนุรักษ์การขุดพลอยโบราณเอาไว้เพราะมีมาตั้งแต่ยุคของบรรพบุรุษกว่า 100 ปีทำให้ สราวุธหรือกุ๊ก ทายาทรุ่นที่ 4 เข้ามาสานต่ออาชีพการขุดพลอยแต่ต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้การขุดพลอยแบบโบราณ จัดกิจกรรมให้กับลูกค้าได้หาพลอยพร้อมเวิร์คช็อปทำจิวเวอรี่ แตกไลน์เอาใจลูกค้าด้วยการสร้างโฮมสเตย์เพื่อรองรับการพักค้างคืน ช่วงไฮซีซั่นสร้างรายได้ 6 หลักต่อเดือน


นายสราวุธ พึ่งตระกูล หรือ กุ๊ก เจ้าของบ่อพลอยเหล็กเพชร เล่าว่า การขุดพลอยมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ลานแร่บางกะจะ จังหวัดจันทบุรี จะมีอาชีพหาพลอยที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ซึ่งในปัจจุบันคุณกุ๊กเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ที่สืบต่ออาชีพหาพลอยจากครอบครัว โดยในอดีตการขุดหาพลอยจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ซึ่งคนรุ่นก่อนจะมักขุดหาพลอยได้ง่าย แต่พอส่งต่อมายังทายาทพลอยก็ที่เคยหาได้ง่ายก็หายากขึ้นและมีราคาที่สูงขึ้นตามมา ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อนเป็นยุคที่เรียกว่า “ยุคตื่นพลอย” ความต้องการของอัญมณีในประเทศไทยมีมากขึ้นทำให้การขุดพลอยแบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในตลาด ดังนั้นการแก้ปัญหาของรุ่นที่ 2 คือคุณพ่อกับคุณแม่ของคุณกุ๊ก คือการทำ “เหมืองพลอย” และมีการใช้เครื่องจักรในการหาเพื่อความรวดเร็วและทันต่อความต้องการของตลาด ทั้งนี้การขุดหาพลอยเมื่อขุดหาในพื้นที่ไหนแล้ว พื้นที่นั้นๆ ก็ไม่มีพลอยปรากฎขึ้นมาใหม่อีก จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันที่พลอยเหลือน้อยลงเวลาจะไปหาแต่ครั้งก็ออกไปหาตามหัวไร่ปลายนาที่พอหลงเหลืออยู่


ปัจจุบันคนที่ยังประกอบอาชีพขุดพลอยในจังหวัดจันทบุรีเหลือเพียงคุณกุ๊กและน้องชายเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วนเหมืองพลอยก็เหลือเพียง 2 เหมืองที่ยังดำเนินธุรกิจไว้ ซึ่งเรียกได้ว่าเหลือน้อยมากแล้วเพราะมีพื้นที่ขุดหาพลอยน้อยลง และหันมาทำอาชีพปลูกผลไม้อย่าง ทุเรียนและมังคุด เพราะได้ผลผลิตที่คุ้มค่ามากกว่าทำเหมืองพลอย แต่ถ้าหากพื้นที่ตรงไหนมีแร่ที่พอจะขุดได้ชาวบ้านก็จะขุดกันแต่ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพหลัก ทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น


หากพูดถึง “บ่อพลอยเหล็กเพชร” ก่อนหน้าที่จะเปิดแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ คุณกุ๊กไม่ได้ตั้งจะเปิดให้มีคนเข้ามาเยี่ยม เพราะปกติมีร้านขายจิวเวอรี่และพลอยเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว ซึ่งมีฐานลูกค้าที่รู้จักพอสมควรเมื่อแวะเวียนมาที่จังหวัดจันทบุรีก็แวะมาเยี่ยมและอยากจะเข้ามาซื้อผลไม้ที่สวนด้วย ซึ่งในตอนนั้นคุณแม่ของคุณกุ๊กกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง แต่พอมีแขกมาที่สวนคุณแม่ก็มักจะลงมาขายเองที่สวนเพราะทำแล้วมีความสุข คุณกุ๊กเห็นดังนั้นก็ตัดสินใจสร้างอาคารเพื่อให้คุณแม่ขายผลไม้โดยเฉพาะ แต่พอเริ่มสร้างอาคารได้แค่โครงหลังคาคุณแม่ก็เสียชีวิตไปก่อน


เวลาที่มีคนมาซื้อผลไม้ที่สวนคุณกุ๊กก็ยังไม่ได้คิดจะเปิดให้ขุดพลอย แต่พอลูกค้ามาเห็นว่ามีการขุดพลอยจริงๆ บวกกับรูปภาพตอนขุดที่โพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กทำให้หลายคนสนใจและถูกจับตามอง เพราะยังมีคนที่ไม่ค่อยรู้จักและไม่เคยเห็นวิถีชีวิตของอาชีพขุดพลอย ซึ่งก่อนที่คุณแม่จะเสียก่อนหน้านั้นคุณกุ๊กได้เสียญาติผู้ใหญ่อย่างคุณตา คุณยาย และคุณแม่ไปในรอบปี ซึ่งทุกท่านมีนามสกุล “เหล็กเพชร” ทั้งหมด คุณกุ๊กจึงตัดสินใจเอานามสกุลมาเป็นชื่อบ่อพลอยและกลายมาเป็น “บ่อพลอยเหล็กเพชร” ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม และมีกิจกรรมขุดพลอยนั่นเอง ปัจจุบันเปิดมาได้ประมาณ 7 ปี


บ่อพลอยเหล็กเพชรเริ่มต้นด้วยการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมขุดพลอยร่วมกับชาวเหมือง ในช่วงแรกคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมาทำกิจกรรม เพราะการขุดพลอยจำเป็นต้องใช้พลังกายในการปีนขึ้นลงบันได แต่พอเปิดมาได้สักระยะหนึ่งกลับพบว่ากลายเป็นกลุ่มครอบครัวมากกว่า ทำให้ทางบ่อพลอยเพิ่มกิจกรรมเข้ามาใหม่ด้วยการมีโซนคาเฟ่และมีกิจกรรมสำหรับเยาวชน เช่น การทำผ้ามัดย้อมจากโคลนบ่อพลอย การเข้าสวนเก็บผลไม้ กิจกรรมทำจิวเวอรี่เวิร์คช็อป และการร่อนพลอยจากพลอยทั่วโลก ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี รวมถึงมีโฮมสเตย์เพิ่มอีก 1 หลัง เพื่อรองรับสำหรับลูกค้าที่ต้องการมาพักค้างคืนและทำกิจกรรม


ปัจจุบันพื้นที่ที่ทางบ่อพลอยเหล็กเพชรใช้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวการขุดพลอยมีทั้งหมด 15 ไร่ ซึ่งพื้นที่ขนาด 15 ไร่ ถ้าหากจะใช้เครื่องจักรมาขุดหาพลอยก็คงใช้เวลาไม่นาน แต่ทางบ่อพลอยเก็บไว้เพื่อทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงอนุรักษ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาทำกิจกรรมขุดหาพลอยให้ได้นานมากขึ้น ซึ่งคุณกุ๊กบอกว่าจะอนุรักษ์ไว้ด้วยการขุดไปพร้อมๆ กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำกิจกรรม

“ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ก็มักจะถามเป็นคำถามเดียวกันว่าจะสามารถขุดหาพลอยได้จริงๆ เหรอ ซึ่งจริงๆ แล้วในพื้นที่บางกะจะนั้นเราสามารถพบเจอพลอยได้ง่าย เช่น พลอยนิล พลอยสตาร์ ซึ่งจะเป็นพลอยที่นักขุดพบเจอกันเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อก่อนไม่จำเป็นต้องขุดเลยสามารถเดินเก็บตามหินและร่องน้ำได้เลย แล้วก็ในปัจจุบันที่เขาพลอยแหวน ถ้าเราเข้าไปในป่าเราก็ยังจะเจอพลอยนิลเยอะแยะมากมายเลย แต่ว่าชาวเหมืองเวลาที่จะหาพลอยส่วนมากมักจะหาพลอยตระกูลซัลไฟด์ครับ เป็นพลอยสีต่างๆ เหลือง เขียว น้ำเงิน แดง ซึ่งเป็นพลอยมูลค่าสูงและพบเจอได้ยาก ซึ่งเวลาที่พานักท่องเที่ยวขุดเจอพลอยก็จะนำเสนอไปในเชิงการอนุรักษ์มากกว่าบอกว่าเป็นพลอยที่มีมูลค่าทางเม็ดเงินครับ เพราะกลัวว่าจะเกิดความคาดหวังว่าได้พลอยแล้วเอาไปขาย แต่จะใช้วิธีบอกว่าพลอยเป็นลักษณะแบบใด อันไหนมีมูลค่าสูงก็อาจจะหายากหน่อยแต่ก็มีคนขุดเจอนะ อะไรแบบนี้มากกว่าครับ”
คุณกุ๊กระบุ


ทั้งนี้ถ้าหากลูกค้าขุดพลอยแล้วมีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาททางบ่อพลอยจะให้ลูกค้าเอากลับได้เลย เพราะถือว่าเป็นดวงของลูกค้าแต่ถ้าหากมีมูลค่าเกิน 30,000 บาท คุณกุ๊กจะให้ 1 ส่วนคือ 10,000 บาทและสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นจิวเวอรี่ที่อยู่บนร้านได้ เพราะมีร้านที่ขายจิวเวอรี่อยู่แล้ว สามารถแลกเป็นแหวนหรือพลอย เป็นจี้ กำไลต่างๆ ซึ่งพลอยที่ลูกค้าขุดเจอคุณกุ๊กก็ไม่ได้นำไปขาย แต่เก็บไว้ในร้านเพื่อให้คนอื่นได้ดูว่ามีพลอยจริงๆ และสามารถขุดมาได้ ดังนั้นทางบ่อพลอยจึงมีโปรโมชั่นให้กับลูกค้าด้วยการมอบพลอยโกเมน ที่เจียระไนแล้ว 1 ตลับ หรือพลอยประจำวันเกิดให้ทุกคนที่มาทำกิจกรรมเพราะมองว่าบางทีลูกค้ามาขุดพลอยแล้วอาจจะไม่เจอพลอย เพราะฉะนั้นจึงมอบพลอยดังกล่าวให้แทนนั่นเอง


ในส่วนของกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวนั้น ทั้งคนไทยและต่างชาติจะมีสัดส่วน 50:50 ซึ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดทำให้กลุ่มลูกค้าหายเกือบหมด แต่พอสถานการณ์คลี่คลายหมดก็เริ่มมีลูกค้าทยอยเข้ามาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ลูกค้ากลับมามีสัดส่วนที่เท่ากันทั้งไทยและต่างชาติ แต่เมื่อไม่นานมานี้มียูทูบเบอร์ชื่อดังอย่างช่อง Cullen Hateberry มาทำกิจกรรมที่บ่อพลอย เมื่อคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ออกไปก็ทำให้มีลูกค้าคนไทยสนใจและเข้ามาจองทำกิจกรรมมากขึ้นเป็น 70:30


ไฮไลท์หลักที่ทุกคนต้องได้ทำเมื่อมาถึงบ่อพลอยเหล็กเพชรคือ การขุดพลอยแบบโบราณดั้งเดิม มีค่าใช้จ่ายคนละ 500 บาท ค่าเข้าชมบ่อพลอย 300 บาท และแถมเป็นกิจกรรมหาพลอยกับครอบครัวให้ รวมถึงกิจกรรมจิวเวอรี่เวิร์คช็อปอีก 350 บาท รวมทั้งหมด 850 บาทต่อคน ซึ่งเป็นแพ็กเกจที่ขายดีที่สุด โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นแบบไพรเวทกรุ๊บ ถ้าหากมา 2 คนทางบ่อพลอยก็พาทำกิจกรรมแค่ 2 คน ไม่มีทำรวมกันกับคนอื่นที่ไม่ได้มาด้วยกัน ซึ่ง 1 วันจะสามารถรับลูกค้าได้ประมาณ 10-13 รอบ ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เปิดทุกวันยกเว้นวันพุธ ซึ่งในช่วงไฮซีซั่นจะสามารถทำรายได้เดือนละ 6 หลักขึ้น

ปัจจุบันมีบ่อพลอยที่เปิดให้ขุดอยู่ 4-5 บ่อ เวลาที่จะขุดจะเริ่มขุดไปทีละบ่อ ซึ่งคุณกุ๊กบอกว่าพลอยที่ขุดไปแล้วก็จะไม่สามารถผุดขึ้นมาใหม่ได้อีก ตรงไหนก็ตามที่ขุดพลอยไปแล้วก็จะหมดไป ทำให้อาชีพนี้เริ่มลดหายไปในปัจจุบันและผู้คนหันไปทำอาชีพอื่นนั่นเอง


ในส่วนของโฮมสเตย์ที่กล่าวไปข้างต้นว่าในตอนนี้มีเพียง 1 หลัง คุณกุ๊กให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะมีการทำเพิ่มอีก 2 หลัง รวมเป็น 3 หลัง เนื่องจากได้รับฟีดแบกจากลูกค้าว่าต้องการให้มีที่พักเพิ่ม เพราะบางทีลูกค้ามากันหลายคนและอยากทำกิจกรรมพร้อมๆ กัน พอมีแค่ 1 หลังจะพักด้วยกันได้ไม่มาก ทำให้คุณกุ๊กมีแผนสร้างเพิ่มและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า

นอกจากนี้ คุณกุ๊กยังบอกอีกว่าพลอยที่มีอยู่ตอนนี้ในอนาคตจะไปหมดอย่างแน่นอนเพราะขุดแล้วก็หมดไป แต่ในอนาคตถ้าหากหมดแล้วจริงๆ บ่อพลอยเหล็กเพชรก็จะทำบ่อพลอยจำลองขึ้นมาให้ลูกค้าได้ทำกิจกรรมแทน เพื่ออนุรักษ์ไว้และสร้างพื้นที่แหล่งเรียนรู้ได้ในอนาคต ซึ่งคุณกุ๊กคาดว่าอีกประมาณ 10-15 ปีอาจจะหมด


อย่างไรก็ตามแผนธุรกิจในอนาคตที่วางไว้คุณกุ๊กบอกว่าต่อไปจะมีการร่อนพลอยจากทั่วโลก ทำเครื่องประดับทำสบู่จากพลอย กล่าวคือจะมีการนำเอาผงจากการเจียระไนพลอยมาทำเป็นสครับ ต่อด้วยสบู่ในรูปแบบของจิวเวอรี่ รวมถึงทำขนมวุ้นกรอบ ซึ่งเป็นโครงการที่จะต่อยอดได้และสามารถกลับมาเที่ยวซ้ำได้ โดยกิจกรรมที่เพิ่มเติมจะเชื่อมโยงกับพลอยทุกอย่าง

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :
บ่อพลอยเหล็กเพชร




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น