xs
xsm
sm
md
lg

SME เปิดใจปรับค่าแรง 400 บาท กระทบต้นทุนที่เพิ่มอยู่แล้ว ส่งให้ปรับราคาสินค้าขึ้น แนะปรับรายจังหวัดไม่ใช่ทั่วปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ เป็น 400 บาท ทั่วประเทศ ในเดือน ตุลาคมนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี น่าจะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่จะต้องพึ่งพิงแรงงานคน ไม่ใด้ใช้เครื่องจักร การปรับค่าแรงในช่วงที่ต้นทุนทุกอย่างก็แพงไปหมด และเอสเอ็มอีมีความเห็นอย่างไร และมีแผนจะรับมือปรับตัวอย่างไร


บีแอนด์บีเบคอน เมืองนครฯ มองว่า ปรับค่าแรงทำได้ ควรทำในจังหวัดที่มีศักยภาพที่จ่ายได้ ไม่ใช่ปรับทั่วปท.

นางวิจิตรา แก้วคง เจ้าของ บริษัท บี แอนด์ บี เอเชียฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปกล่าวถึงการขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำ เป็น400 บาท ตามที่รัฐบาลเตรียมประกาศให้ขึ้น ในเดือนตุลาคม นี้ นั้น ในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ผลิตเบคอนส่งโรงแรม และรีสอร์ตในพื้นที่ภาคใต้ แสดงความคิดเห็นถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ว่า ถ้ามีการปรับจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงของเราที่จะต้องจ่ายเพิ่มถึง 20% ซึ่งปัจจุบันจ่ายค่าแรงอยู่ที่ 332 บาท

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า อัตราค่าจ้างน่าจะแบ่งตามภาค หรือโซนเศรษฐกิจ คล่องตัว และไม่คล่องตัว หรือตามรายจังหวัดเหมือนที่ผ่านมา ค่าแรงในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพสามารถจ่ายได้ ก็จ่ายค่าแรงเกิน 400 บาท อยู่แล้ว แต่พื้นที่จังหวัดเศรษฐกิจไม่ได้คล่องตัว ค่าครองชีพไม่สูง การจ่ายค่าแรงอยู่ในเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายรับได้ทั้งผู้จ่ายและแรงงานตกลงและรับกันได้ แบบนี้ น่าจะดีกว่า และถ้าเป็นเช่นนี้ ได้จะกระทบผู้ประกอบการน้อยที่สุดซึ่งปัจจุบันต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก

นายจิรภัทร ใจเย็น
ใจฟู้ดส์ ผักดองราชบุรี มองว่าปรับค่าแรงเพิ่มกระทบต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น แบกภาระต้นทุนไม่ไหวทำให้ปรับราคาสินค้าเพิ่ม และ อาจจะต้องหันมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน ในอนาคต ถ้าคุ้มกว่า

นายจิรภัทร ใจเย็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทใจฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผักดอง และกิมจิ แบรนด์สหาย
กล่าวถึงผลกระทบจากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 400 บาท ในเดือนตุลาคมนี้ ว่า โดยส่วนตัวได้รับกระทบกระทบแน่นอน เพราะปัจจุบันต้นทุนค่าแรงของเราอยู่ที่วันละ 340 บาท ต่อคนต่อวัน ถ้าปรับเป็น 400 บาท ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันทางบริษัทเอง ต้องแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบ และ อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะว่าเป็นค่าขนส่ง และค่าไฟที่ปรับขึ้นตามค่าพลังงาน ตัววัตถุดิบมีราคาปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาจำหน่ายของเรา ก็ยังไม่ได้มีการปรับขึ้น แต่ถ้ามีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น ครั้งนี้ ส่งผลทำใหเราต้องเพิ่มราคาสินค้าของเราด้วย ผลกระทบโดยตรงก็จะตกไปถึงผู้บริโภค ที่ต้องบริโภคสินค้าที่แพงขึ้น

ปัจจุบันมีแรงงานประมาณ 50 คน ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เป็น SME รายย่อย ไม่ได้มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการกระบวนการผลิตทั้งหมด บางส่วนเราก็จำเป็นที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผลดีต่อชุมชน เพราะช่วยให้คนในชุมชน มีงานทำ ด้วย แต่ถ้าค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นมากเกินไป ทางบริษัทเอง ฯอาจจะต้องหันกลับไปพิจารณาดูว่า ถ้าซื้อเครื่องจักรมาแทนแรงงานจะคุ้มกว่าหรือไม่ และถ้าเครื่องจักรมาแทนคุ้มกว่า และลดต้นทุนได้มากกว่า แรงงานที่จ้างไว้ก็อาจจะตกงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น