“สิ่งที่เด่นของผม คือ ประสิทธิภาพปัจจุบันตักได้ 2 ตัน/ชม.เป็นน้ำหนักแห้งผักตบชวาที่ตักได้จริง ๆ ไม่รวมน้ำและก็ความเร็วในการทำงาน 8-9 ชม.ที่ทดลองกันมา คือ ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ตัน ใช้กับแหล่งน้ำขนาด 30-40 เมตร 20 เมตรก็ได้อยู่ ตัวเรือ 11 เมตร”
ในวัย 58 ปีที่ปริ่ม ๆ จะเกษียณแล้วของนักธุรกิจคนหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องความสำเร็จทางด้านธุรกิจที่ผ่านมาเพราะด้วยว่าเส้นกราฟมันพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดมาอย่างไม่ต้องห่วงกังวลใด ๆ แล้วสำหรับ “คุณวิทยา กษิตินนทร์” ผู้ซึ่งเป็นทั้งวิศวกรโดยวิชาชีพที่เรียนจบมาทางด้านนี้เฉพาะด้วยและยังถือเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกคนหนึ่งของประเทศไทยเพราะหากเอ่ยถึงอุตสาหกรรมการผลิต “รางไฟฟ้า” ระบบไฟในอาคารหนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อบริษัท TST ของคุณวิทยาอยู่เป็นเบอร์ต้น ๆ แชร์ส่วนแบ่งในตลาดทั้งไทยเองและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน ด้วยความมี “มาตรฐาน” ซึ่งเป็นจุดแข็งทางธุรกิจที่บริษัทได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากคู่ค้าอย่างด้วยดีเสมอมา “ผมทำงานในวงการนี้ ก็คือระบบรางไฟของผมมาจะ 30 ปีแล้ว ก็ปัจจุบันนี้คือทางผมเองก็เรียกว่าถึงจุดพีคของงานผมไปแล้ว งานสามารถเดินได้ด้วยตัวมันเองไม่ได้ซีเรียสอะไร เหลือแค่วางกรอบงานเทิร์นโอเวอร์ให้กับคนรุ่นต่อไป แต่ว่าก็จะเป็นว่าหลังจากเบื่อ ๆ แล้วเกษียณน่ะ มันจะทำอะไรต่อ? เพราะฉะนั้นจริง ๆ เมื่อหลายปีก่อนผมก็เลยนั่งคิดว่า อยากจะทำอะไรที่มันเป็นสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เพื่อสังคมมากกว่า เพราะหลังอายุงานมาตรฐานจบมันก็ควรจะวางมือในระดับหนึ่ง ปล่อยผ่านให้คนรุ่นต่อไปเขาทำ”
ผมสนใจในงานสิ่งแวดล้อมทาง “น้ำ” พอสมควร แล้วก็จากการที่ศึกษามาเราก็พบปัญหาหลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของวัชพืช “ผักตบชวา” ที่เป็นอุปสรรคในผิวน้ำ และก็เรื่องคุณภาพน้ำที่ไม่สะอาด“ก็เลยมีความสนใจว่าจะทำยังไงที่จะทำให้แหล่งน้ำของเรามีคุณภาพที่ดีขึ้น มีความสะอาดมากขึ้น”
ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาในด้านของสิ่งแวดล้อมสูง เพราะว่าเวลาเราเจอปัญหาแรกสุดของการที่น้ำท่วมมักจะพูดคำนี้ คำหนึ่งที่จะเป็นข้อแก้ตัวมาตรฐานเลยก็คือ“ผักตบชวากีดขวางทางน้ำ” ซึ่งแล้วยังไงต่อ? ทุกปีน้ำท่วมทุกปี ทุกปีน้ำแล้งขาดน้ำทุกปี บางพื้นที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันด้วย ปัญหานี้วนเวียนอยู่ในประเทศค่อนข้างจะบ่อยและซ้ำซาก “ก็เลยเกิดไอเดียว่าถ้าสมมุติว่าคุณบอกผักตบชวาเป็นตัวอุปสรรค ผมก็ออกแบบเรือกำจัดผักตบชวาเพื่อเคลียร์ปัญหาอุปสรรคข้อที่ 1 ให้เรียบร้อยก่อน ส่วนปัญหาข้อต่อ ๆ ไปเราคงต้องมาค่อย ๆ คิดกัน เพราะว่าในแง่ของไอเดียที่ผมวางไว้ก็คือ ทรัพย์วารี ไม่ได้ทำแค่เรือกำจัดผักตบชวา เราวางระยะยาวสำหรับการบริหารจัดการเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย”
ใช้ทักษะงานช่างพัฒนาออกแบบ “เรือ” เพื่อช่วยรักษาความสะอาดแหล่งน้ำ-คูคลอง
สำหรับวิศวกรหนึ่งคน เราควรทำอะไรที่มันดีกว่านี้ได้มั้ย เราควรจะสร้างไอเดียอะไรที่เป็นตัวต่อยอดให้กับคนรุ่นต่อไปได้มั้ยเพราะว่าในแง่ของผมคือวันนี้ยังมีสมอง วันนี้ยังมีไอเดีย ทำออกมาก่อน“เมื่อคุณทำออกไปแล้วเนี่ย บางทีมันอาจจะมี Deviate ต่อยอดไปทางอื่นก็ได้ คนรุ่นต่อไปอาจจะหันมาสนใจเพิ่มขึ้นได้ จริง ๆ ไอเดียที่ผมคิดมันมีมาก่อนหน้า ที่ช่วงนี้เราเพิ่งมาสนับสนุนกันเรื่องสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มันมาหลังสิ่งที่ผมคิดด้วยซ้ำ แต่ข้อดีของมันคือมันมาสนับสนุนไอเดียผมว่า ผมไม่ได้คิดผิด ผมไม่ได้นั่งจินตนาการไปเรื่อยเปื่อยแล้วมันผิดที่ผิดทาง ผมก็เลยยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่ผมกำลังคิดอยู่ มันยังไปได้ต่อ”
ต้องย้ำว่าเราทำงานแบบนี้มันเป็นเหมือนกับตัว Role model ตัวหนึ่งคือ ทดลองทำเป็นแนวทาง แน่นอนเราจะเจออุปสรรคเยอะแยะเลยตั้งแต่ การเข้ามาออกแบบจนถึงการเข้าสู่กระบวนการในการที่จะกำจัดผักตบชวา “เส้นตั้งแต่กรุงเทพฯ ปทุมฯ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยฯ ผมไล่ขับรถไปดูเล่นอยู่บ่อย ๆ แล้วก็จะเจอว่า บางจุดเขาก็มีผักตบชวาเยอะมาก ชุมชนเองถ้าเอาคนลงไปตักสังเกตมั้ยครับว่าทุกครั้ง ปริมาณมันเยอะมาก! จนเก็บไม่ทันมักจะมีปัญหาเสมอ แต่ถ้าใช้เครื่องมือมันจะช่วยได้เร็วขึ้น” ซึ่งจากการสอบถามมาเขาห่วงเรื่องเดียว คือ จะดูแลรักษาอย่างไร และก็รอบของการใช้มันก็คือจะใช้บ่อยมั้ยถ้าเป็นชุมชนเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่เข้าไปนั่งคุยด้วยก็จะบอกเขาว่า สามารถที่จะ Sharing ใช้ร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น อบต. ก็ได้“เพราะจริง ๆ สำหรับผม ผมแค่อยากจะกำจัดผักตบชวาเป็นโมเดลแรกก่อน พอเราทำเสร็จปุ๊บเนี่ยมันจะเกิดความรู้สึกว่าผิวน้ำ มันสะอาด ทำได้นะ พอมันเริ่มสะอาดชุมชนจะเกิดความรู้สึกว่ามันน่าจะรักษาสภาพนี้ คุณทำความสะอาดมันให้เรียบร้อยเลย เมนเทนมันให้มันดีนะครับ มีสภาพอย่างนี้สักระยะหนึ่งเขาจะรู้สึกว่า น้ำอย่างนี้มันน่าอยู่”
จะกำจัด “ผักตบชวา” ตัวการปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเข้าใจธรรมชาติของพืชชนิดนี้ก่อน
ปัญหาของตรงนี้ทุกวันนี้เราคงโทษกลับไปในอดีตไม่ได้ เพราะมันก็เป็นคนรุ่นเรานั่นแหละที่เป็นคนทำ แหล่งน้ำเมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว 60 ปีที่แล้วมันยังใสสะอาด ปัจจุบันที่มันเละเทะมันอยู่ใน Generation เราทั้งหมด“ปัญหาคือถ้าเราไม่เริ่มต้นที่จะเข้ามาดูแลมัน มันก็คือโยนปัญหาทิ้งไปให้กับรุ่นถัด ๆ ไปเขาแก้ปัญหา แต่อย่าลืมว่าปัญหาหนึ่งครั้งที่เกิดมันสั่งสมปัญหาเก่าแล้วมันจะสั่งสมไปตามระยะเวลาของปี ต้นทุนในการแก้ปัญหามันจะสะสมพอกพูนมาแบบมโหฬาร ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาวันนี้ถ้ามันมีมูลค่า 10 บาท ในอนาคตไม่ไกลอาจจะ 200 อาจจะ 1000 ซึ่งก็ไม่ต่างกับปัญหา PM 2.5 ที่คุณเดินมาถึงจุดนี้ปุ๊บ อากาศมันเน่าแล้ว! อากาศมันเสียแล้ว คุณจะต้องรอให้ถึงจุดที่แบบต้องซื้ออากาศเพื่อจะดมเหรอ? เพราะจริง ๆ ตอนนี้ Impact มันเยอะขึ้นแล้วเห็นใช่มั้ยครับ”
เพราะฉะนั้นในมุมมองของผม เราควรจะเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างน้อยสุดเด็กรุ่นใหม่ ๆ เขาก็จะเห็นว่าถ้ามันดีขึ้น เขาก็จะสานต่อ “ในเชิงการออกแบบผม ผมดีไซน์ใหม่ว่าถ้าคุณอยากจะตัดผักตบชวา สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนก็คือ มันเป็นพืชพรรณเกาะเกี่ยวเป็นแพ หลายต่อหลายเคสที่เคยมีคลิปที่บอกว่าตักผักตบชวาแล้วมันคว่ำ เพราะเขาไม่ได้ตัด “แพ” เขาดึงมันขึ้นไปเหมือนกับขยะ แต่ความผักตบชวามีลักษณะเกาะเกี่ยวกันเป็นแพ เพราะฉะนั้นเรือที่ผมออกแบบมาพื้นฐานแรกก่อน ต้องตัดส่วนที่เป็นแพนี้ออกจากกัน สองก็คือทยอยขึ้นคอนเวเยอร์ซึ่งเป็นความชำนาญแบบทางวิศวกรรมอยู่แล้ว เอะอะอะไรเอาขึ้นคอนเวเยอร์แทนที่เอาคนใช่มั้ยครับ เพราะว่าการใช้คนมันต้องทั้งดึงทั้งลาก กำลังคนมากมาย ส่งคนไปไม่รู้กี่ลำหรือบางครั้งก็จะเห็นกันก็คือเอาโป๊ะใหญ่ ๆ มา เอาแบ็คโฮมาตัวหนึ่งจ้วง! ตัก ไม่ต่างกับเอาช้อนไปตักสปาเก็ตตี้แล้วเส้นมันไหลหมด เหลือกินสักกี่ชิ้น?(หัวเราะ) ตักมาปุ๊บ น้ำลงมาเต็มลำเรือเลย”ลักษณะการตักแบบนั้นไม่ตอบโจทย์กับการทำงานที่ควรจะเป็น ผมก็เลยมองว่าถ้าอย่างนั้นทำเป็นสายพานคอนเวเยอร์ดึงมันออกมาให้เร็วที่สุดก่อน แล้วก็ส่งขึ้นฝั่ง
นวัตกรรมของคนไทยช่วยแก้ปัญหาในประเทศ แต่ประโยชน์ที่ได้ก็โดนใจ “ต่างชาติ” ด้วย!
ไอเดียที่ 1 ก็คือเต็มสายพานค่อยวนกลับมาทอยทีหนึ่ง แต่อย่างน้อยได้ปริมาณ หรือไอเดียที่ 2 มีเรือลูกมารับตรงนี้ไปทอยขึ้นฝั่ง ไอเดียที่ 3 ทำเป็นชุดบด-อัด ทำให้มันเป็นก้อนให้มันเล็กลง ไอเดียต่าง ๆ ผมมีอยู่แล้วซึ่งพร้อมจะพัฒนาต่อ“แต่อย่างที่บอกคือ เวลาคุณทำอะไรสักอย่างหนึ่งถ้าคุณทำงานแล้วคุณแค่เก็บผลวิจัยไว้ มันก็ได้แค่เปเปอร์ไม่สามารถอินสไปร์ใครได้ ไม่สามารถจะไปพูดกล่าวกับคนอื่นให้เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ได้ แต่ทีนี้คุณจะทำยังไงต่อ? ก็คงต้อง “ขาย” ก็คงต้องขายแล้วบริการ เพื่อให้ทุกคนเห็นก่อนว่ามันเกิดแล้วนะส่วนไอ้เรื่องโมเดลต่าง ๆ คือผมมีโมเดลอยู่ในใจแล้วว่าจะขยับขยายยังไงเพื่อนำตัว “ผักตบชวา” ออกไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย เพราะสิ่งที่เราตักขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นผักตบชวา วัชพืชต่าง ๆ มันสามารถที่จะตอบโจทย์คือ เอาไปรีไซเคิลได้ เอาไปแปลงเป็นสภาพอย่างอื่นได้ เราไม่ควรจะทิ้งไปเฉย ๆ “
เราเจอปัญหาผักตบชวาทุกแหล่งน้ำ มีตั้งแต่บึง คลอง แม่น้ำ ผมออกแบบลำนี้มาข้อกำหนดของผม คือ ไม่เกิน 30-40 เมตร ของแหล่งน้ำ เพราะว่าคำถามคือ แหล่งน้ำในระดับนั้น มันนิ่งพอที่จะนั่งแก้ปัญหาได้ คำถามคืออ้าวก็เคยเห็นผักตบชวาลอยอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยา คุณจะเอาเรือ 1 ลำไปวิ่งกันอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไล่จับผักตบชวาที่ลอยในน้ำ ไม่ต่างกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน! ถูกมั้ยบนแม่น้ำใหญ่โตคุณจะเอาเรือขนาดไหน ไปไล่จับ? แถมผักตบชวามันเป็นกอเล็ก ๆ ลอยมาตาม “ขี่ช้างจับตั๊กแตน?!!” แทนที่จะไล่จับตรงนั้น เราควรจะไล่จับตั้งแต่แหล่งน้ำก็คือ คูคลอง ที่จะระบายออกก่อนเจ้าพระยา
การเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีนี้ได้ สำหรับ “ชุมชน”
“แรก ๆ ที่เราวิจัยต้องเรียนอย่างนี้ก่อนว่า เครื่องไม้เครื่องมือผมเล่นงบส่วนตัวหมดนะครับ และก็มันไม่ได้ครั้งเดียวจบ ผมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ออกแบบจนถึงไปพูดคุยกับคนอื่น ปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงอะไรต่าง ๆ กว่าจะออก Version นี้ได้เนี่ย ผมก็ผ่านการวิจัยมาหลายล้านแล้ว! หลักหลายล้านนะครับ”ผมเชื่อว่างบประมาณราชการมันเพียงพอต่อการที่จะ Invest คงต้องบอกก่อนว่าวันนี้ทุกอย่างมันยังเริ่มต้น แต่เมื่อเกิดการขายไม่ว่าจะขายได้แค่ไหน 1 ลำหรือว่าจะขายได้ 100 ลำ ผมก็จะมีทีมงาน maintenance ที่ออกไปดูแลทุก ๆ 6 เดือน อะไรที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนถ้าอยู่ในช่วงการรับประกันหรือปีแรก ยังไงบริษัทก็เปลี่ยนให้เอง แต่ในกรณีที่มันเกิดใช้ไปแล้ว 2-3 ปีผมก็ยังมีลักษณะของการทำสัญญา maintenance กันว่าจะออกไปดูให้ยังไง เปลี่ยน-ถ่ายน้ำมันเครื่องยังไง ดูแลว่ามันมีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข ในราคาที่ย่อมเยา
เป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้! สู่การใช้งานจริงเพื่อจะพัฒนาเฟสต่อไป
คุณวิทยา กษิตินนทร์ วิศวกรผู้ออกแบบเรือกำจัดผักตบชวา “ทรัพย์วารี” ยังกล่าวเน้นย้ำถึงจุดยืนของความตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรมนี้ด้วย ว่าผมก็แสดงทิศทางให้เห็นแล้วว่าผมอยากจะได้มีส่วนในสังคม“เราก็คงต้องพูดว่าบางครั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งหนึ่งขึ้นมา แต่ว่า ณ วันนี้มันไม่สามารถ ออกแบบมาแล้วไม่สามารถเอาไปใช้มันก็น่าเสียดาย ก็คาดหวังจะได้โอกาสตรงนี้เพื่อจะได้ทำและก็ต่อยอด เพื่อจะได้สานฝันว่าโอเคทำยังไงให้ “น้ำ” เรากลับมา แหล่งน้ำเรากลับมาดูสะอาด แหล่งน้ำเรากลับมาดูน่าใช้นะครับ อันนั้นก็คงต้องขอดูโอกาสแล้วกันเพราะว่าโอกาสมันยังไม่ชัดเจน แต่ว่าครั้งนี้การที่ได้รางวัลมาอย่างที่คาดไม่ถึง คงทำให้จิตใจเขาเรียกอะไร ฟูเลยว่าเออ! สิ่งที่เราคิดนะมันมีคนเห็นคุณค่ามัน แล้วเราก็อยากจะทำอย่างนั้นต่อครับ”
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าการใส่ใจในการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ยังคงไม่ค่อยปรากฏชัดนักอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นเหมือนประเพณีตามฤดูกาลของเรื่องนั้น ๆ ที่เกิดขึ้นไป! ฝนแล้ง น้ำท่วม ฝุ่นพิษจิ๋ว (PM 2.5) ซึ่งประเทศไทยเองโดยหน่วยงานภาครัฐก็จึงจะเข้าไปโหมกระพือในการทำงานอีกครั้งตามที่ได้รับการร้องเรียนมาหรือปัญหามันเริ่มจะก่อเกิดความเสียหายต่อผู้คนแล้ว แต่ว่าหลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างมันเริ่มคลี่คลายลงการเข้ามาดูแลจัดการก็ค่อย ๆ รามือไปอีก ก็อยากจะฝากว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของผู้คนซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้กัน หากเราไม่รีบแก้ไขวันนี้ปัญหามันก็จะยิ่งทวีความหนักหน่วงและในที่สุดทุกอย่างก็จะเกินเยียวยาสักวัน!
สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมกำจัดผักตบชวาn“เรือทรัพย์วารี” โดยคุณวิทยา กษิตินนทร์ จากบริษัท ทรัพย์วารี คอนสตรัคชั่น จำกัด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.063-945-8745