xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) สะท้อนมุมมองเอสเอ็มอี ต่อแนวคิดของ นายกเศรษฐา หารือ 4 ธนาคารเพื่อหาแนวทางลดดอกเบี้ยกลุ่มเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามที่เป็นข่าว เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ผู้บริหารธนาคาร 4 แห่ง ประกอบด้วย น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย, นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์, นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

สำหรับหัวข้อที่ มีการหารือในครั้งนี้ นายกเศรษฐา ได้พูดคุยกันเรื่องสภาพเศรษฐกิจและปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงมีการพูดคุยและขอความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลกระทบต่อการจ่ายหนี้ของกลุ่มเปราะบาง โดยขอให้พิจารณาดูแลเรื่องดอกเบี้ย และทุกคนต่างรับปากที่จะพูดคุยกันเพื่อวางแนวทางช่วยเหลือต่อไป ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ นายกฯ ไม่ได้กำหนดกรอบหรือระยะเวลาใดๆ ออกมา แต่ให้ดูท่าทีว่าทั้ง 4 ธนาคารจะมีมาตรการอะไรออกมา

หลังจากมีกระแสข่าวดังกล่าว ทางด้านผู้ประกอบการSMEs ได้สะท้อนปัญหาเรื่องการเป็นหนี้และการต้องส่งดอกเบี้ยธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ออกมาในหลายรูปแบบ

 นายไพศาล ผลเงินชัย
สะท้อนมุมเป็นหนี้ โชคดีได้ธนาคารรัฐอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ถ้ากู้เอกชนดอกเบี้ยสูงหลายเท่า


นายไพศาล ผลเงินชัย หจก. พีเจ โซฟา กรุ๊ป 2017 เจ้าของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ แบรนด์พีเจกล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ดำเนินธุรกิจ โดยอาศัยเงินกู้จากธนาคารของภาครัฐมาตลอด ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินกิจการปีแรก กู้ธนาคารมาเป็นเงิน 2 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านมา 10 ปี กิจการเติบโตขึ้น การใช้เงินเพื่อขยายกิจการเพิ่มมากขึ้นเป็น 20 ล้านบาท ซึ่งโชคดีที่ได้เงินกู้จากธนาคารฯของรัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ประมาณ 3.5-4.5% การจ่ายดอกเบี้ย รอบหนึ่งประมาณ 3 เดือน ประมาณ 3 หมื่นบาท

นายไพศาล เล่าว่า เดิมตนเองเคยคิดได้ไปขอกู้จากธนาคารเอกชน พอมาคิดรวมๆ แล้ว เจอค่าอะไรต่างๆที่เพิ่มขึ้นมา รวมแล้ว ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 20% จากที่คุยกันไว้ 8-10% ซึ่งค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับธนาคารรัฐที่เรากู้อยู่

อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ หลายแห่งไม่ใช่เรื่องง่าย มีขั้นตอนต่างๆ และต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดีด้วย เขาถึงจะปล่อยกู้ ให้กับเรา ซึ่งยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลายรายที่เจอปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธนาคารรัฐได้ ก็ต้องพึ่งธนาคารเอกชนในอัตราดอกเบี้ยที่สูง

และถ้านายกเศรษฐา สามารถที่จะเจรจากับธนาคารเอกชน ช่วยลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเอสเอ็มอี ได้จะเป็นโอกาสให้กับกลุ่มเปราะบางได้กลับมามีเงินทุนหมุนเวียนพยุงกิจการให้สามารถไปต่อได้ โดยไม่ต้องเลิกกิจการไป และก็กลายเป็น NPL


ธุรกิจสะดุดช่วงโควิด 2 ปี รายได้เป็นศูนย์ กู้เงินพยุงกิจการ
ดึงเงินบัตรเครดิตหมุนเวียน ในอัตราดอกเบี้ยสูงมาก

ด้าน พิชญาภา แสงชมภู เจ้าของธุรกิจเบเกอรี่ บริษัท ออสโตร ไทย กูร์เมต์ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เล่าว่า ตนเองมีปัญหาเรื่องเงินทุนในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะรายได้เป็นศูนย์ เนื่องจากทำเบเกอรี่ ส่งโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนปิด ทำให้ต้องหาเงินมาจ่ายพนักงาน เพราะในช่วง 2 ปีนั้น ไม่ได้ให้พนักงานหยุดงาน หรือ เลิกจ้าง ต้องไปหาเงินมาจ่าย แหล่งเงินทุนได้มาจากธนาคารของรัฐ กู้จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อมาพยุงกิจการในช่วงที่ไม่มีรายได้ ในส่วนการกู้เงินซื้อเครื่องจักร จากธนาคารเอสเอ็มอี เราก็ต้องขอปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ได้จ่าย และของเก่าไม่ได้จ่ายการจะไปกู้ใหม่ ก็ไม่ได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตอนนี้ ทุกอย่างจะกลับมาปกติ แต่ปัญหาของเรา ก็คือ รายได้เท่าเดิม แต่ยังมีหนี้ที่ต้องส่งธนาคาร ทำให้บางครั้งหมุนเงินไม่ทัน เพราะการทำเบเกอรี่ส่งโรงเรียน เราจะรับเป็นเครดิต แต่เวลาซื้อวัตถุดิบต้องใช้เงินสด และยังมีหนี้ธนาคารที่ต้องจ่าย ทำให้ต้องหันไปพึ่งการหมุนเงินจากบัตรเครดิต ธนาคารเอกชน ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก แต่ก็ต้องเอาดีกว่าเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าทำเช่นนั้น ก็ไม่มีเงินหมุนในระบบ ขาดสภาพคล่องได้ ถ้านายกฯ สามารถเจรจาและให้ธนาคารเอกชนลดดอกเบี้ย กลุ่มเปราะบางอย่างเราได้ ก็ช่วยให้เรามีเงินทุนมาหมุนในระบบมากขึ้น

อุทุมพร รัตนะ
นโยบายที่ผ่านมา พักชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังเดิน เหมือนแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ถ้าลดดอกเบี้ยได้ ช่วยเอสเอ็มอีได้มากกว่า

อุทุมพร รัตนะ หจก. โต๊ะกังแอร์ เล่าถึงปัญหาเงินกู้ และการผ่อนชำระธนาคารของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า ที่ผ่านมา เอสเอ็มอี เจอปัญหาที่หนักคือเรื่องของดอกเบี้ยที่แพง เมื่อก่อน ยอดขายสูง การจะจ่ายดอกเบี้ยก็ยังพอมีกำลัง แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจ ตกต่ำ ขายไม่ค่อยได้ แต่สิ่งที่เอสเอ็มอี ยังต้องเจอคือเรื่องของดอกเบี้ยที่สูง การที่นายก จะมาช่วยเหลือ เรื่องดอกเบี้ย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง ทำให้เอสเอ็มอี สามารถนำเงินแทนที่จะจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ เอาส่วนต่างตรงนี้ มาใช้ในการต่อยอดธุรกิจของตนเอง


อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีเป็นกิจการที่ไม่ได้ใหญ่มาก การตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนไปได้ ทำให้มีเงินมาหมุนเวียน ช่วยให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ซึ่ง ถ้านายกเศรษฐาเล็งเห็นถึงความสำคัญของเอสเอ็มอีในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การนำนโยบายต่างๆ เข้ามาช่วยซัพพร็อต จะช่วยให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น เช่น เรื่องของการลดดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายช่วยเอสเอ็มอี แบบเห็นผลทันที เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ดำเนินกิจการอาศัยเงินกู้จากธนาคารด้วยกันทั้งสิ้น

โดยที่ผ่านมา ภาครัฐมี นโยบายในเรื่องของการพักหนี้ พักเงินต้น แต่สิ่งที่มีปัญหาคือ ดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยไม่ได้พัก ทำให้ เอสเอ็มอี ยังต้องแบกรับดอกเบี้ยที่เดินหน้าทุกๆวัน ดังนั้นสิ่งที่นายกจะมาช่วยเรื่องของการลดดอกเบี้ยหรือหยุดดอกเบี้ย ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดของธุรกิจเอสเอ็มอี ในขณะนี้

ลุงวิเชียร
ลุงวิเชียร ช่างตีมีดวัย 70 ปี กลุ่มเปราะบาง
ยังคงทำงานใช้หนี้ธนาคาร ถ้าลดดอกเบี้ยได้ลุงใช้หนี้หมดแล้วขึ้น เพราะลุงเริ่มตีมีดไม่ไหวแล้ว

ลุงวิเชียร และป้าสุดใจ ในวัย 70 ปี ที่ยังต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินปลดหนี้ โดยลุงมีอาชีพตีมีดขาย ส่วนป้าสุดใจทำขนมขาย เพื่อหาเงินปลดหนี้ธนาคารที่กู้ยืมมาเปิดร้านประตูเหล็กดัด และต้องปิดกิจการไป และเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูหลานอยู่ในวัยเรียนที่พ่อแม่เอามาทิ้งไว้ให้ดูแลตั้งแต่เล็ก ส่วนป้าก็ได้ทำขนมขายหน้าบ้าน ช่วยแบ่งเบาภาระลุงอีกทางหนึ่ง เพราะลุงเองก็เริ่มที่จะตีมีดไม่ไหวต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง ได้อาศัยมีดที่ลุงตีสต็อกเก็บไว้เยอะ ก็เลยทำให้วันนี้ ลุงวิเชียรก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก และยังพอมีรายได้จากการขายมีด และรับจ้างทำงานเหล็กทั่วๆไป




กำลังโหลดความคิดเห็น